ยานยนต์/สันติ จิรพรพนิต/เจาะสเป๊ก 3 รถพลังไฟฟ้า ‘IONIQ-LEAF-MINE’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์
สันติ จิรพรพนิต
[email protected]

เจาะสเป๊ก 3 รถพลังไฟฟ้า
‘IONIQ-LEAF-MINE’

ควันหลงงาน “มอเตอร์โชว์ 2018” ที่เพิ่งปิดฉากลงไปไม่นาน ในงานนี้นอกจากจะมีรถใหม่และรถตลาดมาประชันกันจำนวนมากแล้ว ยังมี “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่ทั้งเปิดตัวและอวดโฉมเรียกน้ำย่อย
เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอนาคตว่า รถพลังงานไฟฟ้าล้วน หรืออีวี (EV) เป็นเทรนด์ที่เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ
มี 3 รุ่นหลักๆ ที่น่าสนใจ
เริ่มจากรุ่นที่วางขายอย่างเป็นทางการคือ “ฮุนได ไอออนิค” (IONIQ)
ไอออนิค นับเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลก ที่มีจำหน่ายในทั้ง 3 รูปแบบระบบขับเคลื่อน ได้แก่ ไฮบริด, ปลั๊กอิน ไฮบริด และอีวี
รูปทรงตัวรถเป็นแบบรถแฮทช์แบ็กทรงสปอร์ต มาพร้อมเส้นสายที่พลิ้วไหว รวมถึงการออกแบบตัวถังส่วนต่างๆ เช่น ช่องดักลมที่ล้อคู่หน้า, สปอยเลอร์ด้านหลัง, ดิฟฟิวเซอร์ชายล่างประตูทั้งสี่บาน แผ่นปิดใต้ท้องรถ รวมถึงล้ออัลลอย
กระจังหน้าออกแบบในลักษณะปิดทึบ เนื่องจากไม่ต้องการลมเพื่อระบายความร้อนเครื่องยนต์ ไฟหน้าและไฟท้ายเป็นแบบ LED ไฟส่องสว่างขณะขับขี่เวลากลางวัน บริเวณชายกันชนด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งชายประตูทั้ง 4 บาน ถูกตกแต่งด้วยสีทองแดง ที่สื่อถึงความเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
อีกจุดเด่นคือรูปลักษณ์ที่พลิ้วไหวทำให้อากาศสามารถไหลผ่านตัวรถได้อย่างสะดวก มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำเพียง 0.24 และยังรวมถึงการลดน้ำหนักตัวรถ ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาอย่างอะลูมิเนียมในการผลิตฝากระโปรงหน้า และฝากระโปรงท้าย ทำให้สามารถลดน้ำหนักลงไปได้ถึง 12.4 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเหล็กทั่วไป

ภายในออกแบบโดยเน้นถึงความเป็นรถแห่งอนาคต ด้วยแนวคิด ‘Purified High-Tech’ ที่เน้นถึงความเรียบง่าย ลื่นไหล แต่มีความประณีต และใช้งานง่าย เน้นการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด มีผิวสัมผัสที่เรียบ ลื่น
เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ผ้าหลังคาและพรมที่มีส่วนผสมจากต้นอ้อย เพื่อช่วยให้อากาศภายในห้องโดยสารมีความบริสุทธิ์ สีพ่นตัวถังที่มีส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อให้มีประกายของเม็ดสีที่สวยงาม แผงประตูที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ผสมกับผงไม้และหินจากภูเขาไฟ แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรงและคุณภาพที่ดี
ระบบเกียร์ถูกออกแบบให้เป็นแบบระบบปุ่มกด หรือ shift by wire ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บริเวณคอนโซลกลาง เบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Auto Hold และระบบ wireless charging ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เพียงวางโทรศัพท์บริเวณช่องชาร์จด้านซ้ายของปุ่มเลือกตำแหน่งเกียร์
ระบบความบันเทิง สามารถควบคุมได้ผ่านหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 5 นิ้ว ที่สามารถเลือกฟังก์ชั่นเพื่อความบันเทิงได้ตามต้องการ เช่น ระบบวิทยุ พร้อมระบบเชื่อมต่อบลูทูธ, ช่องต่อระบบ USB และ AUX
หน้าปัดแสดงการทำงานของระบบต่างๆ บริเวณคนขับความละเอียดสูงขนาด 7 นิ้ว แบบ TFT ที่แสดงข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่สามารถวิ่งได้ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง, ระดับพลังงานของแบตเตอรี่ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ของตัวรถที่จำเป็น
เลือกรูปแบบการขับขี่ได้ ผ่านปุ่ม ‘drive mode’ บริเวณคอนโซลกลาง ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ Eco, Normal และ Sport
ขับเคลื่อนโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดซิงโครนัสแม่เหล็กถาวร กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (88kW) แรงบิดสูงสุด 295 นิวตัน-เมตร ความเร็วสูงสุดที่ 165 กิโลเมตร/ชั่วโมง ชาร์จไฟ 1 ครั้งวิ่งได้ไกลสุด 280 กิโลเมตร ใช้เวลาในการชาร์จไฟแบบปกติอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 25 นาที ชาร์จเร็วได้ภายใน 30 นาที
ระบบความปลอดภัยครบครันไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไป
สนนราคาอยู่ที่ 1,749,000 บาท

ถัดมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก “นิสสัน ลีฟ” (LEAF) ที่นำมาโชว์ในงานและมีแผนจะวางจำหน่ายภายในปีนี้
มาพร้อมกับดีไซน์เรียบง่ายแต่เฉียบคม พร้อมกระจังหน้าแบบ “วี-โมชั่น” เอกลักษณะของนิสสัน ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์แบบคู่ รองรับการทำงานทั้งไฟต่ำและไฟสูง และเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งในรถยนต์ของนิสสัน ตำแหน่งการจัดวางค่อนไปทางด้านบน
ชุดไฟท้ายรูปทรงบูมเมอแรง ติดตั้งสปอยเลอร์ท้ายให้เป็นส่วนหนึ่งของลวดลายกระจก ทำให้ลีฟรุ่นใหม่ มีความสปอร์ตและสะดุดตามากยิ่งขึ้น ใต้ท้องรถและกันชนท้ายที่มีลักษณะคล้ายดิฟฟิวเซอร์ (Diffuser) ช่วยลดแรงต้านอากาศและอากาศที่ยกตัวรถ ช่วยให้รถมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
ภายในเน้นความกว้างขวาง แต่เดินด้ายสีฟ้าสีสัญลักษณ์ของรถพลังงานไฟฟ้า ทั้งบริเวณเบาะนั่ง ด้านข้างประตู ที่วางแขน และพวงมาลัย
พวงมาลัยทรงคุ้นตาที่เห็นในรถนิสสันหลายรุ่น ทรง “D-Shapež” ด้านล่างจะตัดเพิ่มพื้นที่ว่างระหว่างพวงมาลัยกับต้นขา หน้าจอและรูปแบบของไฟแสดงข้อมูลเรียบง่ายขึ้น ผสมผสานระหว่างมาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อกกับหน้าจอแสดงผลแบบ multi-information ด้านซ้าย หน้าจอสีแบบ Thin-film Transistor (TFT) ขนาด 7 นิ้ว บอกปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ใช้ตามการกำหนดค่ามาตรฐาน
อัดแน่นด้วยนวัตกรรม “นิสสัน อินเทลลิเจนต์ โมบิลิตี้” (Nissan Intelligent Mobility) ประกอบด้วยเทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ, เทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออัจฉริยะ
ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า มากกว่าลีฟ เจเนอเรชั่นที่แล้ว 38% แรงบิด 320 นิวตันเมตร เพิ่มขึ้น 26% ทำให้อัตราเร่งช่วงต้นมาแรงและเร็ว
ราคาขายที่เมืองนอกเฉียดๆ 1 ล้านบาท

สุดท้ายเป็นรถต้นแบบโดยฝีมือคนไทย ซึ่งคาดว่าอาจจะวางจำหน่ายในอนาคตอันใกล้คือ “ไมน์ โมบิลิตี้” (MINE Mobility) ในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เจ้าของโครงการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ
ไมน์โมบิลิตี ้มาต่อยอดโครงการดังกล่าว ซึ่งน่าภูมิใจว่าออกแบบและวิจัยโดยทีมงานคนไทยทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ชิ้นส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ของผู้ผลิตในประเทศ
ที่นำมาแสดงในงานมอเตอร์โชว์มี 3 รุ่น ประกอบด้วย City EV Concept รถวิ่งในเมืองแบบ 2 ที่นั่ง
ถัดมาเป็น MPV EV Concept รถยนต์แบบ 4 ที่นั่ง และ Sport EV Concept รถเน้นความแรงแต่อยู่ระหว่างการพัฒนา
สมรรถนะและระยะทางการขับขี่แตกต่างกันไปตามการใช้งาน เช่น City EV Concept ชาร์จไฟ 1 ครั้งวิ่งได้ระยะทางไกลสุด 200 กิโลเมตร ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานในเมือง
สนนราคาเท่าที่แคะมาได้ City EV Concept น่าจะอยู่ราวๆ 600,000 บาท บวกลบ ส่วน MPV EV Concept ประมาณ 1 ล้านบาท บวกลบ
ในช่วงแรกๆ ตามความคิดของผม City EV Concept น่าจะมีอนาคตสดใส ยิ่งหากทำราคาได้ตามที่ระบุไว้ก็น่าสนใจทีเดียว
ที่เหลือต้องดูมาตรฐานการผลิต ความทนทาน และสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะนี่คือรถยนต์สัญชาติไทยของแท้