คนมองหนัง : “บุพเพสันนิวาส” สายสัมพันธ์ระหว่าง “ทีวี” กับ “ภาพยนตร์”

คนมองหนัง

ท่ามกลางภาวะฮิตระเบิดทั่วบ้านทั่วเมืองของละครโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” ความโด่งดังในวงกว้างของละครจอแก้วเรื่องนี้ก็มีความเชื่อมโยงกับวงการภาพยนตร์ไทยอยู่บ้างเหมือนกัน

นี่คือ บางส่วนของความเกี่ยวโยงดังกล่าว

ภวัต พนังคศิริ “คนจอแก้ว-คนจอเงิน”

“ภวัต พนังคศิริ” ผู้กำกับละคร “บุพเพสันนิวาส” เป็นผู้กำกับฯ มืออาชีพอีกคนของวงการ ซึ่งกระโดดทำงานข้ามไปข้ามมาระหว่างพื้นที่ “ละครทีวี” กับ “ภาพยนตร์”

จริงๆ ภวัตสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้กำกับหนังมาก่อนด้วยซ้ำ กับผลงานเรื่อง “นาคปรก” (2553) ภาพยนตร์ที่นำเสนอเนื้อหาว่าด้วยพุทธศาสนาและด้านมืดของคน นอกจากนี้ เขายังมีผลงานหนังเรื่องอื่นๆ อีก อาทิ “Six หกตายท้าตาย” (2547) “อรหันต์ซัมเมอร์” (2551) และ “หลุดสี่หลุด (ตอน คืนจิตหลุด)” (2554)

ขณะเดียวกัน ภวัตก็ข้ามไปกำกับละครโทรทัศน์ โดยปักหลักอยู่กับค่าย “บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น” แห่งช่อง 3 รวมถึงเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ล่าสุด

น่าสนใจว่าพร้อมๆ กับที่ “บุพเพสันนิวาส” กำลังฮ็อตฮิตในจอทีวีและจอประเภทอื่นๆ เช่น จอคอมพิวเตอร์, จอสมาร์ตโฟน และจอแท็บเล็ต ภวัตเองก็เพิ่งมีหนังเรื่องล่าสุดของตัวเองลงโรงฉายเช่นกัน นั่นคือ “ตีสาม Aftershock (ตอน ทางด่วน)”

อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับที่มีต่อ “ตีสาม Aftershock” กลับแตกต่างจาก “บุพเพสันนิวาส” ลิบลับ

โปรดักชั่น ดีไซน์ จาก “ทวิภพ” สู่ “บุพเพสันนิวาส”

ช่วงกลางเดือนมีนาคม สำนักข่าวออนไลน์ “เดอะ สแตนดาร์ด” เป็นผู้จุดกระแสรำลึกวาระครบรอบ 14 ปี ของภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ทวิภพ” ฉบับ “สุรพงษ์ พินิจค้า” ในบริบทที่ “บุพเพสันนิวาส” กำลังพุ่งแรงจนฉุดไม่อยู่

หลายคนเห็นว่าภาพยนตร์และละคร (นิยาย) คู่นี้ มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกันหลายประการ อาทิ เป็นเรื่องราวของหญิงสาวจากยุคปัจจุบันที่พลัดหลงเข้าไปในอดีต อันเป็นยุคที่อยุธยา/กรุงเทพฯ ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา-การเมืองระหว่างประเทศ และต้องพยายามปรับประสานต่อรองกับ “ตะวันตก” เหมือนกัน

นอกจากนี้ “มณีจันทร์” และ “เกศสุรางค์” แห่งทวิภพและบุพเพสันนิวาส ยังโชคดีได้ไปใช้ชีวิตย้อนอดีตท่ามกลางเหล่าขุนนางชนชั้นนำรายสำคัญๆ แห่งยุคสมัยเหล่านั้นคล้ายกัน

อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ผู้ชมที่ชื่นชอบภาพยนตร์ “ทวิภพ” เวอร์ชั่นสุรพงษ์ และละครโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” พยายามเชื่อมโยงหนัง-ละครสองเรื่องนี้เข้าหากัน ก็คือ การออกแบบงานสร้างที่อยู่ในมาตรฐาน “ดี”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อละคร “บุพเพสันนิวาส” ตอนที่แพร่ภาพในคืนวันที่ 28 มีนาคม นำเสนอฉากสมเด็จพระนารายณ์ทรงโน้มกายรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จากเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส ตามรอยภาพวาดโบราณซึ่งหลายคนคุ้นตาเป็นอย่างดี

ฉากดังกล่าวทำให้คนดูจำนวนไม่น้อยย้อนนึกถึงงานเนี้ยบๆ ในหนัง “ทวิภพ” ของสุรพงษ์ เช่น ฉากที่เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 4

“การออกแบบงานสร้าง” ที่ส่องสะท้อนซึ่งกันและกันระหว่าง “ทวิภพ” (2547) กับ “บุพเพสันนิวาส” (2561) นั้นมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

หากย้อนกลับไปตรวจสอบรายชื่อทีมงานผู้สร้างหนังเรื่อง “ทวิภพ” เราจะพบว่ามีบุคคลผู้รับผิดชอบงานด้านนี้อยู่สองราย

คนแรก คือ “ศักดิ์ศิริ จันทรังษี” มือออกแบบงานสร้าง-ผู้กำกับศิลป์รุ่นเก๋าแห่งวงการโฆษณาและภาพยนตร์ไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลเป็น “พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ”) ที่มีตำแหน่งเป็น “ผู้ออกแบบงานสร้าง” ในภาพรวม

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนั้นยังมีบุคลากรในตำแหน่ง “ผู้ออกแบบงานสร้างฝ่ายไทย” (น่าจะหมายถึงการเป็นผู้ดูแลรายละเอียดงานสร้างเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทย) อีกหนึ่งราย คือ “ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน์”

ถ้าใครได้นั่งอ่านรายชื่อทีมงานผู้สร้าง “บุพเพสันนิวาส” ที่ปรากฏขึ้นมาขณะเพลงไตเติ้ลก่อนเริ่มละครกำลังบรรเลง ก็ย่อมพบว่า “ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน์” คนเดียวกัน คือผู้ควบคุมงาน “โปรดักชั่น ดีไซน์” (ผู้ออกแบบงานสร้าง) ของละครฮิตเรื่องนี้

ประเสริฐจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเคยมีผลงานด้านศิลปกรรม-ออกแบบงานสร้างให้แก่หนังละครย้อนยุคหลายเรื่อง เช่น สุริโยไท ตำนานสมเด็จพระนเรศวร บางระจัน และกำไลมาศ (ข้อมูลจากเฟซบุ๊กคุณ Kwankhaow Gtk)

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานสร้างของ “บุพเพสันนิวาส” จะมีรายละเอียดน่าสนใจและชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ “ทวิภพ” ฉบับสุรพงษ์ แม้จะมีสเกลขนาดเล็กกว่าพอสมควร

จาก “บุพเพสันนิวาส” สู่ “SAM”

ช่วงกลางปีก่อน “ทอม วอลเลอร์” แห่ง De Warrenne Pictures ผู้กำกับภาพยนตร์ลูกครึ่งไอริช-ไทย ที่เคยมีผลงานหนังพูดไทยอย่าง “ศพไม่เงียบ” และ “เพชฌฆาต” ประกาศว่าเขากำลังมีโครงการจัดสร้างหนังใหม่เรื่อง “SAM”

ตามข้อมูลที่ถูกประชาสัมพันธ์เอาไว้ หนังจะเล่าเรื่องราวในช่วงที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ส่งบาทหลวงคณะเยสุอิตกลุ่มหนึ่งเข้ามายังอยุธยาเมื่อ ค.ศ.1685 เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงราชอาณาจักรแห่งนี้ให้กลายเป็นดินแดนคาทอลิก

กลุ่มบาทหลวงได้ดำเนินกโลบายดังกล่าวโดยร่วมมือกับ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือ ออกญาวิชเยนทร์ ขุนนางต่างชาติซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรหนัก แผนการยึดครองอยุธยาของฝรั่งเศสกลับประสบความยากลำบาก เพราะเกิดเหตุรัฐประหารอันนองเลือดและการปฏิวัติขึ้นในสยาม

น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ท้องเรื่องของ “SAM” และ “บุพเพสันนิวาส” นั้นอยู่ในยุคสมัยเดียวกันพอดี

ก่อนหน้านี้ ทางทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ได้เริ่มเผยแพร่ภาพนิ่งจากการถ่ายทำหนังตัวอย่าง (น่าจะเพื่อโปรโมตและหาทุนสร้างเพิ่มเติม) ในช่วงกลางปี 2560 ก่อนจะเงียบหายไป

แต่เมื่อกระแส “บุพเพสันนิวาส” กำลังร้อนแรง เพจเฟซบุ๊กของภาพยนตร์ก็ได้ทยอยปล่อยภาพนิ่งชุดใหม่ออกมาอีกรอบ เป็นภาพตัวละครที่มีบทบาทเด่นอยู่ในละครเรื่องดังของช่อง 3 เช่นกัน

ได้แก่ “ฟอลคอน” (รับบทโดย “เดวิด อัศวนนท์”) และ “ท้าวทองกีบม้า” (รับบทโดย “มิญช์ภัส งามเกิดธีรสีห์” ซึ่งดูจะขับเน้นการมีเชื้อสายญี่ปุ่นของตัวละครรายนี้ มากกว่าการมีเชื้อสายโปรตุเกส)

นอกจากนั้น เมื่อย้อนไปดูภาพโปรโมทชุดเก่า หนังเรื่องนี้ยังมีตัวละครในประวัติศาสตร์อีกหลายราย อาทิ “พระเพทราชา” (รับบทโดย “วิทยา ปานศรีงาม”) “หลวงสรศักดิ์” (รับบทโดย “ปริญญา อินทชัย” หรือ “เวย์ ไทเทเนียม”) ร่วมด้วยนักแสดงต่างชาติที่มารับบทเป็นตัวละครฝ่ายฝรั่งเศส ตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14, ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ จนถึงเชอวาเลีย เดอ ฟอร์แบง

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทำไปถึงขั้นไหนแล้ว? และมีแผนจะเข้าฉายเมื่อไหร่?