ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : แฟชั่นนิสต้ากับสิทธิสตรี ชาตินี้เราคงรักกันไม่ได้?

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สามสี่ปีแล้วที่ตำรวจบอกว่าการลวนลามช่วงสงกรานต์เกิดขึ้นเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊เอง

คุณซินดี้จึงได้ใจคนทั้งชาติทันทีที่บอกว่าโทษพวกลวนลามสิโว้ย

การขยับของคุณซินดี้สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่จนนายตำรวจคนนั้นต้องหยุดพูด แต่คุณซินดี้คงรู้เหมือนทุกคนว่าการหุบปากไม่ได้แปลว่าความคิดนี้จะหมดไปจริงๆ

อย่าลืมว่าหลังจากใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ไม่กี่วัน นายกฯ นายพล ใช้เหตุฆ่าข่มขืนหญิงอังกฤษที่เกาะเต่า “สอน” ฝรั่งว่าอย่าใส่บิกินี่ในไทย

ยิ่งกว่านั้นคือท่านสื่อว่าคนแต่งบิกินี่แล้ว “รอด” คือพวกขี้เหร่ และที่สุดของความเสื่อมคือการพล่ามนี้เกิดกลางที่ประชุมผู้บริหารทำเนียบรัฐบาล

ด้วยการแสดงออกแบบนี้ ผู้นำไทยตะโกนบอกคนทั้งโลกว่าผู้หญิงเป็นต้นเหตุของการข่มขืนและลวนลาม

ทำให้การข่มขืนกลายเป็นเรื่องตลก

อาชญากรรมเป็นความผิดที่เกิดเพราะผู้หญิงยั่ว รวมทั้งเปิดโปงให้โลกเห็นความไร้ปัญญาเรื่องความรุนแรงทางเพศและสิทธิเหนือร่างกายตัวเองของผู้หญิงทุกคน

เสียดายที่ตอนนั้นนายกฯ ยังไม่เปิดเฟซบุ๊ก และคุณซินดี้กับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลยังไม่ได้ทำแบนเนอร์ว่า “หยุดเอาการข่มขืนและการลวนลามทางเพศมาเป็นเรื่องตลก” , “หยุดทำให้มันเป็นเรื่องขำ” หรือหยุดพูดประเภท “ฉันก็อยากโดน (ข่มขืน) แต่ไม่มีใครเอา 555” จะได้ให้ใครก็ได้ช่วย Tag ข้อความนี้ให้นายกฯ ดู

ตรงข้ามกับไทยที่มีคนเถื่อนคิดว่าแต่งโป๊คือใบอนุญาตข่มขืนหรือลวนลาม เสรีภาพส่วนบุคคลหยั่งรากในหลายประเทศจนสิทธิเหนือร่างกายผู้หญิงขยายไปสู่คนข้ามเพศแล้ว โจทย์ในสังคมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องถ่อยประเภทอย่าโป๊จนโดนข่มขืนอย่างไทย แต่คือประเด็นว่าโป๊สนับสนุนหรือทำลายการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอ็มม่า วัตสัน ซึ่งโด่งดังจากบทเฮอร์ไมโอนี่ในภาพยนตร์ชุด Harry Potter คือนักแสดงที่นมเป็นชนวนการถกเถียงเรื่องโป๊กับสิทธิสตรีมากที่สุด

เหตุผลง่ายๆ คือคนเป็นล้านผูกพันกับเธอจากบทบาทนั้นตั้งแต่อายุ 11 ถึง 21 และนับถือที่เธอถูกสหประชาชาติตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีด้านสิทธิสตรี

ตรงข้ามกับนักแสดงที่พูดเรื่องสิทธิสตรีเฉพาะส่วนค่าจ้างที่เท่าเทียมและเสรีภาพในการแต่งตัว

เอ็มม่าเป็นไม่กี่คนที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเฟมินิสท์

เธอกล่าวสุนทรพจน์ HeForShe ที่ UN ปี 2557 ซึ่งดังเป็นพลุแตกเพราะเธอชวนบุรุษต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศโดยอย่าอยู่ใต้วาทกรรมความเป็นชายที่สังคมสร้างมา

คำพูดของเอ็มม่าฉลาดเพราะโยงการยุติความไม่เท่าเทียมทางเพศกับผู้ชาย เธอบอกว่าสังคมที่ความเป็นชายคือความก้าวร้าวหรือควบคุมผู้อื่นนั้นสร้างปัญหานี้ และถ้าไม่มีใครทำอะไร ผู้หญิงทั้งโลกต้องรอ 75 ปี กว่าค่าจ้างจะเท่าผู้ชายที่ทำงานเดียวกัน หรือเด็กหญิง 15.5 ล้านคน ต้องถูกบังคับให้แต่งงานตอนอายุ 16 ปี

ขณะที่สุนทรพจน์นี้แหลมคมเพราะทำให้เฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้หญิง และเปิดทางให้ผู้ชายที่อึดอัดกับ “ความเป็นชาย” มีส่วนต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เอ็มม่าในปี 2560 กลับถ่ายแฟชั่นลงนิตยสาร Vanity Fair โดยภาพหนึ่งเธออยู่ในชุดคลุมไหล่ Burberry ที่โชว์ 75% ของเต้าโดยหลบไม่ให้เห็นหัวนม

ตรงนี้เองที่่นมเอ็มม่าจุดชนวนการถกเถียงเรื่องโป๊กับสิทธิสตรีในช่วงที่ผ่านมา

ในการรับรู้เรื่องนี้ฉบับประชานิยม เอ็มม่าแง้มนมถ่ายงานให้แบรนด์ดังแต่กลับถูก “เฟมินิสต์” วิจารณ์ว่าเธอเปิดนมไม่ได้ สักพักเอ็มม่าก็โต้ว่านมเธอไม่เกี่ยวกับเป็นหรือไม่เป็นเฟมินิสท์

ต่อมา “เฟมินิสต์” อีกฝ่ายก็ตอบ “เฟมินิสต์” ฝ่ายแรกว่าเปิดนมคือทางเลือกของผู้หญิง และชี้ต่อว่าฝ่ายนั้นเข้าใจ “เฟมินิสต์” ผิดไป

ประโยคคลาสสิคของเอ็มม่าที่แพร่หลายในสื่อสายขายความเป็นหญิงตอนนั้นเกือบทั้งหมดคือ “I really don”t know what my tits have to do with it. They were saying that I couldn”t be a feminist and have boobs” หรือ “หัวนมเกี่ยวอะไรกับการเป็นเฟมินิสต์ จะบอกว่าคนเราเป็นเฟมินิสต์และมีนมไม่ได้หรือไง”

เห็นได้ชัดว่าเรื่องเล่านี้ยุให้วงการแฟชั่นกับเฟมินิสต์ตีกันถึงขั้นสร้างความเกลียดเฟมินิสท์ในหมู่แฟชั่นนิสต้า, บ.ก.นิตยสารผู้หญิง, Follower ที่แสดงความเห็นได้ทุกเรื่องในโลกหลังอ่านโพสต์ ฯลฯ

จนเกิดวาทกรรมว่าเฟมินิสท์ยุ่งเรื่องผู้หญิง แต่ไม่มีใครเฉลียวใจว่าใครในโลกตะวันตกยุคนี้จะทำเรื่องนี้อย่างที่พูดกัน

เริ่มต้นข้อแรก คำวิพากษ์ที่ “เฟมินิสต์” บางคนมีต่อเอ็มม่าไม่เกี่ยวกับตัวแฟชั่นเซ็ตนี้ เพราะใครที่เห็นภาพย่อมรู้ว่างานชิ้นนี้คือศิลปะโดยผู้ถ่ายคือ Tim Walker ซึ่งเป็นช่างภาพแฟชั่นเบอร์ใหญ่มาสองทศวรรษ โดยเฉพาะการผสม British Surrealism กับแฟชั่นจนภาพโดดเด่นด้านผสานความฝันกับจินตนาการ

สำหรับแฟชั่นนิสต้าที่บอกว่าเอ็มม่าเปิดนมเพราะชอบแบรนด์ดัง งานชิ้นนี้ถ่ายโดยช่างภาพที่ลดทอนแบรนด์จนแทบไม่ใช่ภาพเพื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยซ้ำ

เขาเคยถ่าย Kristen McMenamy เป็นเงือกแบบสุดขอบจินตนาการนางเงือก

พูดง่ายๆ คือทิมทำกับภาพถ่ายแฟชั่นเหมือน เดล ทอโร ทำกับภาพยนตร์

ไปที่ข้อสอง วิวาทะเรื่องนมของเอ็มม่าเกิดขึ้นเพราะในอดีตเธอเคยวิจารณ์การถ่ายภาพเปิดนมของผู้หญิงในสื่อสิ่งพิมพ์ การเปิดนมถ่ายภาพโดยนักแสดงซึ่งเคยวิพากษ์การเปิดนมจึงเป็นเรื่องใครก็ตั้งคำถามกับความซื่อสัตย์หรือความรับผิดชอบต่อคำพูดของเธอได้แน่ๆ ไม่ว่าคนถามจะเป็นเฟมินิสต์หรือไม่ก็ตาม

ในปี 2012-2015 หนึ่งในการเคลื่อนไหวที่ประชาชนอังกฤษขับเคลื่อนอย่างหนักคือการกดดันให้หนังสือพิมพ์หัวสีขายดีอย่าง The Sun เลิกพิมพ์ภาพเปิดนมนางแบบในหน้าสาม เหตุผลคือภาพทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ และภาพเปลือยแบบนี้สร้างความรุนแรงทางวัฒนธรรมต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน

เทียบกับไทยก็คล้ายไทยรัฐกับเดลินิวส์ยุคขึ้นภาพผู้หญิงโป๊บนหน้าหนึ่งวันอาทิตย์จนสังคมแขยง เพราะในช่วงที่แข่งกันลงต่ำ สื่อยักษ์ฉบับหนึ่งถึงขั้นพาดหัวให้ผู้อ่านดูนูนกลางหว่างขาผู้ประกวดนางสาวไทย

มองผ่านเลนส์ประชาธิปไตย การรณรงค์ชื่อ No More Page 3 (ต่อต้านหน้าสาม) วางอยู่บนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่สุด คนเริ่มเรื่องนี้คือนักเขียนธรรมดาอย่าง ลูซี่ แอนน์ โฮล์มส์, การขับเคลื่อนทำผ่านโซเชียล และทุกคนเห็นตรงกันว่าภาพเปิดนมของ The Sun ตอกย้ำทรรศนคติว่าผู้หญิงมีไว้เพื่อรีดน้ำกาม

สำหรับผู้ที่เตรียมแขวะว่าพวกนี้ดัดจริตคลั่งศีลธรรม 140 ส.ส.จากพรรคแรงงาน, พรรคอนุรักษนิยม, พรรคเสรีประชาธิปไตย, พรรคกรีน ฯลฯ สู้เรื่องนี้, 30 มหาวิทยาลัยแบนเดอะซันจนกว่าจะหยุดพิมพ์ภาพโป๊ และองค์กรต้านความรุนแรงทางเพศอย่าง White Ribbon/ Rape Crisis ก็ร่วมผลักดันเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

The Sun ตอบโต้เรื่องนี้ตามสูตรสำเร็จของขบวนการเหยียดเพศทั่วไป ส.ส.พรรคแรงงานถูกตั้งฉายาว่า “Killjoy” หรืออีขวางความสุข, องค์กรต้านการข่มขืนถูกเรียกว่า “Feminist Fanatic” หรือ “อีเฟมินิสต์บ้า” หรือแม้แต่การเขียนการ์ตูนว่าคนที่ผลักดันเรื่องนี้คือหญิงอ้วนขี้อิจฉาที่สื่อเปิดพื้นที่ให้สาวหุ่นดีได้อวดนม

ในเมื่อเอ็มม่าที่สนับสนุนการรณรงค์ No More Page 3 กลับถ่ายภาพเปิดเต้า 75% สังคมย่อมตั้งคำถามว่าเธอคิดอย่างไรกันแน่ หรือเธอก็แค่อภิสิทธิ์ชนที่พูดเรื่องสิทธิสตรีเอาเท่ห์แบบ White Feminism หลายคน

ข้อสาม คนเปิดประเด็นวิพากษ์เอ็มม่าอวดนมไม่ใช่ “เฟมินิสต์” ที่เป็นองค์กรหรือขบวนการ แต่คือ Julia Hartley-Brewer สื่อมวลชนอังกฤษที่เคยทำงาน The Guardian คำถามจึงไม่ใช่เรื่องเปิดนมในความหมายทั่วไป แต่คือการถามของคนอังกฤษต่อนักแสดงอังกฤษที่เคยต้านสื่อที่ขายการเปิดนมในสังคมอังกฤษเอง

เพื่อความสนุกในการถกประเด็น ควรระบุด้วยว่าจูเลียผู้วิพากษ์การเปิดนมของเอ็มม่าเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปในการลงประชามติปี 2559 และถูกเลือกให้อยู่ในกลุ่ม 100 ฝ่ายขวาผู้ทรงอิทธิพลในปี 2560 ทว่าเธอไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า และในแง่การเมืองเป็นฝ่ายสาธารณรัฐนิยม

จูเลียเป็นตัวอย่างว่าชาตินิยมฝ่ายขวาต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีได้ ซ้ำยังอาจเป็นเสรีนิยมด้านศาสนาและการเมือง คำวิพากษ์ของเธอจึงไม่แน่ว่าจะมาจากเรื่องเฟมินิสต์ และเป็นไปได้ที่อาจจะมาอัตลักษณ์แบบอนุรักษนิยม

น่าสนใจว่าขณะที่เอ็มม่าในปี 2560 จัดหนักเฟมินิสต์จนเปิดทางให้กลุ่มต้านเฟมินิสต์สร้างเรื่องเล่าเพื่อสร้างสงครามระหว่างวงการแฟชั่นกับเฟมินิสต์ขึ้นมา เอ็มม่าในปี 2561 กลับบอกว่าตัวเธอในปีที่แล้วเข้าใจเรื่องเฟมินิสต์น้อยมากขั้นไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าคำวิพากษ์ว่าเธอเป็น White Feminism หมายความว่าอะไร

ต้นปี 2561 เธอโพสต์ภาพคู่กับหนังสือ Why I”m No Longer Talking to White People about Race ของ Reni Eddo-Lodge เฟมินิสต์ผิวดำซึ่งบางคนบอกว่าช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของการเหยียดผิวในอังกฤษระดับเดียวกับ There Ain”t No Black in the Union Jack ของ Paul Gilroy

สรุปแบบสั้นๆ เอ็มม่าในโพสต์นี้สื่อสารว่าเธอเห็นด้วยกับเฟมินิสต์ที่ราดิคาลถึงขั้นกล้าพูดว่าคนขาวไม่มีวันเข้าใจว่าสีผิวสร้างความไม่เป็นธรรม สถาบันต่างๆ ทำให้สังคมอังกฤษมองไม่เห็นความอยุติธรรมที่เกิดจากความแตกต่างทางสีผิว พูดเรื่องนี้กับคนขาวไปก็เสียปาก ต่อให้เป็น “คนขาวผู้น่ารัก” แค่ไหนก็ตาม

ในการทบทวนตัวเองของเอ็มม่า เธอบอกว่าสิ่งที่เธอไม่เคยทำคือการครุ่นคิดว่าความเป็นคนขาวทำให้เธอมีอภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มอื่น? เธอสนับสนุนโครงสร้างสังคมที่เหยียดผิวตอนไหน? สีผิว, ชนชั้น และเพศวิถีส่งผลต่อมุมมองของเธออย่างไร ฯลฯ หรืออีกนัยคือการยอมรับว่าฝ่ายวิพากษ์การเปิดนมพูดมีประเด็น

ยิ่งไปกว่านั้น เอ็มม่าบอกต่อไปว่าเธอกล่าวสุนทรพจน์ปี 2558 โดยเข้าใจว่าเฟมินิสต์เป็นเรื่องง่ายๆ ประเภทอะไรที่ผู้หญิงเลือกก็ถือว่าเป็น “ทางเลือก” สู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศหมด แต่ที่จริงเฟมินิสต์คือการตรวจสอบว่าตัวตนของผู้หญิงถูกสร้างอย่างไร

และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องซับซ้อนกว่าที่เธอเคยจินตนาการ

ถึงตอนนี้เอ็มม่าไม่ใช่ดาราผู้คิดว่าอะไรก็ตามที่ผู้หญิงเลือกคือ “ทางเลือก” ต่อไป

ความเข้าใจเธอเรื่องสิทธิสตรีไปไกลกว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ต้องการให้ผู้หญิงคิดเรื่อง “สิทธิสตรี” เฉพาะในแง่ Choice ในการเลือกซื้อเสื้อผ้าหน้าผมจน “ทางเลือก” หมายถึงการบริโภคตามรสนิยมการใช้ชีวิตของแต่ละคน

สำหรับธุรกิจที่ทำให้สิทธิสตรีเป็นแค่ Choice แนวคิดเฟมินิสต์เรื่องสังคมที่เป็นธรรมคือการตอกย้ำความเรียวแคบของทรรศนะคตินี้ สื่อที่ยกย่องเอ็มม่าคราวด่าเฟมินิสต์จึงไม่ให้ความสำคัญกับเธอที่เป็นเฟมินิสต์ยิ่งขึ้น ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มต้านเฟมินิสต์ที่ยิ่งไม่โอเคกับเฟมินิสต์ที่ขยายประเด็นสู่ความอยุติธรรมของคนดำ

ความเข้าใจว่าสิทธิสตรีไม่ได้มีความหมายแค่เรื่องของ Choice คือการก้าวกระโดดทางความคิดครั้งสำคัญที่สุดในการถกเถียงเรื่องเฟมินิสต์ร่วมสมัยยุคปัจจุบัน