สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนสุข สนุกสอน กับ sQip (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

Better late than never. มาช้าดีกว่าไม่มา

ผมคิดถึงสำนวนฝรั่งนี้ขึ้นมาระหว่างอ่านจดหมายข่าวฉบับปฐมฤกษ์ของโครงการ sQip พาดหัวปกด้วยวลีว่า เรียนสุข สนุกสอน โดนใจเลยคว้าเอามาเป็นชื่อเรื่องการศึกษาชุดใหม่โดยพลการ ให้สมสมัย เชื่อผู้นำไทยนิยมยั่งยืน เสียเลย

ที่คิดถึงสำนวนที่ว่าก็เพราะการดำเนินโครงการ sQip นวัตกรรมการบริหารการศึกษานี้ เริ่มก่อรูปร่างสร้างตัวและลงมือทำกันมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ต่อ 2560 มาจนถึงขณะนี้แล้ว

ผมเพิ่งมีจังหวะเก็บเล็กผสมน้อยมาเล่าสู่กันฟังสัปดาห์นี้

 

อีกเหตุหนึ่งเพราะได้ไปร่วมเวทีสังเกตการณ์กระบวนการดำเนินงานของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ สมัย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ผู้สนับสนุนโครงการ จัดกิจกรรม Workshop การใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ โครงการขยายผลระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Q-info) เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. ได้พบผู้ริเริ่มก่อการ ผู้ร่วมขบวนการ ล้วนเป็นนักการศึกษา นักปฏิบัติการมากประสบการณ์หลายท่าน

น่าจะถ่ายทอดสาระ เรื่องราว บรรยากาศ วิธีคิด กระบวนการทำงาน ให้ผู้สนใจความเป็นไปทางการศึกษาได้รับรู้เห็นภาพชัด และติดตามให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ที่สำคัญร่วมมีความหวังและกำลังใจไปกับคนร่วมกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษานี้ทุกคน ทุกฝ่าย

เพราะเชื่อว่าภายใต้สภาพการณ์วังวนทางการศึกษาที่เป็นอยู่ แม้จะมีนวัตกรรมการบริหารการศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่น้อยโดยเฉพาะในระดับพื้นที่ต่างๆ แต่ยังมีครู อาจารย์ นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชนอีกมากมายไม่ได้รับรู้สิ่งดีๆ เหล่านี้กว้างขวางลึกซึ้งเท่าที่ควร ยังคงโหยหาทางแก้ปัญหาการศึกษากันวันแล้ววันเล่า

อย่างน้อยที่สุด น่าจะรับรู้ sQip คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร มีกระบวนการคิดและวิธีการปฏิบัติในเรื่องอะไร อย่างไร เป็นทางออกหรือตอบโจทย์ปัญหาทั้งโอกาสและคุณภาพการศึกษาได้ตรงจุด ทำให้เกิดการพัฒนา ลดความเครียด วิตกกังวล และมีความสุข จริงหรือไม่ แค่ไหน

จุดเน้นของกระบวนการทำงาน จนถึงเป้าหมาย และตัวละครที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีบทบาท เป็นใคร อยู่ที่ไหน

 

sQip ความเต็มมาจาก School Quality Improvement Program ภาษาไทยคือ โครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง

พูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนด้วย 5 Q มีอะไรบ้าง ต้องติดตาม

ทุก Q ล้วนเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ ส่งผลถึงกันและกัน อย่างที่ชอบพูดกันว่า คุณภาพการศึกษาอยู่ที่คุณภาพครู คุณภาพผู้บริหาร คุณภาพนักเรียน คุณภาพโรงเรียน คุณภาพพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมโดยรวม คำตอบคือถูกทุกข้อ

ปัญหาช่องว่างทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะคุณภาพโรงเรียนของเราไม่ทัดเทียมกัน

โรงเรียนมากมาย เฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2559 กว่า 38,000 โรงทั่วประเทศ มีหลายระดับ หลายขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ หลายประเภท โรงเรียนแข่งขันสูง โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนชายขอบ โรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง โรงเรียนต้นแบบ จนถึงโรงเรียนนิติบุคคล

ความเป็นจริงที่ยังดำรงอยู่ เป็นไปอย่างที่ ธันว์ธิดา วงค์ประสงค์ นักวิชาการต่างประเทศ สสค. กล่าวถึงผลการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนเขตพื้นที่ชนบทมีคะแนนต่ำกว่านักเรียนวัยเดียวกันในโรงเรียนเขตเมืองถึง 3 ปีการศึกษา ช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้มีมากว่า 10 ปีและยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง

เหตุนี้จึงทำให้เกิดความคิด ความเชื่อว่าถ้าทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ มีคุณภาพทัดเทียมกัน ปัญหาโอกาสและคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างน้อยที่สุด เด็กได้ชีวิตความเป็นเด็กคืนมา พ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยเฉพาะคนเมืองหลวงและเมืองใหญ่ไม่ต้องเครียดหนักเหมือนทุกวันนี้ ต้องแหกตาตื่นตั้งแต่ตะวันยังไม่โผล่พ้นขอบฟ้า ฝ่าการจราจรติดขัด แย่งพื้นที่บนถนน ป้อนนม ขนมปัง ป้อนข้าว ลูกกินไป หลับไป ไม่ต่างจากนรกทั้งเป็น แย่งกันไปโรงเรียนเด่นดัง ผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศ กวดวิชาบ้าระห่ำ เพราะโรงเรียนดีใกล้บ้านยังไม่เป็นจริง มีแต่โรงเรียนกำลังจะดี

คงด้วยแนวคิดพื้นฐานทำนองนี้จึงเป็นต้นธารของการคิดพัฒนาเชิงระบบ เอาโรงเรียนเป็นตัวตั้ง เป็นแกน โดยป้อนปัจจัย 5 ตัวเข้าไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพในที่สุด เป็นที่มาของ sQip นั่นเอง

5 ปัจจัย มีอะไรบ้าง ภายใต้กระบวนการอะไรอย่างไร ใครเป็นผู้ก่อการหรือครูใหญ่ ค่อยว่ากันตอนต่อไป