เศรษฐกิจ/แบงก์เปิดเกมรุก ฟรีค่าธรรมเนียม อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หวังโอกาสครอสเซลล์

เศรษฐกิจ

แบงก์เปิดเกมรุก

ฟรีค่าธรรมเนียม

อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

หวังโอกาสครอสเซลล์

ในที่สุดก็มาถึงวันที่ธนาคารยอมประกาศยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมการกด โอน จ่าย เติมเงิน ผ่านช่องทางดิจิตอล คือโมบายแบงกิ้ง
และบางธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมในส่วนของอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งด้วย
เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
จากเดิมการโอนเงินข้ามเขต มีจำกัดจำนวนครั้งในการทำธุรกรรมฟรีแล้วแต่ธนาคาร หากเกินคิดรายการละ 10 บาท การโอนเงินต่างธนาคาร คิดค่าธรรมเนียม 25-35 บาท จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต รวมทั้งการเติมเงินผ่านช่องทางต่างๆ ที่จะมีค่าธรรมเนียม 5-20 บาท
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของธนาคารเป็นรายได้ดอกเบี้ยถึง 60% จากการให้สินเชื่อทั้งธุรกิจและรายย่อย
ขณะที่อีก 40% เป็นรายได้ค่าธรรมเนียม แต่ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมมีสัดส่วนไม่เกิน 10% แต่รวมๆ กันแล้วทั้งอุตสาหกรรมมีรายได้ส่วนนี้ต่อปีเป็นหลักหมื่นล้านบาท ธนาคารก็เก็บรายได้เหล่านี้เข้ากระเป๋าชิลๆ แบบเสือนอนกิน
แต่ด้วยพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจธนาคาร ธุรกิจที่ธนาคารเคยทำอยู่กลับถูกแยกชิ้นส่วนออกมา ชิ้นส่วนหนึ่ง คือ การชำระเงิน (Payment) ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นที่ไม่ว่าจะเป็นฟินเทค ผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เข้ามาแข่งขันในตลาด ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนถูกลง และลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
รวมทั้งการเติบโตของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะทำให้ความจำเป็นของตัวกลางอย่างธนาคารลดบทบาทลง
เมื่อไม่มีตัวกลางก็ไม่ต้องจ่ายค่าต๋ง หรือค่าธรรมเนียมนั่นเอง
เรียกว่าค่าธรรมเนียมจะเข้าใกล้ 0 มากขึ้น ซึ่งลูกค้าก็สามารถเลือกไปใช้บริการช่องทางอื่นๆ ได้

เบื้องลึกเบื้องหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมธนาคารในครั้งนี้ เกิดจากการที่ธนาคารต่างๆ ได้มีการย้ายระบบการโอนเงินรายย่อยแบบเดิม หรือ ORFT ขึ้นไปอยู่บนระบบพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งพร้อมเพย์ไม่ใช่แค่การโอนเงินด้วยหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรประชาชนเท่านั้น
แต่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินใหม่ ที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมต่ำมาก
ประกอบกับปัจจุบันลูกค้าทำธุรกรรมออนไลน์ด้วยตัวเอง บนอุปกรณ์ของตัวเองไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต
ธนาคารเพียงให้บริการระบบซึ่งเป็นระบบที่ธนาคารต้องมีการลงทุนอยู่แล้ว เทียบกับการให้บริการผ่านสาขาที่มีต้นทุนสูงกว่า ถือว่าคุ้ม ไม่ต้องจ่ายลงทุนที่แพงกว่าอีกต่อไป
แต่จะทำกันแบบเงียบๆ ก็ใช่ที่ จุดนี้สามารถหยิบขึ้นมากิมมิคทางการตลาดได้
เริ่มด้วยแบงก์กสิกรไทยชิงเปิดตัวเปรี้ยงๆ วันที่ 27 มีนาคม ตัดหน้าแบงก์ไทยพาณิชย์ที่พรีโอเพ่นนิ่งเล็กๆ เงียบๆ วันที่ 26 มีนาคม เพื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการแบบอลังการงานสร้างในวันที่ 28 มีนาคม เป็นการชิงไหวชิงพริบของแบงก์ในการรุกตลาดฟรีค่าธรรมเนียม ทั้งโอนเงินข้ามเขต ข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ และการเติมเงินผ่านช่องทางมือถือ
ส่วนไทยพาณิชย์คว้าแม่นายการะเกด แห่งบุพเพสันนิวาส “เบลล่า ราณี” เป็นพรีเซ็นเตอร์ ว่ากันว่าทุ่มไม่อั้นกับค่าตัว 8 หลัก
แถมบลั๊ฟฟ์กลับว่าไม่ได้ฟรีค่าธรรมเนียมเพียงระยะสั้นเหมือนแบงก์สีเขียว และยังเลยไปถึงการยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินพร้อมเพย์ ค่าธรรมเนียมกดเงินไม่ใช้บัตรด้วย
ขณะที่กสิกรฯ ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย สั่งการเอง อนุมัติยกเลิกค่าธรรมเนียมตลอดไป ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามติดด้วยแบงก์พันทางกึ่งรัฐกึ่งเอกชน อย่างกรุงไทย ออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเช่นกัน

งานนี้ลูกค้าหน้าใส ยิ้มร่าไปตามๆ กัน ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมยุ่บยั่บอีกต่อไป แถมยังเป็นบรรทัดฐานให้แบงก์ที่เล่นทีหลังต้องป๋ากว่า เพื่อรักษาที่มั่นดึงลูกค้าที่เตรียมตีจากให้ยังอยู่ อย่างแบงก์ยักษ์ใหญ่ กรุงเทพ นั่งไม่ติด ต้องออกประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนตลอดชีพ รวมไปถึงแจกโบนัสการใช้บริการผ่านตู้เอทีเอ็มช่วงสงกรานต์
วันต่อมา ก็มีแบงก์รัฐ อย่างออมสิน และ ธอส. ออกมาประกาศเช่นเดียวกัน
ส่วนธนาคารทหารไทยต้อนรับฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ออกมาประกาศจุดยืน Make the Differance ยกเลิกค่าธรรมเนียม บัญชี ออล ฟรี มาหลายปีแล้ว
สมรภูมิรบดุเดือด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อสรุปว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มการเงิน MUFG จากประเทศญี่ปุ่น ต้องร่วมตัดสินใจ เพื่อไม่ตกขบวน ตัดสินใจประกาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ยกเลิกค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 พร้อมกับอีกหลายแบงก์

สนามสงครามครั้งนี้เรียกว่า ธนาคารขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก จำต้องโดดลงมาแข่งขันกัน มิเช่นนั้นอาจตกขอบได้
อย่างที่บอก ขนาดแบงก์รัฐ ออมสิน และ ธอส. หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังต้องโดดลงมาเล่นด้วย
โดยออมสินนอกจากจะยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่าน Mobile Banking MyMo และ Internet Banking แบบ All Free ลูกค้าที่ใช้บัญชีกระแสรายวันจะได้รับดอกเบี้ย 0.50% เรียกว่าฟรีแล้วยังแถมเงินให้อีกด้วย
พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ โดยสมัครใช้บริการ MyMo ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน จะคืนเงินเข้าบัญชีให้ทุกเดือน เดือนละ 10 บาท เป็นเวลา 1 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป
ด้าน ธอส. ที่ยังไม่มีบริการธุรกรรมการเงินบนมือถือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้าที่ใช้บริการเงินฝากและถอนข้ามเขตผ่านเคาน์เตอร์ รวมทั้งการทำธุรกรรมผ่านระบบเอทีเอ็มของธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน เป็นต้นไป
เรียกว่าเป็นการยอมตัดเพื่อรักษาลูกค้า เป็นยุคที่ลูกค้า วิน!

อย่างไรก็ตาม การนำลูกค้าขึ้นมาอยู่บนช่องทางดิจิตอลนั้น ก็เป็นขุมทรัพย์การหารายได้ใหม่
เพราะข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ รายการเดินบัญชี การชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ สามารถใช้วิเคราะห์ด้วยบิ๊กดาต้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้ตรงใจกับลูกค้า
ซึ่งการใช้บิ๊กดาต้านี้ธนาคารอาจจะรู้ก่อนด้วยซ้ำว่าลูกค้าต้องการอะไร อย่างอาจจะรู้ก่อนที่เราต้องการจะกู้สินเชื่อด้วยซ้ำ เพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้มากขึ้น ยอมตัดเพื่อโอกาสที่มากกว่า
การแข่งขันของธนาคารจากนี้จะดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหนจะต้องติดตามต่อไป เปิดฉากใหม่ของดิจิตอลแบงกิ้ง!!