ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
วันก่อน มีโอกาสสัมภาษณ์ “โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร
คนที่ทำให้ทีมวอลเลย์หญิงไทยไประดับโลก
คนที่ทำลาย “ความเชื่อ” ว่าคนไทยเล่นกีฬาเป็น “ทีม” ไม่เก่ง
เพราะที่ผ่านมานักกีฬาไทยที่ไประดับโลก ส่วนใหญ่เป็นประเภท “เดี่ยว”
เล่นคนเดียวเก่ง
แต่เล่นเป็นทีมสู้เขาไม่ได้
“โค้ชอ๊อด” ทำลาย “ความเชื่อ” นี้จนหมดสิ้น
ผมเคยสัมภาษณ์ “โค้ชอ๊อด” มา 2 ครั้งแล้ว
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3
ทาง SVL ของ “สหวิริยา” เชิญ “โค้ชอ๊อด” มาให้แรงบันดาลใจเรื่องการสร้างทีมกับผู้บริหารและพนักงานของบริษัท
สนุกมากครับ
นอกเหนือจากเรื่องกลยุทธ์การสร้างทีมที่ใช้ทั้ง “บู๊” และ “บุ๋น”
ในขณะที่ตอนฝึกซ้อมก็ “โหด” มาก
ฝึกให้ทุกคนอดทน และสู้เพื่อทีม
ใครทำไม่ได้ตามเกณฑ์คนเดียว ทุกคนต้องโดน “ซ่อม” หมด
แต่เวลาที่แข่งจริง “โค้ชอ๊อด” ก็จะใช้ “จิตวิทยา” ปลุกเร้าให้ลูกทีมทุกคนลุกขึ้นสู้
“อีกนิดเดียว”
“เกือบได้แล้ว”
เขาบอกว่าตอนที่นักกีฬาอยู่ในสนาม
ไม่มีใครช่วยเขาได้เลย
โค้ชก็ช่วยไม่ได้
เสียงเชียร์ก็ช่วยไม่ได้
มีแต่ตัวเขาเอง
“จิต” ต้องว่าง
เพราะเขาต้องตัดสินใจแบบวินาทีต่อวินาที
การฝึกซ้อมที่หนัก การฝึกจิตให้รับมือกับแรงกดดัน จะแปรเปลี่ยนเป็น “ผลลัพธ์” ในสนาม
ความรัก-ความผูกพัน จากการร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาทำให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยไม่เหมือนกับทีมใดในโลก
“ได้แต้ม” ก็เฮร่วมกัน
“เสียแต้ม” ก็ให้กำลังใจกัน
ไม่มีการโวยวายใส่กัน
มีแต่ “รอยยิ้ม”
เสียแต้มก็ยังยิ้มได้
…ไม่เป็นไร-เอาใหม่
“โค้ชอ๊อด” เป็นคนที่กล้าคิด กล้าฝัน
เพราะตอนที่เขาตั้งเป้าหมายพาวอลเลย์บอลหญิงไทยไปโอลิมปิก
ตอนนั้นทีมไทยยังอยู่ในระดับกลางๆ ของอาเซียน
อาจารย์ชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ ผู้บริหารสมาคมวอลเลย์บอลไทยที่เป็นคนดึง “โค้ชอ๊อด” เข้าสู่วงการบอกว่าตอนนั้นถ้าทีมไทยเจอทีมระดับชั้นนำของเอเชีย
อย่าง “จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น” เมื่อไร
นอกจากแพ้ 3:0 แล้ว
ยังเจอเกม 0 เป็นประจำ
ดังนั้น การที่ “โค้ชอ๊อด” ฝันว่าจะพาทีมไทยไปโอลิมปิก จึงเป็น “ความฝัน” ที่ไกลมาก
ไกลจนยากจะจินตนาการได้ว่าจะเป็นจริง
ผมถาม “โค้ชอ๊อด” ว่าจัดการ “ความฝัน” ของเขาอย่างไร
เขาแบ่ง “ความฝัน” เป็น “เป้าหมาย” เล็กๆ ครับ
เหมือนขั้นบันได
เป้าหมายแรกคือ ชนะทีมอันดับต้นๆ ของ “เอเชีย” ให้ได้
ผ่านไป 4 ปีชนะ “ญี่ปุ่น”
“ญี่ปุ่น” ที่เราเคยแพ้เกม 0 มาก่อน
จากนั้นก็ได้เล่นกีฬามหาวิทยาลัยโลก
ได้เหรียญทองแดง
ชนะคิวบา-บราซิล
อีก 1 ปีต่อไปได้ไปเล่น “เวิลด์ กรังด์ปรีซ์”
และก็ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ
วิธีการแบ่ง “ความฝัน” เป็นขั้นบันไดเล็กๆ ทำให้ทุกครั้งที่ก้าวขึ้น 1 ขั้น
เราจะรู้สึกว่า “ชนะ”
และกลายเป็น “กำลังใจ” ในการก้าวต่อไป
“โค้ชอ๊อด” มี “ความฝัน”
และเขาได้ส่ง “คบเพลิง” แห่ง “ความฝัน” นี้ไปให้กับนักกีฬาทุกคน
“ฝัน” กันเป็น “ทีม”
มีเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจผมมานาน
อยากถาม “โค้ชอ๊อด” มาก
จำวันที่ทีมวอลเลย์หญิงไทยใกล้ถึง “ความฝัน” ได้ไหมครับ
การคัดเลือกไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น
“ตอนที่ไทยชนะคิวบา เราเฮกัน เลี้ยงฉลองกันเพราะคิดว่าเราได้ไปแน่ๆ”
วันที่ “ญี่ปุ่น” แข่งกับ “เซอร์เบีย”
ฟอร์มของเจ้าภาพเหนือกว่ามาก
วันนั้น “ญี่ปุ่น” จะชนะเท่าไรก็ตาม “ไทย” ก็จะได้เข้ารอบ
ยกเว้นอย่างเดียวคือ “ญี่ปุ่น” ห้ามแพ้
ครับ แล้ว “ญี่ปุ่น” ก็แพ้
คนในวงการอ่านออกว่า ที่ “ญี่ปุ่น” เลือกที่จะแพ้ เพราะจะได้เข้าไปอยู่ “สายอ่อน”
แต่ถ้า “ชนะ” จะต้องไปอยู่ “สายแข็ง”
คืนนั้น ทีมไทยนั่งเชียร์อยู่หน้าจอโทรทัศน์ในห้องพัก
จากเสียงเฮดังลั่นใน 2 เซ็ตแรกที่ “ญี่ปุ่น” ชนะ
เสียงเชียร์เริ่มเงียบลง
แล้วเสียงสะอื้นก็แทรกขึ้นมาแทนในช่วงเซ็ตสุดท้าย
ก่อนทุกคนจะซบหน้าร้องไห้
เมื่อ “ญี่ปุ่น” แพ้ “เซอร์เบีย”
สิ่งที่ผมอยากรู้คือ “โค้ชอ๊อด” คุยอะไรกับนักวอลเลย์หญิงไทย
เขาปลุกปลอบใจคนที่ฝันสลายเช่นนี้อย่างไร
“ทุกคนร้องไห้แทบเป็นสายเลือด ผมอยู่กับเขาแทบทั้งคืน”
ที่ทุกคนไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ เกือบทั้งทีมจะขอเลิกเล่นทีมชาติ
ทุกคนหมดกำลังใจ
ทั้งที่อีก 10 กว่าวัน ทีมนี้ต้องไปแข่ง “เวิลด์ กรังด์ปรีซ์”
ประโยคหนึ่งที่ “โค้ชอ๊อด” พูดกับทุกคนก็คือ เรื่อง “ความฝัน”
“จำกันได้ไหม พวกเอ็งเคยเขียนอะไรเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว”
ตอนที่เริ่มรวมทีมครั้งแรกที่ยะลา “โค้ชอ๊อด” ให้เด็กกลุ่มนี้เขียนว่าทุกคนเป็นใคร
“เอ็งมีความฝันอะไรในวันนั้น อยากไปถึงตรงไหน”
…”จำได้ไหม”
จำได้ไหมว่าทุกคนบอกว่ารักกีฬานี้ อยากเล่นวอลเลย์บอล
“โค้ชอ๊อด” ให้ทุกคนย้อนกลับไปสู่ “ความฝัน” ในวันแรกที่ติดทีมชาติ
“อย่าให้ใครมาทำลายเราให้เลิกเล่นวอลเลย์บอล”
“โค้ชอ๊อด” บอกให้ทุกคนกลับไปลงสนามอีกครั้ง ไปเล่นเวิลด์ กรังด์ปรีซ์อย่างเต็มที่
“ตีชนะให้หมดทุกทีม แล้วค่อยกลับไปร้องไห้ที่บ้านเรา”
เด็กทุกคนกลับลงไปในสนามอีกครั้งด้วยหัวใจที่บอบช้ำ
แต่สู้เหมือนเดิม
“เราได้ที่ 4 ตีชนะทุกทีมที่ได้ไปโอลิมปิก”
แต่ “เราไม่ได้ไป”
ผมถามต่อว่า “โค้ชอ๊อด” เยียวยาผู้เล่นทุกคน แล้วเยียวยาตัวเองอย่างไร
เพราะคนที่เป็นจุดเริ่มต้น “ความฝัน” นี้คือตัวเขาเอง
“ผมต้องพยายามให้กำลังใจตัวเอง เพราะเราอ่อนแอไม่ได้ เราต้องเข้มแข็ง”
จากนั้นเขาก็ไปกราบอาจารย์ชาญฤทธิ์
ขอโทษที่ทำให้ผิดหวัง
คำตอบที่ได้รับจากอาจารย์ชาญฤทธิ์เป็นคำสั้นๆ
แต่ทำให้เขาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
เป็นคำเดียวกับที่เขาเคยพูดกับผู้เล่นทุกคน
คำเดียวที่นักกีฬาทุกคนพูดกับเพื่อนร่วมทีมเมื่อเล่นผิดพลาด
“ไม่เป็นไร”
…เอาใหม่
ครับ ครั้งนี้เราอาจจะแพ้
แต่เราไม่ยอมแพ้