คำ ผกา : ความเซ็กซี่ของการเมือง

คำ ผกา

พูดอย่าง Bias ที่สุด สำหรับฉันสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือการเปิดตัวพรรคการเมือง (ที่ยังไม่มีสถานะเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย) ของพรรคอนาคตใหม่

เมื่อเปิดตัวมาแล้ว ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเสรีนิยมโจมตีพรรคการเมืองนี้ว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ท้าทายต่อต้านความเป็นไทยประเพณี

นักการเมือง “เก่า” บางคนออกมาเย้ยหยันว่านี่สนามการเมืองนะ ไม่ใช่สนามเด็กเล่น

ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และที่เรียกกันว่า หัวก้าวหน้า ลิเบอรัล จำนวนหนึ่ง ออกมาวิจารณ์เรื่องความอ่อนด้อยในประสบการณ์ทางการเมือง ความเป็นนักอุดมคติ (ที่ไม่อาจใช้ได้จริงในสนามการเมืองจริง) ภาพลักษณ์ของพรรคที่เริ่มต้นจากออร่า หรือ charisma ส่วนบุคคล จนทำให้พรรคอนาคตใหม่จะเท่ากับพรรคธนาธร หรือพรรคปิยบุตร หรือไม่?

บ้างก็วิจารณ์ว่า แบบนี้จะได้สักกี่เสียง ไม่เห็นมีนโยบายที่เกี่ยวกับคนต่างจังหวัด เกษตรกรที่เป็น voters หลักของประเทศ พรรคเข้าถึงคนเหล่านี้หรือยัง

หรือจะเป็นได้แค่พรรคฮิปสเตอร์?

ส่วนฉันมีสมการง่ายๆ ว่า คนที่เกิดปี 2540 ปีนี้พวกเขาอายุ 20 และเชื่อหรือไม่ว่า คนเหล่านี้ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งเลยแม้แต่น้อย

และเมื่อพวกเขาอายุ 9 ขวบ ประสบการณ์ทางการเมืองของพวกเขาจนอายุ 20 ปี คือการมีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และคั่นด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพียง 2 ปี

ก่อนจะกลับเข้าสู่บรรยากาศของประเทศภายใต้รัฐบาลทหาร และกฎหมายพิเศษอย่าง ม.44

ความพยายามทำลายจิตวิญญาณประชาธิปไตย ไปจนถึงความพยายาม “บอนไซ” ระบอบประชาธิปไตย ให้แคระแกร็น ง่อยเปลี้ยเสียขา อ่อนแอ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นมีมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการแนะนำคำว่าประชาธิปไตยมาให้คนไทยรู้จักนั่นแหละ (อยากเข้าใจเรื่องนี้ง่ายๆ ก็ลองไปอ่านสี่แผ่นดิน ไปอ่านความคิดของคนแบบแม่พลอย ซึ่งสะท้อนแนวคิดของคนที่รังเกียจประชาธิปไตยได้ดี) เพราะการเติบโต เข้มแข็งของประชาธิปไตยนั้นนำมาซึ่งการสูญเสียสิทธิในการครอบครอง ผูกขาด โภคทรัพย์ ทรัพยากร และอำนาจของคนอีกจำนวนหนึ่งนั่นเอง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย วิธีการดิสเครดิตประชาธิปไตยที่คลาสสิคมากและได้ผลมาโดยตลอดคือ การบอกว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยเสียงข้างมาก ซึ่งหมายถึงคนหมู่มาก และลองคิดดูสิ ในสังคมหนึ่ง ประเทศหนึ่ง คนดีกับคนเลว มีคนประเภทไหนมากกว่ากัน?

คำตอบคือ โอววว คนเลวย่อมมีมากกว่าคนดีสิ – บิงโก!! – เมื่อคนส่วนมากเลว แล้วเราจะปล่อยให้ตัวเราอยู่ภายใต้การปกครองของคนเลวใช่ไหม? พระ 1 รูป กับโจรอีกห้าร้อยคน ไปโหวตลงคะแนนนับเสียงส่วนใหญ่อีกกี่รอบๆ โจรห้าร้อยก็ชนะทู้กที!

เป็นเสียอย่างนี้ ยังจะเอากันอีกไหม? ประชาธิปไตยน่ะ – ไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยไม่ดีนะ แต่เราใจเย็นๆ ปฎิรูปประเทศ กำจัดคนเลว ให้การศึกษาคนโง่ ให้คนส่วนมากในประเทศนี้ดี และฉลาดเหมือนเราเสียก่อน แล้วค่อยเลือกตั้ง โอ๊ยย จะรีบไปไหน ประชาธิปไตยมันไม่วิ่งหนีไปไหนหรอก อยากจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกวันนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ แต่ถามใจตัวเอง พร้อมหรือยัง โจรห้าร้อยหมดไปหรือยัง

ถ้ายังไม่หมด จะเลือกให้โจรห้าร้อยมันชนะโหวตอีกหรือ?

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า นิทานเรื่องโจรห้าร้อยนี้กล่อมคนไทยจำนวนหนึ่งได้อยู่หมัดจริงๆ เชื่อเป็นตุเป็นตะจริงๆ

เพื่อให้นิทานเรื่องโจรห้าร้อยสมจริงมากขึ้น ก็จะมีนิทานเรื่องย่อยๆ ที่มีไว้เพื่อสนับสนุนนิทานเรื่องหลักนี้ เช่น นิทานคนชนบท โง่ จน เจ็บ นิทานว่าด้วยนักการเมืองโกง เลว เห็นแก่ตัว คนที่เข้ามาเป็นนักการเมืองคือคนที่เข้ามาแสวงหาอำนาจเพื่อเอาไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินให้พวกพ้อง คนเหล่านี้เข้ามา “เขมือบ” ประเทศ ขายชาติได้ก็คงขายไปแล้ว

ลองจินตนาการและลองทบทวนตัวเองดูว่า เราในฐานะที่เป็นคนไทย เราเติบโตมากับวาทกรรมนี้ มากกว่านิทาน มากกว่าวาทกรรม นี่คือ “เรื่องเล่ากระแสหลัก” ที่ถูกนับว่าเป็น “ความจริง” ไปแล้วด้วยซ้ำ

ไม่เชื่อลองเปิดดูโฆษณา การต้านโกง ต้านคอร์รัปชั่นทุกชิ้นทุกตัวของไทยได้เลย

และเราต้องยอมรับว่า นี่คือโลกทัศน์ของเราต่อสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง”

จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม กระบวนการนี้คือการ depoliticizing คือการเอาความเป็นการเมืองออกไปจากชีวิตของเรา ทำให้เราลืมไปเลยว่า เราคือสิ่งมีชีวิตที่มีการเมืองอยู่ในชีวิตตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนไปจนถึงกะพริบตาสุดท้ายก่อนจะหลับลงไป

อาหารที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ บ้านช่องห้องหอที่เราอยู่ ทางเท้าที่เราเดิน รถเมล์ที่เรานั่ง ต้นไม้ทุกต้นบนถนน โรงพยาบาลที่เราไป การแต่งงาน การมีลูก การหย่าร้าง การเป็นโสด การเป็นเกย์ ทุกอย่างในชีวิตจนไปสุสานที่จะฝังศพเรา – ทั้งหมดนี้เป็นการเมืองที่เราต้องลงไป “เล่น” ต้องไปต่อสู้ ต้องไปถกเถียง ต้องไปช่วงชิง

การเมืองคือพื้นที่ของการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนที่มีผลประโยชน์ มีความฝัน ความหวัง ความกลัว ที่แตกต่างกัน

และการต่อสู้นี้ ยืนอยู่บนหลักการของสิทธิที่เท่าเทียม และเสมอภาคกันของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด ถูกปกป้องด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อเชื่อเรื่องมนุษย์เท่ากันเสียแล้ว ในกรอบคิดนี้จึงไม่มีพระหรือโจร มีแต่ “คนเท่ากัน” มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน สิ่งที่ต่างกันคือ อุดมคติ ความฝัน ความปรารถนา ความกลัว ของคนแต่ละคนเท่านั้น

แต่กระบวนเอาการเมืองออกไปจากคนและสังคม คือการบอกว่า “การเมืองมันเลว” การเมืองคือความสกปรก การเมืองความวุ่นวาย การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองและผู้กระหายในอำนาจไม่กี่คน voters ยี่สิบกว่าล้านคนในประเทศไทย ถูกลดทอนพลังอำนาจของตนเองในฐานะ voters ให้กลายเป็นเพียง “เครื่องมือของนักการเมือง” จากนั้น voters ทั้งปวง และประชาชนคนไทยทั้งปวงที่รังเกียจการเมือง จึงเห็นตนเองเป็นเพียง “เด็ก” ใน “ปกครอง” ของรัฐ

“รัฐ” กลายเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ใหญ่ที่มีไว้เพื่อดูแลเด็กในปกครอง เช่น หาข้าว หาน้ำในกิน ดูแลความปลอดภัยให้ ป่วยไข้หาหมอมารักษา อยากได้อะไรให้มาบอก มาขอ มาวิงวอน (ดูจากภาษาในข่าว “วอนรัฐอย่าทอดทิ้งคนจน”)

นึกออกไหม สำนึกสองสำนึกนี้มันต่างกันราวฟ้ากับเหว ระหว่าง สำนึกที่เห็นว่า เราคือ “การเมือง” เราคือหนึ่งในผู้เล่นในสนามการเมือง กับสำนึกที่ว่าเราคือ “คนในปกครอง” ที่รัฐต้องดูแล คุ้มครอง ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่เรา

พอรัฐทำให้ไม่ได้ ไม่ถูกใจ ก็ตีอกชกตัว งอแง โวยวาย หาว่ารัฐบาลไม่เก่ง ไม่ซื่อสัตย์

แต่คำถามคือ ตราบเท่าที่เรายอมรับว่า เราไม่ใช่เจ้าของอำนาจรัฐ เราจะคาดหวังอะไร?

อำนาจรัฐไม่ใช่ของเรา เขาบริหารประเทศ จัดการประเทศทำไฟฟ้า ประปา ถนน ให้เราใช้อย่างที่มีทุกวันนี้ก็ดีอย่างยิ่งแล้ว เพราะต่อให้เขาไม่ทำ หรือทำแย่กว่านี้ เราจะไปเรียกร้องเอาอะไรจากใครได้? ก้มหน้าก้มตาเสียภาษีไป – อย่าบ่น!

และคนที่อยู่ในสำนึกแบบนี้ ไปถามเขาว่า เฮ้ย อยากมีชีวิตดี เราต้องได้เป็นเจ้าของอำนาจนะ เราต้องได้เลือกตัวแทนของเราไปบริหารประเทศนะ

คนเหล่านี้ก็กรี๊ดกร๊าด ตีอกชกตัวอีก บอกว่า – อร้ายยยย ผิดๆๆ ทางออกคือเปลี่ยนตัวผู้ปกครองต่างหากล่ะ เราก็เป็น “เด็ก” ในปกครองให้รัฐดูแล เราเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ถ้าเราได้คนดี คนซื่อสัตย์ คนเก่งมาปกครองนะจบเลย ประเทศชาติจะดี อย่าได้ไปสะเออะเลือกตั้งเลย เดี๋ยวไอ้พวกขี้โกงก็กลับมาอีก!

การ depoliticized การเมืองคือ การบอกประชาชนว่า ใน “การเมือง” เท่ากับ “การปกครอง” (ทั้งๆ ที่การเมืองหมายถึงสนามแห่งการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพลเมืองภายใต้กติกาที่ยุติธรรม) เมื่อเป็นเช่นนั้น “สิทธิพลเมือง” จึงถูกนำออกไปพร้อมๆ กับคำว่า “การเมือง” ด้วย

เมื่อชีวิตทางการเมืองของเราหมายถึง “การปกครอง” สิ่งที่เข้ามาแทนที่ “สิทธิพลเมือง” คือ ความดี ศีลธรรม คนดี ใจซื่อ มือสะอาด ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในการเมืองไทยคือ กลุ่มทางการเมืองที่มีพลัง มีความชอบธรรม ไม่ใช่รัฐสภา ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ ส.ส. ไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่ใช่ประชาชน

แต่คือ “องค์กรอิสระ” ทั้งหมด เพราะองค์กรอิสระเป็นตัวแทนของความดี ศีลธรรม คุณธรรม

กลับมาที่พรรคอนาคตใหม่ ทำไมฉันถึงบอกว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มันได้เกิดขึ้นในเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่เพราะเขาชนะการเลือกตั้ง

ไม่ใช่เพราะเขาจะได้ที่นั่งในสภา และขณะนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจะได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นพรรคการเมืองหรือไม่

แต่สิ่งที่เขาได้สร้างขึ้นมาแล้วคือการ “คืนการเมือง” ให้กับชุมชนทางการเมืองหนึ่งที่ชื่อว่า “ประเทศไทย”

คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2540 และปีนี้อายุ 20 ปีลงมา พวกเขาจะไม่ต้องอยู่กับเรื่องเล่ากระแสหลักว่าด้วยการเมืองของพระหนึ่งรูปกับโจรห้าร้อย และวาทกรรมปราบคอร์รัปชั่นกะหลั่วๆ ที่คิดกันได้แค่หาคนดีคนซื่อมาทำงาน แต่พวกเขากำลังได้ทำความรู้จักการเมืองที่แสนจะ “เซ็กซี่”

นี่คือการเมืองที่สากลโลกเป็น นั่นคือ การเมืองหมายถึงพื้นที่เป็น “สนาม” ของคนทุกเพศทุกวัยทุกผู้ทุกคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางใดทางหนึ่ง และทางเดียวที่พวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือพวกเขาต้องตระหนักในความเป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีการเมืองของตนเอง”

ตระหนักว่าเขาไม่ใช่เด็กในปกครองและในความดูแลของรัฐ

แต่เขาคือ คนกำหนดอนาคต ออกแบบชีวิตของเขา และคนรุ่นหลังเขาด้วยตัวของเขา ด้วยสิทธิของเขา ด้วยความฝัน ความหวัง และความกลัวของพวกเขา

การเมืองคือความเซ็กซี่ การเมืองคือความเป็นธรรมในการแข่งขัน สนามการเมืองไม่ใช่วัด ไม่ใช่โบสถ์ ไม่ต้องแข่งกันทำความดี แต่ต้องแข่งกันสร้างกติกาที่เป็นธรรม และธำรงความเป็นธรรมในการแข่งขันบนความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันโดยกำเนิด

นับจากวันนี้ คงไม่ได้มีพรรคอนาคตใหม่ แต่เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ลงมาคลอเคลีย เคล้าคลึง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการเมืองมากขึ้น และมากขึ้น