ปริศนาโบราณคดี : เวียงหนองล่ม อาเพศแผ่นดิน แม่ม่ายกินปลาไหลเผือก และ ”สึนามิ”

ปรากฏการณ์คลื่นยักษ์ “สึนามิ” ที่ญี่ปุ่น หรือเหตุการณ์ “สึนามิ” ณ ห้วงทะเลอันดามันเมื่อหลายปีก่อน ต่างก็เป็นมหันตภัยที่ก่อให้เกิดความวินาศสันตะโรระดับ “เมืองล่ม” “ธรณีพิบัติ” หรือ “อาเพศแผ่นดิน”

ซึ่งในอดีตก็เคยมีเรื่องราวในทำนองนี้เกิดขึ้นก่อนแล้ว

เพียงแต่มิได้เรียกขานว่า “สึนามิ”

“ปลาไหลเผือก”
เครื่องเตือนภัยสึนามิของคนยุคก่อน

ยุคที่เราไม่มีเครื่องมือวัดความเปลี่ยนแปลงของรอยแยกแผ่นดินว่ามีแรงสั่นสะเทือนกี่ริกเตอร์ เพื่อเตือนให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยนั้น คนโบราณจะใช้วิธีสังเกตความเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำจำพวกหนึ่งซึ่งจำศีลอยู่ใต้บาดาลลึก

สัตว์ที่ว่านี้คือ “ปลาไหลเผือก” บางครั้งก็อาจรวมถึง “ปลาตะเพียนเผือก” แท้ก็คือ “งูขาว” หรือนาคชนิดหนึ่ง ซึ่งนานๆ ครั้งจะโผล่ออกมาสู่พื้นผิวน้ำ

การที่งูขาวหรือปลาไหลเผือกจำศีลอย่างสงบในถ้ำใต้บาดาล ย่อมสำเหนียกถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเปลือกโลกที่กำลังเคลื่อนไหวแม้เพียงน้อยนิดได้เป็นรายแรก ก่อนที่มนุษย์และสัตว์ทั่วไปจะพึงสดับ เมื่อปลาไหลเผือกรู้ว่าแกนโลกใกล้พลิก พลันรีบว่ายน้ำหนีความตายแบบฉับพลันทันด่วน

และคนสมัยโบราณเมื่อเห็นปลาไหลเผือกถลันตัวโผล่ขึ้นมาจากน้ำเมื่อไหร่ ก็ย่อมรู้โดยสัญชาตญาณทันทีว่าแผ่นดินไหวหรือธรณีพิบัติ (สมัยก่อนมักเรียกว่า “หนองล่ม” หรือ “หนองหล่ม”) กำลังจะคืบคลานมาถึงในไม่ช้าแล้ว

การปรากฏตัวของ “ปลาไหลเผือก” จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนภัยในลักษณะภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้คนรีบหนีเอาตัวรอดจากที่ลุ่มขึ้นไปอยู่บนที่ดอนแบบไม่ต้องคิดชีวิต

เราคงจำกันได้ดี ถึงคำสัมภาษณ์ของชายชาวประมงพังงาผู้หนึ่ง ในช่วงมหันตภัยสึนามิที่ทะเลอันดามันเดือนธันวาคม 2547 ว่าเขารอดชีวิตอย่างหวุดหวิด เพราะวิ่งตาม “งูขาว” ที่ไหลออกมาจากถ้ำใต้ท้องทะเลลึก แล้วกระโจนเลื้อยสู่ยอดภูเขาสูง ชาวเลผู้นั้นเห็นท่าไม่ดีจึงวิ่งตาม ด้วยเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เตือนให้ระวังภัยธรรมชาติ ไว้ว่า

“ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต้องวิ่งหนีไปในทิศทางเดียวกับงูขาวหรือปลาไหลเผือกเท่านั้น”

นี่คือคำสัมภาษณ์ทั้งน้ำตานองหน้าจากชายชาวเล ผู้เป็นหนี้ชีวิตงูขาวจำศีลตัวนั้นจวบจนบัดนี้

ทว่า สำหรับคนวิปริต หูตามืดบอด มิอาจถอดรหัสได้ว่างูขาวมีความสัมพันธ์กับสัญญาณเตือนภัยธรรมชาติอย่างไร ด้วยมีพื้นฐานจิตใจตะกละตะกลาม เห็นปลาไหลเผือกแล้วน้ำลายฟูมปาก เพราะเป็นสัตว์หายากไม่มีขายตามท้องตลาด ท่าทางจะเลิศรส

คือมองไปในทางโลภว่านี่คือลาภปาก แทนที่จะวิ่งหนีตาม กลับช่วยกันจับปลาไหลเผือกมาต้มยำทำแกง ทั้งๆ ที่มันอุตส่าห์กระโจนจากถ้ำจำศีล อาสาตัวมาเป็นผู้นำในการหลบหนีคลื่นยักษ์สึนามิแท้ๆ

แล้ว “แม่ม่าย” เกี่ยวข้องอะไรกับเวียงหนองล่ม?

เมื่อคนในหมู่บ้านพากันรุมกินปลาไหลเผือกอย่างเอมโอษฐ์ ตำนานมักผูกเรื่องให้พระอินทร์ปลอมตัวมาพิสูจน์วัดใจใครสักคนที่ประเสริฐแสนดีคนสุดท้าย เพื่อประเมินได้ถูกต้องว่าในหมู่บ้านนั้นยังมีคุณธรรมหลงเหลืออยู่จริงหรือไม่ นั่นคือต้องไปกระแซะหาคนที่ยังไม่ได้ร่วมล้อมวงไพบูลย์กับใครเขา

ในหมู่บ้านนั้นทุกคนต่างก็ทิ้งบ้านช่องห้องหอแห่กันไปรุมกินปลาไหลเผือกอย่างตะกรุมตะกราม เหลือแต่ “นางหญิงม่าย” เพียงผู้เดียวที่ตั้งใจรักษาศีลประพฤติพรหมจรรย์ไม่กินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิตหลังจากที่สามีตาย แต่แล้วก็ถูกพระอินทร์แสร้งลองใจด้วยการหลอกล่อถามว่า

“คนในหมู่บ้านหายไปไหนกันหมด”

“พวกเขาต่างพาไปกินปลาไหลเผือก”

“แล้วนางเล่า ไยจึงมิไป เห็นเขาบอกว่า ปลาไหลเผือกนั้นรสชาติอร่อยยิ่งนัก”

“ฉันงดเว้นการกินเนื้อสัตว์มานานหลายปีแล้ว”

แรกๆ ก็ปฏิเสธ แต่แล้วแม่ม่ายนางนั้นพลันกลืนน้ำลายสอ ด้วยถูกพระอินทร์คะยั้นคะยอยั่วหยอกอีกสองสามยก ก็พลอยตบะแตก กระโจนเข้าร่วมวงขอลองลิ้มชิมรสอันโอชะของปลาไหลเผือกกับเขาด้วย

ทันทีที่สตรีผู้ประพฤติพรหมจรรย์คนสุดท้ายของเมืองผิดสัจวาจา ย่อมหมายถึงสัญญาณแห่งความล่มสลายทางด้านจริยธรรมชุมชน ตำนานจึงมักสรุปว่า

ทันใดนั้น แผ่นดินพลันยุบถล่มทลายลงกลายเป็นหนองน้ำบึงกว้าง ผู้คนทั้งหมู่บ้านล้มตายหายสูญด้วยอาเพศแห่งฟ้าดิน เหตุเพราะ “แม่ม่ายกินปลาไหลเผือก” นั่นแล

อ้าว! ก็กินด้วยกันทั้งหมู่บ้านมิใช่รึ? ไฉนมาโทษแต่หญิงม่ายเพียงผู้เดียว แถมยังซี้ดปากน้อยกว่าคนอื่นอีกต่างหาก เพราะมาร่วมขบวนเป็นคนสุดท้าย เพิ่งเริ่มเปิบได้สักคำสองคำเท่านั้น สึนามิก็มาฉุดคร่าชีวิตของคนทั้งเมืองไปกับสายน้ำเสียแล้ว

น่าสนใจยิ่งว่า ภาพลักษณ์ของ “แม่ม่าย” ในสังคมยุคก่อนนั้น ไยจึงถูกตีตราว่าเป็นหญิงมีราคี-อัปมงคล?

วิญญาณหญิงม่ายอาจอุทธรณ์ร้องทุกข์ว่า “องค์อินทร์” นั่นแหละที่เป็นตัวการ ในฐานะที่มายวนยั่วหลอกล่อให้เจ้าหล่อนต้องเผลอใจเผลอกายจนศีลห้าขาดกระจุยกระจายได้ถึงเพียงนี้

“แม่ม่าย” และ “ย่าฮาย”
คนดีคนสุดท้ายของสังคมเส็งเคร็ง

แม้นว่าคำอธิบายเรื่องสาเหตุแห่งเมืองถล่มหรือ “เวียงหนองล่ม” ของโลกยุคดึกดำบรรพ์ จักดูเหมือนว่ามีอคติกับ “หญิงม่าย” มากเกินกว่าจะโทษว่าเป็นเพราะ “คนทั้งหมู่บ้าน” เป็นคนพาลขาดสติปัญญาไตร่ตรอง ไร้สมองมิอาจตีความสัญญาณแห่ง “ปลาไหลเผือกจำศีล” หรือสัตว์ชนิดแปลกๆ ที่เลื้อยขึ้นมาจากถ้ำใต้บาดาลสู่พื้นพิภพ ว่านั่นคือลางบอกเหตุเภทภัย ก็ตาม

ทว่า การพุ่งเป้าไปที่ตัว “แม่ม่าย” อันเป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้ทรงศีล” หรือสตรีผู้ปวารณาตนเป็น “คนดี” ด้วยการตั้งสัจวาจาว่าจะรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัดชั่วชีวิต แต่แล้วพลันยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพียงเห็นแก่รสอร่อยปลายลิ้นชั่วไม่กี่คำนั้น

ย่อมสะท้อนว่า “คนทั้งเมืองนี้หาคนดีทำยาไม่ได้อีกแล้วแม้แต่เพียงคนเดียว”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขืนปล่อยให้เมืองทั้งเมืองที่มีแต่คนชั่วคนเลวดำรงชีวิตกันอยู่ต่อไป ก็จักยิ่งเป็นกาลีแก่แผ่นดิน อย่ากระนั้นเลย เมืองนั้นสมควรล่มถล่มจมธรณีหายไปทั้งเมืองน่าจะเข้าท่ากว่า

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการสาบสูญของเมืองในลักษณะ “เวียงหนองล่ม” เพราะ “แม่ม่ายกินปลาไหลเผือก” นี้ปรากฏอยู่ในตำนานปรัมปราหลายแหล่งทั่วภาคเหนือ ทั้งในพม่า ลาว และดินแดนสิบสองปันนา

เฉพาะในเขตลำพูน-ลำปาง-เชียงใหม่-เชียงราย มักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหญิงสาวกิน “งูเผือก” กระจายอยู่หลายหมู่บ้าน โดยชื่อบ้านนามเมืองยังคงปรากฏคำว่า “บ้านหนองหล่ม” “เวียงหนองร้าง” หรือ “เนินแม่ม่าย” ให้เห็นร่องรอย

เมืองที่โดดเด่นรู้จักกันเป็นอย่างดีในวงกว้าง เกี่ยวกับนิทานทำนองนี้ได้แก่ “เมืองโยนกนาคนคร” จากตำนานสิงหนวัติ ซึ่งระบุไว้ว่ามีอายุเวลาเก่าแก่นานกว่า 1,800 ปี จวบบัดนี้นักโบราณคดียังมิอาจสืบค้นหาหลักฐานของเวียงหนองล่มดังกล่าว จากซากหนองน้ำขนาดใหญ่ใกล้เมืองเชียงแสนริมแม่น้ำโขง

นอกเหนือจากเรื่อง “แม่ม่ายกินปลาไหลเผือก” จนเป็นเหตุให้เมืองล่มแล้ว บางตำนานยังระบุสาเหตุของ “สึนามิ” ไว้อีกอาการหนึ่ง ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องราวระหว่าง “ผู้หญิง” กับ “คุณธรรม” อาทิ

ตำนานก่อนการสร้างหริภุญไชยนคร ดินแดนแถบลำพูนเคยมีเมืองๆ หนึ่งชื่อ “รันนปุระ” หรือ “บูรพนคร” ซึ่งฤๅษีวาสุเทพสร้างแล้วปล่อยให้คนพื้นเมืองผู้ยังป่าเถื่อนอันธพาล (ชาวลัวะและชาวเม็ง) ปกครองกันเอง

อยู่มาวันหนึ่ง “ยายเฒ่า” ชื่อว่า “ฮาย” ถูกลูกชายเกเรทุบตี เมื่อไปฟ้องเจ้าเมืองให้ตัดสิน เจ้าเมืองกลับเข้าข้างบุตรโดยสรุปสำนวนคดีฟังแล้วชวนขนหัวลุก แก่ย่าฮาย (ยายไฮ) ว่า

“ลูกตีแม่ไม่เห็นแปลกตรงไหน ก็เหมือนระฆัง เมื่อลูกระฆัง (ลูกเด่ง) ไม่ลั่นโดนตัวแม่ระฆัง จะมีเสียงดังได้ฉันใด”

ว่าซะงั้น! น้ำเสียงเหมือน “ตลก”สองมาตรฐานของศาลเจ้าเมืองสารขันธ์ไม่มีผิด!

เมื่อนครรุ่มร้อนเป็นเปลวไฟ วงการศาลเกิดวิกฤติขาดคุณธรรม ถึงขนาดมีการพิพากษาแบบลำเอียงปกป้องคนชั่ว ไม่ว่ากันไปตามเนื้อผ้า

ตำนานพรรณนาต่อไปว่า ทันใดนั้น เทพยดาฟ้าดินจึงลงโทษให้เมืองทั้งเมืองถล่มล่มจมหายไปในหนองน้ำ เว้นไว้แต่ย่าฮายนางเดียวที่พระอินทร์ช่วยให้รอดชีวิตไว้

“พระอินทร์” มาอีกแล้วหรือนี่ แต่คราวนี้ค่อยยังชั่วหน่อย ไม่เล่นลองใจเอาปลาไหลเผือกมาหลอกให้ย่าฮายกินเหมือนที่ชอบแกล้งอำแม่ม่ายบ่อยๆ

ครั้งนี้สั่งให้รุกขเทวดามากระซิบบอกย่าฮาย ว่าให้รีบขอลี้ภัยการเมืองอพยพหนีไปอยู่เมืองอื่นโดยพลัน ช้าเดี๋ยวจะโดนผู้มีบารมีออกคำสั่งจับกุม

เห็นได้ว่าทั้ง “ย่าฮาย” และ “แม่ม่าย” ตัวละครเหล่านี้ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ “คุณงามความดี” สิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของเมืองเส็งเคร็งก่อนจะถึงกาลอวสาน

สึนามิการเมือง ณ โลกอาหรับและ After Chock!

เหตุการณ์สึนามิหรือ “ธรณีพิบัติ” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกปัจจุบัน ไม่ได้ต่างไปจากปรากฏการณ์ “เวียงหนองล่ม” ของโลกในอดีตเท่าใดนัก เพราะต่างก็เป็นภาพสะท้อนของการที่นครแห่งนั้นมี “ผู้นำที่ขาดศีลธรรม” แต่ “อ้างตัวเป็นคนดี” ขึ้นปกครองบ้านเมือง

ขณะนี้ปลาไหลเผือกใต้พื้นพิภพทั่วแผ่นดินเผด็จการกำลังนอนรอฟังเสียงสัญญาณแกน (นำ) โลกที่เตรียมพลิกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง จากไทยสู่โลกตะวันออกกลางหลายประเทศ ปลาไหลเผือกช่วยกันเร่งเร้าเขย่าบัลลังก์แห่งเจ้าชายนิทรา ให้ตื่นฟื้นจากนิทานอาหรับราตรีอันงมงาย ทั้ง ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน ฯลฯ

โดย “ย่าฮาย” (ยายไฮ) แห่งผ่านฟ้า-ราษฎร์ประสงค์ จะเฝ้ารอท่าอย่างสุขุมคัมภีรภาพ ทำหน้าที่ลั่นระฆังสั่งเจ้าเมืองและศาลสถิตอยุติธรรม ให้เตรียมรับกรรมที่เคยก่อเหตุสึนามิไว้เนิ่นนาน ด้วยอาการ After Chock! เร็วๆ นี้