ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ : “ในสมุดบันทึก” กับการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลา (จบ)

คลิกอ่าน ตอนแรก

ความทรงจำเดือนตุลากับสัมพันธบทสองทิศทาง

เจ้าขุนทองในฐานะสัมพันธบท (intertextuality) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตซ้ำและสร้างใหม่เพื่อรำลึกและตั้งคำถามกับความทรงจำเกี่ยวกับคนเดือนตุลาที่วิเคราะห์ไว้ในตอนแรกของบทความเป็นเพียงเพลงโหมโรงของบทกวีชิ้นนี้

สัมพันธบทที่โดดเด่น เข้มข้น คมคาย หลากหลายนัยยะที่ทั้งลึกและซึ้งอย่างยิ่งในบทกวีชิ้นนี้ คือการอ้างอิงถึงบทเพลงที่เป็นเสมือนเพลงประจำรุ่นของคนเดือนตุลา ได้แก่ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำไปเทียบเคียงกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่เป็นตัวแทนเพลงประจำยุคของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ รุ่นไล่เลี่ยกัน และลงเอยด้วยการสร้างเพลงใหม่ของนางพรานเถื่อนในท่อนจบ

ตามเนื้อความของบทกวีในท่อนนี้ ทั้งบทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ “ไม่ขอเป็นดาว” คือความพยายามของนางพรานเถื่อนที่จะ “บันทึกสิ่งที่เคยเห็นบ้างอย่างคนไม่เขียนบันทึก” ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องอาศัยหยิบยืมถ้อยคำจากสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตมาพูดแทนใจตนเอง อันได้แก่บางท่อนของเพลงสองเพลงดังกล่าว

เนื้อเพลงท่อนที่นางพรานเถื่อนนำมาร้องในที่นี้มีลักษณะเหมือนเพลงผสมหรือเพลง medley ที่ตัดตอนมาจากหลายๆ เพลง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวนางที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงชาวบ้าน และ/หรืออวตารของ “ฉัน” ในบทกวีชิ้นนี้

อันได้แก่ชีวิตที่เริ่มต้นด้วยท่อนเปิดของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” (พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้า…) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝัน ความหวังและความศรัทธาของนาง

แต่นางพบว่า “โอ๊ะ ไม่ใช่” จากนั้นจึงเปลี่ยนไปพยายามร้องเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” เพื่อพูดความในใจของนางว่า “ถึงตัวฉัน มีสวรรค์ ลอยมาใกล้ เชิญฉันเป็นดาวใหม่ ฟ้ามาวอนไหว้ ไม่-เป็น-แล้ว-ดาว”

จะเห็นว่าแม้เนื้อหาของเพลงท่อนที่ตัดตอนมาร้องต่อกันจะสอดคล้องกลมกลืน แต่นัยยะเชิงอุดมการณ์และความหมายทางวัฒนธรรมของเพลงสองเพลงนี้กลับขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

เพลงหนึ่งเป็นเพลงที่แต่งโดยนักปฏิวัติ มีเนื้อหาเพื่อการปฏิวัติ ดาวในบทเพลงนี้น่าจะหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ดาวโดยเฉพาะดาวแดงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชาวคอมมิวนิสต์ทั่วทุกมุมโลก) และถูกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม

ที่สำคัญคือมันถูกเชื่อมโยงเข้ากับขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา จนถึงการสังหารหมู่ 6 ตุลา อย่างแนบแน่น ทั้งในแง่ที่เพลงดังกล่าวถูกทำให้แพร่หลายโดยขบวนการนักศึกษาในช่วงดังกล่าว และในแง่ของความเป็นเพลงประจำรุ่นที่บ่งบอกตัวตนและความใฝ่ฝันของคนรุ่นนี้

ส่วนอีกเพลงหนึ่งนั้นคือเพลงยอดนิยมที่เป็นแทบจะทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับเพลงแรก ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่ง วงดนตรีที่นำเพลงนี้มาเล่น เนื้อหาโดยรวมของเพลง ตลอดจนสถานที่และโอกาสที่เพลงนี้จะถูกนำไปร้อง

สิ่งเดียวที่เพลงทั้งสองมีร่วมกันจนสามารถนำมาร้องต่อกันได้ก็คือต่างเป็นตัวแทนความทรงจำและตัวตนในอดีตของนางพรานเถื่อนที่ผูกพันกับสองเพลงนี้

การตัดตอนเพลงทั้งสองมาผสมกันเป็นเพลงเมดเลย์จึงแทบจะเหมือนกับเป็นการลบหลู่หยามเหยียดและลดทอนคุณค่าของเพลงปฏิวัติให้มีฐานะไม่ต่างจากเพลงรักอันดาษดื่น (คำว่า “ตัดตอน” ในที่นี้ใช้อย่างจงใจแต่จะอภิปรายขยายความในภายหลัง)

อย่างไรก็ตาม หากคำนึงถึงบริบทสังคมในปัจจุบันที่บทกวีชิ้นนี้เขียนขึ้น จะพบว่านัยยะเชิงอุดมการณ์และความหมายทางวัฒนธรรมของทั้งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ “ไม่ขอเป็นดาว” เปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ทุกวันนี้เราจะยังถือว่า “แสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นเพลงปฏิวัติอยู่อีกหรือไม่

เมื่อเราพบว่าเพลงดังกล่าวถูกนำไปใช้ประกอบมิวสิกวิดีโอที่มีผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยวิ่งเล่นบนชายหาด เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงดังกล่าวขับขานอยู่ในภัตตาคารหรูไม่ต่างจากสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเราจะได้ยินเพลง “ไม่ขอเป็นดาว”

เมื่อเพลงนี้ถูกนำไปร้องอยู่ต่อหน้าผู้ชมผู้ฟังที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์โดยสิ้นเชิงกับเนื้อหาของเพลงหรืออุดมการณ์ของผู้แต่งเพลง เมื่อเพลงนี้ถูกนำไปร้องโดยอดีตทหารมือเปื้อนเลือดจากกรณี 6 ตุลา หรือแม้แต่โดยอดีตคนเดือนตุลาที่ประกาศบนเวทีชุมนุมเรียกร้องทหารให้เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ก็ไม่ต่างจากความทรงจำเดือนตุลาต้องประสบกับชะตากรรมพลิกผันไปมาตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และการเปลี่ยนจุดยืนทางอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาชนิดกลับซ้ายเป็นขวา กลับหน้ามือเป็นหลังมือ

เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของรูปสัญญะล่องลอยว่างเปล่า เพราะอัดแน่นไปด้วยนัยยะเชิงอุดมการณ์ต่างๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น

กระบวนการแปรทุกอย่างให้เป็นสินค้าและกระบวนการดูดกลืนทางอุดมการณ์ได้ถอดเขี้ยวเล็บและบั่นทอนความแหลมคมของนัยยะทางการเมืองและวัฒนธรรมของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”ไปจนแทบจะหมดสิ้น มีสถานะเป็นเพียงเพลงซึ้งๆ เพลงหนึ่งไม่ต่างจากเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ที่นิยมร้องและฟังกันในหมู่คนสูงวัยที่โหยหาอดีตยุควันชื่นคืนสุขของพวกเขา

แท้จริงแล้ว การนำเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มาอยู่คู่กับ “ไม่ขอเป็นดาว” ในฐานะความทรงจำร่วมของนางพรานเถื่อน มิใช่การลดทอนคุณค่าของเพลงดังกล่าว แต่คือการร่วมรำลึกความหมายที่หายไปของมันต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเพลงทั้งสองกับนางพรานเถื่อนจึงเป็นไปในสองทิศทาง กล่าวคือ ทางหนึ่งเพลงทั้งสองมีบทบาทหล่อหลอมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนาง แต่ในอีกทางหนึ่งเธอเป็นผู้ทำให้เพลงทั้งสองสามารถมีที่มีทางและมาอยู่ร่วมกันได้

หรือจะพูดด้วยกรอบคิดเรื่องสัมพันธบทแบบหลังสมัยใหม่ ทั้งสองเพลงเป็นตัวบทต้นทางทำหน้าที่เขียนชีวิตของนางพรานเถื่อนผู้มีฐานะเป็นตัวบทปลายทาง แต่ในเวลาเดียวกันนางพรานเถื่อนก็เป็นตัวบทต้นทาง และเพลงทั้งสองคือตัวบทปลายทาง

เพราะเธอเขียนซ้ำและเขียนใหม่ให้ทั้งสองเพลงนี้มาอยู่ด้วยกันในบริบทใหม่ ที่สื่อความหมายและอุดมการณ์ซึ่งต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกวี/นางพรานเถื่อน นำเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เป็น “ท่อนฮุกของทุกคน” มาแต่งใหม่ เพื่อทำหน้าที่บ่งบอกตัวตนและเจตนารมณ์ใหม่ของเธอ

“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย

ครั้นผืนฟ้าใกล้ดับจวนลับมลาย

ดินจะพราย-ไม่ว่ามี-หรือไม่-มีดาว

ดินจะกลาย-เป็น-หรือไม่-เป็นดาว!”

ในที่นี้ การแปลงและแปลความหมายใหม่ให้กับ “ท่อนฮุก” ของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” (และน่าจะมีเสียงแว่วๆ จากเพลง “เดือนเพ็ญ” ของนายผีอยู่ด้วยในวลี “ดาวคืนเพ็ญ”) เป็นทั้งการคารวะ วิพากษ์ และสานต่อสร้างใหม่ความทรงจำเดือนตุลาไปพร้อมกัน

กล่าวคือ ในวรรคต้นการยกข้อความทั้งวรรคมาจากเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ทำหน้าที่ย้ำเตือนเจตนารมณ์เดียวกันกับคนเดือนตุลาของกวี/นางพรานเถื่อน ขณะที่ในวรรคถัดมาการปรับเปลี่ยนคำจากเนื้อเพลงเดิมที่ว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” มาเป็น “ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย” แสดงน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์สถานะของคนเดือนตุลาในปัจจุบัน ผู้กลายมาเป็นคนเด่นดาราดังในแวดวงสังคม จนลืมอุดมการณ์และยึดติดอยู่แต่วีรกรรมในอดีตของพวกเขา

ส่วนสองวรรคสุดท้ายเป็นการแปรเจตนารมณ์เดิมของเพลงให้สอดรับกับความใฝ่ฝันใหม่ในบริบทสังคมปัจจุบัน โดยการนำคำว่า “ดิน” เข้ามาเป็นคู่เปรียบกับ “ดาว”

ในที่นี้ ดินเป็นตัวละครอีกหนึ่งตัวในประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม อันได้แก่ชาวบ้านผู้ไร้สิทธิไร้เสียงเป็นเพียงธุลีดินในสังคมไทย ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ พวกเขาเริ่มจะออกมาแสดงตัวตนและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาด้วยตัวเขาเองมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอให้พวกนักศึกษา ปัญญาชน และนักเอ็นจีโอมาเป็นปากเป็นเสียงแทนดังเช่นที่เคยผ่านมา

ความหมายของ “ดาว” ที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อเทียบกับดิน ทำให้ดาวในบทเพลงแปลงใหม่นี้เป็นมากกว่า “ดาว” ที่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตามความหมายดั้งเดิมที่จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งไว้ หรือเป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันในสังคมใหม่ดังที่คนเดือนตุลาสร้างขึ้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงคนเดือนตุลาผู้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและที่มาของความผิดหวังของนางพรานเถื่อน จนนางสามารถประกาศว่า “ดินจะพราย-ไม่ว่ามี-หรือไม่-มีดาว ดินจะกลาย-เป็น-หรือไม่-เป็นดาว!”

การเลือกใช้คำว่า “หรือ” ในที่นี้นับว่าน่าสนใจ ในแง่ที่มันไม่ได้ปฏิเสธหรือตัดขาดสถานะและการมีอยู่ของดาวในทั้งสามความหมายข้างต้นโดยสิ้นเชิง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ให้ค่ากับดาวจนสูงส่งเหมือนเช่นที่ปรากฏในบทเพลงเดิม กล่าวคือ ถ้ามีดาวหรือกลายเป็นดาวได้ก็ดี แต่ถึงไม่มีหรือไม่เป็นดาวก็มิได้ทำให้ดินจะเดือดร้อนหรือจะเป็นจะตายแต่อย่างใด เพราะนี่ไม่ใช่ยุคสมัยของการปั้นดินให้เป็นดาว

การสร้างใหม่บนร่างเดิมของเนื้อเพลงในที่นี้จึงมิใช่เพียงเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของคนรุ่นหลัง 6 ตุลาอย่างกวี/นางพรานเถื่อน แต่เป็นการจัดที่จัดทางใหม่ให้กับคนเดือนตุลาและความทรงจำเดือนตุลาด้วย

ความหมายใหม่ของดาวในตอนจบของบทกวีพาเรากลับไปสู่บันทึกว่าด้วยบทสนทนาระหว่าง “ฉัน” กับ “เพื่อนเก่า” เรื่องการมีหรือไม่มีอยู่ของดาวที่มนุษย์เห็นบนท้องฟ้า ที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างทัศนะต่อดวงดาวในเชิงโรแมนติกของกวี (“ฉันชอบดูดาวประกายพรึกตอนค่ำ ดื่มด่ำ ชวนฝัน ชวนมุ่งมั่น”) เมื่อเทียบกับทัศนะเชิงเรียลลิสติกและเย้ยหยันของเพื่อน “ก็แปลว่าดาวที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้ ความจริงอาจแตกดับไปนานแล้ว”)

คำอธิบายเชิงฟิสิกส์ของเพื่อนที่ว่า เพราะความต่างของระยะทางนับเป็นพันปีแสง ดาวที่เห็นขณะนี้อาจแตกดับไปแล้ว มีนัยประหวัดถึงความหมายของดาวในเชิงเมตาฟิสิกส์ (อภิปรัชญา) ดังที่ “ฉัน” ขมวดปมใว้ในคำรำพึงที่ว่า

ไม่แน่ใจว่าฉันบันทึกบทสนทนานี้ลงสมุดบันทึกทำไม

เพื่อจะรำลึกว่ากาลครั้งหนึ่งฉันเคยดูดาว

หรือเพื่อจะจำใส่หัว ว่าความจริงแล้ว อาจไม่มีดาว

หรือเพื่อจะไม่ลืมว่าเราจะรู้ความจริงว่าดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี

ข้อความในรูปปฏิเสธซ้อนปฏิเสธซ้อนปฏิเสธที่ผสมผสานกันระหว่างคำสอนของนิกายเซนกับลีลาการเขียนของวิลเลียม ฟอล์กเนอร์ (“รู้ความจริงว่าดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี”) เปลี่ยนประเด็นว่าด้วยการมีอยู่ของดาวในทางฟิสิกส์และเมตาฟิสิกส์ ไปสู่ประเด็นทางญาณวิทยา

กล่าวคือ เป็นความจริงเชิงฟิสิกส์ว่า ดาวที่เห็นจากพื้นโลกในเวลานี้ อาจแตกดับไปแล้ว อันนำไปสู่ปัญหาเชิงเมตาฟิสิกส์ว่าสิ่งที่เราเห็นว่ามีอยู่นั้น ในความจริงอาจไม่มีอยู่จริง หรือถ้ามีอยู่จริงก็อาจมิได้เป็นอย่างที่เราเห็น และสิ่งที่เราเห็นอาจเป็นเพียงเงาหรือแม้แต่ร่องรอยของเงาของความจริงที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น

แต่สิ่งที่ “ฉัน” เสนอในวรรคสุดท้ายของท่อนที่ยกมาคือการเปิดประเด็นว่าด้วยญาณวิทยา นั่นคือการรับรู้ของมนุษย์ต่างหากเป็นตัวชี้ขาดการมีอยู่หรือไม่มีอยู่

นัยยะของข้อความที่ว่า “ดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี” คือการรู้ว่าดาวไม่มีอยู่จริงโดยตัวมันเองทำหน้าที่ยืนยันการมีอยู่ของดาว อย่างน้อยก็ในระดับของการรับรู้ เพราะ “ดาว” ถูกจัดให้เข้ามาอยู่ในสาระบบของการรับรู้ในฐานะสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

ประเด็นเชิงฟิสิกส์/เมตาฟิสิกส์/ญาณวิทยาของดาวบนท้องฟ้าในท่อนเปิดดังที่แจกแจงมานี้เกี่ยวข้องอย่างไม่ต้องสงสัยกับประเด็นเรื่องดาวใน “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในฐานะความทรงจำเดือนตุลาและในฐานะคนเดือนตุลา

“นางพรานเถื่อน” มีทัศนะต่อคนตุลาคล้ายคลึงกันกับทัศนะต่อดวงดาวของ “ฉัน” ในท่อนเปิด นั่นคือนางไม่ปฏิเสธว่าความทรงจำเดือนตุลาและคนตุลาที่เธอรับรู้และเชื่อมั่นศรัทธา อาจจะเป็นเหมือนดาวที่แตกดับและไม่มีอยู่จริง และคนตุลาและความทรงจำตุลาที่ปรากฏอยู่ก็เป็นเพียงเงา หรือร่องรอยของเงาของอดีตเท่านั้น แต่ “นางพรานเถื่อน” ยืนกรานที่จะเชื่อว่าการรู้ว่าคนตุลาและความทรงจำตุลามีหรือเคยมีอยู่หรือไม่มีอยู่นั้น ทำให้พวกเขามีจริงอย่างน้อยในระดับอัตวิสัยของนาง

และด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” แม้จะรู้แก่ใจดีว่าความหมายเชิงปฏิวัติของเพลงอาจจะหมดสิ้นแล้วซึ่งพลัง

อีกทั้งคนเดือนตุลาที่เป็นตัวแทนของเพลงนี้ก็แปรเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม

แต่นางพร้อมจะยอมรับการมีอยู่ของมันในฐานะส่วนหนึ่งของตัวตนและความทรงจำของนางโดยนำมันมาผสมกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” และเลือกที่จะนิยามมันขึ้นใหม่ มากกว่าจะลบมันทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ดังเห็นได้จากการเขียนใหม่เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในท่อนจบของบทกวี

การผลิตซ้ำและเขียนใหม่เพื่อสร้างสัมพันธบทระหว่างวรรณกรรมเดือนตุลากับกวี ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าขุนทอง” หรือ เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ตามที่ได้แจกแจงมาทั้งหมด ชี้ว่าสัมพันธบทในบทกวีชิ้นนี้มิได้เป็นเพียงกลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อแสดงปฏิภาณกวีเท่านั้น

แต่คือกระบวนการนิยามใหม่ความทรงจำเดือนตุลาและตัวตนของกวี ที่ไม่ปฏิเสธสถานะและบทบาทของคนเดือนตุลาและวรรณกรรมเดือนตุลาซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวบทต้นทางของกวีและบทกวีชิ้นนี้ แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเดินผ่านพวกเขาไป เพื่อเริ่มต้นบทใหม่ของความทรงจำและหน้าใหม่ของกวีนิพนธ์

เพศสถานะของความทรงจำและสมุดบันทึก

นอกเหนือจากการสร้างสัมพันธบทเพื่อหวนรำลึกและทบทวนความหมายของความทรงจำเดือนตุลาแล้ว บทกวีชิ้นนี้พยายามตั้งคำถามกับประเด็นเรื่องเพศสถานะ (gender) ของความทรงจำเดือนตุลาด้วย

ดังจะเห็นได้จากคำถามช่วงท้ายของบทกวีที่ว่า “แล้วจะให้ฉันจดว่าควรจำรำลึกอย่างไร” ที่ตามมาด้วยทางเลือกสองทางคือ “รำลึกอย่างดาวประกายพรึกที่เพียงดึกก็ลับหาย” กับ “หรือบันทึกอย่างนางพรานเถื่อนที่ถูกทิ้งไว้กับตะเกียง?”

บทกวีจงใจสร้างคู่เปรียบชายหญิงหลักๆ ไว้หลายคู่ เช่น เจ้าขุนทอง ในฐานะคนเดือนตุลาและความทรงจำเดือนตุลา เทียบกับนางพรานเถื่อนในฐานะคนหลัง 6 ตุลา หรือเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ เทียบกับ “ไม่ขอเป็นดาว” ที่ขับร้องโดยบุษยา รังสี

นอกจากนี้ จินตภาพและอุปมาสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนเดือนตุลาล้วนขับเน้นความเป็นชายแกร่งอย่างเข้มข้น อาทิ การเปรียบเทียบคนตุลาในฐานะผู้นำและผู้ชี้นำ เป็นดาวนำทางหรือดาวประกายพรึก ผิดกับนางพรานเถื่อนเดินดินและ “เดินดุ่ม” ที่ต้องถือตะเกียงเพื่อส่องทาง

หรือเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” โดยเฉพาะท่อนที่คนจำได้ขึ้นใจว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” นั้นสื่อความเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว เทียบกับความเป็นหญิงจากจินตภาพ “เห็นทรวงฟ้ากว้าง” ในเพลง “ไม่ขอเป็นดาว”

ทั้งหมดนี้เพื่อจะสื่อว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความทรงจำเดือนตุลานั้นถูกกำกับและครอบงำด้วยความคิดชายเป็นใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชายและผู้ชายมากเป็นพิเศษ

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการตัดตอนเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มาผสมกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” เพื่อสร้างเพลงเมดเลย์ อาจเป็นกลวิธีของบทกวีชิ้นนี้ที่จะตัดและตอนความเป็นชายในความทรงจำเดือนตุลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงสร้างใหม่ของนางพรานเถื่อนนั้น การจงใจตัดทิ้งวรรคทองที่ว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” และแทนที่ด้วย “ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย” เป็นมากกว่าการสร้างสัมพันธบท แต่คือการลดทอนความเป็นชายอันล้นเกินที่ครอบงำความทรงจำเดือนตุลา

ขณะเดียวกันก็นำผู้หญิงและความเป็นหญิงกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเดือนตุลา โดยเฉพาะการสร้างตัวละครนางพรานเถื่อนให้ลุกขึ้นมาเขียนความทรงจำของนางในลักษณะที่ตอบโต้กับความทรงจำเจ้าขุนทองดังที่กล่าวมาแล้ว

อีกกลวิธีหนึ่งที่บทกวีนี้ใช้เพื่อแทรกแซงความเป็นชายในความทรงจำเดือนตุลาคือการขับเน้นความเป็นสมุดบันทึกในฐานะการเขียนของผู้หญิง

ดังจะพบว่าขณะที่ความทรงจำเดือนตุลาของคนตุลาจะอยู่ในรูปของบทกวี ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าขุนทอง” และ “แสงดาวแห่งศรัทธา” หรือในรูปของเรื่องสั้น “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ในทางตรงกันข้ามบทกวีชิ้นนี้เลือกเรียกข้อเขียนตัวเองว่าบันทึกดังจะเห็นจากชื่อ “ในสมุดบันทึก”

ในด้านรูปแบบการเขียน ก็เห็นชัดเจนว่าจงใจไม่ยึดแบบแผนฉันทลักษณ์มาตรฐานของร้อยกรองไทย แต่สร้างแบบแผนจังหวะและสัมผัสของตนเองขึ้นมาใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างภาษาและเสียงอันหลากหลายไม่ได้ผูกขาดไว้ด้วยเสียงของกวีเพียงเสียงเดียว เหมือนเช่นที่พบในบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือสุจิตต์ วงษ์เทศ

แรกเริ่มเดิมที การเขียนบันทึกรายวันหรือไดอารี่ มีเพื่อบันทึกเรื่องราวรอบตัวที่สำคัญ และควรค่าต่อการบันทึก โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม หรือการเดินทางไปยังดินแดนต่างถิ่น ส่วนใหญ่มีผู้ชายเป็นผู้จดบันทึก

เมื่อเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น การเขียนไดอารี่กลายเป็นรูปแบบการเขียนเพื่อบันทึกเรื่องลับส่วนตัว หรืออารมณ์ความรู้สึกส่วนลึกของผู้บันทึก มักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของผู้หญิง หรือถูกทำให้มีความเป็นหญิง เป็นต้นว่า สำนวน “Dear Diary” กลายเป็นแบบฉบับของการเขียนคำขึ้นต้นในสมุดไดอารี่

การเลือกนิยามข้อเขียนชิ้นนี้ว่าเป็นสมุดบันทึกจึงเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้หญิง เพื่อเทียบแย้งกับความเป็นชายที่มากับรูปแบบกวีนิพนธ์ว่าด้วยความทรงจำเดือนตุลา และเตือนรำลึกเราว่ายังมีเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกอีกมากมายของผู้หญิงในอดีตที่ไม่ถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเดือนตุลา

ความเป็นสมุดบันทึกในบทกวีชิ้นนี้ไม่เพียงทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้กับความเป็นหญิงในความทรงจำเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามกับสถานะของความทรงจำและความเป็นกวีนิพนธ์ด้วย

บทกวีชิ้นนี้ตั้งชื่อว่า “ในสมุดบันทึก” และขึ้นต้นด้วยคำว่า “ในสมุดบันทึก” การซ้ำข้อความในที้นี้บังคับผู้อ่านต้องอ่านคำว่า “ในสมุดบันทึก” ซ้ำสองครั้ง ครั้งแรกในฐานะชื่อบท ครั้งที่สองในฐานะตัวบท

ลักษณะซ้ำสองที่เหมือนและไม่เหมือนกันในเวลาเดียวกันของสมุดบันทึกเป็นจุดเด่นที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ ดังจะพบว่าบทกวีชิ้นนี้มีสมุดบันทึกอยู่สองเล่มคือ สมุดบันทึกของฉันในตอนต้น และ “สมุดบันทึก” ของนางพรานเถื่อนในครึ่งหลัง

เล่มแรก อยู่ในรูปของการเขียน เล่มหลัง ในรูปของการร้องเพลง เล่มแรกพูดถึงการมีและ/หรือไม่มีอยู่ของดาวในเชิงโรแมนติก-เรียลลิสติก-ฟิสิกส์-เมตาฟิสิกส์-ญาณวิทยา เล่มหลังพูดถึงความหมายที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ของดาวในฐานะสัญลักษณ์ของคน-องค์กร-ความคิด-ความเชื่อในสังคมไทย

และแน่นอนว่าชื่อบทกวี “ในสมุดบันทึก” ทำให้บทกวีชิ้นนี้มีฐานะเป็นสมุดบันทึกที่จดบันทึกสมุดบันทึกของ “ฉัน” และ “นางพรานเถื่อน” อีกทอดหนึ่ง

การจดบันทึกและสมุดบันทึกโดยตัวมันเองก็มีลักษณะซ้ำสองที่เหมือนและไม่เหมือนเดิม กล่าวคือ โดยทั่วไปเราเชื่อว่าการจดบันทึกคือเก็บรักษาสิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นมิให้สูญหาย ด้วยเหตุนี้เราจึงมั่นใจว่าความทรงจำและอดีตในรูปของสมุดบันทึกมีความเที่ยงตรงและเป็นจริงน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม การจดบันทึกไม่อาจจะผลิตซ้ำหรือจำลองสิ่งที่มันบันทึกได้โดยสมบูรณ์ เนื่องจากต้องแปรสิ่งที่เกิดขึ้นให้อยู่ในรูปของถ้อยคำในภาษา การจดบันทึกจึงเป็นการซ้ำสองที่เหมือนและไม่เหมือนกันในเวลาเดียวกัน

เช่น “ฉัน” จดบันทึกบทสนทนากับเพื่อนว่าด้วยดาว สมุดบันทึกอาจช่วยเก็บรักษาบทสนทนาดังกล่าวไว้มิให้ล่องลอยหายไปในอากาศธาตุ ทันทีที่คำพูดถูกเปล่งออกมา และช่วยให้ “ฉัน” รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยพูดอะไรกับเพื่อนบ้าง แต่ข้อความในสมุดบันทึกไม่สามารถถ่ายทอดน้ำเสียงในบทสนทนา หรือกระทั่งใบหน้า ท่าทางของคู่สนทนาได้ครบถ้วน ดังที่ “ฉัน” อดรำพึงไม่ได้ว่า “ไม่แน่ใจว่าฉันบันทึกบทสนทนานี้ลงสมุดบันทึกทำไม”

ในทำนองเดียวกัน บทกวีได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของภาษาในการถ่ายทอดเสียง ดังเช่นที่นางพรานเถื่อนไล่เทียบเสียงวรรณยุกต์ของคำว่า “เห็น” ว่าควรเป็นไม้ตรี หรือไม้ไต่คู้ หรือไม้โท จึงจะสามารถถ่ายทอดระดับของเสียงได้ตรงกับเสียงที่เธอตั้งใจร้อง

ดังนั้น แม้ในแต่ระดับที่เล็กและดูไม่สลักสำคัญใดๆ อันได้แก่ระดับเสียงของคำ ภาษาเขียนยังไม่สามารถจะจำลองและบันทึกได้อย่างเที่ยงตรง

ที่สำคัญคือ ในคืนที่มีการอ่านบทกวีชิ้นนี้เป็นครั้งแรกก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง กวีจงใจเล่นกับข้อจำกัดของการเขียนและความไม่เที่ยงตรงของภาษา

กล่าวคือ ในท่อนที่เป็นเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ “ไม่ขอเป็นดาว” นั้น กวีเลือกใช้วิธีร้องออกมาเป็นเพลงแทนการอ่าน ส่งผลให้บทกวีชิ้นนี้ในคืนนั้นโดยตัวมันเองกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจดบันทึกในรูปของบทกวีได้ เพราะบทกวีบนหน้ากระดาษไม่สามารถจะบันทึกและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่กวี อ่าน/ร้อง บทกวีชิ้นนี้ได้ครบถ้วนและเที่ยงตรง

บทกวี “ในสมุดบันทึก” ที่เราอ่านจึงเป็นเพียงบทบันทึกการอ่านบทกวีในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 และนี่คือความเป็น meta-poetry ของบทกวีชิ้นนี้ที่ล้อและเล่นกับข้อจำกัดของการเขียนบันทึกและ/หรือบทกวี เพื่อตั้งคำถามกับสถานะของความทรงจำในบทกวีและกวีนิพนธ์เพื่อความทรงจำ

บทบันทึก/บทกวีชิ้นนี้เป็นการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลาผ่านการเขียนบันทึกแทรกและซ้อนทับลงไปบนบันทึกความทรงจำเดือนตุลาที่เคยมีมา กล่าวคือ มันหวนกลับไปเขียนใหม่ความทรงจำเดือนตุลาและคนเดือนตุลาในลักษณะที่เหมือนกับการเกษียนบันทึก ในรูปของการสร้างสัมพันธบทแบบสองทิศทางระหว่างวรรณกรรมเดือนตุลากับบทกวี/บทบันทึกชิ้นนี้

ขณะเดียวกัน บทกวี/บทบันทึกชิ้นนี้ก็ตอกย้ำถึงสถานะและข้อจำกัดของการบันทึกความทรงจำ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็เป็นเพียงการกระทำซ้ำสองที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงเป็นการสร้างอดีตใหม่ซ้อนทับบนอดีตเดิม เป็นการเกษียน (เขียน) ความทรงจำใหม่ ด้วยการเกษียณ (ปลดระวาง) ความทรงจำเดิม

ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือความเป็น meta-poetry ของบทกวีชิ้นนี้ที่ล้อและเล่นกับความเป็นกวีนิพนธ์/ความเป็นสมุดบันทึกของตัวมันเอง อันแสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้อย่างเจียมตนในข้อจำกัดของตัวเองว่า วันหนึ่งมันก็จะต้องถูกเกษียน/เกษียณ เช่นเดียวกัน

และด้วยเหตุนี้จึงชิงเกษียน/เกษียณตัวมันเองตั้งแต่วันแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมา นั่นคือวันที่กวีนำบทกวีชิ้นนี้ไปร้อง/อ่านก่อนการฉายภาพยนตร์ ดาวคะนอง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์สายัณห์ แดงกลม ที่กรุณาช่วยอ่านบทความชิ้นนี้และตั้งข้อสังเกตอันลุ่มลึก จนสามารถกลายเป็นบทความอีกชิ้นหนึ่งได้โดยตัวของมันเอง