เศรษฐกิจ/ทีม ‘สมคิด’ งัดสารพัดกลยุทธ์ รับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อุ้มส่งออก 8% ตามเป้า

เศรษฐกิจ

ทีม ‘สมคิด’ งัดสารพัดกลยุทธ์

รับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

อุ้มส่งออก 8% ตามเป้า

ยังถมกำแพงภาษีกีดกันสินค้าการส่งออกกันต่อเนื่องระหว่างสหรัฐกับจีน ที่กำลังส่อแววสร้างปัญหาระดับโลก จนทุกฝ่ายต่างจับตามองการเดินหมากตอบโต้กันของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มักอารมณ์เดือดดาลเอาใจได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือได้ว่ากำลังอยู่ระหว่างทางของสงครามการค้าที่ได้ปะทุขึ้นแล้ว สะเก็ดไฟต่างขจรขจายไปยังทุกฝ่ายที่รายล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ ต่างแสบสันต์กันถ้วนหน้า
ไม่พ้นประเทศไทยเช่นเดียวกัน ที่นักลงทุนต่างแสดงความกังวล
ความวิตกสะท้อนทันทีด้วยการเทขายหลักทรัพย์กันอย่างหนักจนดัชนีร่วงกราวในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
การเดินหมากทางเศรษฐกิจของทรัมป์ หลังก้าวขึ้นไปบนแท่นประธานาธิบดีคนที่ 45 หยิบประเด็นสหรัฐมีการผลิตสินค้า โดยการนำวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ซัพพลายเชนต่างๆ มาจากจีน ทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐนั้นต่ำ ส่งผลให้สหรัฐขาดดุลการค้าอย่างมาก ด้วยมุมมองเศรษฐศาสตร์เก่าเก็บ ที่มองว่าหากประเทศจะมั่งคั่งได้ ต้องผลิตสินค้าให้มาก แล้วส่งออกไปขาย เพื่อโกยเงินกลับประเทศให้ได้มากที่สุด
แนวคิดลักษณะนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิด
แต่ทรัมป์ยังมุทะลุมุ่งไปตามทิศทางที่เคยกล่าวไว้ในช่วงหาเสียงก่อนหน้า
ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดอเมริกามาก่อน (America First)
นโยบายกั้นกำแพงพรมแดนเม็กซิโก
การถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
และที่สำคัญคือการเปิดไพ่สงครามการค้ากับจีน เมื่อสหรัฐจะไม่ยอมเสียเปรียบจีนจากการขาดดุลการค้าอีกต่อไป
และผลพลอยได้หากทำสำเร็จคือการปลุกคะแนนนิยมที่ทรัมป์จะกอบโกยในช่วงเลือกตั้งกลางเทอม ปลายปี 2561 นี้

ด้วยกระบวนการทำงานแบบรวมศูนย์อำนาจ ทรัมป์ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง และมักใช้วิธีตีปี๊บขู่ประเทศต่างๆ หากใครไม่ยอมหมอบคลาน ทรัมป์จะทำจริงตามที่ลั่นวาจา
เห็นจากเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ประกาศบังคับขึ้นเพดานนำเข้าภาษีเหล็ก 25% กับอะลูมิเนียม 10% ส่งผลกระเทือนไปสู่อุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมทั่วโลก
หากใครไม่อยากเสียภาษี ก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วยบางสิ่งบางอย่าง สหรัฐก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเดิม พร้อมๆ กับการเสียเปรียบเล็กน้อยของประเทศอื่น แต่คงไม่ใช่ทุกประเทศ
ในนั้นนำโดยจีน อีกชาติมหาอำนาจ เป็นกระดูกชิ้นใหญ่ที่สหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ามากที่สุด ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของยอดการขาดดุลการค้ารวมทั้งหมด ยังไม่ทันจะตอบโต้
ทรัมป์ยังมีอีกมาตรการล็อกเป้าไปยังจีนโดยตรง โดยให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และองค์กรสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ทำการศึกษาว่าประเทศต่างๆ ที่ทำการค้าการลงทุนกับสหรัฐนั้น มีพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบสหรัฐหรือไม่ หยิบข้ออ้างจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญา จึงเพิ่มการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนโดยตรงอีก 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 11.4% ของการนำเข้าจากจีนในปี 2560 ครอบคลุมกว่าพันรายการ
โดยเน้นไปที่สินค้าจีนที่ได้เปรียบทางเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกผลกระทบทันทีเมื่อคำสั่งมีผลบังคับใช้

ส่งผลให้ในวันที่ 2 เมษายน สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ก็ตอบโต้ทันควัน โดยการขึ้นภาษีสูงถึง 25% สำหรับการนำเข้าสินค้าสหรัฐ รวม 128 รายการ อาทิ เศษเหล็ก อะลูมิเนียม หมูและผลไม้ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 93,400 ล้านบาท
มาตรการล่าสุดของจีน คือ การเตรียมขึ้นภาษีถั่วเหลือง ที่จีนนั้นถือเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่จากสหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อเกษตรกรสหรัฐส่วนใหญ่ที่สนับสนุนทรัมป์อย่างมาก
ทว่า สงครามยังระอุอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 6 เมษายน ทรัมป์ตอบรับสัญญาณตอบโต้ของจีน ด้วยการข่มขู่ว่าจะพิจารณาเรียกเก็บภาษีจากจีนเพิ่มอีก 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท
โดยทรัมป์ประกาศว่า “แทนที่จะแก้ไขการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จีนกลับเลือกที่จะทำร้ายเกษตรกรและผู้ผลิตของสหรัฐ และมีพฤติกรรมการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก”
แม้การเคลื่อนไหวที่ยังประโคมก่ออิฐสร้างกำแพงภาษีกันทั้งสองฝ่าย ทำให้หลายเสียงในภาคอุตสาหกรรมออกมาติงรัฐบาล ให้เตรียมพร้อม แม้ความหวังลึกๆ ว่าคงเป็นเพียงสงครามน้ำลายที่สาดใส่กันเพียงเท่านั้น

จึงเป็นที่มาของทีมเศรษฐกิจไทย นำโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทั้งหมด
โดยหลังประชุมมอบให้ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาชี้แจงถึงท่าทีของรัฐบาล ซึ่งถ่ายภาพให้เห็นว่าไทยไม่ได้มีแต่เสียอย่างที่ภาคเอกชนกังวลว่าจะส่งออกไม่ได้ หรือสินค้าจาก 2 ประเทศทะลักเข้าไทย ยังเป็นการซ้ำเติมการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง
โดยโชว์ตัวเลขโอกาสที่ไทยจะแทรกเข้าช่องโหว่ของส่วนแบ่งทางการตลาดของทั้งจีนและสหรัฐหาก 2 ประเทศนั้นไม่ได้นำเข้าอย่างเดิม ประเมินว่าจะมีโอกาสถึง 300-1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
“สงครามการค้าครั้งนี้ไทยจะต้องระมัดระวังและสร้างโอกาส ทั้งเรื่องการเจรจา และการบุกตลาด โดยไทยจะเร่งเสริมตลาดในเมืองหลักและเมืองรองทั้งของจีนและสหรัฐ โดยไทยเตรียม 4 แนวทางในการป้องกันปัญหา ได้แก่ การเจรจาระหว่างไทย-จีน ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วไม่สำเร็จ ไทยจะต้องตั้งรับโดยการออกมาตรการปกป้องธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องในประเทศ ส่วนกรณีที่มีสินค้าที่เจรจาแล้วแต่ไม่สำเร็จและถูกกดดัน ไทยจะใช้มาตรการตอบโต้กลับหรือเสนอต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งในระยะสั้นอาจจะกระทบต่อการค้าทั่วโลกที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยปีนี้ จะยังโตได้ตามเป้าหมาย 8%” นายสนธิรัตน์ยืนยันให้เกิดความมั่นใจ
ซึ่งแผนการศึกษาว่าจะได้หรือเสียอย่างไร ก็ยังเป็นแค่โอกาสบนกระดาษ ที่ต้องติดตามจากนี้ ว่าทีมเศรษฐกิจไทยจะแก้เกมการค้าครั้งนี้อย่างไร!

หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1930 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐได้ขึ้นภาษีนำเข้าด้านการเกษตร เพื่อหวังช่วยพยุงเกษตรกรสหรัฐ
แต่หลังจากประกาศกำแพงภาษีไม่นาน สหรัฐกลับถูกประเทศต่างๆ ตอบโต้ด้วยวิธีการเดียวกันโดยการขึ้นภาษีการนำเข้าจากสหรัฐ จนเกิดเป็นสงครามการค้าโลกในครั้งนั้น
ภายหลังฝุ่นที่คละคลุ้งในสมรภูมิเริ่มซาลง ปรากฏภาพความเสียหายของต่างฝ่ายที่ล้มระเนระนาด เมื่อสหรัฐต้องประสบกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การค้าโลกก็หลั่งเลือดอย่างยืดเยื้อยาวนาน
สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในปัจจุบัน ภาพรวมก็ยังเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตามองกันต่อไป แม้ระหว่างนี้จะมีการแสดงบทบาทแข็งกร้าวใส่กันอีกระยะ ด้วยบุคลิกเด็กเกรี้ยวกราดไม่ยอมใครของทรัมป์ แต่ทางการจีนที่ย้ำเสมอว่าไม่ต้องการสงครามการค้า ก็คงได้ประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะตอบโต้สหรัฐในแต่ละครั้งไว้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อพญาช้างสารชนกันก็คือความเดือดร้อนที่จะแผ่ขยายไปยังประชาชนทั่วโลก
แต่ให้คงความเชื่อไว้ว่า สุดท้ายแล้วหลายฝ่ายก็ประเมินไว้ว่า
การฟาดงวงฟาดงาของทั้งสองฝ่ายจะจบลงด้วยการเจรจาทางการค้าอย่างแน่นอน