จิตต์สุภา ฉิน : โกหกแบบไหนดีในปี 2018

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

1 เมษายน วันแห่งการใช้ความคิดสร้างสรรค์ปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาหลอกกันผ่านพ้นไปแล้วอีกหนึ่งปี

ในชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าวเกือบสิบปีของซู่ชิง วันที่ 1 เมษายน ถือเป็นวันที่สนุกที่สุดวันหนึ่ง เพราะได้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย งัดไอเดียมาประชันขันแข่งกันสุดฤทธิ์

ใครปั้นเรื่องได้เนียน สนุก และใช้จินตนาการในการหลอกคนได้บรรเจิดที่สุด แบรนด์นั้นก็คว้าตำแหน่งเจ้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ไปครอง

ซึ่งทุกๆ ปี ก็มีกูเกิลนี่แหละค่ะ ที่เอาจริงเอาจังเรื่องการหลอกคนมากที่สุด

และหลอกได้ดีที่สุด

แต่ปีนี้ความรู้สึกที่ซู่ชิงมีต่อวันโกหกมันเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอยู่คนเดียว หรือมีใครที่รู้สึกแบบนี้ร่วมกันบ้าง

 

ปีนี้เป็นปีที่ซู่ชิงอยากให้วันโกหกผ่านไปเร็วๆ เพราะรู้สึกเอือมระอาเต็มทนกับการที่ต้องนั่งถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ ทั้งวันว่าข่าวที่กำลังเห็นผ่านตาอยู่ตอนนี้เป็นข่าวจริงหรือข่าวหลอก

ข่าวบางข่าวอ่านแว้บๆ แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ดีจัง แต่พอสายตาเหลือบไปเห็นว่าโพสต์ในวันที่ 1 เมษายน ก็ต้องใจห่อเหี่ยวว่า อ้าว ไม่ใช่เรื่องจริงนี่นา

บางข่าวก็แนบเนียนมากจนหลงเชื่อไปแล้วเรียบร้อย กระทั่งได้ไปเห็นคอมเมนต์นั่นแหละ ถึงได้ตระหนักว่านี่เราตกเป็นเหยื่อเมษาหน้าโง่ไปแล้วห้าวินาทีเต็มๆ

ทำให้ต้องกลับมาถามตัวเองว่าทำไมปีนี้เราถึงรู้สึกหงุดหงิดกับข่าวปลอมมากกว่าปีอื่นๆ ทำไมเราไม่รู้สึกขำไปกับโพสต์ที่คนทำมาหลอกกันบนอินเตอร์เน็ตเท่ากับปีที่ผ่านๆ มา และทำไมเราถึงอยากให้วันที่หนึ่งเมษามันจบลงเสียที ทั้งๆ ที่คนก็หลอกกัน 24 ชั่วโมงเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมานั่นแหละ

สำหรับซู่ชิงแล้ว คำตอบที่ได้กลับมาน่าจะแบ่งออกเป็นสองเหตุผลใหญ่ๆ

 

เหตุผลข้อแรกน่าจะมีความเกี่ยวโยงกับดราม่าข่าวปลอมบนเฟซบุ๊กนี่แหละค่ะ เรื่องราวของเฟซบุ๊กกับแคมบริดจ์ แอนาลิติกา ทำให้คนบนเฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่บนหน้าฟีดทุกวันมันมีความจริงแท้มากน้อยแค่ไหน

บทความไหนถูกยิงตรงมาที่เราด้วยเจตนาที่จะบิดเบือนความรับรู้และความเชื่อของเราบ้าง

โพสต์ไหนมีแนวโน้มจะทำให้เรามีอารมณ์ร่วมทั้งๆ ที่เป็นการเขียนขึ้นมาจากความจริงด้านเดียวหรือความเท็จล้วน

การที่ต้องคอยระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเชื่ออะไรง่ายๆ ทำให้สมองต้องทำงานหนักตลอดเวลาทุกครั้งที่เสพข่าวสาร ประกอบกับวัฒนธรรมของการลากคนที่โพสต์หรือคอมเมนต์อะไรไม่ตรงใจออกมากระทืบกันในที่สาธารณะก็ทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องคอยเตือนสติตัวเองอย่างหนักหน่วงทุกครั้งที่ออนไลน์ อันนี้เรื่องจริงหรือเปล่า อันนี้แชร์ได้ไหม อันนี้คอมเมนต์ไปแล้วคนจะมารุมตอบและด่าพ่อล่อแม่เราหรือเปล่านะ

ทั้งหมดนี้แค่ต้องทำอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวันทุกวันก็เหนื่อยมากอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับวันที่หนึ่งเมษาที่เราต้องเปิดฟังก์ชันกลั่นกรองคำโกหกทิ้งไว้ทั้งวันก็ยิ่งทำให้สมองรวนกันได้เลย

มันก็คงจะไม่วุ่นวายขนาดนั้นถ้าหากว่าวันที่หนึ่งเมษาเป็นวันที่คนทุกคน บริษัททุกบริษัท สำนักข่าวทุกสำนัก ออกมาโกหกกันหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้าหากเป็นแบบนั้นเราก็คงเว้นวันนี้เอาไว้หนึ่งวัน แล้วก็หัวเราะสนุกสนานไปกับวันโกหกได้เต็มที่

แต่ความเป็นจริงคือมันมีทั้งข่าวที่โกหก และข่าวที่เป็นความจริงรายงานออกมาพร้อมๆ กันในวันเดียวนี่สิคะ

พลาดเชื่อไปแค่ข่าวเดียวก็อาจจะโดนชี้หน้าหัวเราะในความโง่เง่าไปได้ทั้งวัน

 

เหตุผลข้อที่สองคือ ทุกวันนี้เราเสพคอนเทนต์กันในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เคยนับไหมคะว่าวันหนึ่งๆ เราหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นทั้งหมดกี่ครั้ง ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ประมาณ 150 ครั้งก็จริง แต่ของคนไทยเรามากกว่านั้นเป็นเท่าตัวนะคะ ดังนั้นก็แปลว่าในวันที่ 1 เมษายนของแต่ละปี เรามีแนวโน้มที่จะมีข้อมูลให้ต้องกรองความจริงความเท็จเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เป็นภารกิจที่เหนื่อยสมองไม่เบาเลยนะคะ

ในความรู้สึกของซู่ชิง คำโกหกที่พอให้อภัยได้ในปี 2018 คือคำโกหกที่เห็นแว้บเดียวก็รู้ว่าเป็นเรื่องโกหก แต่เราก็ยังอยากอ่านหรือดูมันจนจบ หรือพูดง่ายๆ ก็คือยินยอมที่จะเสียเวลาไปกับเรื่องโกหกนั้นด้วยความเต็มใจ เพราะเราอยากชื่นชมให้สมกับที่เจ้าของเรื่องพิถีพิถันปั้นมันขึ้นมาอย่างประณีต

อย่างเช่น แอมะซอน พับบลิชชิ่ง ที่ถ่ายทำวิดีโอโฆษณาฟีเจอร์ใหม่ ให้ผู้ใช้สามารถกดรีเควสต์ให้นักเขียนที่ตัวเองชื่นชอบมาปรากฏตัวอยู่ที่หน้าประตูบ้านได้

ทันทีที่คนในคลิปกดเรียกนักเขียนชื่อดัง อย่าง แพตทริเซีย คอร์นเวลล์ ที่กำลังพักผ่อนตากอากาศอยู่บนเรือยอชต์ส่วนตัว เธอก็รีบคว้าอุปกรณ์ดำน้ำ พุ่งตัวลงในทะเล และต่อเฮลิคอปเตอร์เพื่อมากดกริ่งให้ทันภายในเวลาที่กำหนด

เป็นคลิปสั้นๆ ที่ดูแล้วให้ความรู้สึกดี เรารู้ทันทีว่านี่คือเรื่องแต่ง แต่เราก็อยากดูให้จบอยู่ดี

หรือจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการฉลองวันโกหกแบบที่ไม่ต้องโกหก ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์สนุกๆ เข้ามาเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่กูเกิลใช้เป็นประจำทุกปี

ปีนี้กูเกิลเพิ่ม “วอลโด” ตัวละครใส่หมวกสวมชุดลายทางขาวแดงที่คนทั่วโลกรู้จักดีเข้าไปในกูเกิล แมปส์ เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ให้คนใช้กูเกิลแมปส์วาร์ปตัวเองไปตามประเทศต่างๆ

และทดสอบความแม่นของสายตาด้วยการจิ้มหาวอลโดท่ามกลางผู้คนที่เยอะเป็นหนอนให้เจอ

 

ส่วนเรื่องโกหกที่ทำให้เหนื่อยสมองเปล่าๆ ก็คือเรื่องโกหกที่อ่านจบแล้วต้องมานั่งถามตัวเองว่า “นี่เรื่องจริง หรือเรื่องโกหก”

เรื่องไหนที่ทำให้คนอ่านต้องมานั่งถามตัวเองแบบนี้แสดงว่าเป็นเรื่องโกหกที่ล้าสมัยไปแล้วล่ะค่ะ

เพราะมันทำให้คนอ่านรู้สึกหงุดหงิดที่เสียเวลาอ่านเรื่องที่ไม่จริงไปฟรีๆ ในแบบที่ไม่ได้ความรื่นรมย์อะไรกลับคืนมาแม้แต่น้อย

สู้เอาเวลาที่เสียไปไปอ่านเรื่องโกหกที่ทำมาแบบมีรสนิยม เอาไปอ่านข้อมูลจริงที่เป็นประโยชน์ไว้เพิ่มฐานความรู้รอบตัว หรือเอาไปพักสายตาเฉยๆ ก็จะดีเสียกว่า

เพราะในยุคที่ข้อมูลมหาศาลหลั่งไหลผ่านสายตาเราไปทุกเสี้ยววินาทีแบบนี้ เวลาที่หายไปแบบเปล่าประโยชน์แม้เพียงครึ่งนาทีก็น่าเสียดายแล้ว