คสช.เป็นผู้ตรวจสอบ ไม่ “คอร์รัปชั่น”

“คสช. เป็นผู้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายที่ทุจริตในช่วงที่ผ่านมา ย้อนหลังหลายปี ไม่ใช่ว่า คสช. คอร์รัปชั่น”

คือคำประกาศขึงขังของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

สอดคล้องกับวาทะของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

“จะไม่มีการละเว้น ยิ่งตรวจเจอมาก ต้องคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อมีการโกงหรือการคอร์รัปชั่นแล้วเราจับได้ เมื่อจับได้แล้วก็ต้องรับโทษ และโทษแรงทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยโดนทั้งหมด ให้รู้ว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแป ตรวจได้ก็ต้องถูกลงโทษเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าใครที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินของหลวงหรือกิจการของหลวงอย่างไรก็ต้องตรวจเจอจนได้ ซึ่งก็จะทำให้เดือดร้อนทั้งตนเองและครอบครัว กรณีท้องถิ่น ถ้าดูให้ลึกใครเป็นคนเลือกท้องถิ่น ลองไปถามประชาชนดูว่าท่านเลือกมาอย่างไรเขาถึงเข้ามาโกง ท่านก็อย่าเลือกอย่างนั้นอีกก็แล้วกัน ถ้าจะสร้างประเทศให้เข้มแข็งจริงๆ ถ้าจะเลือกนักการเมืองก็อย่าเลือกให้เขาเข้ามาโกงก็แล้วกัน”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“อย่าไปหลงเชื่อคำบิดเบือนว่าการทุจริตมีมากในรัฐบาลนี้ เพราะทุกอย่างตรวจสอบแล้ว ทำมายาวนาน มาตรวจพบในรัฐบาลนี้เพราะเอาจริงเอาจัง และอยากให้ย้อนกลับไปดูคนพูดว่าช่วงที่ผ่านมาเขาได้ทำอะไรจริงจังแค่ไหน ลองเปรียบเทียบดูแล้วกัน”

นี่ต้องถือว่าเป็นความพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของพี่น้อง “3 ป.” บูรพาพยัคฆ์

วิกฤต จากที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกมองว่าไม่เอาจริงเรื่องคอร์รัปชั่น

ทำให้เกือบ 4 ปีในการบริหารงาน การทุจริตไม่ลดลง

แถมยังถูกกล่าวหา พัวพันอยู่กับคนใกล้ชิดรัฐบาลด้วย

วาทะ “คสช. เป็นผู้ตรวจสอบ ไม่ใช่ คสช. คอร์รัปชั่น” จากปากของ พล.อ.ประวิตร

จึงท้าทายต่อการพิสูจน์ของสังคมอย่างยิ่ง

อย่างกรณีแหวนและนาฬิกาหรู ที่ พล.อ.ประวิตร บอกว่า “จบแล้ว”

แต่ที่นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลง ผลการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม เรื่องยังอีกยาว

โดย พล.อ.ประวิตรชี้แจงที่มาของทรัพย์สินแล้ว 4 ครั้ง

ยืนยันนาฬิกาหรู ยืมจากเพื่อนมา

เป็นเพื่อนคนเดียวทั้ง 25 เรือน ตรวจสอบแล้วมีซ้ำกัน 3 เรือน

สำหรับเพื่อนที่ พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกามา ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วนั้น นายวรวิทย์บอกว่า สื่อมวลชนก็รู้ๆ กันอยู่

ทั้งนี้ นาฬิกาจะมีหมายเลขประจำเครื่อง หรือซีเรียลนัมเบอร์ จึงต้องให้สำนักตรวจสอบทรัพย์สินไปตรวจสอบว่า ผู้ครอบครองนาฬิกาเหล่านี้ เป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่

ถึงบริษัทเอกชนที่จำหน่ายนาฬิกาด้วย

โดยสอบถามไปแล้ว 13 บริษัท แต่ตอบกลับเพียง 3 แห่ง นี่เป็นข้อมูลที่ ป.ป.ช. ต้องการ จึงต้องสอบต่อไป รวมถึงพยานบุคคลใหม่อีก 2 ราย คิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

ส่วน พล.อ.ประวิตร มาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่พิจารณาในประเด็นนี้ แต่ให้คณะทำงานไปรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนก่อน

ส่วนการครอบครองแหวนเพชรนั้น พล.อ.ประวิตรได้ชี้แจงว่า แหวนเพชรเป็นของบิดา ที่มารดาเก็บไว้ ต่อมาได้มอบให้ พล.อ.ประวิตร

นายวรวิทย์สรุปว่า เรื่องดังกล่าวสังคมให้ความสนใจ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งรัดตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูลให้สิ้นกระแสความโดยเร็ว ก่อนสรุปข้อเท็จจริงเพื่อเสนอที่ประชุมอีกครั้ง

“ตามระเบียบไม่ได้กำหนดว่าเรื่องนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด แต่จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง เชื่อว่าจะต้องตรวจสอบอีกไม่มาก” เลขาฯ ป.ป.ช. ระบุ

เรื่องนี้จึงส่อว่ายังจะยืดเยื้อต่อไป

แม้ ป.ป.ช. ระบุว่า “ไม่นาน”

ก็เป็นการไม่นานที่ไม่มีกรอบระบุให้ชัดว่าจะเสร็จเมื่อไหร่

ต้องรอกันต่อไป

ในขณะที่เรื่องนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ยังไร้คำตอบ

กระแสการทุจริตก็แพร่สะพัดเข้าไปยังหน่วยราชการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่า กรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ในกระทรวงศึกษาธิการ ร่วม 100 ล้านบาท

ไม่ว่า กรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในวงเงิน 503,966,500 บาท ใน 34 ศูนย์ทั่วประเทศ

ไม่ว่า กรณีการตรวจสอบทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐในภาคใต้ มูลค่าความเสียหายปีละไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท

ไม่ว่า การทุจริตการจัดซื้อรถขยะ และรถดูดโคลนใน 33 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ซึ่งจากการจากตรวจสอบพบว่าหลายแห่งมีการทุจริตจริง

อย่างกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงโทษวินัยร้ายแรงไล่ออก นางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ (ซี 8) สังกัดสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด ศธ. กรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต

และกำลังขยายผลไปยังบุคคลอื่นอีก

ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ในภาพรวม 76 จังหวัด พบพฤติการณ์การทุจริตแล้ว 56 ศูนย์ มีผู้ถูกกล่าวหา 96 ราย

และพบการเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงของกรมในสังกัดกระทรวง พม. จำนวน 3 ราย เป็นผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการในประจำการ 1 ราย นอกประจำการอีก 1 ราย

ซึ่งถือว่าเป็นการทุจริตในวงกว้าง และย้ำว่าการทุจริตไม่ได้จำกัดวงเฉพาะนักการเมือง หากแต่ระบาดในวงราชการด้วย

และกระทำในห้วงที่ประเทศมีกฎเหล็กจาก คสช. ด้วย

ภาวะโกงทุกหย่อมหญ้าดังกล่าว ทำให้รัฐบาลและ คสช. อยู่เฉยไม่ได้

และต้องเล่นบทบาทรุก โดย คสช. และ ครม. ได้มีมติร่วมกัน ออกมาตรการการป้องกันและปราบxik,การทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ

เสริมจากกลไกที่มีอยู่ โดยเมื่อมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ให้หน่วยงานราชการโดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ เริ่มต้นการตรวจสอบโดยทันที

โดยกำหนดเวลาให้เริ่มต้นการตรวจสอบภายใน 7 วัน

และดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

หากพบข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้พอเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ให้ปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว โดยสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดตำแหน่งรองรับข้าราชการระดับสูง 100 ตำแหน่ง ส่วนพนักงานในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรมหาชน เปิดจำนวน 50 ตำแหน่ง

หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลักฐานชัดเจนจนสามารถชี้มูลความผิดได้ ให้ดำเนินการทางวินัยทันที โดยไม่ต้องรอผลคดีอาญา

และข้อมูลให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) รับไปดำเนินการทางคดีอาญาโดยทันที

หากพบว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรง หรือทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่ไม่ถึงขั้นปลดออก หรือไล่ออก ให้หน่วยงานต้นสังกัดปรับย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น และห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งสูงกว่าเดิมในระยะเวลา 3 ปี

รวมทั้งให้คุ้มครองพยานที่ให้ข้อมูลการทุจริตด้วย

ถือเป็นการเติมความเข้มในการปราบปราม และให้ภาพการเอาจริงเอาจัง

รวมถึงการเปิดสายตรงไทยนิยม “สายตรงลุงตู่” ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และแอพพลิเคชั่นเพื่อรับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ประสานกับแอพพลิเคชั่น police I lert U แจ้งเบาะแสเหตุด่วนเหตุร้าย 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สายตรงศูนย์ดำรงธรรม 1567 ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ สายด่วน 1299 ของ คสช.

นี่คือความพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของรัฐบาลและ คสช.

ซึ่งจะได้ผลแค่ไหน ยังเป็นคำถามอยู่

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างกรณีนาฬิการหรูนั้นได้ฝังลึกเข้าไปในความรู้สึกของผู้คน และดูจะไม่ตั้งความหวังว่ากรณีดังกล่าวจะมีคำตอบที่น่าพึงใจได้

ด้วยองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ที่ถูกออกแบบโดยรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้น

เอาเข้าจริง กลับเป็นการออกแบบและเปิดทางให้มีการต่ออายุ ป.ป.ช. ที่เอื้อต่อ “พวกเดียวกัน” นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นว่าจะเป็นอิสระในการตัดสินคดีความอย่างแท้จริง

เมื่อขาดความเชื่อถือ ก็ค่อยๆ นำไปสู่ “วิกฤตศรัทธา” อย่างที่เป็นอยู่

ส่วนปัญหาการทุจริตที่แต่เดิมพุ่งเป้าไปเฉพาะนักการเมือง ที่สุดเวลาก็ได้พิสูจน์ว่าเป็น “วาทกรรม” ที่มุ่งเล่นงานฝ่ายตรงข้ามมากกว่า เพราะปัญหาการทุจริตยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในระบบราชการ

แม้จะมีการอธิบายว่าเป็น “สิ่งตกค้าง” มานาน แต่การเปิดโปงเรื่องเหล่านี้

มิใช่เพราะอำนาจเหล็กหรือกลไกของ คสช. และรัฐบาล บางกรณีเป็นความกล้าหาญของเด็กนักศึกษาฝึกงานเสียด้วยซ้ำ

ไม่ใช่กลไกของรัฐบาลและ คสช.

ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า เงินจำนวนมหาศาลอีกหลายแสนล้านที่รัฐบาลอัดฉีดลงไปในตอนนี้ ซึ่งมีข้าราชการเป็นมือไม้ในการบริหารเงินนั้น

จะไร้ซึ่งการทุจริตอย่างที่เกิดขึ้น

นี่เองจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมการตื่นตัวในช่วงท้ายๆ ที่จะปราบทุจริต จึงไม่ได้นำไปสู่ความเชื่อมั่นในคำพูดของ 3 ป. แห่งบูรพาพยัคฆ์เท่าใดนัก

ตรงกันข้าม คำแถลงขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กลับมีน้ำหนักมากกว่า

“…แทบไม่เห็นผลงานการปราบทุจริตของคณะรัฐประหารไทย ต่างจากที่ว่าไว้เมื่อเข้าสู่อำนาจ 4 ปี

กรณี “แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน” สะท้อนช่องโหว่ของกลไกคุณธรรมจริยธรรมของไทย

ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index – CPI) ประจำปี 2560 ซึ่งผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอ 37 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ไต่อันดับเป็น 96 จากเดิม 101 เมื่อปี 2559 ซึ่งไทยได้คะแนน 35 คะแนน

คะแนนที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก ในเชิงสถิติ ไม่นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และรัฐบาลทหารไทยไม่ได้ดำเนินการปราบปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างที่ว่าไว้ตอนแรกสักเท่าไร”

พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประวิตร คงต้องตะโกนดังๆ และมีแอ๊กชั่นมากกว่านี้!