จัตวา กลิ่นสุนทร : ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม (2)

วันที่ย่างเหยียบถึงแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ยังสนามบินนานาชาติ Los Angeles International (LAX) ตัวเลขอายุยังไม่เต็ม 40 ปี ดังเคยกล่าวแล้วว่าชีวิตยังไม่เริ่มต้น

เวลาแต่เนิ่นนานที่ผ่านนั้นเทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวไกลถึงขนาดอะไรๆ สามารถสัมผัสได้แค่เพียงปลายนิ้วจากเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนติดตัวไปด้วยทุกแห่งหนที่เรียกโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถใช้มันได้ตั้งแต่เริ่มต้นตรวจสอบราคาก่อนซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน จองโรงแรมที่พัก และอื่นๆ สารพัด ฯลฯ

สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับคนปลายทางที่จะเดินทางไปเยือนเพื่อเยี่ยมเยียนพร้อมขอที่พักอาศัย ขณะนั้นจึงติดต่อวันเวลาเรื่องการเดินทางโดยการเขียนจดหมายแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนโทรศัพท์ทางไกลจะใช้เมื่อถึงเวลาออกเดินทาง หรือจำเป็นเท่านั้น

ย้อนคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมายังอดแปลกใจไม่ได้เช่นเดียวกันว่าเราเดินทางรอดปลอดภัยมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ได้พาคุณแม่ของหุ้นส่วนชีวิตซึ่งท่านสูงอายุจนช่วยเหลือตัวเองได้น้อยในเกือบทุกๆ เรื่องรวมทั้งการกินอาหาร ซึ่งย่อมแตกต่างเปลี่ยนแปลงไปจากบ้านเราพอสมควร

แต่เราโชคดีที่มีเพื่อนกับครอบครัวของเขาซึ่งเป็นคนพื้นเพเดียวกันกับครอบครัวของหุ้นส่วนชีวิต รวมทั้งเคยศึกษาในสถาบันเดียวกันมาก่อน เดินทางมาเริ่มต้นสร้างชื่อเสียง สร้างครอบครัวในสหรัฐอเมริกาจนประสบความสำเร็จมากมาย

สิ่งสำคัญที่สุดเขาเป็นศิลปินอุทิศตนเพื่อศิลปะและสังคม เปิดใจกว้างมีจิตอาสาเพื่อสาธารณะจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไทยด้วยกัน ทั้งที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ และเดินทางไปยังประเทศนั้น บ้านพักของเขาเปิดต้อนรับคนไทยทุกคนเสมอมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

ความทรงจำครั้งกระนั้นเลือนไปพอสมควร จำไม่ได้ว่าเราเดินทางถึงนครลอสแองเจลิส (Los Angeles) ครั้งแรกในชีวิตเวลาเท่าไร? แต่เป็นเวลาค่ำๆ แน่ๆ ตรวจรับกระเป๋าสัมภาระผ่านการตรวจหนังสือเดินทางออกมาข้างนอกจึงได้โทรศัพท์จากตู้สาธารณะแบบหยอดเหรียญไปหาเพื่อนให้มารับตามที่ได้นัดกันไว้ เพราะเราคงไปไหนไม่ถูกแน่ๆ

โชคดีที่บ้านพักของเพื่อนอยู่ไม่ไกลเกินไปนัก และการจราจรสมัยก่อนยังไม่แออัดอย่างเช่นทุกวันนี้

บังเอิญเป็นคนค่อนข้างโชคดีที่มีเพื่อนมากพอสมควร และขยายวงกว้างออกไปอีกหลายๆ วงการเมื่อเข้ามามีอาชีพเป็นคนทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งแต่ก่อนว่ากันว่าค่อนข้างจะรุ่งเรืองศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิพลต่อสังคมมากทีเดียว ก่อนจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยสื่อสมัยใหม่

คนทำหนังสือพิมพ์ภาษาไทยไม่จำกัดอยู่เพียงในเมืองไทย เมื่อจำนวนคนไทยซึ่งหลั่งไหลไปแสวงโชค ศึกษาเล่าเรียนในสหรัฐ โดยเฉพาะในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (CaliFornia) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ มีประชากรหนาแน่น เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม บันเทิง และจำนวนมหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงกว่า 60 แห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UCLA), เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย (USC)

คนไทยในนครลอสแองเจลิส สหรัฐ จึงเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเป็นไปกันด้วยการผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ขึ้น ในเวลาต่อมาก็มีนักหนังสือพิมพ์จากเมืองไทยเดินทางไปทำงานที่นั่นด้วย

ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าสังคมของสื่อมวลชน คนหนังสือพิมพ์เมื่อหลายสิบปีก่อนย่อมติดต่อถึงกันหมด

 

เป็นอาจารย์ เป็นพี่น้องเพื่อนพ้องรุ่นต่างๆ ติดต่อรู้จักกันเสียส่วนใหญ่ เมื่อเดินทางไปพำนักเมืองนี้เพื่อนๆ ผู้มีอาชีพผลิตสื่อได้พากันลงข่าวความเคลื่อนไหว เท่ากับว่าย่อมต้องสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับกมล ทัศนาญชลี ซึ่งเป็นผู้ขับรถพาไปไหนต่อไหนต้องไปส่งยังสถานที่นัดหมายต่างๆ ของเมือง เพื่อจะได้พบปะสังสรรค์ รับเลี้ยงอาหาร เนื่องจากไม่มีปัญญาไปไหนเองได้อยู่แล้ว

คนใหญ่คนโตในวงการกีฬา สื่อจากสำนักพิมพ์ต่างๆ จากเมืองไทยได้เดินทางไปพบกัน ในงานมหกรรมกีฬา “โอลิมปิก ลอสแองเจลิส” (Olympic Los Angeles 1984) เนื่องจากเวลานั้นสหรัฐ โดยเมืองดังกล่าวนี้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ คือ “กีฬาโอลิมปิก” (Olympic Games)

แต่เรามีเป้าหมายและความจำเป็นต้องเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นก่อนเพื่อพาคุณแม่ไปพบกับญาติ และลูกชายของท่าน แต่ยังไม่สามารถจัดการเรื่องจากเมืองไทยได้เท่านั้นเอง ตั้งใจว่ามันเป็นประเทศเดียวกันอาจไม่ยุ่งยากสักเท่าไร

แต่พอเอาเข้าจริงเมืองนี้ต้องบินไปเปลี่ยนเครื่องยังสนามบิน “ชิคาโก” มลรัฐอิลลินอยส์ (Chicaco, Illinois) เป็นเครื่องบินเล็กอีกทอดหนึ่ง เพราะสนามบินของเมืองนั้นเล็กเกินกว่าเครื่องขนาดใหญ่จะสามารถบินขึ้นลงได้

ต้องพักการท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ ดูกีฬาโอลิมปิก และพบปะเพื่อนพ้องจำนวนมากในนครลอสแองเจลิสไว้ก่อน

ตั้งใจว่าเมื่อเสร็จภารกิจจะรีบกลับมารบกวนเพื่อนๆ เนื่องจากยังเหลือเวลาอยู่ในประเทศนี้อีกร่วมเดือน

 

รบกวนเพื่อนในลอสแองเจลิส (LA) เป็นธุระดำเนินการเรื่องตั๋วเครื่องบินเพื่อบินสู่เป้าหมายคือเมืองดีมอยส์ มลรัฐไอโอวา (Demoines Iowa) ซึ่งอยู่ประมาณกลางๆ ของประเทศอันใหญ่โต ซึ่งต้องใช้เวลาบินถึง 4 ชั่วโมงกว่าๆ เกือบเท่ากับบินจากเมืองไทยไปญี่ปุ่น อีกทั้งเวลาแตกต่างกันถึง 2 ชั่วโมง รัฐบาลกลางสหรัฐนำผู้อพยพหนีสงครามจากประเทศเอเชียตะวันออก เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาไว้ที่นี่ และรัฐใกล้เคียง ซึ่งในที่สุดเกิดชุมชนจับคู่กันไปมาระหว่างเวียดนาม ไทย ลาว ออกลูกหลานเป็นอเมริกันไปหมด

อันที่จริงหากเป็นสนามบินทั่วๆ ไปไม่ใช่สนามบินนานาชาติ “ชิคาโก โอแฮร์” (Chicaco Ohare International Airport) ซึ่งเป็นสนามบินใหญ่มากๆ แออัดเป็นอันดับต้นๆ ไม่ต่างจากสนามบินนานาชาติ ลอสแองเจลิส ก็ไม่น่าเป็นปัญหา

น่าห่วงนักสำหรับการนำพาผู้สูงอายุซึ่งไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งคนร่วมเดินทางต่างไม่เคยไปสหรัฐมาก่อนเช่นเดียวกัน เพราะกว่าจะเปลี่ยนเครื่องได้ย่อมทุลักทุเลเป็นอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากแผ่นดิสก์ในสมองซึ่งยังไม่เลือนรางจนถึงกับเสื่อมถอยทั้งที่ไม่อยากจำเรื่องราวช่วงตอนนี้เอาเสียเลย แต่กลับจำมันได้ตลอดเวลายาวนานว่า ได้นัดหมายกับน้องชายของหุ้นส่วนชีวิตลูกชายของคุณแม่ ซึ่งเราเคยช่วยเหลือผลักดันจนได้เดินทางมาปักหลักในแผ่นดินสหรัฐ แล้วมันหายสาบสูญไปเพิ่งมาติดต่อได้เมื่อได้เป็นทองแผ่นเดียวกันกับคนลาวอพยพผลิตลูกผสมออกมาถึง 2 คน

เข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ดีว่าลูกหายไปนานๆ เหมือนล้มหายตายจากไปแล้วย่อมต้องคิดถึงเป็นธรรมดา ทั้งๆ ที่วัยสูงขึ้นการเดินทางลำบากยากยิ่ง ท่านเต็มใจที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อได้พบลูก

ทั้งๆ ที่ความจริงมันควรจะเป็นลูกมากกว่าต้องเสียสละเดินทางกลับบ้านมาหาแม่

จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแท้ แต่เพื่อหุ้นส่วนชีวิต เมื่อเรามีโอกาสทำให้แม่ลูกได้พบกันจึงได้เสนอพาท่านเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ญาติโยมคนอื่นๆ ได้แต่นิ่งเงียบงันไม่หือไม่อืออะไรทั้งนั้น

 

โทรศัพท์นัดหมายให้พวกเขามารับที่สนามบินเมืองดีมอยส์ (Demoines) ซึ่งวาดภาพว่ามันจะต้องวุ่นวายอีกเพราะเราผ่านแต่สนามบินใหญ่ๆ มโหฬารระดับนานาชาติ ลืมไปว่าต้องเปลี่ยนเครื่องมา เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นสนามบินเล็กๆ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ ออกมาแล้วพยายามมองลงไปเพื่อหาคนที่จากกันมานานกลับไม่เห็น แต่สงสัยว่าคนกลุ่มนั้นน่าจะมารับเรา เห็นหัวดำๆ คล้ายคนเอเชียแทบทั้งหมด ไม่มีคนอเมริกันหัวเหลือง หัวทอง ปะปนอยู่

คาดการณ์ไม่ผิดกลุ่มคนพวกนั้นมารอรับเราจริงๆ เรียกว่ามากันเกือบทั้งหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่เราไม่เคยได้พบกันมาก่อน แต่พอรู้ได้ว่าใครเป็นใครเพราะความจัดจ้านของลูกสะใภ้ชาวลาวของคุณแม่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเพียงเจอกันไม่กี่นาทีก่อนลูกชายของคุณแม่จะมาถึงเสียอีก

ไปสหรัฐครั้งแรก (พ.ศ.2527) แทนที่จะพบอะไรๆ ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นกลับต้องมาพักในหมู่บ้านคนลาวอพยพทั้งนั้น ฝรั่งขาวๆ ย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นเหมือนรังเกียจ ได้แต่คิดในใจว่าไม่เป็นไรเพียงแค่คืนสองคืน วันต่อไปจะได้ไปพบญาติอีกคนยังเมืองวิกเตอร์ (Victor) ไม่ไกลกัน และจะได้เดินทางโดยรถยนต์ต่อไปอีกหลายรัฐ

แอบภูมิใจได้มีโอกาสนำพาแม่ลูกซึ่งจากกันนานได้มาพบกัน โดยไม่รู้เลยว่ากลายเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงจนไม่น่าให้อภัย เพราะเท่ากับนำเอาความยุ่งยากให้เดินทางมาเยือน แต่ในอีกหลายสิบปีต่อมา

เมื่อน้องชายของหุ้นส่วนชีวิต กลับมาสร้างปัญหาให้กับพี่น้องอย่างเจ็บปวด