ในประเทศ : วิวาทะเอา-ไม่เอา “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ “อภิสิทธิ์-ประยุทธ์” จุดยืนที่น่าจับตา

พลันตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองเข้ายืนยันแสดงตนเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา

พรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มขยับเขยื้อนเคลื่อนบทบาทตามหน้าที่ของกฎหมาย

สำหรับพรรคเก่าพรรคแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โชว์เหนือทางด้านเทคโนโลยี โดยเปิดตัวแอพพลิเคชั่น D-Connect เมื่อวันที่ 27 มีนาคม โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ทั้งระบบไอโอเอส และระบบแอนดรอยด์

ระบบนี้จะใช้หมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก และสามารถดำเนินการตามขั้นตอนไปจนถึงการชำระเงิน 100 บาท เป็นสมาชิกรายปี หรือ 2,000 บาท เพื่อเป็นสมาชิกตลอดชีพ

ระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพรรค ปชป. เป็นอย่างมาก เพราะ ปชป. ถือว่ามีสมาชิกพรรคจำนวน 2.5 ล้านคน ถือว่ามากที่สุดในประเทศ

หากต้องให้มานั่งจิ้มเอกสาร สำเนาแต่ละอย่าง คงจะไม่ทันกำหนดภายในวันที่ 30 เมษายนแน่

 

วันแรกของการยืนยันสมาชิกพรรค “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมแสดงยืนยันตัวตนการเป็นสมาชิกพรรค พร้อมกับลั่นวาจาว่า “ชำระเงิน 2,000 บาท เพราะชีวิตนี้ไม่คิดจะไปอยู่พรรคอื่น”

พร้อมกันนี้ได้มีการแถลงชี้แจงต่อสมาชิกพรรคและประชาชนผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และเว็บไซต์ของพรรค ในหัวข้อเรื่อง “อนาคตประชาธิปัตย์ อนาคตประเทศไทย”

โดยระบุว่า การจะให้สมาชิกพรรคยืนยันตัวตนเป็นสมาชิกกับพรรคต่อ ต้องบอกแนวทางให้รู้ว่าทิศทางของ ปชป.ยุคใหม่จะเดินไปทางไหนเพื่อให้มาร่วมทางกับเรา

วันที่ 6 เมษายน พรรคจะมีอายุ 72 ปี ที่ผ่านมาอุดมการณ์ชัดเจนไม่เคยเปลี่ยน ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทำงานด้วยความซื่อสัตย์

แต่ด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พรรคจึงต้องปรับตัวให้ทันกับโลกาภิวัตน์ และจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนสับสนในบทบาทของพรรคการเมือง

“พรรคมีแนวทางในการบริหารพรรค ภายใต้แนวทางการสร้างใหม่ ยึดหลักปฏิรูปเป็นพรรค ปชป.ยุคใหม่ ถึงเวลาที่จะต้องสร้างสังคมไทยใหม่ซึ่งไม่ใช่การรื้อทิ้ง แต่เป็นการต่อยอดและเรียบเรียงสิ่งที่ดีที่มีอยู่ให้เป็นระบบด้วยการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งต่างจากการปฏิรูปที่ทำกันใน 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาสู่ 1.เศรษฐกิจยุคใหม่ 2.การศึกษายุคใหม่ 3.การเมืองยุคใหม่ 4.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยุคใหม่ และ 5.ระบบราชการยุคใหม่”

“โดยจะทำการเมืองที่โปร่งใส โดยพรรคจะเป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองที่โปร่งใส ขณะเดียวกันยอมรับความหลากหลายและความเห็นที่แตกต่าง มีการกระจายอำนาจในการบริหารงาน ประชาชนจะต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม การพิจารณาคดีต้องรวดเร็ว ไม่เป็นภาระกับประชาชน และสิ่งสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายจะต้องศักดิ์สิทธิ์”

 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีวลีเด็ดจากหัวหน้ามาร์ค ที่ตอบคำถามผ่านสื่อถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ อีกครั้ง ด้วยความชัดเจนว่า “สมาชิกพรรค ปชป. ก็ยังสนับสนุนหัวหน้าพรรค ปชป. อยู่แล้ว ส่วนใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะแยะ ถ้าจะอยู่กับพรรค ปชป. ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็ตาม”

นำมาซึ่งพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ พร้อมกับคำชี้แจงถึงท่าทีและจุดยืนที่หัวหน้ามาร์คพุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้งว่า “ผมไม่เคยตะเพิด ไปไล่ใคร ผมเห็นหัวข่าวอยู่ ตอนนั้นเป็นช่วงสัมภาษณ์หลังจากแถลงการณ์เฟซบุ๊กไลฟ์ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน มีสื่อมาสัมภาษณ์ แล้วมีคำถามในทำนองเดียวกัน คล้ายๆ ว่า จะทำอย่างไรกับคนที่จะอยู่พรรคแต่แฝงตัวเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ผมจึงบอกว่าถ้าคิดเช่นนั้นจะมาพรรค ปชป. ทำไม”

“คนที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะมาที่นี่ทำไม เพราะยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีเยอะแยะมากมาย เขาควรที่จะไปอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ตรงนี้”

“ถ้าคิดจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ใช้คำว่า ควรจะไป เพราะพรรค ปชป. มีความเป็นสถาบันที่ชัดเจนอยู่แล้ว มีการกำหนดแนวนโยบายว่าจะต้องไปหาเสียงกับประชาชน การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเราต้องเสนอชื่อหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว”

“แต่หากอยู่ดีๆ พอหาเสียงเลือกตั้ง จะมีคนมาอาศัยชื่อพรรค ปชป. เพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ผมว่าการจะมาทำแบบนี้ไม่ค่อยมีความซื่อตรงกับประชาชนเท่าไหร่นัก”

“ถ้ามีแนวคิดจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรก ก็ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งผมก็ตอบตามหลักความเป็นจริงของพรรค ปชป. การให้ความเห็นว่าผู้ใดจะตัดสินใจสังกัดพรรคใดก็ควรที่จะยึดมั่นแนวทางที่พรรคนั้นประกาศต่อประชาชน เป็นไปตามหลักการสากล และเป็นการให้เกียรติประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

 

จุดยืนอันแข็งกร้าวในหลักการของหัวหน้ามาร์ค นำมาซึ่งท่าทีของฝ่ายที่ถูกพาดพิงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่แสดงท่าทีตอบกลับนายอภิสิทธิ์ได้อย่างแหลมคมด้วยคำท้าทายเสียงดังฟังชัดสไตล์ “บิ๊กตู่” ว่า

“พูดอะไรมาก็ระมัดระวังด้วย และอยู่ที่ประชาชนจะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมาสนับสนุนผม แต่กรุณาพูดจาดีๆ ใครสนับสนุน ไม่สนับสนุนก็แล้วแต่เขา แต่การพูดแบบนี้มันฟังดูดีหรือเปล่า ถ้าบางเวลาผมมีอารมณ์ขึ้นมาแล้วพูดไปก็จะเสียหายด้วยกันทั้งหมด ประชาชนต้องไปใคร่ครวญกันเอาเอง ดูว่าวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไร ที่ออกมาพูดกันวันนี้รอดูวันหน้าแล้วกัน เลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเปลี่ยนท่าทีกันอย่างไรไปถามเขาอีกทีแล้วกัน”

แม้ในทางการเมืองการตอบโต้ของทั้งสองผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ กับนายอภิสิทธิ์ จะดูเหมือนกลายเป็นข่าวปิงปองไปเสียแล้ว

แต่วลีที่ “บิ๊กตู่” พูดออกมาย่อมสะท้อนนัยยะทางการเมืองที่ชวนให้ต้องติดตามไม่น้อยว่า “คอยดูว่าใกล้วันเลือกตั้งแล้ว ใครจะมาพบผม”

ความมั่นใจของ “บิ๊กตู่” ตรงนี้ น่าจับตามองยิ่งนักว่า เจ้าตัวย่อมต้องได้ยินสัญญาณหรือรู้เท่าทันยุทธศาสตร์ของกลุ่มที่พร้อมจะหนุนให้คัมแบ๊กมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

เพราะหากเป็นเช่นนี้จริง นัยยะที่ “หัวหน้ามาร์ค” ไล่ตะเพิดคนหนุนทหารให้ออกจากพรรค ปชป. ไป ย่อมคงไม่ใช่แค่คำยืนยันในหลักการของหัวหน้าพรรค ที่ยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว

ผลของการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าผู้นำทั้งสองคนนี้ ใครจะยึดมั่นในจุดยืนที่เคยให้ไว้