พิศณุ นิลกลัด : Dubai World Cup 2018 การแข่งม้าระดับร้อยล้าน

พิศณุ นิลกลัด

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม มีการแข่งขันม้ารายการใหญ่ที่สุดในโลก รายการ Dubai World Cup ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เงินรางวัลของม้าแข่งที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ มหาศาลถึง 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 310 ล้านบาท

Dubai World Cup เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี 1996 โดยจัดขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม

ปีนี้มีม้าหลายร้อยตัวจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมแข่งขัน เช่น จากอังกฤษ, ไอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, นอร์เวย์ และแอฟริกาใต้ ม้าเหล่านี้ลำเลียงจากประเทศต่างๆ ด้วยเครื่องบินไปยังนครดูไบ

การขนส่งม้าแข่งไปยังต่างประเทศมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงมาก

ตัวอย่างเช่น การส่งม้าแข่งจากอังกฤษไปยังดูไบที่ใช้เวลาบินประมาณ 7 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายเที่ยวเดียวเริ่มต้นที่ประมาณตัวละ 4,000 ปอนด์ (178,000 บาท) ไปจนถึงกว่า 10,000 ปอนด์ (445,000 บาท) ราคาที่ต่างกันออกไปนั้นขึ้นอยู่กับความสบายของคอกม้าบนเครื่องบิน ระดับการเอาใจใส่ดูแลของสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ รวมถึงอาหารการกิน ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากสายการบินของคนที่แบ่งออกเป็น Economy, Business Class และ First Class

โดยคอกม้าสำหรับ First Class จะมีม้าอยู่ตัวเดียว ไม่แออัด หากเป็นคอกม้าชั้น Economy ซึ่งมีความใหญ่ของคอกเท่ากับ First Class จะมีม้าอยู่ในคอก 3 ตัว

ม้าแข่งจะเดินทางด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า บนเครื่องบินมีสัตวแพทย์ มีเจ้าหน้าที่ดูแลม้าคอยให้อาหารและเป็นเพื่อนม้าบนเครื่องบินไม่ให้ม้าเครียด

เมื่อม้าถึงดูไบแล้วก็จะถูกกักตัวเป็นเวลา 6 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อ จากนั้นถึงจะให้ออกไปเจอกับเจ้าของม้าหรือผู้ดูแลที่ไปรอล่วงหน้าได้

แม้การขนส่งม้าจะมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่เป็นการขนส่งที่ได้กำไรดีเมื่อเทียบกับการขนส่งพัสดุน้ำหนักเท่ากับตัวม้า โดยค่าขนส่งม้ามีราคาแพงกว่าค่าขนส่งพัสดุประมาณ 6 เท่าตัว

 

ปัจจุบันนอกจากมีสายการบินที่ขนส่งม้าโดยเฉพาะแล้ว สายการบินพาณิชย์ที่ขนส่งม้าก็เช่น สายการบินเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ส, ลุฟท์ฮันซ่า, กาตาร์ แอร์เวย์ส, แอร์ฟร้านซ์, บริติช แอร์เวส์ และเฟ็ดเด็กซ์

สำหรับสายการบินเฟ็ดเด็กซ์ ซึ่งเป็นเครื่องบินรับ-ส่งพัสดุสิ่งของนั้น เป็นสายการบินที่ได้รับความไว้วางใจจากทางการจีนในการรับ-ส่งแพนด้าจากจีนไปยังประเทศต่างๆ หรือนำแพนด้าที่ให้ยืมโชว์ตัวในต่างประเทศกลับยังประเทศจีน

 

บนเครื่องบินขนส่งม้า มีบริการเสิร์ฟอาหารหลัก เครื่องดื่ม ของกินเล่น เหมือนสายการบินที่ให้บริการมนุษย์

อาหารหลักคือหญ้า ฟาง เครื่องดื่มคือน้ำแอปเปิลผสมน้ำเปล่า รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ เช่น เกเตอเรด เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ส่วนของกินเล่นก็คือแคร์รอต

หลังจากกินอาหารเสร็จแล้วก็จะมีการหรี่ไฟเหมือนกับสายการบินขนส่งคน แสงไฟหรี่ๆ ไม่จ้า ช่วยให้ม้ารู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด หากม้ารู้สึกเครียด กระสับกระส่าย จะมีพี่เลี้ยงคอยมายืนข้างๆ พูดกับม้าให้ผ่อนคลาย

บางทีสัตวแพทย์อาจให้ยานอนหลับอ่อนๆ แก่ม้าเพื่อให้ม้าไม่เครียด เหมือนกับผู้โดยสารเครื่องบินจิบแชมเปญแก้วสองแก้วทำให้หลับสบาย

ที่น่าสนใจก็คือ ตลอดการเดินทางบนเครื่องบิน ม้าจะยืนอยู่ในคอกที่กั้นไว้เป็นซองบนเครื่องบิน โดยมีเชือกตรึงม้าไว้ที่ขลุมจูงม้าทั้งสองข้าง เหมือนกับผู้โดยสารรัดเข็มขัด ซึ่งบางทีกัปตันก็จะกดปุ่มสัญญาณให้พี่เลี้ยงม้าปลดเชือกตรึงขลุมจูงม้า หากการบินราบรื่น ไม่ตกหลุมอากาศ เพื่อม้าจะได้ผ่อนคลายขยับตัวเหมือนกับผู้โดยสารที่ปลดเข็มขัดรัดได้ หากไฟลต์ไม่ตกหลุมอากาศ

นอกจากนั้น การเทกออฟและแลนดิ้ง ก็ต้องทำอย่างนุ่มนวลเพราะม้ายืน

 

การดูแลม้าแข่งบนเครื่องบินนั้นดูแลดีมาก เพราะม้าแข่งระดับโลกมีราคาตัวละเป็นร้อยล้านบาท มีการเรียกเครื่องบินขนส่งม้ากันเล่นๆ ว่า Air Horse One เพราะดูแลอารักขาม้าอย่างเข้มงวดพอๆ กับประธานาธิบดีสหรัฐ บนเครื่องบินประจำตำแหน่ง Air Force One

ม้าแข่งระดับโลกส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน ไม่ตื่นเครื่อง แต่ก็เหมือนคนเวลาเดินทางข้ามทวีป จะมีอาการ Jet Lag ดังนั้น เจ้าของม้าแข่งมักจะนำม้าแข่งขึ้นเครื่องบินและถึงประเทศที่จัดการแข่งขันล่วงหน้าประมาณ 14-21 วันเพื่อให้ม้าปรับตัวปรับเวลาเข้ากับสถานที่ใหม่

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม อย่าลืมติดตามข่าวว่ายอดม้าตัวไหนจะได้แชมป์ Dubai World Cup พร้อมเงินรางวัล 310 ล้านบาท