เผือกร้อนในมือจีน”เกาหลีเหนือ” แกะดำ ในภูมิภาค ทำไมพี่เบิ้มเอเชียไม่ออกโรง?

การตั้งคำถามในบทวิเคราะห์ของ เบน ดูลีย์ เหยี่ยวข่าวจากสำนักเอเอฟพีว่า จะแก้ปัญหาอย่างเกาหลีเหนือกันอย่างไร?

หลังจากเกาหลีเหนือทำการทดสอบนิวเคลียร์สั่นคลอนความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีอีกเป็นครั้งที่ 5 ไปเมื่อเร็วๆ นี้

ซึ่งเป็นการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดนับจากเกาหลีเหนือเริ่มลงมือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 2549

tjrjhrejhne

เป็นคำถามหนักใจที่เหมือนตัวแสดงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเวทีปัญหานี้ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน หรือองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดูจะอับจนหนทางในการจะจัดการกับเกาหลีเหนือให้ปฏิบัติตามกรอบกติกามารยาทของประชาคมระหว่างประเทศ

ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาตัวแสดงที่เกี่ยวข้องได้งัดเอาทั้งไม้แข็งและไม้นวมขึ้นมากำราบเกาหลีเหนือแล้วก็ตาม

บทวิเคราะห์ของดูลีย์อ้างความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนที่เห็นในแนวทางเดียวกันว่าการที่เกาหลีเหนือยังกระทำการท้าทายด้วยการทดสอบนิวเคลียร์ที่มีอาณุภาพรุนแรงขึ้นอีก

นั่นแสดงให้เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ลงดาบเกาหลีเหนือมาแล้วถึง 5 ชุดของยูเอ็น ไม่ได้มีประสิทธิผลมากเพียงพอที่จะยับยั้งเกาหลีเหนือไม่ให้กระทำสิ่งยั่วยุและคุกคามสันติสุขความมั่นคงในภูมิภาคได้

การที่จะไปหวังพึ่งจีนในฐานะเป็นสหายสนิทใกล้ชิดเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคบค้าสมาคมกับเกาหลีเหนืออยู่ เพื่อให้ช่วยปรามหรือเกลี้ยกล่อมเกาหลีเหนือให้หันกลับมาสู่เวทีเจรจากัน ก็ดูจะพึ่งพาไม่ได้

เพราะดูท่าจีนยังไม่ยินดีเต็มใจทำหรือเข้าไปแทรกแซงกิจการในเกาหลีเหนือที่อยู่ใต้บังเหียนของ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือรุ่น 3 ที่ยังถูกมองว่ายังอ่อนประสบการณ์อยู่ได้

นั่นเป็นเพราะเหตุใด?

ที่จีนในฐานะที่เป็นชาติมหาอำนาจโลกและในภูมิภาคเอเชียและเป็นประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ยังไม่ยอมลงมือสั่งสอนเกาหลีเหนืออย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที แม้หน้าฉากจีนเองจะออกมาแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจแทบทุกครั้งต่อการท้าทายทดสอบอาวุธอานุภาพรุนแรงของเกาหลีเหนือไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม

มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญประการหนึ่งว่าเหตุที่จีนยังยั้งมือไว้กับเกาหลีเหนือ เพราะเกรงว่าหากลงมือทำอะไรผลีผลาม จีนเองนั่นแหละที่จะต้องแบกรับภาระหนักต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ

โดยเฉพาะการไหลบ่าของผู้อพยพ และจะเผชิญความท้าทายทางอำนาจจากการดำรงอยู่ของกองกำลังสหรัฐในภูมิภาคที่จะประชิดเขตแดนของจีนหากเกิดการรวมกันของเกาหลีขึ้นมา

มีข้อมูลสนับสนุนจาก แมตธิว คาร์นีย์ ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์ ซึ่งลงพื้นที่เข้าไปเก็บข้อมูลถึงเมืองตานตง เมืองชายแดนของจีนติดกับเกาหลีเหนือ บอกว่าเมืองตานตงเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เกาหลีเหนือยืนหยัดอยู่ได้แม้จะเผชิญการถูกคว่ำบาตรจากโลกภายนอก

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่าจีนไม่มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่จะยุติการทำการค้ากับเกาหลีเหนือในเมืองตานตงที่แม้จะเป็นการค้าใต้ดิน

เหตุเพราะจีนไม่ต้องการเห็นเกาหลีเหนือล่มสลายลงไปต่อหน้าต่อตา ด้วยเหตุผลอย่างที่ว่ามา

ตอนนี้ยังมีการถกเถียงกันว่าการใช้มาตรการแข็งกร้าวรุนแรงกับเกาหลีเหนืออาจไม่ได้ผล และถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะหันมาใช้แนวทางใหม่อย่างการปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออย่างสร้างสรรค์

ดังที่ นายตง จ้าว นักวิชาการจากศูนย์นโยบายคาร์เนกีย์ ซิงหัว สถาบันวิชาการในกรุงปักกิ่ง มองว่า นโยบายของจีนคือการผูกสัมพันธ์ ไม่ใช่การโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ ซึ่งเชื่อว่านั่นจะนำพาเกาหลีเหนือกลับเข้ามาอยู่ในชุมชนประชาคมโลกได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มองว่าจีนยังคงเป็นตัวแสดงสำคัญบนเวทีปัญหานี้ ที่น่าจะพูดคุยต่อรองกับเกาหลีเหนือได้รู้เรื่องที่สุด แต่หากปราศจากการยื่นมือเข้ามาของจีน การคว่ำบาตรใดๆ เพื่อให้เกาหลีเหนือปรับปรุงตัวเองก็ไม่น่าจะเป็นผล

นั่นทำให้แรงกดดันหนักจึงมักตกอยู่กับจีนเสมอเมื่อเกาหลีเหนือแผลงฤทธิ์

ทว่า ในฐานะมหาอำนาจชาติหนึ่งและเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่มีสิทธิวีโต้

ทำให้จีนมีกำลังภายในมากพอควรที่จะรับมือกับแรงกดดันจากนานาชาติ

แต่เพื่อไม่ให้เกิดแรงเสียดทานมากเกินไป จีนก็ต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือให้โลกได้เห็นกันบ้าง เพราะอย่างน้อยก็เป็นการเซฟตัวเองไม่ให้ดูกลายเป็นผู้สมคบคิดกับเกาหลีเหนือ

เชื่อว่าแกะดำในภูมิภาคอย่างเกาหลีเหนือจะยังคงเป็นเผือกร้อนในมือจีนและชาติเพื่อนบ้านให้ได้สะดุ้งอยู่ได้เรื่อยๆ

จนกว่าจีนหรือใครจะตะล่อมให้เกาหลีเหนือยอมกลับเข้ามาอยู่ในระบบกติกาโลกได้