สุรชาติ บำรุงสุข : ปฏิวัติใหญ่กว่าปฏิรูป ปฏิรูปยากกว่าปฏิวัติ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ช่วงระยะเวลาที่อันตรายที่สุดสำหรับรัฐบาลที่ไม่ดีก็คือ เมื่อรัฐบาลเริ่มต้นปฏิรูป”

Alexis de Tocqueville

สําหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาพโดยรวมนั้นปรากฏอยู่ใน 2 รูปแบบหลักคือ การปฏิวัติและการปฏิรูป

แต่ต้องทำความเข้าใจในความรับรู้ของสังคมไทยว่า เมื่อกล่าวถึงการปฏิวัติ (revolution) นั้น เราหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่นำไปสู่การจัดระเบียบใหม่ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังตัวอย่างของการปฏิวัติรัสเซียในปี 2460 (ค.ศ.1917) หรือการปฏิวัติจีนในปี 2454 (ค.ศ.1911) และในปี 2492 (ค.ศ.1949) หรือหากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก็คือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 2332 (ค.ศ.1789)

การปฏิวัติเช่นนี้จึงไม่ใช่การรัฐประหาร (coup) เช่นที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย เพราะรัฐประหารเป็นเพียงการใช้กำลังเข้าล้มล้างระบบการปกครองเดิม และโดยทั่วไปแล้วก็มักจะนำไปสู่การจัดตั้งระบบการปกครองแบบอำนาจนิยม ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปแบบของการปกครองโดยรัฐบาลทหาร เป็นต้น

แต่ด้วยการใช้คำศัพท์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้งที่ 2 ในปี 2501 โดยได้เรียกการรัฐประหารที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การปฏิวัติ” และเรียกคณะผู้ก่อการว่า “คณะปฏิวัติ” จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสับสนของคำว่า “ปฏิวัติ” และ “รัฐประหาร” ในสังคมการเมืองไทยมาจนปัจจุบัน

หากรัฐประหารในไทยเป็นการปฏิวัติในความหมายแบบสากลแล้ว ประเทศไทยจะมีการเมืองที่เต็มไปด้วยการปฏิวัติ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเมืองเต็มไปด้วยการรัฐประหารที่เป็นการยึดอำนาจของคณะทหารอย่างต่อเนื่อง

ฉะนั้น บทความนี้จะใช้คำว่าการปฏิวัติในความหมายแบบสากลในทางรัฐศาสตร์ มิใช่หมายถึงการยึดอำนาจของกลุ่มการเมืองภายใน ดังเช่นที่เห็นในกรณีแบบไทย

การรักษาระบบเดิม

การปฏิรูปเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับการปฏิวัติ และเป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเดิม

การปฏิรูปไม่ได้มุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ หรืออีกนัยหนึ่งการปฏิรูปคือความต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องไม่นำไปสู่การล้มระบบเดิม

ลักษณะเช่นนี้ทำให้นักปฏิรูปถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่า ในท้ายที่สุดแล้ว นักปฏิรูปเป็นพวกที่ต้องการรักษาระบบเดิม (status quo) ให้คงอยู่ต่อไป

โดยหวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะช่วยรักษาให้ระบบเดิมไม่ถูกทำลายลงจากแรงกดดันของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นดังสภาวะแวดล้อมของตัวระบบดังกล่าว บรรดานักปฏิรูปตระหนักดีว่า ถ้าปราศจากความเปลี่ยนแปลงบางประการแล้ว ระบบเดิมจะไม่สามารถแบกรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และอาจจะจบลงด้วยการปฏิวัติที่เป็นการโค่นล้มระบบเดิม

ในสภาพเช่นนี้ นักปฏิรูปจึงต้องทำงานอย่างหนัก เพราะการรักษาระบบเดิมที่เผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะมีปัญหาและความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก

ดังตัวอย่างเช่น การต้องเผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายที่มาจากการขยายบทบาทและอิทธิพลของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นและจีนในศตวรรษแห่งจักรวรรดินิยมนั้น

นักปฏิรูปในสองประเทศนี้ตระหนักดีว่า พวกเขาไม่มีเวลามากนักในการรับมือกับการขยายอำนาจของชาติตะวันตก

และหากไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ญี่ปุ่นอาจจะไม่สามารถดำรงความเป็นเอกราชไว้ได้

บรรดาซามูไรและเจ้าแคว้นที่ก้าวหน้าจึงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างเต็มที่ ในสภาพเช่นนี้

นักปฏิรูปญี่ปุ่นดำเนินการจนถึงจุดของความสำเร็จในการสร้าง “ญี่ปุ่นใหม่” ที่มี “การปฏิรูปเมจิ” ในปี 2411 (ค.ศ.1868) เป็นเส้นแบ่งเวลาที่บ่งบอกถึงชัยชนะของการปฏิรูป

แม้จะมีการล้มล้างระบบการปกครองเดิมของโชกุน และรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่องค์พระจักรพรรดิ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ใช่ในแบบของการปฏิวัติ และขณะเดียวกันก็ไม่ได้เกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ จนกลายเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ลักษณะเช่นนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นถูกเรียกว่า “การปฏิรูปเมจิ”

ด้วยเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิรูปเมจิ ญี่ปุ่นจึงเดินหน้าสู่การพัฒนาและการสร้างชาติครั้งใหญ่

และต้องยอมรับว่าความสำเร็จเช่นนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ในเวลาต่อมาได้ขับเคลื่อนให้ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐมหาอำนาจในเอเชีย

ชัยชนะในสงครามที่ญี่ปุ่นมีต่อจีนและต่อรัสเซียเป็นสัญญาณบอกถึงการก้าวสู่เวทีมหาอำนาจของโลก

คงต้องยอมรับว่านักปฏิรูปญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างชาติใหม่ และหนทางนี้เดินไปบนเส้นทางที่ถูกวางรากฐานจากการปฏิรูปเมจิที่เกิดขึ้น

ความล้มเหลวคือการปฏิวัติ

ชนชั้นนำจีนมองเห็นถึงภัยคุกคามจากตะวันตกไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น และขณะเดียวกันก็มองเห็นถึงความสำเร็จของญี่ปุ่นจากการปฏิรูปอีกด้วย

จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดที่จักรพรรดิพระองค์หนึ่งในยุคสมัยดังกล่าวจะตัดสินใจว่า พระองค์จะเป็นผู้นำการปฏิรูปเอง

ฮ่องเต้กวางสูตัดสินพระทัยที่จะเป็นผู้ถือ “ธงนำ” การปฏิรูปจีน และรวบรวมเอาบรรดานักคิดและขุนนางหัวใหม่บางส่วนเข้าร่วมขบวนการนี้

แต่ดูเหมือนพระองค์จะไม่ตระหนักว่า ภัยคุกคามภายนอกที่ใหญ่นั้น อาจจะเทียบไม่ได้กับภัยคุกคามภายในที่ต้องการต่อต้านการปฏิรูปและรักษาระบบเดิม

สำหรับบรรดาชนชั้นนำและขุนนางหัวเก่าแล้ว ไม่มีอะไรจะน่ากลัวมากเท่ากับการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงต้องการจะ “อนุรักษ์โลกเก่า” ไว้ให้ได้

และขณะเดียวกันก็มองว่าการปฏิรูปคือภัยคุกคาม…

คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคนกลุ่มนี้ก็คือ ไม่เปลี่ยนแปลง!

ถ้าการปฏิรูปของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมาก การปฏิรูปของจีนก็เป็นภาพสะท้อนด้านกลับที่ประสบปัญหาและความยากลำบากมากกว่า แม้ทุกคนในขณะนั้นจะเชื่อมั่นอย่างมากว่า เมื่อฮ่องเต้ประกาศตัวเป็น “หัวขบวน” ของการปฏิรูปแล้ว ขบวนการนี้ไม่น่าจะประสบความล้มเหลว

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าภายใต้ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจของ “โอรสแห่งสวรรค์” นั้น มีอย่างเต็มที่ จนแทบจะไม่น่าเป็นไปได้เลยว่า ราชโองการในการปฏิรูปของฮ่องเต้ครั้งนี้จะมีชีวิตยืนยาวเพียง 100 วัน และจบลงด้วยศีรษะของนักปฏิรูป 6 คนกลางตลาดกรุงปักกิ่ง หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “หกสุภาพบุรุษ” ของการปฏิรูปจีน

และโอกาสของการปฏิรูปเพื่อสร้าง “จีนใหม่” ภายใต้การนำของฮ่องเต้จึงจบลงอย่างรวดเร็ว

แต่ความล้มเหลวของ “การปฏิรูป 100 วัน” อันเป็นผลจากแรงต่อต้านอย่างสำคัญของชนชั้นนำและขุนนางหัวเก่า กลับกลายเป็นโอกาสของขบวนการทางการเมืองอีกกลุ่มที่พวกเขาต้องการสร้าง “จีนใหม่” ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของระบบเดิม

ขบวนการชาตินิยมจีนที่นำโดย ดร.ซุนยัตเซ็น ดำเนินต่อต้านการเอาประโยชน์ของชาติตะวันตกที่จีนเป็นดัง “อาหารอันโอชะ” ของพวกเขา

ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างระบบการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

วิกฤตความล้มเหลวของการปฏิรูปของราชสำนักจึงกลายเป็นโอกาสของความสำเร็จของซุนยัตเซ็น

การปฏิรูปที่ล้มเหลวและต้องสังเวยด้วยศีรษะของหกนักปฏิรูปจีน จึงกลายเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จของ “การปฏิวัติซินไฮ่” และนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐจีนในปี 2455 (ค.ศ.1912)

ความสำเร็จของการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่นคู่ขนานกับความล้มเหล;ของการปฏิรูปร้อยวันของจีน เป็นข้อเตือนใจและขณะเดียวกันก็เป็นข้อคิดอย่างดีสำหรับนักปฏิรูป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของจีนให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า แม้ผู้นำการปฏิรูปจะเป็นถึงฮ่องเต้ แต่สุดท้ายการปฏิรูปก็ถูกขัดขวางและล้มเหลว

และพระองค์เองก็ถูกจับขังอยู่ในพระราชวังต้องห้ามจวบจนวาระสุดท้าย

แต่ในขณะนั้นชนชั้นนำและขุนนางหัวเก่าในราชสำนักจีนจะคิดต่อหรือไม่ว่า ความล้มเหลวของการปฏิรูปคือการเปิดประตูไปสู่ความสำเร็จของการปฏิวัติ

จนอาจกล่าวได้ว่า ความล้มเหลวของการปฏิรูปร้อยวันของฮ่องเต้กวางสูก็คือเงื่อนไขที่ทำให้การปฏิวัติซินไฮ่ของซุนยัตเซ็นประสบความสำเร็จนั่นเอง

ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่า การปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างมากนั้น ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะเดินไปสู่จุดสุดท้ายอย่างง่ายดาย เพราะในความเป็นจริงนั้น ไม่มีชนชั้นนำและขุนนางหัวเก่าที่ไหนที่จะไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขามองด้วยทัศนะที่ชัดเจนว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคามทั้งต่อสถานะและผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากระบบเดิม

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่คนเหล่านี้จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อการรักษาระบบเดิม

แต่แรงขับเคลื่อนของความต้องการที่จะเห็น “ญี่ปุ่นใหม่” มีพลังมากกว่า พร้อมๆ กับการดำเนินการและการประสานงานที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ล้วนเดินไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน

จนกลายเป็นความสำเร็จที่สำคัญในที่สุด

การทำลายระบบเดิม

ถ้าเปรียบแล้วเราอาจกล่าวได้ว่า การปฏิรูปคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาระบบเดิม ในขณะที่การปฏิวัติคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการทำลายระบบเดิม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็อาจจะเห็นได้ชัดเจนว่า การปฏิวัติคือการปลุกระดมให้เกิดการเข้าร่วมของมวลชนขนาดใหญ่และอาศัยพลังของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนอันไพศาลนี้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ในสภาพเช่นนี้นักปฏิวัติจึงต้องสร้างอนาคตของความเปลี่ยนแปลงด้วยระบบใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างความฝันที่จะเห็นถึงการ “จัดระเบียบใหม่” ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อันจะนำไปสู่การจัด “โครงสร้างใหม่” คู่ขนานกับการสร้าง “อุดมการณ์ใหม่” ของสังคมทั้งหมดโดยรวม

ฉะนั้น สำหรับนักปฏิวัติแล้ว การทำลายระบบเดิมจึงเป็นหนทางของการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่นักปฏิรูปนั้นต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาระบบเดิม

หนทางที่แตกต่างกันเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ยากอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระบบเดิมไร้ประสิทธิภาพและผุพังไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ อันทำให้การดำเนินการของนักปฏิรูปอาจจะถูกต่อต้าน ทั้งจากปีกอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และจากปีกก้าวหน้าที่ต้องการการปฏิวัติ… นักปฏิรูปจึงเป็นเสมือนคนที่ต้องยืนโต้กระแสลมแรงจากทั้งสองฝั่ง

หากจะเปรียบเทียบในเชิงอุดมคติแล้ว นักปฏิรูปและนักปฏิวัติต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างกัน แต่ก็มองเห็นถึงวิธีการที่จะสร้าง “โลกใหม่” จากอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

แน่นอนว่านักปฏิวัติเป็นฝ่ายซ้าย และนักปฏิรูปเป็นฝ่ายขวา

แต่นักปฏิรูปจะต้องเป็นฝ่ายขวาที่ก้าวหน้า เพราะปีกขวาจัดหรือพวกอนุรักษนิยมสุดขั้วนั้นเป็นนักปฏิรูปไม่ได้

พวกเขาเป็นได้แค่พวกที่ “สวมเสื้อคลุม” ในแบรนด์เนมของการปฏิรูป หรือต่อต้านการปฏิรูปด้วยคำโฆษณาปฏิรูป

เพราะถึงที่สุดแล้ว ปีกขวาจัดเป็นเพียง “ผู้พิทักษ์โลกเก่า” ที่มองไม่เห็นและไม่เข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก

บริบทการเมืองไทยปัจจุบัน

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ปัจจุบันมีความพยายามที่จะผลักดันแนวคิดเรื่องการปฏิรูปให้เป็นดังทิศทางในนโยบายของรัฐบาลทหาร

แต่เราคงต้องตระหนักว่า การนำเสนอเรื่องการปฏิรูปมาจากปีกขวาจัดหรือกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ใช้ประเด็นนี้มาเป็นจุดขายของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

และหลังจากการยึดอำนาจในปี 2557 รัฐบาลทหารก็พยายามประนีประนอมด้วยการรับเอาแนวคิดเรื่องการปฏิรูปเข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาล

แต่เราคงต้องตระหนักจากบทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองของโลกประการหนึ่งว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องของพวกขวา แต่ก็ต้องเป็น “ขวาก้าวหน้า” ที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงภายในระบบเดิมได้

ปีกขวาจัดหรือกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งไม่สามารถเป็นพลังของการปฏิรูปได้

และขณะเดียวกันก็ไม่อาจรับบทบาทเป็น ผู้ผลักดัน “กงล้อปฏิรูป” ได้แต่อย่างใด

ดังนั้น การขายวาทกรรม “ปฏิรูป” ของกลุ่มขวาจัดก่อนรัฐประหาร

และการสร้างภาพนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาลทหาร จึงกลายเป็นเงื่อนไขของความล้มเหลวในตัวเอง

เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คงต้องยอมรับว่า รัฐบาลทหารและกลุ่มขวาจัดล้วนแต่เป็น “ผู้พิทักษ์” ระบบเดิมทั้งสิ้น

ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปในยุคของรัฐบาลทหาร จึงเป็นเพียง “ฝันกลางแดด”

เช่นเดียวกับที่การปฏิรูปที่ถูกเสนอโดยกลุ่มขวาจัดก็เป็นเพียง “ฝันกลางวัน” เท่านั้นเอง…

พวกเขาล้าหลังเกินกว่าจะขายความฝันการปฏิรูปให้สังคมไทย!