คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : มนตร์กฤษณะกาลีมีหรือไม่นะออเจ้า แต่กฤษณะ – กาลีนั้นมีแน่

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมไม่ได้ตามดูละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง

จนวันหนึ่งมีคนมาถามผมว่า “อาจารย์ๆ มนตร์กฤษณะกาลีนี่มีจริงไหม” อาจเห็นชื่อมนตร์แขกๆ กระมังเลยมาถามผม

ผมถึงต้องไปย้อนดูว่า เจ้ามนตร์กฤษณะกาลีที่ปรากฏในละครมันเป็นอย่างไร โชคยังดีที่ไม่ถึงกับติดละครเรื่องนี้ ก็เห็นสองพ่อลูกทำพิธีอะไรสักอย่าง สาปแช่งจนการะเกดทุรนทุรายขาดใจ

ที่ปรากฏในละคร ดูเหมือนผู้สร้างพยายามเอาอะไรแขกๆ เช่น การแกว่งประทีปอารตี ของประดับๆ อย่างแขก สร้อยประคำเม็ดรุทรากษะ และการบูชาไฟเข้ามาผสม ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า อันนี้ต้องมาจากแขกแน่ๆ

ในอินเดีย มีมนตร์สำหรับการสาปแช่งและทำร้ายศัตรูอยู่ ปรากฏแรกในคัมภีร์ อถรวเวท (ลางทีเขียนแบบไทยว่า อาถรรพเวท) ซึ่งเป็นพระเวทที่ปรากฏหลังสุดในบรรดาพระเวททั้งสี่ของศาสนาฮินดู (ฤคะ ยชุ สามะ และ อถรวะ) พระเวทนี้เน้น “วัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง” เช่น แช่งศัตรู อวยพรพืช ฯลฯ ต่างกับพระเวทอื่นที่มักเป็นบทร้อยกรองสรรเสริญเทพเจ้า

นักวิชาการภารตวิทยาท่านจึงว่า อถรวเวทน่าจะเป็นพระเวทที่ได้รับอิทธิพลจากชาวพื้นเมืองมากกว่าจะเป็นแนวคิดหรือผลงานของพวกอารยัน

 

จริงๆ แล้วการใช้อถรวเวทเพื่อการสาปแช่งจะมากน้อยเพียงใดก็ตอบได้ยาก เพราะการเรียนอถรวเวทมีน้อยกว่าพระเวทอื่นๆ มาก เนื่องจากพราหมณ์เอาไปใช้ทำพิธีกรรมได้ยาก แต่ที่เคยทราบมา การใช้มนตร์เพื่อการสาปแช่ง หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่าไสยศาสตร์นั้น มักเป็นวิถีชาวบ้านหรือบางครั้งก็อยู่ในหมวดที่เรียกว่า “ตันตระ”

“ตันตระ” เป็นเทคนิควิธีการในชาวบ้านที่มีลักษณะลึกลับหลายประการ เป็นต้นว่า มีการใช้มนตร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อบรรลุถึง “สิทธิอำนาจ” ได้แก่ อำนาจทิพย์ต่างๆ แนวคิดในทางตันตระ ถูกพัฒนาให้เข้ากับศาสนาในอินเดียไม่ว่าพุทธหรือฮินดู

แนวคิดทางตันตระที่ซับซ้อนผมจะยังไม่พูดถึงในที่นี้เพราะมันชวนให้เข้าใจผิดได้ง่าย แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้มนตร์นั้น คือถือว่า พยางค์ต่างๆ ในมนตร์มีพลังอำนาจของตนเอง บางครั้งมนตร์ทางตันตระจึงอยู่ในรูป “พีชะ” หรือพืชพันธุ์แห่งจิตซึ่งไม่อาจแปลออกมาเป็นความหมายได้

อำนาจอันนี้แหละที่บันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ ตามแต่จิตจะสั่งการไป

ในฮินดูแบ่งตันตระเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายขวา คือ ทักษิณจารี ซึ่งเป็นเพียงการนำตันตระไปประยุกต์ในบางส่วน เช่น การใช้มนตร์ และมุทรา อีกฝ่ายเรียก วามจารีหรือฝ่ายซ้าย มักประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในทางลับ และผิดจากขนบสังคม

แต่ไม่ว่าจะเป็นตันตระฝ่ายไหน เทพเจ้าของตันตระมักจะเป็นเจ้าแม่ ในปางที่ดุร้ายต่างๆ เช่น กาลี จัณฑี ทุรคา ตารา ตันตระจึงมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการนับถือเจ้าแม่หรือนิกายที่นับถือเจ้าแม่ของฮินดู

 

ทีนี้มายังเจ้ามนตร์ “กฤษณะกาลี” ผมลองค้นดูก็ไม่ปรากฏมนตร์ที่ชื่อกฤษณะกาลีของฮินดูแต่อย่างใด

กฤษณะนั้น นอกจากหมายถึงเทพเจ้าพระองค์หนึ่งคือพระกฤษณะแล้ว ที่จริงคำว่ากฤษณะเป็นคำคุณศัพท์ทั่วๆ ไปก็ได้ แปลว่า “ดำ” ส่วนกาลี จะหมายถึงเจ้าแม่กาลีที่มีวรกายสีดำหรือหมายถึงสีดำก็ได้เช่นกัน

ชะรอยคุณรอมแพงผู้แต่งนิยาย อาจต้องการให้รู้สึกว่า มนตร์ที่ใช้ในบทควรดูลึกลับ เป็นมนตร์ดำอะไรทำนองนี้ จึงใช้ชื่อกฤษณะกาลี เพื่อจะได้รู้สึกว่าเป็น “มนตร์ดำ” และนำชื่อกาลีมาใช้ เพราะนอกจากจะหมายถึงเทวีที่ดุร้ายเกี่ยวข้องกับความตายแล้ว คำว่ากาลีในความรู้สึกของคนไทยมักหมายถึงกาลีบ้านกาลีเมืองหรือความวิบัติฉิบหายอะไรทำนองนั้น

อันนี้ผมเดาล้วนๆ เลยนะครับ อยากรู้ว่าเป็นยังไงจริงๆ คงต้องไปถามคุณรอมแพงเอาเอง แต่ที่น่าสนใจคือ บรรดาเว็บไซต์ต่างๆ พากันไปหามนตร์มานำเสนอว่านี่มนตร์กฤษณะกาลีที่ตามๆ กัน

ผมตามไปดูแล้วก็พบว่า เป็นมนตร์เจ้าแม่กาลีบ้าง เป็นมนตร์พระกฤษณะที่เรียกกันว่า “มหามนตร์” บ้าง แต่รับรองว่า ไม่ใช่มนตร์ประเภทแช่งชักหักกระดูก หรือกฤษณะกาลีหรอกครับ

อีกทั้งมนตร์ประเภทนี้ในปัจจุบันยังเป็นเรื่อง “ลับๆ” คือไม่ปรากฏในสื่อและมักสอนกันเฉพาะศิษย์ใกล้ชิด

ดังนั้น มนตร์ที่ชื่อกฤษณะกาลี เท่าที่ผมสืบค้นไม่น่าจะมีนะครับ

 

ส่วนที่จั่วหัวไว้ว่า “แต่กฤษณะ – กาลีนั้นมีแน่” ก็ด้วยเหตุเรื่อง เจ้าชื่อมนตร์นี่แหละที่ทำให้ไปค้นจนเกิดความรู้ใหม่ว่า มีบางนิกายของฮินดูที่เชื่อว่าพระกฤษณะและพระแม่กาลีเป็นองค์เดียวกัน

พระกฤษณะเป็นเทพเจ้าหลักในไวษณวนิกาย ถือเป็นอวตารของพระวิษณุ แต่บางนิกายย่อยกลับถือว่า พระกฤษณะนี่แลเป็นรูปสูงสุดของพระวิษณุหรือพระเป็นเจ้าสูงสุด มีกายดำ หนุ่มหล่อและเจ้าชู้

ส่วนเจ้าแม่กาลีนั้น ที่จริงเป็นเทวีพื้นเมืองก่อนฮินดู (PreHindu) อันสะท้อนภาวะดุร้ายของโลกธรรมชาติ แต่เวลาต่อมาจะถูกสร้างเทวตำนานเกณฑ์ให้มีสามีคือพระศิวะ มีวรกายดำ ดุร้าย

นิกายของพวกพังคละนี้มีผู้นับถือไม่มาก เป็นตันตระพวกหนึ่งในแคว้นพังคละ พวกนี้นับถือพระแม่กาลีเป็นหลัก และมีเทวตำนานเล่าว่าพระเทวีกาลีได้ไปสมภพเป็นพระกฤษณะ

เหตุใดกาลีจึงต้องไปเกิดเป็นพระกฤษณะ มีเล่าไว้ บทความชื่อ From Kali to Krishna : A love song ตีพิมพ์ใน Speaking Tree, February 05, 2012 เขียนโดย Dr.Devdutta นักปกรณัมวิทยาคนโปรดของผม

ขอเก็บความมาดังนี้

 

ทั้งพระกฤษณะและเทวีกาลีล้วนมีกายดำ และต่างก็มีคู่ครองที่ขาวดุจการบูน สำหรับพระแม่กาลีคือพระศิวะ สำหรับพระกฤษณะคือราธา

ในคัมภีร์ฝ่ายตันตระส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “อาคม” มักเป็นบทสนทนาระหว่างพระแม่ปารวตีและพระศิวะ โดยพระแม่ปารวตีเป็นผู้ถาม พระศิวะเป็นผู้ตอบ

คราหนึ่งพระปารวตีถามพระศิวะว่า “ความรักเป็นฉันใด?” พระศิวะสรวลแล้วตรัสตอบ

“คราเธอมาสู่ฉันในรูป อันนปูรณา (พระแม่ข้าวบริบูรณ์) เธอเลี้ยงดูฉันและมิขอสิ่งใดตอบแทน ฉันรู้สึกถึงความรัก”

คราเมื่อเธอมาสู่ฉันในรูปเทวี กามขยา เทวีแห่งความสุขสม เธอตระกองกอดฉันไว้อย่างไม่มีใครเหมือน ฉันรู้สึกถึงความรัก แต่ยังมีความรักในรูปแบบอื่นๆ อีก”

“เมื่อเธอมาสู่ฉันในรูปเทวีเคารี เทวีแห่งธัญญาหารและครอบครัว เธออ่อนโยน บอบบาง เธอยอมให้ฉันควบคุม ฉันร้องขอสิ่งต่างๆ จากเธอ เธอให้โดยไม่มีเงื่อนไข เราเล่นสนุกยิ้มหัวกัน ฉันรู้สึกถึงความรัก แต่ยังมีความรักในรูปอื่นๆ อีก”

“ยามเธอปรากฏแก่ฉันในรูปทุรคา พรั่งพร้อมด้วยสรรพาวุธมากมาย เธอปกป้องฉัน และฉันปลอดภัย ฉันรู้สึกถึงความรัก แต่ก็ยังมีความรักแบบอื่นอีก”

“เธอมาสู่ฉันในรูปกาลี เปลือยเปล่าและผมสยาย เต้นเร่าอยู่บนร่างฉัน ทำให้ “ศว” (ศพ) กลายเป็น “ศิวะ” เธอปรากฏอย่างที่เธอเป็น ทั้งงดงาม (ลลิตา) และดุร้าย (ไภรวี) เธอทำให้ฉันมองเห็นตนเอง มองเห็นความจริงอย่างที่เป็น ดวงตาที่สามซึ่งซ่อนเร้นอยู่ก็เปิดออก เธอจึงเป็นสรัสวตีของฉัน และการร่ายรำของเธอทำให้ฉันกลายเป็น นัฏราชา เจ้าแห่งการร่ายรำ และฉันรู้สึกถึงความรัก”

ความรักนั้นมีทั้งเพื่อร่างกายอันนำความพอใจมาสู่ ความรักเพื่อหัวใจอันนำความปลอดภัยมาให้และความรักเพื่อศีรษะอันนำปัญญามาเยือน เธอสอนฉันถึงความรักทั้งสามอย่างนี้

ครั้นแล้วพระเทวีผู้มีความพอใจ จึงให้พรแก่พระศิวะ พระศิวะร้องขอว่า “ในเมื่อเธอคือกาลีผู้มีกายดำ ฉันปรารถนาจะได้ตอบแทนความรักอย่างที่เธอได้กระทำมาบ้าง ฉันจะขอลงไปเกิดเป็นเทวีราธาผู้กายขาวเหมือนฉัน และเธอจงลงไปเกิดเป็นพระกฤษณะผู้ดำงาม”

ดุจกาลีทำให้พระศิวะกลายเป็นนัฏราช ราธาก็ทำให้กฤษณะกลายเป็นผู้เป่าขลุ่ยไพเราะ ในขณะที่กฤษณะเป็นรักแสนโรแมนติก ราธาก็ทำให้กฤษณะเข้าใจขอบเขตของสังคมและบทบาทของสามี-ภรรยา

บทบาทของกาลีศิวะและราธากฤษณะจึงสลับกันไปมา เพื่อต่างฝ่ายต่างจะได้เรียนรู้ความรักของกันและกัน

เขียนเรื่องมนตร์กฤษณะกาลี ไฉนจู่ๆ มาออกเรื่องโรแมนติกในเทวตำนานอินเดียได้ละนี่

นะออเจ้าเอย