นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาติพันธุ์และอาณานิคม

นักท่องเที่ยวซึ่งแต่งชุดไทยไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา สะท้อนความโชคดีของไทยที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของฝรั่ง

ทีวีสัมภาษณ์ครอบครัวหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากดินแดนที่มักเรียกว่า “ล้านนา” ในปัจจุบัน ในสมัยอยุธยา ล้านนาเป็นรัฐอีกรัฐหนึ่งต่างหากจากอยุธยา บางครั้งก็รบกับอยุธยา ในฐานะรัฐอิสระบ้าง ในฐานะประเทศราชของกษัตริย์พม่าบ้าง บางครั้งก็ตกเป็นประเทศราชของอยุธยา และถูกเกณฑ์ไปรบกับคนอื่นบ้าง

คุณผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์ทางทีวีไม่มีสำนึกถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้เลย เธอรู้สึกเต็มเปี่ยมว่าทั้งเครื่องแต่งกายและอยุธยาคือรากเหง้าของ “ความเป็นไทย” ที่เธอภาคภูมิใจในฐานะส่วนหนึ่งของตัวเธอ

ยิ่งกว่านี้ ผมเชื่ออย่างไม่น่าจะผิดว่า จำนวนไม่น้อยของนักท่องเที่ยวในชุดไทยเหล่านี้เป็นลูกเจ๊ก, หลานเจ๊ก, หรือเหลนเจ๊ก แต่เขาเหล่านั้นไม่มีสำนึกนี้เลย ทุกคนรู้สึกใน “ความเป็นไทย” อย่างเต็มเปี่ยม

และนี่คือความโชคดีของประเทศไทยที่ผมพูดถึงข้างต้น เพราะมันไม่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศอื่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ยกเว้นไทยและฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ต้องเตือนไว้ด้วยว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ดีอย่างเดียวหรือเสียอย่างเดียว ฉะนั้น การไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการก็นำมาซึ่งโชคร้ายในบางเรื่องด้วย

แม้ว่าลาลูแบร์จะกล่าวว่าในปลายศตวรรษที่ 17 คนในอยุธยาเรียกตัวเองว่า “คนไทย” แต่ผมเข้าใจว่า ความเป็น “คนไทย” ของคนอยุธยาไม่ได้มีไว้ต่อรองอำนาจและผลประโยชน์เป็นหลัก แต่เพื่อจะบอกว่าตัวไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกับมอญ, เขมร, ลาว, เจ๊ก, ฝรั่ง, แขก ฯลฯ เท่านั้น ทั้งหมดล้วนเป็นข้าแผ่นดินเหมือนกัน ความเป็น “คนไทย” ไม่ได้ทำให้เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่ามอญ, เขมร, ลาว, ฯลฯ เช่น ต่างก็ทำนาบนที่ดินผืนเล็กๆ ของตนเหมือนกัน

ไม่ต่างจากชาวเวียดซึ่งเรียกตนเองว่า “กินห์” (Kinh) คือเป็นคนเมือง แตกต่างจากคนที่อยู่ในป่าดงพงพีซึ่งไม่ใช่พวกเดียวกัน

แต่หลักหมาย (marker) ที่คนโบราณใช้ในการจัดตนเองเข้ากลุ่มไหนนั้นมักเป็นบ้านเกิด หรือเป็นคนเมืองไหนมากกว่า เพราะหลักหมายอย่างนี้ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มากกว่า เพราะฉะนั้น กลุ่มแบบ “ไทย” หรือ “กินห์” หรือ “พม่า” หรือ “ชวา” จึงเป็นกลุ่มปลายเปิด ไม่มีเส้นพรมแดนชัดเจน คุณสมบัติที่ใช้กันโดยมากคือศาสนาและภาษา ในฟิลิปปินส์เมื่อพวก “ซังเล” (จีน) ไม่อาจกลับเมืองจีนได้ในบางช่วง จึงพากันหันมาถือศาสนาคาทอลิก แต่งงานกับชาวพื้นเมืองซึ่งทำให้ลูกหลานพูดภาษาตากาล็อกได้คล่อง (และอาจพูดฮกเกี้ยนไม่เป็น) รัฐบาลสเปนก็จัดคนเหล่านี้เป็นอินดีโอส์ หรือชาวพื้นเมือง

ทั้งลูกเจ๊กเหล่านี้ก็เริ่มมีสำนึกเดียวกับชาวพื้นเมืองด้วย

โดยสรุปก็คือ สำนึกทางชาติพันธุ์ของคนในภูมิภาคนี้ ล้วนเป็นกลุ่มปลายเปิด ผู้คนเลือกจะเข้าจะออกได้ตามแต่อันไหนจะให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน คนอยุธยาที่บอกลาลูแบร์ว่าเป็น “คนไทย” นั้น ที่จริงอาจมีพ่อเป็นเจ๊ก มีแม่เป็นเขมรหรือมอญก็ได้ เพราะชาติพันธุ์นั้นไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ แต่เป็นสำนึกทางวัฒนธรรมต่างหาก จึงเป็นกลุ่มทางสังคมที่ไม่มีพรมแดนตายตัวนัก

ไม่มีพรมแดนตายตัวจนถึงยุคจักรวรรดินิยมรุ่นใหม่ (คือไม่ได้ยึดเมืองท่าบนเส้นทางเดินเรือเพียงอย่างเดียว แต่ขยายไปครอบครองดินแดนส่วนใน และมุ่งหากำไรทางเศรษฐกิจจากการปกครองชาวพื้นเมืองอาณานิคม) ซึ่งเกิดในปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ลงมา เหตุที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวถูกปิดลงนั้นมีหลายอย่าง

อันที่จริงเมืองท่าของภูมิภาคนี้ย่อมประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาแต่โบราณ เพราะเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าจากแทบทุกมุมโลก แต่ระบบอาณานิคมแบบใหม่ซึ่งไม่ได้ยึดแต่เมืองท่า ยังรวมถึงดินแดนส่วนในด้วย ได้แบ่งแยกหน้าที่ทางเศรษฐกิจตาม “เชื้อชาติ” (คำใหม่และแนวคิดใหม่ซึ่งเพิ่งมีในยุโรป) ของประชาชน โดยมากชาวพื้นเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ของคนส่วนใหญ่มักถูกผูกไว้กับการผลิตด้านเกษตรกรรม เช่น พม่า, ชวา, เวียด, มลายู ฯลฯ เป็นชาวนาผลิตข้าวส่งออกบ้าง เป็นแรงงานให้แก่พืชเศรษฐกิจในชวาบ้าง ผลิตข้าวเพื่อเลี้ยงตนเองในคาบสมุทรมลายูบ้าง

คนจีนซึ่งเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ตั้งแต่โบราณถูกกันไว้เป็นแรงงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ, พ่อค้ารายย่อย, “นายหัว” ซึ่งลงทุนด้วยแรงงานกุลีเพื่อดูดซับทรัพยากรแร่ธาตุป้อนแก่ผู้ส่งออกชาวตะวันตก และที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นนายหน้าของจักรวรรดินิยมตะวันตก ในการขูดรีดแรงงานของชาวพื้นเมือง เป็นนายหน้าโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง เพราะจีนกุมการค้ารายย่อย การกระจายสินค้าของพ่อค้าตะวันตกจึงต้องผ่านพ่อค้าจีน

ในมลายู ชาวอินเดียเป็นแรงงานไร้ฝีมือในสวนยาง ในพม่าเป็นแรงงานท่าเรือและโรงสี แต่ก็มีชาวอินเดียที่มีการศึกษาแบบตะวันตกและชาวอินเดียที่มีทุนถูกดึงเข้าสู่อาณานิคมเหมือนกัน เพื่อทำหน้าที่ในราชการอาณานิคม หรือเป็นนายทุนเงินกู้และการค้าในเขตเมืองซึ่งเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมตะวันตก

แน่นอนว่าฝรั่งย่อมนั่งอยู่บนสุดของการกระจายทรัพย์และเกียรติยศในอาณานิคม

ความคิดเรื่องเชื้อชาติ และคติ “การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด” หรือลัทธิดาร์วินทางสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ฝรั่งเจ้าอาณานิคมไม่ค่อยชอบการผสมกลมกลืนทางเชื้อชาตินัก ลูกครึ่งฝรั่งซึ่งเคยมีสถานะทางสังคมสูง ตกมาถึงสมัยนี้กลายเป็นคนในสถานะต่ำลงอย่างมาก การแบ่งงานกันทำตามเชื้อชาติ ก็ทำให้เจ้าอาณานิคมไม่อยากเห็นการผสมปนเประหว่างเชื้อชาติต่างๆ ในอาณานิคม เพราะมันจะสร้างความปั่นป่วนทางสังคมและเศรษฐกิจให้แก่อาณานิคม

อุษาคเนย์ซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่กลืนคนต่างวัฒนธรรมและชาติพันธุ์มามากในอดีต ก็กลายเป็นดินแดนที่มีคนหลายชาติพันธุ์ซึ่งไม่ค่อยมีอะไรเกี่ยวข้องกันในชีวิต นอกจากได้พบกันอย่างสั้นๆ ในตลาด นโยบายของเจ้าอาณานิคมและการเข้าไปยึดถือลักษณะทางชาติพันธุ์อย่างแน่นแฟ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวชาตินิยม (ทั้งในและนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีส่วนทำให้จีนยังเป็นจีน, อินเดียยังเป็นอินเดีย, ชานยังเป็นชาน, กะฉิ่นยังเป็นกะฉิ่น, เขมรไม่ใช่เวียด และจามไม่ใช่เขมร ฯลฯ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ของภูมิภาคนี้แข็งตัว ไม่เป็นปลายเปิดอีกต่อไป

เรามักอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากเรือกลไฟซึ่งขนผู้หญิงจีน, ผู้หญิงอินเดียเข้ามายังภูมิภาค จึงไม่จำเป็นต้องแต่งงานกับหญิงพื้นเมืองอีกต่อไป ซึ่งก็คงมีส่วนจริงอยู่ด้วย แต่อธิบายไม่ได้หมดเพราะอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในภูมิภาคอยู่แล้ว ก็แข็งตัวขึ้นด้วยไม่ต่างจากจีนและอินเดีย

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า วิชาการด้านการแบ่ง “เชื้อชาติ” ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างมากโดยนักวิชาการชาวเยอรมัน ก็มีส่วนทำให้สำนึกทางชาติพันธุ์ของชาวพื้นเมืองในอุษาคเนย์แข็งตัว (หรือในทางตรงกันข้ามขยายตัว) ขึ้นอย่างมากเหมือนกัน

การสำรวจสถิติประชากรที่เจ้าอาณานิคมทำกันในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 มักใช้เชื้อชาติเป็นเกณฑ์ (เพราะเชื้อชาติถูกใช้เป็นฐานในการแบ่งงานกันทำดังที่กล่าวแล้ว) มีพม่า, ชวา, มลายู, เวียด, จาม, กะเหรี่ยง, กะฉิ่น, ชาน, กวย, ข่า,จีน, อินเดีย, อาหรับ, ฯลฯ สักเท่าไร กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ใหม่ซึ่งผู้คนพากันไปยึดถือ เพราะข้าราชการอาณานิคมที่แบ่งย่อยกลุ่มคนเหล่านี้ ต้องอธิบายด้วยว่า แต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์ทางภาษา, เครื่องแต่งกาย, ศาสนา, ฯลฯ ที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร จึงเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่มีเนื้อหามาเสร็จ ไม่ใช่มีแต่ชื่อเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเกิดสำนึกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตายตัวในหมู่ชนกลุ่มน้อยบนที่สูงเท่านั้น ว่ากันไปที่จริงแล้ว แม้แต่ชื่อที่ใช้เรียกประชากรส่วนใหญ่ ก็เป็นชื่อที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม ฟิลิปปินโนเป็นชื่อที่นักชาตินิยมเลือกใช้ หลังจากที่เคยเลือกใช้ชื่อ “มลายู” มาก่อน อินโดนีเซียก็เช่นกัน นักชาตินิยมรุ่นแรกรับเอาคำว่า “อินดีส” ของดัตช์มาใช้ก่อน (เช่น Indisch Partij ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ.1908) คำว่า “เวียด” นั้น ฝรั่งเศสไม่ชอบเลย เพราะมันรวมประชาชนในโคแชงชีน (เวียดนามตอนใต้ในสามเหลี่ยมปากน้ำโขง), อันนัม และตังเกี๋ยไว้เป็นพวกเดียวกันหมด แต่เพราะเหตุดังนี้แหละที่ทำให้นักชาตินิยมเรียกประเทศตนเองว่าเวียดนาม

คำว่า “มลายู” แม้มีใช้กันมาแต่โบราณ หากมิได้เป็นชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ แม้แต่ชื่อ Sejarah Melayu หรือประวัติศาสตร์-มลายูก็เป็นชื่อที่คนอังกฤษ (Sir Stamford Raffles) ตั้งขึ้นแก่หนังสือซึ่งน่าจะแปลว่า “พระราชพงศาวดาร” เท่านั้น (ชื่อเดิม-Peraturan Segala Raja-raja) ความหมายเดิมของคำว่ามลายูคือคนที่ถวายความจงรักภักดีแก่สุลต่านแห่งมะละกา แต่อังกฤษในศตวรรษที่ 19 เอาคำนี้มาใช้เป็นชื่อของชนชาติ นักวิชาการเยอรมันซึ่งศึกษาความเชื่อมโยงทางภาษา ชี้ว่าภาษาตระกูลนี้ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่หมู่เกาะมาดากัสการ์มาทางตะวันออกจนถึงหมู่เกาะอื่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ฉะนั้น “มลายู” จึงกลายเป็นชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติที่ใหญ่มาก

โฮเซ่ ริซัล แห่งฟิลิปปินส์รับเอาความคิดนี้ไป และเรียกประชาชนในหมู่เกาะของตนว่าชาวมลายู สมาคมที่เขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งขึ้นในปารีสคือ Indios Bravos มีมติลับว่า จะพยายามปลดปล่อยประชาชนในฟิลิปปินส์ก่อน, แล้วก็ไล่มาปลดปล่อยประชาชนในบอร์เนียว, อินโดนีเซีย และในรัฐมลายูบนคาบสมุทร เพราะดินแดนทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นของชาว “มลายู” ทั้งสิ้น

การต่อสู้เพื่อเอกราชของรัฐในภูมิภาคนี้ รับเอาส่วนหนึ่งของมรดกอาณานิคมมาด้วย นั่นคือกลุ่มชาติพันธุ์หลักซึ่งนำการต่อสู้มักจะมีปลายปิด ทั้งลูกครึ่งฝรั่งและจีนกับเชื้อสายไม่มีส่วนร่วมในขบวนการ ชาติพันธุ์กลุ่มน้อยเกือบทั้งหมดในพม่าไม่มีส่วนในการต่อรองเพื่อเอกราชของพม่า เช่นเดียวกับชาวเวียดในกัมพูชาและลาว หรือชาวเขมรและจามในเวียดนาม

หลังได้รับเอกราชแล้ว ความพยายามที่จะผสมกลมกลืนคนส่วนน้อยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองมักไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุผลที่ไม่เคารพอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยบ้าง ด้วยเหตุที่ชาติพันธุ์กลุ่มน้อยไม่ไว้วางใจชาติพันธุ์หลักบ้าง จีนและอินเดียเป็นคน “อื่น” อย่างไม่จืดจาง

นโยบายอาณานิคมที่แบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่ม “เชื้อชาติ” ผู้ปกครองไทยร่วมสมัยก็นำมาใช้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีความเข้มข้นเท่ากับเจ้าอาณานิคม ไม่ว่าในสมัยใดหลักหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมักค่อนข้างเปิด ผ่านศาสนาและการแต่งงาน ชาตินิยมจีนทำให้ไทยระแวงเจ๊กจีนในประเทศอยู่ช่วงหนึ่งที่ยาวนานพอสมควร เช่นเดียวกับเจ้าอาณานิคมและนักชาตินิยมในประเทศอุษาคเนย์อื่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังระแวงสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ความระแวงเช่นนั้นลดน้อยลงในไทย จนกระทั่งเจ๊กส่วนใหญ่ในเมืองไทยปัจจุบันมักลืมไปแล้วว่าตัวเป็นเจ๊ก

ที่เป็นเช่นนี้ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของความโชคดีที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้น เพราะอย่างน้อยผู้ปกครองไทยก็เป็นคนในกลุ่มเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์หลัก และเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ๊กจีนมามาก แต่ไม่อาจกีดกันจีนออกไปจากอำนาจทางการเมืองได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนเจ้าอาณานิคมฝรั่ง

ฟิลิปปินส์ก็โชคดีเหมือนไทย เพราะขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติของจีน หรือก่อนชาตินิยมจีนจะแพร่หลายและตั้งมั่นขึ้นได้ ส่วนใหญ่ของผู้นำชาตินิยมฟิลิปปินส์จึงเป็นเชื้อสายจีนเกือบทั้งนั้น เพราะไม่ทันต้องระแวงจีนเหมือนขบวนการชาตินิยมในประเทศอื่น

แต่ถึงจะโชคดีอย่างไร ทั้งไทยและฟิลิปปินส์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการกลืนกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในภาคใต้ (ถ้าถือตาม “เชื้อชาติ” ก็เป็นมลายูเหมือนกันกับชาวฟิลิปปินโนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก) ทำไมเมื่อชาวเขาแต่งชุดประจำเผ่าแล้วประกาศว่าเขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง คนไทยจึงรับได้โดยไม่มีคำถามอะไร แต่หากชาวมลายูมุสลิมทำอย่างเดียวกันบ้าง มักเกิดคำถามขึ้นในหมู่คนไทยเสมอ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ในฟิลิปปินส์พวกโมโร (คำเดียวกับมัวร์ คือมุสลิม) ก็ถูกตั้งคำถามอย่างเดียวกัน แต่ที่นั่นเขาอธิบายกันว่าเป็นเพราะความต่างทางศาสนา ความต่างทางศาสนาใช้อธิบายกรณีของไทยและมลายูมุสลิมไม่ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ามุสลิมในภาคกลางจะเป็นอะไรอื่นไปได้ นอกจากเป็นคนไทย ร่วมอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน