ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “อินเดีย” และ “ฮินดู” เพี้ยนมาจากชื่อแม่น้ำสินธุ เป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกตามแขกเปอร์เซีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มาภาพ : pinterest

แต่เดิมชาวอินเดียไม่เรียกชื่อดินแดนของตนเองว่า “อินเดีย” นะครับ

เพราะพวกเขามีคำเก่าที่ใช้เรียกดินแดนภายในอะไรที่เรียกว่า “จักรวาลวิทยา” ของพวกเขาเองว่า “ชมพูทวีป” มาอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของไทยอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยนิยามความหมายของ “จักรวาลวิทยา” ในความหมายนี้เอาไว้อย่างกระชับและชัดเจนดีมากในข้อเขียนที่ชื่อ “จานบินในโลกที่แตกต่าง” ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อตั้งแต่ พ.ศ.2551 โพ้นเอาไว้ว่า หมายถึง

“สำนึกในเรื่องของโลก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพ หรือภูมิศาสตร์โลกตามอุดมคติเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงโลกทัศน์ของสมาชิกในแต่ละชุมชน ซึ่งเกิดจากสั่งสมทางวัฒนธรรมแวดล้อม จนก่อให้เกิดขอบข่ายทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มด้วย”

อ.นิธิยังหล่นความเห็นเพิ่มเติมเอาไว้อีกด้วยว่า อันที่จริงแล้ว ชุมชนต่างๆ มักจะให้ความสำคัญกับจักรวาลวิทยาเฉพาะส่วนของตน โดยถือว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้นๆ

ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งในกลุ่มชาวจีน และชาวชมพูทวีป เป็นต้น

 

คําว่า “ชมพูทวีป” จึงน่าจะเป็นอะไรที่คล้ายๆ คำว่ากับตัวแทนจักรวาลวิทยาของความเป็น “อินเดีย” แต่ดั้งเดิมได้

เพราะคำว่า “ชมพูทวีป” นั้นเป็นคำเก่า ที่ชาวอินเดีย และปริมณฑลโดยรอบ ใช้สำหรับเรียกดินแดนในจักรวาลวิทยาของตนเอง โดยมีความหมายว่า “ดินแดนแห่งต้นหว้า” เพราะคำว่า “ชมพู” ทั้งในภาษาบาลี และสันสกฤตนั้น แปลตรงตัวว่า “ต้นหว้า”

ปรัมปราคติเกี่ยวกับ สัณฐานจักรวาลในพุทธศาสนา (ซึ่งก็ถือกำเนิดขึ้นในชมพูทวีป) มักจะระบุเอาไว้ว่า ที่รอบนอกของศูนย์กลางจักรวาล อันประกอบขึ้นจากเขาพระสุเมรุ และภูเขาวงแหวนที่ล้อมรอบอยู่อีก 7 ชั้นนั้น มีทวีปทั้ง 4 ล่องลอยอยู่บนทะเลจักรวาล และทวีปหนึ่งในนั้นก็คือ ชมพูทวีป ที่พวกเขาอาศัยอยู่ โดยที่เรียกว่า ชมพูทวีปนั้น ก็เป็นเพราะว่า รูปลักษณะของทวีป มีลักษณะคล้ายกับผลหว้า

แม้ว่าข้อความในวรรณกรรมเชิงปรัมปราคติเหล่านี้จะระบุว่า ชมพูทวีป เป็นทวีปที่ไม่ดีพร้อมเท่ากับอีก 3 ทวีปที่เหลือ แต่ก็เป็นเพียงทวีปเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่จะมีพระพุทธเจ้า และพระจักรพรรดิราชองค์ต่างๆ มาประสูติ ในขณะที่อีก 3 ทวีปที่ว่า ไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกันนี้

แน่นอนที่ข้อมูลตามพุทธประวัติระบุว่า พระพุทธเจ้า หรือพระสมณโคดมนั้น ประสูติที่สวนลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล อันเป็นส่วนหนึ่งในชมพูทวีป

จักรวาลในปรัมปราคติจึงกำลังทับซ้อนอยู่กับโลกของความเป็นจริง ซึ่งนี่ก็คือจักรวาลวิทยาของคนในยุคโน้น ที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ผ่านทางปกรณัมความเชื่อนั่นเอง

 

แต่คำอธิบายเกี่ยวกับชมพูทวีปข้างต้น แม้จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ผู้สนใจเกี่ยวกับคติไตรภูมิ หรือโลกศาสตร์อย่างพุทธ แต่ก็เป็นคนละเรื่องเดียวกันเลยกับคติของฝ่ายพราหมณ์ ที่น่าจะมีมาก่อน

เพราะพวกพราหมณ์เขาเชื่อต่างออกไปจากชาวพุทธเลยนะครับว่า จักรวาลนั้นประกอบด้วย ทวีปวงแหวนทั้ง 7 ที่ถูกคั่นระหว่างกันด้วย มหาสมุทรที่น้ำในนั้นมีรสชาติแตกต่างกันไป ได้แก่ น้ำเค็ม, น้ำอ้อย, สุรา, น้ำมันเนย, นมเปรี้ยว, น้ำนม และน้ำจืด ตามลำดับ

สำหรับ “ชมพูทวีป” ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “สุทรรศนทวีป” นั้น ตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลาง โดยมีทวีปที่เหลือล้อมรอบอยู่ และในทวีปแห่งนี้จะมีต้นหว้าใหญ่ยักษ์ ที่มีผลขนาดเท่ากับช้างตัวโตเต็มวัย

และเมื่อผลหว้านั้นเน่าเปื่อยแล้ว ก็ร่วงหล่นลงบนที่สันของภูเขา น้ำที่ไหลออกจากผลหว้าเน่าจะไหลเอื่อยออกไป กลายแม่น้ำที่ชื่อว่า “ชมพูนที” ซึ่งจะไหลผ่านให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทั้ง 9 ดินแดน และ 8 บรรพต ของชมพูทวีปได้ดื่มกัน

(บางคัมภีร์ เช่น มารกัณเฑยปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ปุราณะเล่มสำคัญของพวกพราหมณ์ ระบุว่า ชมพูทวีปแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ไม่ต่างอะไรกับกลีบของดอกไม้ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นประธานอยู่ตรงกลาง โดยเปรียบได้กับเกสรของดอกไม้)

เรื่องลูกหว้าขนาดใหญ่ ที่กลายมาเป็นแม่น้ำนี้ ก็ปรากฏมีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ประเภทโลกศาสตร์ หรือไตรภูมิ ของชาวพุทธเช่นกัน แถมยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับเก่าแก่ที่สุดในพระพุทธศาสนาคือ “โลกปราชญปติ” อันเป็นคัมภีร์ของฝ่ายมหายาน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นก่อน พ.ศ.1100 เลยทีเดียว

ที่สำคัญก็คือคัมภีร์โลกศาสตร์เล่มนี้ ถูกแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นทั้งภาษาบาลี โดยพระสัทธรรมโฆษะเถระ ในชื่อว่า “โลกบัญญัติ” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลของคัมภีร์ประเภทไตรภูมิ ฉบับภาษาบาลีทั้งหมด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คำอธิบายเกี่ยวกับ “ชมพูทวีป” ของชาวพุทธเถรวาท ที่มีอยู่ในหนังสือไตรภูมิต่างๆ อย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่นั้น เป็นความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิมในศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

 

เรื่อง “ชมพูทวีป” ที่หมายถึง “ทวีปแห่งต้นหว้า” นี้คงจะมีความหมายอะไรซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งก็คงเกี่ยวพันกับอารยธรรมของอินเดียอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งทำให้นำมาใช้เรียกขอบข่ายจักรวาลวิทยาของตนเองเลยนั่นแหละ

แต่อะไรอย่างนี้ก็ย่อมเป็นเรื่องภายในของชาวชมพูทวีปเองนะครับ คนภายนอกจักรวาลวิทยาแบบเดียวกันนี้คงจะไม่รู้เรื่องไปด้วย

ดังนั้น คนนอกในยุคโบราณเขาจึงไม่ได้เรียกชาวอินเดียว่า ชาวชมพูทวีป อย่างที่พวกเขาเรียกตัวเอง

คำว่า “อินเดีย” (India) เป็นคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกดินแดนชมพูทวีป ตามชื่อของแม่น้ำ “สินธุ” ซึ่งก็คือแม่น้ำสายแรกที่พวกเขาได้พบเห็น เมื่อข้ามเทือกเขาฮินดูกูชทางตอนเหนือของอินเดีย ผ่านทางช่องเขาไคเบอร์ (Khyber pass) ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางจากพื้นที่บริเวณเอเชียกลาง เข้ามาสู่ขอบข่ายของความเป็นชมพูทวีป

พวกเปอร์เซียโบราณเรียกแม่น้ำสายดังกล่าว และดินแดนแถบนี้ว่า “ฮินด์” (Hind) ตามสำเนียงของภาษาดาร์ดิค (Dardic) ซึ่งเป็นภาษาถิ่นพวกพวกอินโด-อารยัน ในแถบไคเบอร์ ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานปัจจุบัน (แน่นอนว่า พวกที่อยู่ละแวกช่องเขาไคเบอร์ก็ด้วย) ที่ออกเสียงคำนี้ว่า “สีนท์” (sind)

นอกจากนี้ ยังมีดินแดนที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันตกของแคว้นปัญจาบ ในประเทศปากีสถานปัจจุบัน ซึ่งก็ทอดยาวไปตามเส้นทางของแม่น้ำสินธุ จนไปไหลออกมหาสมุทรที่ทะเลอาหรับ ซึ่งเรียกว่า แคว้นสินธ์ (Sindh, หรือที่มักจะสะกดกันว่า ซินด์) ในประเทศปากีสถาน แน่นอนว่าคำว่า “สินธ์” ในที่นี้ก็ย่อมมาจากคำว่า “สินธุ” ที่เป็นทั้งชื่อของแม่น้ำเช่นกัน

ต่อมาพวกกรีกก็เรียกชื่อชมพูทวีป ตามเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง แต่ออกเสียงตามสำเนียงตนเองว่า “อินโดส” (Indos) ก่อนที่จะกลายเป็นคำว่า “อินดัส” (Indus) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกแม่น้ำสินธุ ในโลกภาษาอังกฤษตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้

และเรียกชมพูทวีปว่า “อินเดีย” ซึ่งก็หมายถึงประเทศอันเป็นที่ตั้งของแม่น้ำอินดัส หรือแม่น้ำสินธุนั่นเอง

 

ลักษณะอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำสินธุ ในสายตาของคนนอก อย่างพวกเปอร์เซีย

โดยเฉพาะเมื่อคำว่า “ฮินด์” ตามสำเนียงของชาวเปอร์เซีย ยังกลายเป็นคำเรียกชาวอินเดียโดยรวมว่า “ฮินดู” (Hindu)

โดยไม่ได้หมายความเฉพาะเจาะจงไปถึงกลุ่มคนที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ก่อนที่จะมีความหมายถึงศาสนาพราหมณ์ และผู้ที่นับถือศาสนาที่ว่านี้ในภายหลัง เมื่ออินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ทั้งคำว่า “อินเดีย” และ “ฮินดู” จึงเป็นคำศัพท์ที่ฝรั่งเรียกตามพวกแขกเปอร์เซีย ที่เรียกแม่น้ำสินธุ ในสำเนียงของพวกตนเองว่า “ฮินด์” นั่นเอง