ปริศนาโบราณคดี : พระอุปคุต VS พระบัวเข็ม ตกลงองค์เดียวกัน หรือคนละองค์? (6)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จากการนำเสนอปูมหลังทั้งของพระอุปคุตกับพระบัวเข็ม 5 ตอนที่ผ่านมา ได้พบความเหมือน-ความต่าง ระหว่างพระอุปคุต กับ พระบัวเข็ม ดังนี้

โดยขอเริ่มต้นที่ข้อแตกต่างก่อน

ข้อแตกต่าง
ระหว่างพระอุปคุตกับพระบัวเข็ม

พระอุปคุต เป็นพระอรหันต์ยุคพระเจ้าอโศกมหาราช

พระบัวเข็ม ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่มีลักษณะเป็น “พระโพธิสัตว์ผสม” ระหว่าง พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ กับพระโพธิสัตว์เภสัชคุรุ

พระอุปคุต ไม่สามารถนำมาเป็นพระประธานในพระวิหารหรือพระอุโบสถแทนองค์พระพุทธรูปได้ แต่พระบัวเข็มในปางฉันผลสมอ สามารถนำมาประดิษฐานในตำแหน่งพระพุทธรูปประธานได้

พระอุปคุต (ในปางจกบาตร) นั่งแหงนหน้าขึ้นมองตะวัน เป็นการบังคับให้พระอาทิตย์หยุดโคจร เนื่องจากท่านออกบิณฑบาตตอนกลางคืน (เพ็ญพุธ-เป็งปุ๊ด) ซึ่งท่านคงจะรู้ดีว่าอาจผิดวินัยสงฆ์ ทำให้วันนั้นทั้งวันต้องหยุดตะวันตรึงไว้ก่อนจนให้พ้นเที่ยงคืนหลังญาติโยมใส่บาตรเสร็จ

ลักษณะเช่นนี้ไปละม้ายกับ “พระสุภูติ” พระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง ที่มีความสามารถในการบันดาลให้ฝนตกหายแล้ง โดยยกมือขึ้นข้างหนึ่ง ทำท่าแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า นักโบราณคดีเชื่อกันว่า รูปแบบของพระอุปคุตในปางจกบาตรนี้ น่าจะรับอิทธิพลมาจากรูป “พระสุภูติ” เนื่องจากพระสุภูติเคยพบมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดีย แต่พระอุปคุตพบแต่ในอุษาคเนย์

ในขณะที่พระบัวเข็มนอกจากจะไม่ทำท่าเอียงหน้าแหงนมองฟ้าแล้ว ยังกลับก้มหน้ามองลงต่ำเสมอ

พระอุปคุต ทำเป็นรูปพระสงฆ์ เศียรโล้น ครองจีวรแบบสงฆ์ มีบาตรสุแบบสงฆ์ แต่พระบัวเข็มบางครั้งมีใบบัวปรกผม (หมวกปัทมะ) และบางครั้งสวมกระบังหน้าคาดประดับเพชรพลอย

ลักษณะเฉพาะของพระบัวเข็มที่พระอุปคุตไม่มีคือ การถือผลสมอ การเป็นหมอยา รวมไปถึงการฝังตะกรุด 9 จุด หรือการฝังเข็มมนตร์ 9 แห่ง กระจายตามจุดต่างๆ ดังนี้ 1 แห่งที่กลางหน้าผาก, 2 แห่งที่หัวไหล่, 2 แห่งที่ข้อศอก, 2 แห่งที่หัวเข่า, และอีก 2 แห่งที่หลังมือ (ในกรณีของพระบัวเข็มองค์จิ๋ว ข้อศอกกับฝ่ามืออยู่ใกล้กันมาก 2 เข็มสุดท้ายจะย้ายไปฝังที่ฝ่าเท้า)

แต่พระอุปคุตผิวเรียบเกลี้ยงไม่มีการฝังตะกรุด

ความละม้ายคล้ายคลึงกัน

ทั้งพระอุปคุต และพระบัวเข็ม ต่างก็มีจุดกำเนิดในวัฒนธรรมมอญ (สะเทิม) และปยู่ (ศรีเกษตร) ประเทศพม่า โดยมีรากฐานมาจากคติจากสายพุทธเถรวาท นิกายสรวาสติวาทิน (นิกายที่รับอิทธิพลมหายานมาค่อนข้างมาก) เหมือนกัน จากนั้นจึงส่งต่อให้วัฒนธรรมพม่าในยุคพุกาม ส่งต่อให้กลุ่มไทใหญ่ ล้านนา และท้ายสุดคือสยาม รัตนโกสินทร์

ก่อนที่จะทำสร้างพระปฏิมาของพระอุปคุตและพระบัวเข็มในแบบ “รูปธรรม” ถาวร การบูชาพระอุปคุตยุคโบราณ เคยใช้กุศโลบายด้วยการ “งมก้อนหิน” จากแม่น้ำมาประดิษฐานไว้ที่หอโล่งๆ หน้าวัด เพื่อเสร็จพิธีก็เอาหินไปคืนลงแม่น้ำ

ส่วนพระบัวเข็มยุคโบราณ ก็มีรูปแบบกึ่งนามธรรมเช่นกัน คือทำเป็นรูปไข่ 5 ฟอง ไม่มีหน้าไม่มีตา ไม่มีแขนไม่มีขา คล้ายหินเกลี้ยงกลมมน

เรื่องราว “ทักษิณสาขา” ของพระบัวเข็ม มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยุคการสร้างโลหะปราสาท ใต้สะดือทะเล สมัยพระเจ้าอโศกมหราช (ตรงกับพระเจ้าทุฏฐคามณีของลังกา) อันเป็นช่วงสมัยที่พระอุปคุตมีชีวิต

พระอุปคุตกับพระบัวเข็ม ในยุคที่ปรากฏเป็นรูปธรรมครั้งแรกๆ มีขนาดเล็กจิ๋ว พกพาได้ และทำจากกิ่งไม้โพธิ์ (พระบัวเข็มเน้นว่ากิ่งโพธิ์แบบ “ทักษิณสาขา” แต่อุปคุตไม่ได้เน้น) หากไม่มีกิ่งโพธิ์ก็จะปั้นจากเกสรดอกไม้แห้งที่คนนำมาบูชาพระ เพราะถือว่ามาจากน้ำใจอันบริสุทธิ์ของสาธุชน นำไปตากแห้งบดผสมดินเหนียวกลางทุ่ง ปั้นหุ้มด้วยรัก (ยางเหนียวสีดำ) แล้วปิดทอง

การบูชาพระอุปคุตและพระบัวเข็มขนาดจิ๋วในอดีต ไม่ได้เอาไปไว้ที่วัด แต่บูชาอยู่ที่บ้าน ด้วยการตั้งองค์พระบนแท่นที่หล่อน้ำในพานหรือขันล้อมองค์พระไว้เสมอ เป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มฉ่ำเย็น เพราะเชื่อว่าท่านมาจากมหาสมุทร

การที่พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ในการปราบมาร คล้ายกับการอวตารของพระวิษณุจากสะดือทะเล คนล้านนายุคก่อนจึงมักเปรียบพระอุปคุตว่าเป็น “วิษณุปางหมอเมือง”

ฤๅษีวาสุเทพได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาด้านตำรายาจากพระวิษณุมาฉันใด “เจ้าหลวงคำแดง” (อารักษ์เมืองเชียงใหม่) ก็ได้รับการถ่ายทอดตำรายาจากพระอุปคุตฉันนั้น (แม้รูปแบบของพระอุปคุตจะไม่มีการฝังเข็มมนตร์ก็ตาม)

เช่นเดียวกับที่ชาวล้านนาเรียกพระบัวเข็มว่า “พระหมอ” หรือพระเภสัชคุรุ (ซึ่งก็มีลักษณะไปพ้องกับ “พระกริ่ง” อีก)

พลวัตอันบิดผันของพระอุปคุต-พระบัวเข็ม

ไม่ว่าเส้นทางเดินของพระอุปคุตกับพระบัวเข็มจะมาจากคนละเส้นทางอย่างไรก็ตาม (ระหว่างพระอรหันต์ กับพระโพธิสัตว์) แต่สุดท้าย ก็หวนกลับมาบรรจบกัน จนกลายเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เป่าเสกภยันตรายและโรคภัยไข้เจ็บในลักษณะ “พระหมอ” หรือ “พระผู้ปราบมาร” คล้ายคลึงกันจนได้

แต่ปัจจุบันคติการบูชาพระอุปคุตกับพระบัวเข็ม ต้องขอบอกว่า “ชักจะเลยเถิดไปกันใหญ่” เสียแล้ว มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็น “พลวัต” หรือ “วิวัฒนาการ” ของความศรัทธาที่สามารถเปลี่ยนแปรไปได้ในแต่ละยุคสมัย

ทว่า อีกมุมหนึ่ง เหมือนว่าน่าจะเป็นความบิดผันของวัฒนธรรมประดิษฐ์ หรือการจงใจเสกสรรปั้นแต่ง story สร้างจุดขายใหม่ เสียจนกู่ไม่กลับล่ะมากกว่า

จากคติการงมก้อนหินใต้ท้องแม่น้ำมาวางไว้ที่หออุปคุตก่อน 1 วัน เพื่ออัญเชิญบารมีของพระอุปคุตมาช่วยปราบมาร ในคราวที่ต้องเตรียมงานพิธีทางศาสนาครั้งใหญ่ (จำลองมาจากการที่พระอุปคุตเคยช่วยพระเจ้าอโศกมหาราชปราบพญามารมาแล้ว)

เป็นความเชื่อในเชิงจิตวิทยาแบบ “ตัดไม้ข่มนาม” คล้ายข่มขวัญไม่ให้เหล่าจิ๊กโก๋อันธพาลขาใหญ่ขาโจ๋ทั้งหลายมาทำตัวซ่าเมาอาละวาดทะเลาะต่อยตีกันหัวร้างข้างแตกในงาน ป้องกันไม่ให้มีใครมาสะดุดหรือทำลายพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของงาน เพื่อให้งานผ่านพ้นไปได้ด้วยความราบรื่น

นี่คือคติเริ่มแรกในการบูชาพระอุปคุต

ชุมชนบางแห่งอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำลำคลอง หรือไม่สะดวกที่จะงมก้อนหินได้บ่อยๆ ก็เริ่มแปรแนวคิดในการบูชาพระอุปคุตใหม่ จากนามธรรมจึงกลายเป็นรูปธรรม

เริ่มจากการสร้างรูปพระอรหันต์องค์หนึ่ง ประทับนั่งในหอ มีบาตรใหญ่วางอยู่เบื้องหน้า จากนั้นจึงนำก้อนหินใหญ่มาวางหน้าหอนั้น ผู้คนในท้องถิ่นผ่านไปผ่านมาย่อมทราบกันดีว่า นี่คือสัญลักษณ์ของพระอุปคุต ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากเต็มทนแล้ว ภาพประกอบนี้ถ่ายที่วัดเวียง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

เป็นรูปพระอุปคุตจำลองในยุคเริ่มแรกก่อนที่จะนั่งเอียงคอหยุดตะวันจกบาตร ดังที่ตั้งข้อสังเกตแล้วว่า รูปแบบดังกล่าวรับอิทธิพลมาจาก พระอรหันต์สุภูติ ที่ทำท่าขอฝน

ให้พระอุปคุตเลียนแบบท่าเอียงคอของพระสุภูติมายังไม่พอ แถมยังแย่งซีนพระสุภูติมาผสมผสาน ไปเพิ่มความเชื่อว่าเมื่อบูชาพระอุปคุตแล้ว จะช่วยบันดาลให้ฝนฟ้าตกอีกด้วย

และยิ่งต่อๆ มา ได้มีการเพิ่มพระอุปคุตปางต่างๆ อีกละลานตา ปางใดกันบ้างจะได้กล่าวถึงในฉบับหน้า อันเป็นตอนสุดท้ายของเรื่องพระอุปคุต-พระบัวเข็ม