จรัญ พงษ์จีน : รธน.60 ครบ 1 ปี แล้วเลือกตั้งจะมาถึงเมื่อไหร่?

จรัญ พงษ์จีน

กะพริบตาแค่แป๊บหนึ่ง เวลาก็หมุนวนมาครบหนึ่งปีเต็มๆ ของการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 วันที่ 6 เมษายนนี้

ตามโรดแม็ปเดิม เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน-1 ธันวาคม 2560 คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) รวม 10 ฉบับให้แล้วเสร็จ

เดือนมกราคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ครบ 10 ฉบับ

พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลต้องยื่นทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.ป.

ภายใน 150 วัน หลัง พ.ร.ป. 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2561 ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ถ้าย้อนเทปรีเพลย์คำพูด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จะเห็นภาพ

“ตามโรดแม็ปหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ต้องประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และในเดือนพฤศจิกายนต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไป ขอให้นักการเมืองทำตัวอยู่ในความสงบเรียบร้อยเพราะมีผลต่อการผ่อนปรนมาตรการ”

เวลาวิ่งปรู๊ดผ่านไป 5 เดือน โรดแม็ป “เลือกตั้ง” ลื่นไถล ไม่เป็นอย่าง “บิ๊กตู่” ลั่นวาจาเอาไว้

 

การวางหมากกลให้ร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเลือกตั้งคือ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มีอันสะดุดเพราะต้องการยื้อเลือกตั้ง

ดูได้จาก พ.ร.ป. ทั้งสองฉบับผ่านการเห็นชอบแล้ว แต่ให้หลังไม่กี่วัน สนช. เปิดเกมใหม่ให้ยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ อ้างยังคาใจว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. มี 2 ปมต้องตีความ

1. การตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้งว่าเป็นการเขียนเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ

2. การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนแทนผู้พิการ ว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส. มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ

ส่วน พ.ร.ป. ว่าด้วยที่มา ส.ส. มี 2 ปมเช่นกัน

1. การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและท้องถิ่น

2. ให้สามารถช่วยผู้พิการกาบัตรเลือกตั้งได้

ตามขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หวยอาจออกได้ 3 ทาง

หนึ่ง ศาลรับคำร้อง แต่วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

สอง ศาลวินิจฉัยให้บางถ้อยคำขัดกับรัฐธรรมนูญ ข้อความดังกล่าวจะตัดตกไป

สาม ศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ถ้าเป็นทางที่ 3 จะมีผลให้กฎหมายทั้งฉบับแท้ง ต้องกลับไปร่างใหม่อีก 6 เดือนแล้วส่งให้ สนช. พิจารณาอีกรอบ

แต่ถ้าหวยออกทางที่ 2 โรดแม็ปจะไม่ขยับไปไกลเกินเดือนมิถุนายนปีหน้า

หากเป็นทางที่ 1 เวลาการเลือกตั้งอาจร่นเร็วขึ้น เพราะหากยื่นทูลเกล้าฯ ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนั้นกฎหมายกำหนดว่า จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

นักเลือกตั้งส่วนใหญ่เชื่อหวยออก 1 หรือ 2

ฉะนั้น ปีหน้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีความเป็นไปได้สูงกว่าคำทำนายว่า “การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปยาวหรือปีหน้าไม่มีเลือกตั้ง”

ถามนักเลือกตั้งว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นรูปโฉมแบบไหน จะเกิดปรากฏการณ์ถล่มทลายเหมือนเลือกตั้งปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยทำสถิติเอาไว้?

นักเลือกตั้งตอบว่า ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น แต่ยอมรับพรรคเพื่อไทยยังตรึงพื้นที่ภาคเหนือ-อีสานได้เหนียวแน่น ภาคใต้ยังไงก็ต้องเลือกประชาธิปัตย์ ภาคกลางอาจเปลี่ยนโฉมไปบ้าง

พรรคขนาดเล็กที่เป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์อาจเข้ามาเสียบแทนในพื้นที่อย่างภาคกลาง เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี

แม้ในช่วง 4 ปีของรัฐประหาร การเมืองภาพรวมเปลี่ยน ทหารยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ พรรคการเมืองโดนตรึงอยู่กับที่ไม่มีสิทธิดิ้น แต่สภาพการณ์ในพื้นที่ไม่ได้เปลี่ยน

กลุ่มหัวคะแนน ฐานเสียงของนักการเมืองยังเหนียวแน่น บางพื้นที่กลับแข็งแกร่งกว่าเดิมเสียอีก

นักเลือกตั้งยังแนะให้จับตาพรรคแรกเกิด คือพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นแกนนำ

“พรรคอนาคตใหม่ ถ้าจัดวางจังหวะให้ไหลลื่นกับแนวคิดคนรุ่นใหม่ โอกาสกวาดเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่มีความเป็นไปได้ อย่าประมาทไป”

 

ส่วนพรรคพลังประชารัฐที่มีกระแสข่าว “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชักใยอยู่เบื้องหลังนั้น มีเงาของกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ของ “เฮียกวง” อาทิ อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

เวลานี้ “พลังประชารัฐ” เร่งระดมกลุ่มนักการเมืองหน้าเดิมๆ เข้ามุ้ง อย่างกลุ่มบ้านริมน้ำ “สุชาติ ตันเจริญ” “สนธยา คุณปลื้ม” แกนนำพรรคพลังชล กลุ่มสะสมทรัพย์ กลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน และกลุ่มปราจีนบุรี ที่มีนายชยุตม์ ภุมมะกาญจนะ เป็นหัวหอก เพราะเชื่อว่าฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ไม่เปลี่ยน คนกลุ่มนี้ยังยึดที่มั่น ถ้าเติม “กระสุน” กวาดคะแนนเสียงได้แน่

พรรคพลังประชารัฐ มีเป้าชัดหนุน “บิ๊กตู่” นั่งเป็นนายกฯ อีกรอบ

ประเมินว่าพรรคพลังประชารัฐได้ราวๆ 30-40 เสียง เมื่อดึงพรรคเล็กๆ กลางๆ อีกราวๆ 120 เสียง ผนวกกับฐาน ส.ว. 250 เสียง ได้เสียงข้างมากเกินพอจัดตั้งรัฐบาลได้สบายๆ

นักเลือกตั้งทำนายทายทักไว้ล่วงหน้า ถ้ายังไม่สลัดทิ้งคราบการเมืองเก่าๆ รัฐบาลชุดใหม่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนที่ 20 ไม่น่าจะอยู่เกินสองปี

จากนั้นวงจรการเมืองอุบาทว์จะวนกลับซ้ำรอยเดิมเหมือนก่อนเกิดรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557