คำ ผกา : ผู้ยืนอยู่ข้างความถูกต้องย่อมไม่แพ้

คำ ผกา

“ประชาธิปไตยเสรีนิยมเปิดเสรีเต็มที่แล้วก็ไม่ได้จำกัดความไว้ว่าเสรีอย่างไร; แล้วกิเลสของคนมันก็ฉวยโอกาส ที่จะเสรีไปตามอำนาจของกิเลส; พอมีอำนาจอยู่ในเมือแล้ว กิเลสมันก็เข้าสวมรอยที่จะใช้เสรีภาพตามอำนาจของกิเลส…ฉะนั้น ประชาธิปไตยนี้ยังไม่ปลอดภัย เพราะสำหรับคนมีกิเลส ก็ย่อมรวมหัวกัน เพื่อให้กิเลสนั้นได้โอกาสบัญญัติอุดมคติของมันนั่นเอง”

ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการ หรือ สังคมนิยมตามหลักศาสนาแห่งทุกศาสนา.
พุทธทาสภิกขุ. บรรยายอบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา รุ่นปี 2517 ณ สวนโมกข์ ไชยา 15 กันยายน 2517

ฉันจำอะไรได้บ้างในวันก่อนรัฐประหารปี 2549

ฉันในฐานะคอลัมนิสต์ เขียนวิจารณ์ทุกนโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพราะเชื่อว่าหน้าที่ของ “นักสังเกตการณ์ทางสังคม” และ “นักเขียน” คือ ตรวจสอบ คัดง้างรัฐบาล ชวนสังคมตั้งคำถาม

ฉันวิจารณ์แม้กระทั่งชื่อพรรค “ไทยรักไทย” ว่าเป็นชื่อที่มีความเป็นเชื้อชาตินิยม เพราะทำไมคนไทยต้องรักแต่คนไทย? “ไทย” จะรักคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไทยด้วยได้หรือไม่?

การตั้งชื่อพรรคแบบนี้ เท่ากับจะบอกว่า ไทยจะไม่รักใครอีกแล้วนอกจากคนไทยด้วยกันเอง – เฮ้ย มันใช่หรือ?

ฉันเคยตั้งคำถามกับโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคว่าระหว่างระบบนี้กับระบบประกันสุขภาพ แบบที่ทุกคนจ่ายค่าประกันสุขภาพรายเดือนตามสัดส่วนรายได้เหมือนการจ่ายภาษีจะทำให้รัฐแบกรับภาระน้อยกว่าหรือเปล่า?

ฉันตั้งคำถามกับโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ว่า เราจะเป็นเมืองแฟชั่นได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีโรงเรียนสอนศิลปะ การออกแบบ ไม่มีมิวเซียมศิลปะ ไม่มีความสามารถในการผลิตช่างฝีมือตั้งแต่ในสเกลเล็กสุดไปจนถึงใหญ่สุด ออกแบบผลิตสิ่งทอไม่ได้ ฯลฯ?

ไม่ต้องถามถึงนโยบายสงครามกับยาเสพติด นโยบายสามจังหวัดภาคใต้ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่แล้ว

ถามว่าย้อนเวลากลับไปได้ จะยังวิจารณ์รัฐบาลไทยรักไทยอย่างหนักหน่วง

คำตอบก็คือ แน่นอนอยู่แล้ว มันเป็นหน้าที่ของประชาชน เป็นหน้าที่ของ “สื่อ” ที่ต้องตั้งคำถาม คัดง้างกับ “อำนาจ”

 

ขณะเดียวกัน เราก็มองเห็น “อนาคต” ที่แม้ไม่สุกสกาว แต่ก็เป็นบ้านเมืองที่มีทิศทาง ฉันเริ่มมีความหวังกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ฉันเห็นความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน ใน อบต. ในเทศบาล แม้แต่ในการจัดการสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เห็นความคึกคักในการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่น ดีใจที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการเมืองท้องถิ่น และอาจจะมากกว่าการเมืองระดับชาติ เพราะมันมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาโดยตรง

เราเริ่มมีสวนสาธารณะ มีสนามกีฬา ที่คนแก่อย่างแม่ของฉัน และเพื่อนๆ ของเขา ได้ใช้เวลายามเช้าไปเดินออกกำลังกาย พูดคุย ปรับทุกข์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร นัดกินข้าว ประหนึ่งเป็น “กลุ่มบำบัด” กลายๆ ของเหล่าคนวัยเกษียณ น้ำประปา ขยะในหมู่บ้านได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งคือ ความมีประสิทธิภาพของการบริการจากพนักงานรัฐ การมี one stop service ของหน่วยราชการในห้างสรรพสินค้า การทำพาสปอร์ต ที่กระจายไปตามจุดต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐให้เกียรติประชาชนมากขึ้น

บทบาทของข้าราชการมหาดไทยค่อยๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

วาระของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีแค่ 4 ปี ผู้ใหญ่บ้านยุคนั้นแอ๊กทีฟมาก และการเลือกตั้งทำให้พวกเขาเชื่อมโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นมากกว่าจะเชื่อมโยงกับนายอำเภอหรือผู้ว่าฯ

ทหารยุคก่อน 2549 เป็นทหารอาชีพจริงๆ อยู่ในกรมกอง ทำงานพัฒนา น่านับถือ

ฉันจำอะไรได้อีก ก่อนมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จํารายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้ เพราะไม่เคยดู จำได้ว่า คุณสนธิ ตระเวนสัญจร จัดปราศรัยรู้ทันทักษิณ ที่เชียงใหม่จัดที่สนามวอลเลย์บอล มช. คนไปฟังเยอะมาก เพื่อนๆ ปัญญาชนของฉันก็ไปฟัง และชื่นชมคุณสนธิมาก และฉันก็มีเพื่อนอีกจำนวนมาก ที่ชื่นชอบคุณทักษิณ

ซึ่งฉันต้องถกเถียงกับพวกเขาเสมอว่า “เฮ้ย นักการเมืองก็คือนักการเมือง ชื่นชมเขาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องรักหรือเห็นเขาดีไม่มีที่ติ” ส่วนเพื่อนที่ด่าทักษิณนั้นฉันก็เห็นสมควรด้วย เพราะคุณทักษิณมีอำนาจมาก การที่ประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบ

แต่ฉันไม่เคยสนใจอยากร่วมขบวนกับคุณสนธิ เพราะในวิจารณญาณของฉัน สนธิไม่ใช่คนที่น่าไว้ใจ เราอาจมองสนธิเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองของประชาชนได้ แต่เขาไม่ใช่ศาสดาแน่ๆ

ที่สำคัญ ฉันไม่ได้คิดว่า สนธิ ลิ้มทองกุล ปลอดมลทิน เป็นคนดี ใสสะอาดกว่านักการเมืองที่เขาโจมตีเลย

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันจำได้แม่นคือ (และ ณ เวลานั้น เราอาจไม่ได้เห็นว่ามันสำคัญ) ในฐานะนักเขียน ก่อนการรัฐประหาร 2549 เรามีเสรีภาพสื่อในระดับที่นักเขียนอย่างฉันมีความสบายใจในการทำงาน

(อย่างชนิดที่เทียบกันไม่ได้กับในยุคนี้)

เลือนรางในความรู้สึกว่า ฉันเคยภูมิใจที่สามารถเขียนวิพากษ์รัฐบาลได้ทุกเรื่องโดยไม่เคยกลัวว่าจะถูกเรียกไปเตือน ไปสอบ-จะว่าไปแล้ว ฉันไม่คิดว่านักเขียนเล็กๆ อย่างฉันจะอยู่ในสายตาของรัฐด้วยซ้ำไป ซึ่งมันเป็นเรื่องดี!!!!

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีความมั่นคง สบายใจกับฐานเสียงของตัวเอง ไม่มาประสาทรับประทานกับการวิจารณ์รัฐบาลจากสื่อ อยากวิจารณ์ก็วิจารณ์ อยากด่าก็ด่า อยากเขียนอะไรเขียน เราจึงด่าทักษิณและรัฐบาลกันอย่างสำราญบานตะไทมาก

แม้การด่ารัฐบาลของสนธิและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่ถูกคุกคามใดๆ จากรัฐเลย (หากมีเคสไหนที่ถูกรัฐบาลสมัยคุกคาม แล้วฉันไม่ทราบก็ขออภัย แต่ที่แน่ๆ คือ มันไม่ได้อุกอาจ คาดเดาไม่ได้แบบสมัยนี้)

แล้วเชื่อไหมว่า ในยุคนั้น หากรัฐบาลแตะ “สื่อ” หรือคุกคามเสรีภาพสื่อนี่มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาก เป็นสิ่งรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง รัฐบาลไหนคุกคามสื่อ พูดได้เลยว่ามีแต่พังกับพัง

โอ้…แล้วสิ่งที่สนุกมากคือ เรามีวิทยุชุมชนเยอะแยะไปหมดเลย หมดยุคฟังแต่สถานีวิทยุผูกขาดสัมปทาน

รายการวิทยุคนเมือง คำเมืองในวิทยุชุมชนนี่สนุกมาก หลากหลาย หลุดกรอบ – ใต้ฟ้าเมืองไทยมีความรื่นเริงระดับหนึ่งเลย ผู้คนมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำมาหากินสนุก

สมัยนั้นก็ได้สงสารเพื่อนชาวพม่า ชาวอินโดนีเซีย ที่สื่อ และนักคิด นักเขียน กวีถูกคุกคาม ฟังเพื่อนพม่าที่ทำงานให้สำนักข่าว อิระวดีโพสต์ ซึ่งตอนนั้นมีออฟฟิศอยู่ที่เชียงใหม่ก็สะท้อนใจว่า ในยุคสมัยนี้ไม่น่าต้องมีสื่อพลัดถิ่นแบบนี้อีก แล้วก็ลุ้นให้ลายคนได้ย้ายไปประเทศที่สาม

นั่นคือสิ่งที่ฉันจำได้ก่อนมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

คืนวันที่มีรัฐประหาร นอนดูทีวีอยู่บ้านเพื่อน

“เฮ้ยย” หลังจากนั้นคือ ช็อก-มันเหนือความคาดหมายมาก สำหรับฉันบทเรียนของพฤษภาทมิฬ มันมากพอที่จะทำให้คนไทยไม่สนับสนุนรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด

สำหรับฉัน ประสบการณ์ของการผลักดันของภาคประชาชนจนได้ รธน. ปี 2540 ที่นายกฯ ต้องการจากากรเลือกตั้ง ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง-สองอย่างนี้มากพอที่จะทำให้เราไม่หันกลับไปย่ำรอยเดิมก่อนการนองเลือดพฤษภา 2535

แต่ปรากฏว่าฉันคิดผิด เพื่อนฝูง ปัญญาชน ออกมาแห่แหน ต้อนรับทหารและการรัฐประหารกันอย่างเนืองนอง วาทกรรม “คนดี” ไหลบ่าท่วมท้นประเทศชาติ วาทกรรมนักการเมืองโกง และประชาธิปไตยที่ปราศจากคุณธรรมกำกับเป็นปีศาจกลายเป็นคาถาของคนที่มีการศึกษา นักพัฒนา นักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ ศิลปิน ฯลฯ

วันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นเองที่วิบากกรรมของสังคมได้เริ่มต้น และเวลาก็ผ่านไปเร็วราวกับติดปีกบิน

เราทั้งนั่งดูและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง งานวิชาการถูกผลิตออกมามากมายเพื่อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยในรอบทศวรรษ มีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เกิดและดับทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ นักสู้ทางการเมืองที่เป็นชาวบ้านถูกหลงลืมอยู่ในคุกอีกเป็นจำนวนมาก “คนดี” เกือบทั้งหมดของสังคมถูก “ลอกคราบ” จน “สิ้นดี” ความดัดจริตถูกปลิ้นออกมาจนเห็นแต่เนื้อในอันน่าขยะแขยง

ศาสตราจารย์หลายๆ คนสิ้นชื่อ สิ้นสง่าราศี

กวีหลายคนเหมือนตายทั้งเป็น

ฝ่ายประชาธิปไตยอาจพ่ายแพ้ทางกาย แต่ฝ่ายล้มประชาธิปไตยต้องแลกชัยชนะมาด้วยความสง่างามแห่งความเป็นมนุษย์

หลายคนบอกว่าสังคมไทยถอยหลัง บ้างก็ว่าย่ำอยู่กับที่

แต่สำหรับฉัน สังคมไปไกลมาก “ปัญญา” และความ “สุกสว่าง” ของผู้ที่แจ้งแห่งข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ไม่อาจดับลงด้วยอำนาจแห่งการกดทับ ไฟเมื่อถูกจุดแล้วมันยากจะดับ

ปัญญาและความรู้เมื่อลงหลักปักฐานแล้วก็ยิ่งทำให้ “อวิชชา” ดูเขลากว่าที่เคยเขลา

สิ่งเดียวที่แจ้งในปัญญาควรทำคือ หล่อเลี้ยงแสงไฟแห่งปัญญาด้วยการใช้ปัญญาให้มากขึ้น และเมตตาต่อความเขลาให้ได้มากขึ้นไปอีก ไม่ว่าความเขลานั้นจะโหดร้ายอำมหิตสักเพียงใด

เพราะมีแต่คนชนะเท่านั้นที่จะมีที่ว่างสำหรับความปรานี