เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (1)

ในรอบเดือนกว่าที่ผ่านมา ผมขะมักเขม้นหมกมุ่นอ่านหนังสือขนาดเขื่องควบคู่กันอยู่ 2 เล่ม อ่านไปขีดไฮไลต์สีไปจดโน้ตและคอมเมนต์ประกอบเลขหน้าไขว้โยงเปรียบเทียบเนื้อหาตามขอบหน้าและหน้าว่างด้านหลังไป จนลายมือยึกยือเต็มพรืดไปหมด

หนังสือ 2 เล่มนี้มีเนื้อหาและช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เล่มหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษหนา 384 หน้า อีกเล่มหนึ่งเป็นภาษาไทยหนา 536 หน้า รวมกันก็ 920 หน้า สิริรวมน้ำหนักราว 2 กิโลกรัมครึ่ง ผมประคองอ่านบนแขนไป มือหนึ่งพลิกหน้า อีกมือจดข้อความไปแทบทุกวันเช้ายันค่ำ จนแขนเคล็ดยอกพอดี

เล่มแรกคือ Benjamin Zawacki, Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (ประเทศไทย : แผ่นพื้นอันไหวเคลื่อนระหว่างสหรัฐกับจีนที่กำลังผงาด) ตีพิมพ์โดย Zed Books Ltd, กรุงลอนดอน เมื่อปลายปี ค.ศ.2017

ส่วนอีกเล่มเป็นวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช เรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา พ.ศ.2559 แต่ผลงานสำเร็จเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2560

หนังสือ 2 เล่มนี้ปรากฏออกมาในระยะใกล้เคียงของปีเดียวกัน เนื้อหาคาบเกี่ยวทับซ้อนพัวพันกันแม้จะไม่เหมือนกันทีเดียว กล่าวคือ เล่มหนึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์สองคู่สามเส้าระหว่าง [ไทย-สหรัฐ] และ [ไทย-จีน] ในแง่การเมืองและความมั่นคงเป็นหลัก เศรษฐกิจเป็นตัวประกอบ ส่วนอีกเล่มหนึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในแง่เศรษฐกิจเป็นหลัก การเมืองเป็นรอง

แต่ที่น่าทึ่งคือทั้งสองเล่มครอบคลุมช่วงเวลาหลักสี่ทศวรรษเดียวกัน (กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ถึงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2010) ดังจะเห็นได้จากชื่อบทตอนต่างๆ ของทั้ง 2 เล่มเปรียบเทียบกันดังตารางที่ 1

เห็นได้ชัดว่าน้ำหนักเนื้อหาเน้นไปที่ยุครัฐบาลทักษิณและหลังจากนั้นเป็นต้นมา (2 ใน 3 ของ BZ และ 2 ใน 5 ของเจษฎาพัญ) ซึ่งจีนผงาดขึ้นมาสานสัมพันธ์กับไทยอย่างโดดเด่นชัดเจนยิ่งกว่าสหรัฐ

สำหรับภูมิหลังของผู้เขียน Benjamin Zawacki เป็นนักเขียนนักวิจัยและที่ปรึกษานโยบายด้านการต่างประเทศและสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเอเชียอาคเนย์มานานตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (ค.ศ.1977-1981) เขาเคยทำวิจัยให้องค์การ Amnesty International ในภูมิภาคนี้รวมทั้งสถาบันวิชาการและคลังสมองมีชื่อต่างๆ ของสหรัฐ ปัจจุบันมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองไทยได้ 15 ปีแล้ว

ส่วน ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช เธอจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทรัฐศาสตร์ภาคภาษา อังกฤษจากธรรมศาสตร์ (ด้วยวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตเรื่อง “Thai foreign investment in Western China : Case studies of Thai MNCs in food processing industry in Guangxi Zhuang autonomous region during 2000-2008” ค.ศ.2010)

ก่อนจะมาจบปริญญาเอก ณ สถาบันเดียวกันด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายไทย-จีนฯ”

เธอได้เคยไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในญี่ปุ่น และมีประสบการณ์ทำงานด้านวิเคราะห์วิจัยกับหน่วยงานเอกชนและราชการหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นนักวิชาการพาณิชย์สังกัดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ด้วยภูมิหลังประสบการณ์ต่างกัน แต่ทำงานค้นคว้าวิจัยอย่างหนักหนาสาหัสมาเช่นกัน (แหล่งอ้างอิงและรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์ของ BZ ยาว 11 หน้า ส่วนของเจษฎาพัญยาว 54 หน้า)

ผู้เขียนทั้งสองจึงค้นคว้าไม่เพียงแต่หนังสือบทความวิชาการและงานวิจัยวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องนับร้อยๆ ชิ้น

หากที่สำคัญยังเข้าถึงเอกสารชั้นต้นและแหล่งข้อมูลบุคคลระดับสูงและระดับกลางในวงการนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจที่มีบทบาทในการวางนโยบายประชุมเจรจาต่อรองระหว่างไทยกับจีนและสหรัฐจำนวนมาก

ผมจึงอยากใช้หนังสือสองเล่มนี้เป็นแผนที่และเข็มทิศนำทางสำรวจตรวจดูภูมิทัศน์ความสัมพันธ์ไทย-จีน รวมทั้งสหรัฐในสี่สิบปีที่ผ่านมา ด้วยการอ่านค้นคว้าประกบประกอบวิเคราะห์วิจารณ์เทียบเคียงและส่องสว่างใส่กันในทำนองวรรณกรรมปริทัศน์ (review essay) โดยวางจุดเน้นที่ :

– ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเป็นหลัก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นฉากหลังหรือตัวรองประกอบ

– เน้นไปที่มิติแง่มุมทางการเมืองและเศรษฐกิจการเมืองเป็นหลัก เศรษฐกิจล้วนๆ เป็นรอง

– เอาวิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญเป็นโครงเรื่องตัวตั้ง แล้วส่องสว่างวิเคราะห์วิจารณ์เปรียบเทียบตั้งคำถามทดลองเสนอคำตอบมองมุมกว้างและลึกออกไปโดยอาศัยแง่มุมการมองและข้อมูลของหนังสือ BZ เป็นเครื่องช่วย

– เลือกดึงเฉพาะประเด็นที่ผมคิดว่าแหลมคมน่าสนใจหรือถูกมองข้ามไปหรือยังคิดถึงมันกันไม่ถนัดชัดกระจ่างพอในแต่ละยุคของช่วงความสัมพันธ์สี่ทศวรรษมาอภิปรายเปิดและแตกประเด็นให้กว้างขวาง โดยไม่ได้มุ่งหมายจะสรุปย่อเนื้อหาหนังสือทั้งสองเล่มแต่อย่างใด

สําหรับผู้สนใจ มีบทวิจารณ์หนังสือของ BZ โดย Joshua Kurlantzick นักรัฐศาสตร์อเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องประชาธิปไตยและสนใจศึกษาการเมืองไทยที่ https://kyotoreview.org/book-review/review-thailand-shifting-ground-between-the-us-and-a-rising-china/

ส่วนวิทยานิพนธ์ของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช นั้น ได้สรุปสังเขปลงในวารสารสหวิทยาการ ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2559- มีนาคม 2560) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “4 ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนในมุมมองเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ” น.40-57 http://ci.tu.ac.th/uploads/files/download/final14_1.pdf

และเพื่อเป็นน้ำจิ้มชิมลางของสิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไป ผมขอแสดงแผนภาพตารางสรุปภาพรวมยุคแรกแห่งความเปลี่ยนแปลงของสัมพันธ์ไทย-จีน 4 ยุคในสี่ทศวรรษ ผ่านบริบทเศรษฐกิจการเมืองโลก ภูมิภาคจีนและไทย ดังตารางที่ 2