ปริศนาโบราณคดี : พระอุปคุต VS พระบัวเข็ม ตกลงองค์เดียวกัน หรือคนละองค์? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ไหนๆ ก็เขียนถึงเรื่อง “พระอุปคุต” มาหลายตอนแล้ว หากละเลยไม่กล่าวถึง “วัดอุปคุต” บ้างสักหน่อย ก็ดูจะกระไรอยู่

วัดอุปคุต ที่ว่านี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิง เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันตก ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมนั้นเคยมีคู่กัน 2 วัด เรียกง่ายๆ ว่าวัดอุปคุตไทย กับวัดอุปคุตพม่า ทั้งสองวัดนี้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคที่ล้านนาถูกบุเรงนองยึด

วัดอุปคุตไทยบูรณปฏิสังขรณ์โดยหลวงอนุสารสุนทร (โยมอุปัฏฐากคนสำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัย) ส่วนวัดอุปคุตพม่าบูรณะใหม่โดย รองอำมาตย์เอก หลวงโยนการพิจิตร (หม่องปันโหญ่) ต่อมาวัดอุปคุตพม่าถูกรื้อเสีย ปรับเปลี่ยนมาสร้าง “พุทธสถานเชียงใหม่” แทน ตั้งแต่ราวปี 2505

ไฉนทางวัดอุปคุตพม่าจึงยอมให้รื้อ ด้วยเหตุผลกลใดก็มิอาจทราบได้

ต้องขออนุญาตอุทานเป็นภาษาคำเมืองว่า “เสียดายขนาด!”

เพราะทุกวันนี้พุทธสถานเชียงใหม่ ดูลึกลับแห้งแล้งยังไงชอบกล ไม่ทราบว่าจัดกิจกรรมอะไรกันบ้าง

ในทางกลับกัน หากยังมีวัดอุปคุตพม่าอยู่ทุกวันนี้ ดิฉันคงได้ซอกแซกสืบค้นเรื่องราวอะไรมันส์ๆ อีกมากมาย เอามาบอกเล่าให้ผู้อ่านบังเกิดความกระจ่างชัด ระหว่างเรื่องราวของ “พระอุปคุต” กับ “พระบัวเข็ม” ได้ลึกมากกว่านี้

ทีนี้ในเมื่อเหลือแค่วัดอุปคุตไทยเพียงวัดเดียว

คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง “เหมือนหรือต่าง ระหว่างพระอุปคุตกับพระบัวเข็ม” ก็หนีไม่พ้นสูตรสำเร็จตามที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีอยู่แล้ว นั่นก็คือ พระบัวเข็ม เป็นปางหนึ่งของพระอุปคุต

แม้กระนั้นก็ยังมีข้อมูลหลายอย่างที่ดิฉันได้มาจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์พระที่เฝ้าภายในวิหารวัดอุปคุต

ตักบาตรเป็งปุ๊ด ให้พระอุปคุตอำนวยโชคลาภ

แย่งซีน “พระสิวลี” อีกหรือไม่

พระบัวเข็มเรียกเป็นภาษาพม่าว่า “ทิสัวยะ” (ต้องขออภัยด้วยนะคะหากออกเสียงคำสะกดผิด) ส่วนพระอุปคุตเรียกว่า “ชิน อุตตะโกต” ชิน หรือ Shin ในภาษาพม่าหมายถึงพระอรหันต์นั่นเอง

เมื่อถามถึงเรื่องการตักบาตร “เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญพุธ” ซึ่งเริ่มต้นจากวัดอปุคุตนี้เป็นแห่งแรก ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรสยาม ว่ามีคติความเป็นมาอย่างไรนั้น

ทางวัดเล่าว่า เกิดจากการที่มีสามีภรรยาผู้ยากไร้ซึ่งอาศัยอยู่นอกเมืองเชียงใหม่คู่หนึ่ง ยังชีพด้วยการเป็นชาวสวนผลไม้ ในยามเช้าตรู่ของวันพุธวันหนึ่ง ขณะที่พระจันทร์ยังส่องแสงเต็มดวงอยู่นั้น พวกเขากำลังตระเตรียมผลไม้เพื่อนำไปขายที่ตลาด พลันเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งเดินผ่านมายืนที่หน้าบ้าน ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาบิณฑบาต

แม้จะนึกฉงนอยู่บ้าง แต่สามีภรรยาคู่นี้ก็รำพึงรำพันว่าเออหนอเราไม่ค่อยได้ทำบุญเลยเพราะความอัตคัด อยู่ๆ ทั้งคู่ก็ให้รู้สึกอยากทำบุญมาก จึงนำผลไม้นั้นมาใส่จนเต็มบาตรทั้งๆ ที่ยากจน สามเณรให้พรเสร็จแล้วก็เดินหายลับไป

หลังจากใส่บาตรแล้ว ทั้งคู่บังเกิดความปีติอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก วันนั้นทั้งวันขายผลไม้หมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว และวันต่อๆ มาก็เป็นเช่นนี้อีก คือวางแผงปุ๊บหมดปั๊บ เมื่อค้าขายสะดวกคล่อง ทำให้เริ่มมีฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคหบดีของเมืองเชียงใหม่

ทุกๆ วันพุธยามรุ่งสาง สองสามีภรรยามักชะเง้อชะแง้มองหาสามเณรน้อยรูปนั้นอยู่เนืองๆ เพราะเสมือนว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำโชค แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พบอีกเลย จึงนำเรื่องนี้ไปปรารภกับพระเถระรูปหนึ่ง

พระเถระรูปนั้นอธิบายว่า สามเณรรูปที่สองสามีภรรยาได้ใส่บาตรไป คงเป็น “พระอุปคุต” จำแลงกายผุดมาจากสะดือทะเลหลังจากที่อดข้าวจำศีลมาตลอดทั้งปี โดยมาในรูปของเณรน้อยวัย 7 ขวบนั่นเอง ซึ่งจะมาเดินบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืนเฉพาะวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำของวันพุธเท่านั้น

ด้วยเหตุที่สองสามีภรรยาได้โชคลาภจากการใส่บาตรกับพระอุปคุตผ่านร่างของสามเณรน้อยรูปนั้น เป็นที่มาของการสร้างวัดอุปคุตขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (แต่กลับไม่ได้ระบุชื่อผู้สร้างวัดสองสามีภรรยานั้น)

และกลายเป็นประเพณีปฏิบัติว่า หากคืนวันพุธใดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ แล้วใครมีโอกาสได้เห็นสามเณรน้อยถือบาตรเดินผ่านไปมา แสดงว่านั่นอาจเป็นพระอุปคุตที่ผุดมาจากสะดือทะเล

แต่ใครเล่าจะเฝ้ารอให้สามเณรมาเดินผ่านต่อหน้าต่อหน้า คิดว่าง่ายนักหรือ มองหาก็เมินหาย ในเมื่อสองสามีภรรยาคู่นั้นรวยได้ ทำไมคนอื่นจะรวยบ้างไม่ได้ ความคิดที่ว่าหากใครได้ใส่บาตรกับพระอุปคตแล้วก็จะโชคดีตลอดไปค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น

อ้าว! ไหนว่าพระอุปคุตเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมารขจัดอุปสรรคไงล่ะคะ ไปๆ มาๆ กลับมาแย่งซีนสัญลักษณ์พระผู้ประทานโชคลาภของ “พระสิวลี” พระอรหันต์อีกรูปหนึ่งไปอีกแล้วหรือนี่ นึกว่าแย่งซีนแค่พระสุภูติ ด้านการขอฝนก็พอ

อย่ากระนั้นเลย สู้จัดให้สามเณรน้อยน่ารักน่าชังมาเดินรับบาตรให้เห็นๆ กันจะจะตาเสียเลยมิดีกว่าหรือ

ทางวัดอุปคุตจึงจัดงาน “ตักบาตรเป็งปุ๊ด” ขึ้นที่วัดเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน

เสียงสะท้อนนั้นไม่ต้องพูดถึง โดนกระหน่ำจากคณะกรรมการมหาเถรสมาคมและพระผู้ใหญ่ในล้านนาเสียจนไม่มีชิ้นดี ว่าอวดอุตริทำอะไรแผลงๆ ขัดแย้งจากข้อพระธรรมวินัย

ซ้ำยังถูกประณามว่า “อยู่ดีไม่ว่าดี ไปเลียนแบบพวกพม่าทำไม?”

สูเป็นคนไทยหรือเปล่า?

00
สุดท้ายก็อายพม่า ขยายสาขาพระอุปคุต

ชูสโลแกน “ตักบาตรเที่ยงคืนท่องเที่ยวไทย”

ประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดของวัดอุปคุต ค่อยๆ กระจายไปสู่วัดต่างๆ ในเชียงใหม่ ที่เด่นๆ เห็นจะมีวัดสวนดอก วัดศรีดอนมูล และทั่วทุกอำเภอ แต่ละวัดเริ่มขยายกิจกรรมตั้งแต่หัวค่ำ เช่น ให้มีการเทศนาประวัติของพระอุปคุตก่อนตอน 5 ทุ่ม ไปจนถึงเที่ยงคืน ครั้นหลังเที่ยงคืนปั๊บก็มีแถวสามเณรน้อยถือบาตรเดินเรียงรายออกมา

บางวัดเพิ่มงานก่อนคืนเป็งปุ๊ดอีก 1 วัน เพื่อให้ดูสมจริงและไม่ละทิ้งประเพณีเก่า กล่าวคือ ก่อนจะมีการตักบาตรเป็งปุ๊ด ก็ให้มีพิธีอาราธนางมก้อนหินจากแม่น้ำก่อนวันงาน เช่น ที่วัดมิ่งเมือง จังหวัดเชียงราย มีคนเข้าร่วมขบวนแห่เต็มถนนบรรพตปราการหลายหมื่นคน ซึ่งนับวันก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ

คนแน่นขนัดถึงกับร้านสะดวกซื้อทุกร้าน สินค้าหมดเกลี้ยงทุกชั้นวางของ เพราะนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องซื้อข้าวสารอาหารแห้ง ของอุปโภคบริโภคมาใส่บาตร

พลวัตการตักบาตรเที่ยงคืนหรือการตักบาตรเป็งปุ๊ดนี้ ได้เดินทางข้ามพรมแดนจากภาคเหนือตอนบนในวัฒนธรรมล้านนา ที่เคยถูกตราหน้าว่าไปลอกเลียนแบบพม่ามานั้น ค่อยๆ กระจายลงมาสู่ภาคกลาง (นครปฐม และสมุทรสาคร) ภาคตะวันออก (จันทบุรี) และประตูสู่ภาคใต้ (ประจวบคีรีขันธ์) อย่างมีจังหวะและกลยุทธ์ทางการตลาด

ที่วัดตึก จันทบุรี เพิ่มสีสันด้วยการจัดงานบวชสามเณรน้อยนับร้อยๆ รูปก่อนวันงานจริง ทำให้กิจกรรมขยายเพิ่มอีก1 วัน ผู้คนนิยมแห่ไปดูความน่ารักน่าเอ็นดูของสามเณรตัวเล็กๆ ป้อมๆ บ้างเดินอยู่ดีๆ จีวรสบงหลุด บ้างถือบาตรหลุดมือ บ้างเดินสะดุดขาเพื่อนคนข้างหน้า กลายเป็นอีกหนึ่งเซลฟี่ที่ได้ความไร้เดียงสาเป็นฉากหลัง

บางแห่งชูสโลแกนประกาศช่วงชิงนักท่องเที่ยวตัดหน้าคนเมืองเหนืออย่างไม่ไยดีด้วยคำพูดตรงๆ เลยว่า “ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางขึ้นเหนือ ร่วมตักบาตรเที่ยงคืนพระอุปคุตได้ที่นี่!”

วัดบางหญ้าแพรก สมุทรสาคร เต็มไปด้วยชุมชนมอญ ไม่เรียกงานว่า ตักบาตรเป็งปุ๊ด หรือตักบาตรเที่ยงคืน แต่เรียกว่างาน “วันพระอุปคุตอรหันต์”

ประจวบคีรีขันธ์ สร้าง “มณฑปหลวงปู่อุปคุต” ขนาดมโหฬารริมทะเล โปรดอ่านอีกครั้งและกรุณาขีดเส้นแดงสามเส้นใต้คำว่า “หลวงปู่” ให้ชัดๆ เห็นได้ว่าการผลิตซ้ำของพระอุปคุต จากพระอรหันต์กลายเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งไปเสียแล้ว

ซึ่งสอดรับกับรูปหุ่นขี้ผึ้งของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลายก็ถูกนำมาตั้งวางรวมอยู่ในมณฑปหลวงปู่อุปคุตนั้นด้วย

ข้อสำคัญ ที่จังหวัดประขวบคีรีขันธ์นี้ เป็นกรณีศึกษาของการบูชาพระอุปคุตที่หมุนไปตามพลวัตเมื่อข้ามพื้นที่ครั้งใหญ่ นั่นคือ มีการย้ายสถานที่จัดงานพระอุปคุตออกไปอยู่นอกวัดเป็นครั้งแรก หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดงานไม่ใช่วัด แต่เป็นสถานที่ราชการ

จุดขายของที่ประจวบคีรีขันธ์คือ การโปรโมตว่า มณฑปหลวงปู่อุปคุตแห่งนี้หันหน้าออกไปสู่ทะเล อันเป็นที่สถิตของพระอุปคุตจริงๆ ดังนั้น การได้ทำบุญกับพระอุปคุตที่นี่ เสมือนว่าได้อยู่ใกล้ชิดกับสะดือทะเลมากกว่าที่อื่นๆ

เท่านั้นยังไม่พอ ที่นี่ยังได้ออกแบบพระอุปคุตในรูปลักษณ์ใหม่ คือมือหนึ่งถือบาตร อีกข้างถือดอกบัวให้สอดคล้องกับการเพิ่งขึ้นมาจากสะดือทะเล ประติมากรรมชิ้นนี้ได้รับความนิยมมาก ต่อมาได้กลายเป็นพระอรหันต์ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองประจวบไปเรียบร้อยแล้ว

00

มีข้อสังเกตว่า มีการปรับเปลี่ยนวันเวลาของการจัดงาน ด้วยการตีความของคำว่า “เป็งปุ๊ด” แตกต่างกันไป

ในเชียงใหม่ เชียงราย จัดงาน “ตักบาตรเป็งปุ๊ด” ในตอนหลังเที่ยงคืนเมื่อพ้นวันอังคารไป คือเช้ามืดของวันพุธ

แต่ทางภาคกลางตีความว่าเป็นตอนกลางคืนของวันพุธ ย่างเข้าสู่เช้ามืดของวันพฤหัสฯ

ชาวมอญสมุทรสาครไม่จัดช่วงหลังเที่ยงคืน แต่จัดระหว่าง ตี 4 ตี 5 ถึง 6 โมงเช้า

เมื่อสอบถามชาวล้านนาว่าทำไมจึงไม่จัดงานในวันพุธตอนกลางคืน ในเมื่อชื่อก็ระบุชัดว่า “เป็งปุ๊ด” ไม่ได้หมายถึงช่วงเที่ยงคืนของวันพุธหรือเช่นไร

ได้รับคำตอบว่า หากกำหนดจัดงานในวันพุธตอนกลางคืนเป็นฤกษ์ยามที่ไม่ดี เพราะไปตรงกับคืนราหู

จึงตีความว่าระยะเวลาควรอยู่ในช่วงเลยเที่ยงคืนวันอังคารมาเล็กน้อย และกำลังก้าวเข้าสู่วันพุธแล้ว
00

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นพลวัตใหม่ในการบูชาพระอุปคุต ที่มีการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นตัวแปร ด้วยการเรียกร้องสิทธิ์ขอเปิดพื้นที่จากจังหวัดนอกเขตวัฒนธรรมล้านนาอย่างอึงมี่ว่า

“ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เราก็สามารถตักบาตรกับพระอุปคุตได้เหมือนกันมิใช่หรือ?”

เล่นพูดแบบนี้ ก็เท่ากับช่วยเพิ่มคุณสมบัติของพระอุปคุตมาอีกหนึ่งอย่างแล้วล่ะสิ นั่นคือมีความสามารถเนรมิตกายจากคนเดียวให้กลายเป็นพันๆ คนได้ เฉกเดียวกับ “พระอรหันตสาวก จุลลบันถกเถระ” ผู้มีอิทธิฤทธิ์ในด้านนี้

ส่วนเรื่อง พระอุปคุต กับ พระบัวเข็ม เหมือนหรือต่าง องค์เดียวกันหรือคนละองค์ นั้น ดิฉันได้ทำหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ช่วยผ่าตัดให้เห็นไส้เห็นพุงมาแล้วอย่างละเอียด ดังนั้นขออย่าให้ต้องสรุปฟันธงในที่นี้อีกเลยค่ะ เพราะคนที่เขาอยากให้ทั้งสององค์เป็นองค์เดียวกันมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่อยากจะไปทะเลาะเบาะแว้งอะไรกับใครเขา

ยิ่งยุคนี้รัฐบาลบอกให้ต้องปรองดองสมานฉันท์กันให้มากๆ อยู่ด้วย