จรัญ มะลูลีม / สุรินทร์ พิศสุวรรณ : จากการมาถึงการอำลาจาก (3)

จรัญ มะลูลีม

ผู้แทนฮัจญ์ทางการ

นอกจากจะเคยเป็นประธานจัดงานเมาลิดกลางแล้ว ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนฮัจญ์ทางการอีกด้วยในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ผมซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยพบว่า ดร.สุรินทร์ ทำหน้าที่ผู้แทนฮัจญ์ทางการได้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นการประสานกับทางการของซาอุดีอาระเบียในเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวไทยมุสลิม การเยี่ยมเยียนผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ชาวไทยในที่พักต่างๆ การประสานการดูแลผู้ป่วยขณะประกอบพิธีฮัจญ์

และเมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนคนไทยทั้งที่มาจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือและอีสานก็จะได้รับการต้อนรับด้วยดี

การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาแล้วยังเปรียบเสมือนการเตรียมตัวตายก่อนจะตายจริง

สำหรับบุรุษจะนุ่งขาวห่มขาวที่เรียกว่าการครองอิห์รอม (ผ้าจำนวนสองชิ้นที่ใช้ครองกายในช่วงประกอบพิธีฮัจญ์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติตามข้อห้ามในระหว่างการทำพิธี)

เป็นการเอาหัวโขนแห่งชีวิตจริงออกไปเพื่อดื่มด่ำกับพิธีการทางศาสนา ซึ่งการประกอบพิธีฮัจญ์นับเป็นประสบการณ์ทางจิตที่สำคัญของชาวมุสลิมที่แสดงถึงความเป็นภราดรภาพ และการได้พบปะกับผู้คนจากทุกมุมโลก

เป็นการแสดงถึงความศรัทธาในพระผู้อภิบาลผู้ทรงมหิทธานุภาพ

 

สําหรับชาวมุสลิมแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกๆ คนผู้มีความสามารถที่จะจาริกไปยังนครมักกะฮ์ควรจะทำเช่นนั้น

เขาสามารถไปเยือนในเวลาใดๆ ของปีก็ได้ (เรียกว่าอุมเราะฮ์-“umra) แต่การไปประกอบพิธีฮัจญ์ในความหมายที่สมบูรณ์ก็คือการไปที่นั่นพร้อมกับชาวมุสลิมอื่นๆ ในเวลาพิเศษของปีคือในเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Dhu”l-Hijja) ผู้ที่ไม่เป็นอิสระหรือมีจิตใจไม่ปกติหรือมิได้เป็นเจ้าของทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็น ผู้ที่มีอายุหนึ่งและสตรีผู้ไม่มีสามีหรือผู้ปกครองที่จะไปกับพวกเธอด้วยก็ไม่จำเป็นที่จะไป

ในจุดจุดหนึ่งใกล้จะถึงนครมักกะฮ์ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะทำตัวเองให้บริสุทธิ์โดยการอาบน้ำละหมาด สวมใส่เสื้อผ้าสีขาวซึ่งทำมาจากผ้าผืนเดียว (อิห์รอม – ihram) และประกาศความตั้งใจของเขาที่จะประกอบพิธีฮัจญ์

โดยการอุทิศตนชนิดหนึ่งว่า

“ข้าพระองค์อยู่ที่นี่ โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าฯ ข้าพระองค์อยู่ที่นี่ พระองค์ผู้ไม่มีสิ่งใดคู่เคียงได้ ข้าพระองค์อยู่ที่นี่แล้วแท้จริง การสรรเสริญและความเมตตาและอาณาจักรนั้นเป็นของพระองค์”

 

ที่ใจกลางของมัสญิดหะรอม มีกะอ์บะฮ์อันเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัดได้ทำให้เป็นศูนย์กลางของความศรัทธาของมุสลิม โดยมีหินที่ฝังอยู่ที่กำแพงด้านหนึ่งของกะอ์บะฮ์

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะเดินไปรอบๆ กะอ์บะอ์เจ็ดรอบ และสัมผัสหรือจุมพิตหินดำ (Black Stone)

เมื่อพวกเขาเดินผ่านไป ในวันที่แปดของเดือนนั้น พวกเขาจะออกไปจากเมืองไปทางทิศตะวันออก มุ่งสู่หุบเขาอะรอฟะฮ์ (“Arafa)

ที่นั่นพวกเขาจะยืนอยู่เป็นเวลาหนึ่ง นี่เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่จะเป็นของพิธีฮัจญ์ขากลับสู่นครมักกะฮ์ คือที่ทุ่งมินาจะมีการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์อีกสองอย่างคือ การขว้างหินไปที่เสาซึ่งเป็นเครื่องหมายของมารร้าย และการอุทิศสัตว์

นี่เป็นเครื่องหมายการสิ้นสุดระยะเวลาของการอุทิศตนซึ่งเริ่มต้นด้วยการสวมใส่ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะถอดผ้าอิห์รอมออกและกลับไปสู่วิถีชีวิตธรรมดา

ในหลายๆ แนวทางการประกอบพิธีฮัจญ์ คือเหตุการณ์สำคัญของปี หรือบางทีอาจจะเป็นเหตุการณ์สำคัญของชีวิตหนึ่ง ซึ่งความสามัคคีของชาวมุสลิมที่มีต่อกันและกันได้รับการแสดงออกอย่างเต็มที่

ในความรู้สึกหนึ่งมันเป็นภาพย่อๆ ของการเดินทางทุกชนิด

ผู้ที่ไปละหมาดในนครมักกะฮ์อาจอยู่ศึกษาต่อในนครมะดีนะฮ์ พวกเขาอาจจะนำเอาสินค้าติดตัวมาด้วยเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าเดินทาง

พวกพ่อค้าจะเดินทางเป็นกองคาราวานเพื่อขายสินค้าไปตามทางหรือในเมืองอันประเสริฐ การประกอบพิธีฮัจญ์ยังเป็นตลาดสำหรับแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดที่มาจากทั่วทุกส่วนของโลกอิสลามด้วย

 

นักเดินทางผู้มีชื่อเสียง คือ อิบนุ บะตูเฏาะฮ์ (Ibn Battuta) ได้กล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างในความหมายของประสบการณ์แห่งการไปทำฮัจญ์ไว้ดังนี้

ในบรรดาการกระทำอันน่าทึ่งของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้นเป็นดังนี้ นั่นคือพระองค์ทรงสร้างดวงใจของมนุษย์ขึ้นพร้อมด้วยความปรารถนาโดยสัญชาตญาณ เพื่อแสวงหาสถานที่อันบริสุทธิ์พึงเคารพเหล่านี้

และความใฝ่ฝันที่จะได้อยู่ ณ ที่ทางอันเรืองรองเหล่านั้นและทรงให้ความรักต่อสิ่งเหล่านั้นเหนือหัวใจของมนุษย์ ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้มันสว่างไสวได้ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับครอบงำจิตใจทั้งหมดของพวกเขา หรือไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้มันหยุดลงได้นอกจากความโศกเศร้าในยามที่ต้องแยกจากสิ่งเหล่านั้นมา

ฮัจญ์ คือการกระทำที่เป็นการเชื่อฟังต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าตามที่แสดงไว้ในพระมหาคัมภีร์กุรอาน

“เป็นหน้าที่ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องกระทำ แต่พระผู้เป็นเจ้าในอันที่จะมายังบ้านของการประกอบพิธีฮัจญ์ หากเขาสามารถหาทางมาได้”

นับเป็นการแสดงความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว และยังเป็นการแสดงออกให้แลเห็นเอกภาพของอุมมะฮ์ (ประชาคมมุสลิม) อีกด้วย ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จำนวนไม่ต่ำกว่าสองล้านคนจากโลกมุสลิมจะมาประกอบพิธีฮัจญ์ในเวลาเดียวกัน

พวกเขาจะเดินไปรอบๆ กะอ์บะฮ์ด้วยกัน ไปยืนอยู่ที่ทุ่ง “อะรอฟะฮ์” ขว้างมารร้ายและอุทิศสัตว์ของพวกเขา ในการกระทำเช่นนั้นพวกเขาจะมีความเชื่อมโยงกับโลกอิสลามทั้งหมด

การจากไปและกลับของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์มีการแสดงเครื่องหมายโดยการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในบันทึกเหตุการณ์ของท้องถิ่น ในสมัยหลังๆ ซึ่งอย่างน้อยก็ได้แสดงไว้ตามกำแพงของบ้านต่างๆ ในเวลาที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์อุทิศสัตว์ของพวกเขาที่ทุ่งมินา (Mina) นั้น ครอบครัวชาวมุสลิมทุกครอบครัวก็จะฆ่าสัตว์เช่นเดียวกัน เป็นการทำให้เกิดเทศกาลอีกเทศกาลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของปี นั่นคือเทศกาลแห่งการพลี (อิดิลอัฏฮา – “id al-adha)

สัตว์ที่มาจากการเชือดพลีจำนวนมหาศาลนี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกส่งไปยังประเทศยากจน หลายประเทศ

สำหรับอิสลามเนื้อสัตว์ถูกกำหนดมาให้เป็นอาหารของมนุษย์