แพทย์ พิจิตร / บทเรียนจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 : องค์พระมหากษัตริย์กับการยุบสภา (39)

นักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญของอังกฤษอย่าง Bogdanor ยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้

เพียงแต่ที่ผ่านมาการปฏิเสธยังไม่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่ผ่านมาทั้งหมด และจนบัดนี้ ยังไม่มีครั้งไหนที่เป็นการยุบสภาที่มิชอบตามที่ Markesinis ได้ศึกษามาจนถึง ค.ศ.1970 และ Bogdanor ศึกษามาจนถึง ค.ศ.1995 และที่ผู้เขียนได้สำรวจและสรุปเหตุผลในการยุบสภาของอังกฤษจนถึง ค.ศ.2001 จากงานของคุณหนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในแวดวงวิชาการด้านกฎหมายมหาชนและรัฐธรรมนูญมีความเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากแนวทางอื่นๆ ที่มีการเสนอไว้ข้างต้นแล้ว องค์พระมหากษัตริย์สามารถมีบทบาทป้องกันมิให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่ถูกต้องได้

แม้นว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังคงอยู่ก็คือ ถ้าย้อนกลับไปกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภา

และในงานของคุณหนึ่งฤทัย แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึงกรณีการยุบสภา พ.ศ.2549 ตรงๆ แต่คำกล่าวของเธอก็สะท้อนให้เห็นว่าเธอตระหนักถึงกรณีการยุบสภา พ.ศ.2549 ดังที่เธอได้กล่าวว่า

“จากการศึกษาเหตุการณ์ยุบสภายังทำให้ทราบอีกว่า เหตุผลการยุบสภารวมทั้งคำชี้แจงทั้งหลายเกี่ยวกับการยุบสภาที่ปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎรและในคำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นจริงดังเนื้อความที่ปรากฏอยู่หรืออาจเป็นการเขียนเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุหรือเหตุผลในการยุบสภาจะเกิดจากสิ่งใดหรือจะเขียนไปในแนวทางใดสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ ดังนั้น สาเหตุของการยุบสภาจึงเปิดกว้างมาก การยุบสภาจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

และ “แม้ว่า (การยุบสภา—ผู้เขียน) จะเป็นการกระทําที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองให้อํานาจไว้ก็ตาม แต่การจะใช้อํานาจนี้ควรพิจารณาตรึกตรองให้ถ้วนถี่ มิฉะนั้นแล้ว การยุบสภาผู้แทนราษฎรอาจจะไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่อาจกลายเป็นทางตันของปัญหาได้”

เพราะการยุบสภาก่อนหน้า พ.ศ.2549 ไม่มีครั้งไหนที่การยุบสภานำไปสู่ทางตันของปัญหาและจากข้อเสนอแนะของเธอที่ว่า

“ควรบัญญัติสาเหตุที่ห้ามยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง เช่น เหตุภายนอกสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี”

ย่อมตีความได้ว่าเป็นการชี้ไปที่การยุบสภา พ.ศ.2549

 

แต่จากข้อเสนอดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่ายังมีปัญหาอยู่ นั่นคือ แม้นว่าจะได้นำเสนอแนวทางต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้มีการใช้การยุบสภาที่ไม่ถูกต้องตามหลักและประเพณีการปกครองระบบรัฐสภา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางท้ายสุดที่บทบาทสำคัญอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ก็เพราะว่า ในกรณีการยุบสภา พ.ศ.2549 องค์พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยยุบสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ในขณะที่บวรศักดิ์ไม่เห็นด้วย และสอดคล้องกับความเห็นของผู้เขียน เนื่องจากปัญหาที่ยังคงมีอยู่คือ

1. เมื่อการยุบสภาครั้งนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และองค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะถูกถือว่าเป็นการยุบสภาที่เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับ และเป็นแนวทางสำหรับการยุบสภาในอนาคตหรือไม่ นั่นคือเป็น “precedent” ที่จะกลายเป็นประเพณีในการยุบสภา?

2. หากจะชี้แจงต่อสาธารณะ ณ ขณะนี้ว่า การยุบสภา พ.ศ.2549 เป็นการยุบสภาที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรนำมาอ้างอิงเป็นเหตุผลในการยุบสภาในอนาคต จะเป็นการหลบหลู่หรือดูหมิ่นการลงพระปรมาภิไธยครั้งนั้นหรือไม่? และจะตอบคำถามต่อสาธารณะอย่างไร เมื่อถูกถามว่า แล้วองค์พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นหรือว่า การยุบสภาครั้งนั้นไม่ถูกต้อง?

3. ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา พ.ศ.2549 หรือที่ผ่านมาหรือในอนาคต ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ องค์พระมหากษัตริย์ทรงเข้าใจว่า พระองค์ทรงปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้? หรือพระองค์ทรงเข้าใจว่า พระองค์ไม่ทรงสามารถปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้?

ซึ่งประเด็นข้อสงสัยนี้ก็ได้ถูกชี้ให้เห็นในการศึกษาการยุบสภาของอังกฤษในงานของ Markesinis ด้วย

 

ขณะเดียวกัน ในกรณีของการใช้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ก็มีข้อสังเกตที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง

นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงรับรู้เข้าใจและสามารถกำหนดบทบาทและการใช้พระราชอำนาจด้วยตัวพระองค์หรือคำแนะนำภายในราชสำนักเองอย่างเหมาะสม หรือพระองค์ทรงรับรู้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์จากภายนอกราชสำนัก

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จากคนนอกที่มองว่า ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง บทบาทและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะใช้ได้แค่ไหนและอย่างไร?

ทั้งนี้ ตามความเห็นของ Matthew Dennison ในหนังสือ Queen Victoria : A Life of Contradictions (2013) กล่าวว่า

“สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียไม่ได้ทรงอ่านหนังสือ The English Constitution ของ Walter Bagehot (หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ที่อธิบายการปกครองของอังกฤษได้ดีที่สุด และเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ต่อมาได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอ และตัว Bagehot มีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้านการเมือง ส่วนหนังสือของ Bogdanor เรื่อง The Monarchy and the Constitution ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1995 ก็ถือว่าเป็นคัมภีร์เล่มล่าสุดที่ว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเพณีการปกครองของอังกฤษ) ผลงานของ Bagehot ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1867 แม้ว่าจะไม่รับคำแนะนำจากหนังสือดังกล่าว—แต่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือหลักของผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์—พระองค์ทรงยืนยันต่อรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี คณะสงฆ์ นายทหาร รัฐบุรุษและผู้ปกครองประเทศต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับในพระบรมวงศานุวงศ์ ถึงสิทธิ์ของพระองค์ที่จะได้รับการทูลเกล้าฯ ขอคำแนะนำ กระตุ้นและตักเตือน (to be consulted, to encourage and to warn-ซึ่งเป็นวลีที่โด่งดังที่ Bagehot ได้กล่าวไว้ถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยใหม่) พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนั้นอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง”

ในขณะที่ Sean Lang กล่าวว่า “ในปี ค.ศ.1867 Bagehot ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง…และเขาได้เขียนหนังสืออันทรงอิทธิพลยิ่ง นั่นคือ The English Constitution ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ (the royal family) ได้รับมาเป็นแนวทางในการวางบทบาท (as guidance on the Crown”s role in politics) ในการเมือง—สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงอ่านหนังสือเล่มนี้ และรวมทั้ง Edward VII และ George V Bagehot เห็นว่า บทบาทของสมเด็จพระราชินีนาถมีความสำคัญยิ่งต่อความต่อเนื่องของการปกครองตามประเพณีของอังกฤษ แต่เขาเห็นในลักษณะที่บรรพกษัตริย์ของสมเด็จพระราชินีนาถคงทรงเห็นว่าเป็นบทบาทที่ค่อนข้างจำกัด ด้วย Bagehot อธิบายว่า องค์พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์อยู่สามประการ นั่นคือ the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn”

จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้ประเด็นข้อสงสัยที่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงตระหนักรับรู้ถึงแนวทางการใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เองหรือจากภายในราชสำนักเอง หรือตระหนักรับรู้ผ่านข้อคิดเห็นของคนภายนอกราชสำนัก?