พิศณุ นิลกลัด พาไปรู้จัก “เด็ฟลิมปิกส์” การแข่งขันโอลิมปิก ของนักกีฬาหูไม่ได้ยิน

การแข่งขันพาราลิมปิก 2016 จบลงเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมนักกีฬาไทยทุกคน ทำผลงานได้อย่างน่าภูมิใจและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

deaflympics2017

สำหรับคนที่หูไม่ได้ยิน เป็นเรื่องน่าเห็นใจที่ไม่สามารถลงแข่งขันพาราลิมปิกได้ เพราะด้วยสรีระร่างกายสมบูรณ์ทุกประการ ดังนั้น จะเป็นการได้เปรียบนักกีฬาพิการทางร่างกายส่วนอื่นหากลงแข่งพาราลิมปิก

พาราลิมปิกไม่มีกีฬาที่อนุญาตให้นักกีฬาหูไม่ได้ยินร่วมเข้าแข่งขัน

ที่ผ่านมา ในการแข่งขันพาราลิมปิก ผู้ที่หูไม่ได้ยินมีส่วนร่วมในพาราลิมปิกก็เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน

ดังนั้น สำหรับนักกีฬาหูไม่ได้ยิน จึงมีการจัดการแข่งขัน เด็ฟลิมปิกส์ (Deaflympics) หรือการแข่งขันโอลิมปิกของนักกีฬาหูไม่ได้ยิน มีการจัดการแข่งขันทุก 4 ปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1924

นักกีฬาที่มีคุณสมบัติเข้าแข่งเด็ฟลิมปิกส์ได้นั้น ต้องมีระดับการได้ยิน 55 เดซิเบลขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับหูตึงมากต้องใส่เครื่องช่วยฟังถึงจะได้ยิน

ส่วนระดับหูหนวก ไม่ได้ยินเสียงใดๆ ทั้งสิ้นนั้น ระดับการได้ยินอยู่ที่ 91 เดซิเบลขึ้นไป ส่วนหูปกติระดับการได้ยินอยู่ที่ 0-25 เดซิเบล

เด็ฟลิมปิกส์ มีการแข่งขันทั้งหมด 19 ชนิด ทั้งประเภทบุคคล และประเภททีม เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน ว่ายน้ำ บาสเกตบอล และเทนนิส

ในการแข่งขันเด็ฟลิมปิกส์ครั้งล่าสุด ปี 2013 ที่กรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย มีนักกีฬาหูไม่ได้ยิน เข้าร่วมแข่งขันกว่า 2,879 คน จาก 90 ประเทศ

นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันเด็ฟลิมปิกส์ ห้ามใส่อุปกรณ์ช่วยในการได้ยินทุกชนิด เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ

เนื่องจากนักกีฬาที่ลงแข่งหูไม่ได้ยิน ดังนั้น กรรมการจะใช้อุปกรณ์ในการส่งสัญญาณ ที่ไม่ต้องใช้เสียง เช่น ในการปล่อยตัวนักวิ่ง หรือนักว่ายน้ำ จะใช้สัญญาณไฟ แทนการยิงปืนปล่อยตัว

หรือในการแข่งขันฟุตบอล ปกติกรรมการเป่านกหวีดในการตัดสิน ก็จะใช้การโบกธงเหมือนกับผู้กำกับเส้นแทน เมื่อกรรมการโบกธง นักเตะต้องหยุดเล่น

แม้ร่างกายภายนอกของนักกีฬาหูไม่ได้ยินจะเหมือนคนปกติทุกประการ แต่การเล่นกีฬาให้เก่งโดยที่หูไม่ได้ยินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความอดทนและมุ่งมั่น เพราะโค้ชที่สอนส่วนใหญ่เป็นโค้ชหูปกติจึงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะรู้ใจกัน สื่อภาษากันเข้าใจ

นอกจากนี้ กีฬาประเภททีม เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะการสื่อสารด้วยเสียงระหว่างการแข่งขันเพื่อให้เล่นเข้าขา ถูกจังหวะ เป็นสิ่งสำคัญมาก

ดังนั้น สำหรับนักกีฬาประเภททีมที่หูไม่ได้ยิน ต้องฝึกซ้อมร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อจะได้เล่นเข้าขากันในระดับที่มองตาก็รู้ใจ

นักกีฬาหูไม่ได้ยินหลายๆ คน ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจกับการที่หูไม่ได้ยิน แต่มองว่าเป็นเรื่องดีเสียอีกที่ช่วยทำให้มีสมาธิในการแข่งขัน ไม่ประหม่า ตื่นเต้นจากเสียงเชียร์ของแฟนๆ ในสนาม

ในการแข่งขันพาราลิมปิก มีการเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา การแข่งขันเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ความสามารถในการเคลื่อนไหวของนักกีฬาผู้พิการ เช่น ในการแข่งขันวีลแชร์เทนนิส นักวีลแชร์เทนนิส สามารถปล่อยให้ลูกกระดอนได้สองครั้งแล้วถึงค่อยตี ในขณะที่เทนนิสปกติ ลูกเทนนิสเด้งได้ครั้งเดียว

สาเหตุที่กฎของวีลแชร์เทนนิสอนุโลมให้ลูกเทนนิสกระดอนได้สองครั้งเพราะนักวีลแชร์เทนนิสเคลื่อนตัวเข้าหาลูกเทนนิสได้ช้ากว่า โดยลูกเด้งครั้งที่สองนั้นสามารถตกนอกคอร์ตได้แต่ เด้งครั้งแรกต้องเด้งในคอร์ต

แต่ในการแข่งขันเด็ฟลิมปิกส์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา การแข่งขันสำหรับนักกีฬาหูไม่ได้ยิน ใช้กฎ กติกาเช่นเดียวกับนักกีฬาปกติทั่วไป

ซึ่ง International Committee of Sports for the Deaf หรือ คณะกรรมการกีฬาสำหรับคนหูไม่ได้ยินนานาชาติ ให้เหตุผลว่านักกีฬาหูไม่ได้ยินนั้นร่างกายเป็นปกติทุกอย่าง ยกเว้นแต่หูไม่ได้ยิน ซึ่งจุดนี้เป็นข้อเสียเปรียบเพียงอย่างเดียวสำหรับคนหูไม่ได้ยิน ซึ่งการจัดเด็ฟลิมปิกส์ มีจุดประสงค์เพื่อให้นักกีฬาหูไม่ได้ยินมาแข่งขันกีฬาร่วมกันและสื่อสารกันด้วยภาษามือ ไม่ใช่จัดการแข่งขันเพราะนักกีฬาหูไม่ได้ยิน มีความสามารถทางร่างกายด้อยกว่าคนปกติ

ดังนั้น จึงใช้กฎ กติกา เหมือนกับนักกีฬาปกติทุกประการ

สำหรับการแข่งขันเด็ฟลิมปิกส์ ครั้งต่อไปจะมีขึ้นปีหน้าที่เมืองแซมซัน (Samsun) ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 18 ถึง 30 กรกฎาคม