การศึกษา/จับตา ‘หมอธี’ ขจัด ‘น.ร.ผี’ เหลือบริ้นไรวงการศึกษา

การศึกษา

จับตา ‘หมอธี’ ขจัด ‘น.ร.ผี’

เหลือบริ้นไรวงการศึกษา

คืบหน้าตามลำดับสำหรับข่าวโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ทำบัญชีนักเรียนผีระดับชั้นอนุบาลและประถมเพื่อสวมสิทธิรับเงินอุดหนุนรายหัวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
โดยล่าสุดศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กาญจนบุรี ได้ฟ้องร้องโรงเรียนดังกล่าวแล้ว
ว่ากันตามจริง เรื่องนักเรียนผีมีมาเป็นระยะๆ แต่ไม่เป็นข่าว ด้วยว่าที่ผ่านมาเป็นการสวมสิทธิโดยไม่ตั้งใจหรือไม่เจตนา เมื่อตรวจเจอกรณีไม่เจตนา สช. เรียกเงินคืนจากโรงเรียน
แต่คราวนี้ที่ปรากฏเป็นข่าวสะเทือนไปทั้งวงการศึกษาเพราะมีการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จ
ส่อถึงเจตนาที่จะโกงเงินรายหัว ซึ่งถือเป็นเคสแรกที่ สช. เจอหลักฐานจะจะ
โรงเรียนเอกชนที่ตกเป็นข่าว เป็นโรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรีที่สอนระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษา โดยใช้เทคนิคปลอมใบเกิดของเด็กที่เกิดใหม่ตามโรงพยาบาล
โดยผู้บริหารจะสั่งให้เจ้าหน้าที่จัดตะกร้าของขวัญเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารกยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด โดยจะแอบอ้างว่าโรงเรียนจัดกิจกรรมร่วมกับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าว และจะมาแจกให้กับเด็กแรกเกิด
มีเงื่อนไขว่าจะขอหลักฐานคือใบเกิดไปยื่นกับบริษัท จากนั้นทางโรงเรียนจะเอาใบเกิดมาปลอมแปลง จากเด็กแรกเกิดก็เปลี่ยนตัวเลขอายุเพิ่มอีก 3 ปี ให้สามารถเข้าเรียนในชั้นอนุบาลได้
นอกจากนี้ ให้ครูหรือเจ้าหน้าที่โรงเรียนไปขอใบเกิดจากคนในหมู่บ้าน ที่ทราบว่ามีเด็กเกิดใหม่โดยใช้เทคนิคการจัดตะกร้าของขวัญไปมอบให้เช่นเดียวกัน
โดยเจ้าหน้าที่ที่ทำก็ไม่ทราบว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการส่อทุจริตของผู้บริหารโรงเรียนเพื่อหารายชื่อนักเรียนผี

สําหรับเงินอุดหนุนรายหัวที่ สช. สนับสนุนโรงเรียนเอกชนสายสามัญศึกษา ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) 10,010.50 บาทต่อคนต่อปีจากค่าใช้จ่ายรายบุคคลตลอดทั้งปีอยู่ที่ 15,524 บาทต่อคนต่อปี, ระดับประถมศึกษา 10,180.5 บาทต่อคนต่อปี จากทั้งหมด 15,524 บาทต่อคนต่อปี, ระดับ ม.ต้น 13,797.50 บาทต่อคนต่อปี จากทั้งหมด 18,560 บาทต่อคนต่อปี และระดับ ม.ปลาย 14,127.50 บาทต่อคนต่อปี จากทั้งหมด 18,560 บาทต่อคนต่อปี
โดยส่วนต่างของเพดานค่าใช้จ่ายที่เหลือ โรงเรียนสามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ เงินที่ สช. อุดหนุนรายหัว จะช่วยสมทบเงินเดือนครูเป็นหลัก
การตกแต่งบัญชีนักเรียน ไม่ได้มีผลแค่เงินอุดหนุนรายหัว
แต่ยังรวมถึงโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพในอีก 4 รายการ (ค่าเล่าเรียนอยู่ในหมวดเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว) ได้แก่ หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
รวมถึงโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่มีเรตอยู่ที่ 7 บาทต่อคนต่อปี (260 วัน) และยังสามารถขอรับงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคนต่อปี (200 วัน) ตามความสมัครใจได้
โดยในส่วนของโรงเรียนเอกชนที่ตกเป็นข่าว ไม่ได้ขอรับอาหารกลางวัน แต่ได้รับอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตลอดจนเงินอุดหนุนรายหัวและงบประมาณโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ!!
ภายหลังเป็นข่าวฉาวโฉ่ นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ได้ประสานให้สำนักงาน ศธจ.กาญจนบุรี ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนทั้งจังหวัดกาญจนบุรีและนายอนันต์ กัลปะ ศธจ.กาญจนบุรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงในทันที
พบหลักฐานที่มีมูลจำนวน 24 ราย ซึ่งเด็กทั้ง 24 รายนั้น เป็นเด็กที่ถูกแก้ไข พ.ศ. เกิด และกำลังจะได้รับเงินสนับสนุนรายหัวจาก สช. ประจำเดือนมีนาคม รวมกันเป็นเงิน 20,176.83 บาท ตอนนี้มีการสั่งชะลอจ่ายเงินแล้ว
สำนักงาน ศธจ.กาญจบุรี ตรวจสอบพบว่ามีรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนกับเด็กเล็กเตรียมอนุบาลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลตำบลแห่งหนึ่ง ในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จ.กาญจนบุรี
กล่าวคือ ตัวเด็กและชื่อเด็กอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลในชั้นเตรียมอนุบาล แต่ในเวลาเดียวกันกลับมามีชื่อโผล่อยู่ในโรงเรียนเอกชนดังกล่าวด้วย
โดยปรากฏอยู่ในระดับชั้นอนุบาลหลักสูตร 3 ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่รับเงินอุดหนุนรายหัวจาก สช. ได้
สำหรับทั้ง 24 ราย มีมูลการส่อทุจริต แบ่งเป็น
1. แก้ไข พ.ศ. เกิด 6 ราย โดยเด็กทั้งหมดยังไม่ได้เข้าเรียน เพราะอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ บางคนอายุ 1-2 ขวบเท่านั้น ต่ำสุด 8 เดือน
2. รายชื่อซ้ำซ้อนและนำไปแก้ พ.ศ. เกิด 18 ราย โดยทั้ง 18 ราย มีชื่ออยู่ที่โรงเรียนเอกชนดังกล่าว ทั้งที่ตัวเด็กพร้อมชื่อ อยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลต่างๆ ในอำเภอท่าม่วง
และ 3.ไม่มีตัวตนอยู่ในโรงเรียนซึ่งเบื้องต้นพบว่ามี 3 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึก
ที่น่าตกใจกว่านั้น ครูที่เคยทำทะเบียนโรงเรียนนี้และได้ลาออกไปแล้ว ยอมรับว่าเคยทำบัญชีรายชื่อนักเรียนล่องหนขึ้นมา 1 ห้องเต็มๆ ประมาณ 30-40 คน ซึ่งเป็นเด็กผีไม่มีตัวตนจริงอยู่ในห้องนั้น
โดยคนที่ลงชื่อเป็นครูประจำชั้นก็เป็นลูกชายของผู้บริหารที่ไม่มีห้องอยู่จริง!!

นายอนันต์ กัลปะ ศธจ.กาญจนบุรี ได้มอบหมายให้ นายโอภาส ต้นทอง รอง ศธจ.กาญจนบุรี พร้อมด้วยนิติกร ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี แล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในคดีอาญา ผู้ถูกแจ้งความ ประกอบด้วย ผู้จัดการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน
ทั้งนี้ ภายหลังตรวจสอบฐานข้อมูลกับทะเบียนราษฎร์ของฝ่ายปกครองแล้วพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จจริง
อีกทั้งยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล เพื่อทำการตรวจสอบซ้ำ พบว่าเด็กอยู่ตามศูนย์เด็กเล็กของเทศบาลจริง
สำหรับหลักฐานเอกสารที่ตรวจพบ มีการปลอมแปลงสำเนาทะเบียนบ้าน ใบสูติบัตร ใบมอบตัวนักเรียน/ใบสมัครเข้าเรียน จัดทำ/แก้ไขเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงเพื่อเบิกเงินอุดหนุนรายรายหัว และเจตนาคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบสารสนเทศอันเป็นเท็จ
นายอนันต์ระบุว่า ผู้จัดการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งจะถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง
โดยคดีอาญาจะต้องตรวจสอบย้อนหลังว่ามีการทุจริตไปแล้วเท่าไร ส่วนคดีแพ่ง โรงเรียนจะต้องคืนเงินให้ สช. 2 เท่า จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ได้รับเงิน
นอกจากโดนคดีอาญาและแพ่งแล้ว ในกรณีที่มีการเปลี่ยนหลักฐานใบทะเบียนบ้านครูและนักเรียน ยังมีโทษตามมาตรา 137 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
กรณีเป็นผู้อํานวยการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่า

สําหรับระบบการตรวจสอบข้อมูลนักเรียนก่อนโอนเงินนั้น ถือว่าค่อนข้างรัดกุม
โดย สช. จะให้โรงเรียนคีย์ข้อมูลนักเรียนทุกเดือนก่อนโอนเงิน เพราะเป็นการโอนรายเดือน ไม่ใช่รายภาคหรือรายปี เนื่องจากนักเรียนเอกชนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โรงเรียนต้องคีย์ข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในทุกวันที่ 3 ของเดือน
จากนั้นสำนักงาน ศธจ. จะตรวจสอบเพื่อรับรองความถูกต้องและรวบรวมเสนอ สช. ภายในวันที่ 10 ของเดือน
สช. ตรวจสอบผ่านระบบแล้วโอนเงินให้จังหวัดในวันที่ 25 ของเดือน และ ศธจ. จะโอนเงินให้กับโรงเรียนต่อไป
ถือว่าระบบดี แต่ปัญหาคือบุคลากรน้อย จึงไม่สามารถลงไปตรวจสอบถึงโรงเรียนเพื่อตรวจนับรายหัวได้ ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตของผู้บริหาร
เรื่องนี้สะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบการศึกษา หน่วยงานการศึกษาที่ควรเป็นต้นแบบและบ่มเพาะให้คนเป็นคนดี กลับมาทำงามหน้าเสียเอง สมควรที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ควรต้องใช้มาตรการเด็ดขาดในการลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับสถานศึกษาอื่นๆ อีก