วิรัตน์ แสงทองคำ : เบียร์ สุรา และ ธุรกิจค้าปลีก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

บางเรื่อง เรามักมองเป็นวิวัฒนาการที่จำต้องเป็นไป

แต่ก็มีอีกบางเรื่องมีผู้พยายามยื้อยุดไว้

บ้างก็ว่าในมุมมองเชิงวิวัฒนการสังคมธุรกิจ เกี่ยวกับปรากฏการณ์รถเร่ หรือที่ชาวบ้านเรียกขาน “พุ่มพวง” ตระเวนขายสินค้าตามหมู่บ้านอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นบริการแบบใหม่ในไม่ช้า

เชื่อกันว่าจะอยู่ภายใต้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เติบโตเร็วมากๆ เข้าครอบคลุมพื้นที่ระดับตำบลและหมู่บ้านแล้ว มีมากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ

เป็นปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันกับร้านโชห่วย ซึ่งค่อยๆ ล้มหลายตายจากไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ภาพข้างต้นเกิดขึ้นมาแล้วในโลกตะวันตก และญี่ปุ่น ด้วยบริการเอื้ออารีของเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่ ให้เข้าถึงชุมชนห่างไกล ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและปัจจัยการดำรงชีวิตที่จำเป็น

ขณะที่สังคมไทยพัฒนาการจะแตกต่างออกไปบ้าง อาจก่อเกิดเป็นธุรกิจระบบแฟรนไชส์แบบใหม่ สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับคู่ค้ารายเล็กๆ ซึ่งมีทุนน้อยในท้องถิ่น และชุมชนระดับหมู่บ้าน ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการ “หลอมละลาย” ร้านโชห่วยให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อได้โดยตรง

อาจมองเป็นพัฒนาอีกขั้น กระบวนการถ่ายทอดโนว์ฮาว ระบบและเทคโนโลยี

รวมทั้งแบบแผนการบริหารจัดการสมัยใหม่ ให้เข้าถึงหน่วยของสังคมที่เล็กลงอีก

อย่างที่เชื่อกันว่าเป็นแนวคิดอันบรรเจิดของ “สานพลังประชารัฐ” เพื่อประสานสัมพันธ์ให้ธุรกิจใหญ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประกอบการรายย่อย ตามความคิดริ่เริ่ม และแนวทางอันน่าทึ่งของ ทีมสมคิด

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้นาม ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ระบบการค้าเสรี ไม่ผูกขาด มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค

 

เรื่องราวข้างต้นขยายจินตนาการมาจากภาพภาพเดียวซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมเชิงสังคมไม่น้อยเลย

โดยเฉพาะภาพรถเร่ของ Big C ภาพซึ่งเล่าเรื่องได้อย่างมากมาย เชื่อมโยงกับธุรกิจโมเดลใหม่ เครือข่ายค้าปลีกของ กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของ เจริญ สิริวัฒนภักดี และบริหารโดยทีมมืออาชีพ นำโดยบุตรเขย-บุตรีคนสุดท้อง ซึ่งทั้งสองมีดีกรีวิชาการบริหารธุรกิจจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก

เรื่องราวเกี่ยวกับเครือข่ายธุรกิจสำคัญกลุ่มทีซีซี กับบทเรียนและประสบการณ์ว่าด้วย “เสรี” กับ “ผูกขาด” นั้นมากมาย บางกรณีเป็นภาพอันย้อนแย้ง

 

เบียร์ช้าง

กรณีสำคัญมากๆ เกิดขึ้นในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

“รัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี 2534 จึงมีผู้ขอตั้งโรงงานเบียร์หลายราย เบียร์ช้าง เป็นเบียร์ไทยยี่ห้อเดียวที่ใช้พยัญชนะไทยในฉลากเบียร์อย่างภาคภูมิในความเป็นไทยออกสู่ตลาดในปี 2538” ข้อมูลของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของ “เบียร์ช้าง” กล่าวไว้ (http://www.thaibev.com/) โดยเจาะจงใช้คำว่า “เปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” เป็นที่เข้าใจกัน ประหนึ่งประกาศว่า ยุคผูกขาด 60 ปี ของ “เบียร์สิงห์” สิ้นสุดลงแล้ว

ขณะนั้นกลุ่มธุรกิจหลักของเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังเป็นเจ้าของสัมปทานผูกขาดสุราไทย ก้าวข้ามพรมแดนในทันที ด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เปิดขึ้น

เริ่มต้นด้วยการร่วมทุนกับต่างชาติ-Carlsberg เบียร์ชั้นนำของโลกแห่งเดนมาร์ก เข้ามาสร้างโรงงานในเมืองไทยทันทีในปี 2534 แล้วออกสู่ตลาดค่อนข้างรวดเร็วในอีก 2 ปีต่อมา

พร้อมๆ กันนั้นได้ริเริ่ม “เบียร์ช้าง” ไปด้วย เป็นแผนคู่ขนาน ท่ามกลางการเรียนรู้ธุรกิจเบียร์จากเดนมาร์ก กว่าเบียร์ช้างเบียร์ไทยรายที่ 2 จะออกสู่ตลาดใช้เวลาถึง 4 ปีเต็ม

กลุ่มทีซีซีเข้าสู่ธุรกิจเบียร์ได้ไม่ยากเลย ภายใต้ป้าย “เปิดเสรี” แต่แผนการขยายตลาดผนวกเข้ากับธุรกิจสุรา “ผูกขาด” ซึ่งได้ผลดีทีเดียว

ภาพรวม “การเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” ปี 2534 แม้ว่ามีเบียร์แบรนด์ต่างประเทศเข้ามาอย่างหลากหลายพอสมควร แต่ตลาดในประเทศ ยึดครองโดยเบียร์ไทย “สิงห์” กับ “ช้าง”

 

ธุรกิจสุรา

ธุรกิจสุราผูกขาดของกลุ่มทีซีซี ผูกอยู่กับพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 จนกระทั่งปี 2541 ดูเหมือนเข้าสู่ยุคใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาลชวน หลีกภัย (14 พฤศจิกายน 2540 – 9 พฤศจิกายน 2543) “มีนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราหลังปี 2542” ถ้อยแถลงนั้นน่าสนใจยิ่งนัก

ทว่าอันที่จริงการปรับเปลี่ยนนโยบายข้างต้น สำหรับ กลุ่มทีซีซี แทบไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบ

ภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุราธุรกิจหลักของไทยเบฟฯ ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่ายังคงมีบทบาทคล้ายๆ กับเป็นผู้ผูกขาด แม้ไม่ใช่อยู่ในระบบสัมปทาน แต่อาจกล่าวได้เช่นกันว่า เป็นภาวะตกทอดจากระบบสัมปทาน และความเป็นไปของกลไกตลาด ว่าด้วยแผนเชิงรุกทางธุรกิจว่าด้วย Merger & Aquisition เตรียมการไว้อย่างดี เปิดฉากอย่างครึกโครมเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว แทบจะเรียกได้ว่าธุรกิจสุราในประเทศไทย ภายใต้นโยบายการแข่งขันเสรีนั้น แท้จริงอยู่มือไทยเบฟฯ อย่างมีนัยยะสำคัญ

จากข้อมูลของไทยเบฟฯ เอง ผลิตภัณฑ์สุรา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ สุราขาว สุราสี และสุราผสม มีหลากหลายแบรนด์อย่างไม่น่าเชื่อ รวมๆ กันมากถึงประมาณ 30 แบรนด์ เข้าใจว่าครอบคลุมตลาดไทย โดยเฉพาะหัวเมืองและชนบทอย่างแน่นหนา ดูไปแล้วแทบไม่มีแบรนด์ หรือยี่ห้ออื่นใดหลงเหลือหรือแทรกเข้ามาในตลาดได้

ขอยกขึ้นมาอ้างไว้ สุราขาว ได้แก่ รวงข้าว ไผ่ทอง นิยมไทย เสือขาว หมีขาว มังกรท่าจีน ไชยา เจ้าพระยา แม่วังวารี พญานาค พญาเสือ บางยี่ขัน ส่วนสุราสีมี แม่โขง หงส์ทอง มังกรทอง แสงโสม นอกจากนี้ ยังมีสุราผสม (หัวเชื้อสมุนไพรไทย-จีน กับสุราขาว) ยี่ห้อสุรา เสือดำ เชี่ยงชุน ชูสิบนิ้ว

เมื่อเข้าถึงรายละเอียดมากขึ้นอีก นโยบายการเปิดเสรีที่ว่านั้น เกี่ยวข้องกับทั้งเบียร์และสุรา มีบางอย่างควรใคร่ครวญ

“ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 เห็นชอบนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราหลังปี 2542 โดยให้กระทรวงการคลังชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจชัดเจน ในหลักการและกรอบของการเปิดเสรีสุราด้วยว่า มิได้หมายความว่าผู้ใดจะผลิตสุราได้เองโดยเสรีทุกกรณี…” สาระสำคัญตอนต้นของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 (6 ตุลาคม 2543) ลงนามโดย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอเน้นข้อความที่ว่า “มิได้หมายความว่าผู้ใดจะผลิตสุราได้เองโดยเสรีทุกกรณี…”

เรื่องราวนั้นปะทุขึ้นเมื่อกระแสเบียร์ทำมือหรือคราฟท์เบียร์ (Craft beer) พุ่งแรงขึ้นในระดับโลก ทว่า มีข้อจำกัดมากๆ ในสังคมไทย ด้วยอ้างอิงกับกฎหมายที่อ้างว่าเปิดเสรีนั้น ตามมาด้วยการทำงานอย่างแข็งขันของหน่วยงานรัฐ เพื่อสกัดกั้นเกิดขึ้นผู้ประกอบการรายเล็กๆ

ข่าวคราวการจับกุมลงโทษ สตาร์ต-อัพ คราฟท์เบียร์ เป็นไปอย่างครึกโครม ตั้งแต่ช่วงปี 2556

 

ทั้งนี้ อ้างอิงกับประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อปี 2543 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการทำเบียร์ได้เพียง 2 ประเภท

หนึ่ง-โรงงานขนาดใหญ่มีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี

สอง-โรงเบียร์ขนาดเล็ก ลักษณะเป็น Brew Pub (เช่น โรงเบียร์ตะวันแดง) ต้องผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตรต่อปี โดยให้มีการบริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวด ทั้งนี้ ผู้ผลิตเบียร์ทั้งสองประเภท ต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

“กรณีคราฟท์เบียร์เป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นว่า กฎหมายไทยจำนวนมากสนับสนุนทุนผูกขาด หรือทุนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้คนทำเบียร์รายย่อยแบ่งพื้นที่ทางการตลาด” เสียงวิจารณ์ทำนองข้างต้น ดังขรมตามมา

“กรณีคราฟท์เบียร์เป็น “หน่อ” ความคิด และปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เชื่อว่าในที่สุดไม่มีใครขัดขวาง “สิ่งใหม่เล็กๆ” นั้นได้ แท้จริงแล้วผู้ผลิตเบียร์รายย่อยๆ ไม่มีบทบาทคุกคามรายใหญ่ หากเป็นสีสัน เป็นกระบวนการทดลอง ค้นคิดผลิตภัณฑ์ ถือเป็นอนาคต ในมิติสังคม โมเดลธุรกิจใหม่ ยกระดับอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งโอกาสในการหลอมรวมในขั้นตอนพัฒนาการอีกขั้นของรายใหญ่ ผมเชื่อว่า “สิงห์” และ “ช้าง” เข้าใจปรากฏการณ์และแนวโน้มดังกล่าว หากร่วมกันอรรถาธิบาย และผลักดันหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้คล้อยตาม คงเป็นเรื่องไม่ยาก ในที่สุดทางออกที่เหมาะสมจะเปิดขึ้น”

(อ้างจากคอลัมน์ “เรื่องราวและความคิด” โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ประชาชาติธุรกิจ กุมภาพันธ์ 2560)

ในเวลานั้น (ต้นปี 2560) ผมมองข้ามหน่วยงานรัฐ โดยพยายามเสนอแนวคิดไปยังผู้ได้ประโยชน์ด้วยอ้างอิง “เสรี” กับ “ผูกขาด” เป็นไปอย่างกว้างๆ ผิดกับครั้งนี้ พยายามเสนออย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

 

เมื่อมองไปข้างหน้า เชื่อว่าวิวัฒนาการดำเนินไป และก็ยังเชื่อว่าผู้นำสังคมธุรกิจไทย สามารถปรับตัวเข้ากับ “สิ่งใหม่” ได้ และควรจะมีบทบาท มีส่วนผลักดันให้ปรากฏการณ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยในภาพใหญ่ ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น

ถือเป็นภารกิจสำคัญ ภายใต้กลไก “คณะทำงานสานพลังประชารัฐ” ซึ่งผนึกพลังร่วมมือกันอย่างแนบแน่น ระหว่างรัฐกับธุรกิจใหญ่ ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มธุรกิจทีซีซี มีบทบาทอย่างแข็งขัน

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ผู้ค้าสุราและเบียร์รายใหญ่ นั่งเป็นประธานคณะทำงานสานพลังประชารัฐชุดสำคัญ-คณะทำงานเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ และ อิศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ เจ้าของธุรกิจค้าปลีก BigC เป็นกรรมการในคณะทำงานการส่งเสริมธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อเกิดนโยบาย หรือแผนการ ผลักดันวิวัฒนาการเกี่ยวกับเบียร์ สุรา และค้าปลีก ในสังคมไทย ให้เป็นไปอย่างสมดุล