มุกดา สุวรรณชาติ : 72 ปี…ประชาธิปัตย์ ช่วงชิงอำนาจรัฐ ได้ทุกวิธี (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

72 ปี ปชป. อยู่ได้ด้วยชั้นเชิง
ยุทธวิธีและประสบการณ์
…ไม่อาศัยโชค

ถ้าจะประเมินประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องย้อนดูลีลาการเมืองของแกนนำพรรค ปชป. อีกครั้ง

พรรคนี้ เหมือนไม้ใหญ่ รากลึก แผ่กิ่งก้านกว้างขวาง งอกเงยและหยั่งราก ผ่านแดด ผ่านพายุฝนและความแห้งแล้ง แต่ยังยืนยงอยู่ได้ เพราะผู้นำพรรคแต่ละชุดล้วนมียุทธศาสตร์ ยุทธวีธีที่สอดคล้องกับสถานการณ์

เข้าใจถึงวิธีอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

มีทั้งรุกและรับ

ลู่ลมได้เมื่อมีพายุ และแตกกิ่งก้านใหม่เมื่อได้รับน้ำฝน สลัดใบสลัดผลทิ้งเมื่อจำเป็น

นี่เป็นชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยมและประสบการณ์ที่น่าศึกษาของ ปชป.

โดยเฉพาะลีลาการช่วงชิงอำนาจรัฐ จากอดีตจนถึง…

การเลือกตั้งครั้งหน้า ปชป. จะมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีอย่างไร เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ

 

พรรค ปชป. เกิดขึ้นจากศึก 3 ก๊ก

พันตรีควง อภัยวงศ์ บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คือผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นรัฐมนตรีทั้งในยุคเจ้าพระยาพหลฯ และในยุคจอมพล ป. เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม, ธรรมการ และพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2477-2487 จนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 อำนาจของจอมพล ป. เริ่มสั่นคลอน กำลังของกลุ่ม อ.ปรีดี เข้มแข็งขึ้น จอมพล ป. ลาออก ในขณะที่หลายคนกลัวจอมพล ป. รัฐประหาร พันตรีควงกลับใช้ช่องว่างของ 2 กลุ่มอำนาจแทรกตัวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2487

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ ในเดือนมกราคม 2489 ก็ได้เป็นนายกฯ อีกหนึ่งสมัย แต่เพียงแค่สองเดือน ในวันที่ 18 มีนาคม 2489 ก็แพ้ญัตติในสภาเรื่อง พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเสนอโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากกลุ่มการเมืองเสรีไทย ของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง จึงต้องลาออก

นายปรีดีได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

19 วันต่อมากลุ่มการเมืองของผู้แพ้ก็ได้รวมกันก่อตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 6 เมษายน 2489 นั้นเอง นายควงจึงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้า ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค

ปชป. เริ่มบทบาทโดยเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาเพื่อมาคานอำนาจกับรัฐบาลนายปรีดี ในขณะที่นอกสภามีเงาดำทะมึนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปกคลุมอยู่ ศึกสามก๊กยุคต้นจึงดำเนินต่อไป

 

พรรค ปชป. ได้เป็นรัฐบาล
และถูกปลดโดยคณะรัฐประหาร 2490

8พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารขึ้น นายกฯ ขณะนั้นคือ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (มาเป็นแทน อ.ปรีดีเนื่องจากลาออกหลังกรณีสวรรคตของ ร.8

กลุ่มที่ทำการรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร ส่วนนายปรีดีต้องหลบหนีออกต่างประเทศ

คณะรัฐประหารได้ตั้งนายควงซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 29 มกราคม 2491 นายควงจึงเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่เป็นได้เพียงไม่ถึงสามเดือน… 6 เมษายน 2491 ในวันครบรอบ 2 ปีที่ก่อตั้งพรรคนั่นเองก็ถูกรัฐประหารเงียบ

และจอมพล ป. ก็กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง และอยู่หลายสมัย นานถึง 10 ปี

ปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหาร ทำให้จอมพล ป. หนีไปญี่ปุ่น ความเด็ดขาดของระบบเผด็จการทหารสมัยสฤษดิ์ ผู้ที่ออกมาต่อกร คัดค้าน จะถูกจับไปคุมขัง มีฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า นักหนังสือพิมพ์

ไม่พบว่ามีพรรคประชาธิปัตย์ถูกจับแต่อย่างใด

เมื่อระบบสฤษดิ์สิ้นลงไปพร้อมกับความตาย ในปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร ก็สืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อมา จนถึงปี 2512 จึงเปิดโอกาสให้มีเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

แต่ระบบเลือกตั้งที่ ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค ทำให้พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมสามารถรวบรวม ส.ส. ได้มากกว่าและได้สืบทอดอำนาจเป็นรัฐบาลต่อไป

ประชาธิปัตย์ได้รับบทบาทฝ่ายค้านและเป็นขวัญใจชาวบ้าน นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็น ส.ส.หน้าใหม่ของพรรคมีบทบาทเด่นในช่วงนี้ แต่เพียงแค่สองปีกว่า จอมพลถนอมก็ยึดอำนาจตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 สภาปิดลงอีกครั้งหนึ่ง

 

การเป็นรัฐบาลช่วงสั้นของ ปชป. ครั้งที่ 2

14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนที่ขับไล่รัฐบาลทหาร ทำให้ฟ้าประชาธิปไตยเปิด มีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ 2517 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเกิดใหม่ทั้งหลายก็ได้เข้ามามีบทบาทในสภากันอีกครั้งเช่นเดียว กิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พรรคชาติไทยของกลุ่มราชครู รวมถึงพรรคฝ่ายก้าวหน้าเช่นสังคมนิยม แนวร่วมสังคมนิยมและพลังใหม่

แต่ ปชป. ก็ยังเป็นพรรคที่มีบทบาทเด่นที่สุดอีกครั้ง

ปี 2518 ปชป. ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส. มากที่สุด 72 คน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกฯ อยู่ไม่กี่วัน แต่พอแถลงนโยบายก็ถูกคว่ำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้น้อง ซึ่งมีเพียง 18 เสียงแต่รวมเสียงพรรคอื่นๆ ได้มากกว่า

ปี 2519 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ปชป. ก็ได้ ส.ส. มากที่สุดเหมือนเดิม 114 คน คราวนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นนายกฯ อยู่ได้ถึง 5 เดือน แต่พอปรับ ครม. ตั้งรัฐมนตรีใหม่ในวันที่ 5 ตุลาคม ก็มีการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ปชป. ก็หายไปจากวงการเมือง ณ ช่วงเวลานั้น เพราะถูกกลบด้วยกระแสการต่อสู้กับเผด็จการของนักศึกษาประชาชนและพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งดุเดือดถึงขั้นใช้อาวุธรบกัน จนกระทั่งมีนโยบาย 66/23 การต่อสู้จึงสงบลง

การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ จุดมุ่งหมายทางการเมือง วิธีช่วงชิงอำนาจรัฐ การรู้จักยืดรู้จักหดทำให้สามารถดำรงอยู่ในกระแสการเมือง อยู่กับอำนาจทหารได้แบบไม่ธรรมดา ความเชื่อที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต่อต้านเผด็จการทหารมาตลอด เมื่อดูประวัติถึงตรงนี้จะได้รู้ว่า ไม่เพียงฝีปากเก่งแต่ยังมีกระบวนท่าเท้าที่พลิ้วไหวรวดเร็วจนมองจุดยืนไม่ทัน

กระบวนท่าเท้าที่พลิ้วเร็วแบบนี้จะต้องถูกนำมาใช้อีกในเร็ววันนี้แน่นอน

 

ชนะเลือกตั้ง
และเป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย
หลังพฤษภาทมิฬ 2535

ปี2531 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เปิดศักราชใหม่ในระบอบประชาธิปไตย สร้างกระแสเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูขึ้น

แต่พอถึงปี 2534 ก็ถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช.

แม้จะให้นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน แต่พอถึงปี 2535 เมื่อมีการเลือกตั้ง ประชาชนก็ไม่ยอมรับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ แม้พรรคสามัคคีธรรมจะมี ส.ส. มากที่สุดถึง 79 เสียงเพราะถือว่าเป็นตัวแทนของคณะรัฐประหาร และไม่ผ่านการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนั้น ปชป. ได้เพียง 44 เสียง

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จึงเกิดตามมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง มีการเผาบ้านเผาเมือง เผาทั้งกรมประชาสัมพันธ์และกรมสรรพากร แต่ดูเหมือนเหตุการณ์จะจบลงแบบไม่มีผู้ก่อการร้าย แต่อาจจะมีวีรชนเล็กน้อย

ผู้นำการต่อสู้อย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถูกกล่าวหาจากคู่แข่งทางการเมืองว่าพาคนไปตาย

การเลือกตั้งใหม่ กันยายน 2535 ปชป. ได้ ส.ส. มากที่สุด 79 เสียง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงปี 2538 ก็เกิดกรณีทุจริต ส.ป.ก.4-01 ทำให้ ปชป. ต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม และไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย

 

ปชป. ไม่แพ้ แต่ได้ที่ 2 ถึง 4 ครั้งซ้อน
ในระบอบประชาธิปไตย

ครั้งที่ 1 การเลือกตั้งกรกฎาคม 2538 พรรคชาติไทยซึ่งนำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเลือกสูงสุด 92 เสียง ปชป. ได้ 86 เสียง

แต่นายบรรหารได้เป็นนายกฯ อยู่เพียงปีเดียวก็ถูก ปชป. อภิปรายเรื่องสัญชาติและการบริหารงาน ต้องยุบสภา

ครั้งที่ 2 เลือกตั้งใหม่ในปี 2539 ความหวังใหม่ได้รับเลือกสูงสุด 125 เสียง ปชป. ได้ 123 เสียง นายชวนสวมบทสุภาพบุรุษประชาธิปไตย เสียงน้อยกว่าก็จะไม่แย่งจัดตั้งรัฐบาล แต่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยทธ เป็นนายกฯ ได้เพียงปีเดียวก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีการลดค่าเงินบาทในปี 2540 พล.อ.ชวลิตลาออก…ไม่ยุบสภา

นายชวนได้เป็นนายกฯ โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่การแย่งชิงตำแหน่งนายกฯ ครั้งนี้นายชวนได้งูเห่ามาคล้องคอไว้หนึ่งตัว เนื่องจาก เสธ.หนั่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้ใช้วิทยายุทธ์ช่วงชิง ส.ส.ประชากรไทย 13 คนของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีมติสนับสนุนอดีตนายกฯ ชาติชาย ให้มาโหวตเสียงแก่นายกฯ ชวน ตั้งแต่วันนั้นการ์ตูนนิสต์บางคนก็วาดรูปนายกฯ ชวนมีงูเห่าคล้องคอเป็นเน็กไทจนถึงปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 3 นายกฯ ชวนบริหารไปจนถึงปี 2544 ก็ยุบสภาก่อนหมดวาระไม่กี่วันและมีการเลือกตั้งใหม่ มกราคม 2544 ปชป. ดูเหมือนจะไม่มีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่ก็มีพรรคไทยรักไทยแปลงกายมาจากพลังธรรม โผล่ขึ้นมาและกวาด ส.ส. ไปถึง 248 เสียง ปชป. ได้ 128 เสียง เป็นการพ่ายแพ้ครั้งที่สามแบบหมดทางสู้

ครั้งที่ 4 เมื่อทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จนครบวาระ เลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 คราวนี้ไทยรักไทยได้ ส.ส. ถึง 377 เสียง ในขณะที่ ปชป. ได้เพียง 96 เสียง

หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองกดดันจนนายกฯ ทักษิณต้องยุบสภา

 

การพ่ายแพ้และบอยคอตการเลือกตั้ง
…ในกระแสรัฐประหาร

1.มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2549 ซึ่ง ปชป. บอยคอตด้วยการไม่ส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง ครั้งนี้ไม่นับว่าแพ้บนเวที ปชป. เหมือนนกรู้ไม่ต้องเสียหน้าและเสียเงินไปเปล่าๆ

เพราะหลังทักษิณยุบสภาไม่นานกลุ่มพันมิตรฯ ก็ชุมนุมยึดทำเนียบ และเดือนกันยายน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ทำรัฐประหารขึ้นตามแรงกดดันของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ประสงค์จะออกนาม นายกฯ ทักษิณต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ กรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 111 คน แต่ก็ยังแปลงกายเป็นพรรคพลังประชาชนได้

2. การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 2550 ของคณะรัฐประหาร พรรคพลังประชาชนซึ่งนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และตัวสำรอง แม้จะถูกมัดมือชกก็ยังชนะ ปชป. ด้วยจำนวน 233 ต่อ 165 เสียง

แต่เกมไม่จบ เกิดม็อบมาไล่รัฐบาล ถึงขั้นยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน มีตุลาการภิวัฒน์โค่นล้มรัฐบาลและยุบพรรคพลังประชาชน

คราวนี้ ปชป. สามารถเปลี่ยนขั้วได้สมใจโดยมีกลุ่มเนวินเป็นงูเห่าแยกออกมา 32 ตัว หนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

หลังจากแพ้การเลือกตั้งมา 6 ครั้งซ้อนก็สามารถชิงเป็นรัฐบาลได้ แต่ต้องมีทั้งการรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์เข้ามาช่วยอุ้ม จึงได้ฉายาว่ารัฐบาลเทพประทาน

การเป็นรัฐบาลท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ปชป. เดินเกมการเมืองพลาด เพราะมีอำนาจในตนเองน้อยไป ไปอาศัยกำลังคนนอก จึงเกิดการปราบผู้ประท้วง ด้วยกำลังทหารติดอาวุธในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีคนตาย คนเจ็บ มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง

มีคนวิจารณ์ว่าแรงบีบแบบนี้ เคยเกิดขึ้นในปี 2519 แต่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ฝืนมาได้ ไม่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าปราบประชาชน เป็นเพราะนายกฯ เก๋าเกม และมาจากการชนะเลือกตั้งจริงๆ

3. ปี 2554 นายกฯ อภิสิทธิ์ยืดอายุรัฐบาลมาได้อีก 1 ปีก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือนกรกฎาคม ใช้ รธน.2550 ก็แพ้แก่พรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 265 ต่อ 159 เสียง ได้นายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

4. ปี 2557…รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์โดนเกมการเมืองบีบ แบบปี 2551 มีม็อบปิดกรุงเทพฯ ยุบสภาก็ไม่ยอม มีตุลาการภิวัฒน์ปลดนายกฯ มีใครก็ไม่รู้มาปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ คนที่ไปเลือกตั้ง 20 ล้านคนก็หย่อนบัตรฟรี ครั้งนี้เปรียบเทียบคะแนนไม่ได้ สุดท้ายไม่อยากเลือกตั้งใหม่ เลยต้องรัฐประหาร

การเดินเกมการเมืองของ ปชป. ในปี 2557 ถือว่าแย่ที่สุด คำว่า เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา หายไปแล้ว ที่ลงทุนแสดงบทแรงในสภาและนอกสภา ออกหน้า เปิดความต้องการ วันนี้ ไม่ได้อะไรเลย ถือว่าถูกหลอก สุดท้ายต้องมานั่งเปิดโต๊ะให้สมาชิก 2 ล้านคนมายืนยันว่าจะอยู่กับพรรคหรือไม่?

ปี 2562 ถ้ามีเลือกตั้ง จะเกิดอะไรขึ้น ปชป. จะเดินเกมอย่างไร? (ต่อฉบับหน้า)