สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U ร.ร.ขนาดเล็ก จะไปทางไหนต่อ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

คาราวานการศึกษา กพฐ.สัญจร เยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กบนยอดดอย ตามรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 กับการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ ที่โรงเรียนสังวาลย์วิทยา อ.แม่สะเรียง ปิดฉากลงแล้วก็ตาม

เวทีนำเสนอปัญหา สะท้อนภาพที่พบเห็น เพื่อหาคำตอบ ทางออกการพัฒนาเพื่อเพิ่มโอกาสและคุณภาพการศึกษายังต้องดำเนินต่อไป

ไม่ว่าตัวชี้วัดจะเป็นคะแนนสอบโอเน็ต เอ็น ที ปิซ่า หรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของนักเรียน ครู และผู้บริหารก็ตามแต่

เพราะความเป็นจริงคือความขาดแคลนหลายๆ ด้านยังดำรงอยู่ ความรุนแรงทั้งที่ปรากฏจากคำบอกเล่าและในรายงานของเขตพื้นที่การศึกษา สะท้อนชัดเจน

นักคิด นักวิชาการ นักปฏิบัติผู้ผ่านประสบการณ์มาหลากหลาย มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งในนามของคณะอนุกรรมการวิชาการและยกระดับคุณภาพการการจัดศึกษา มี ดร.เบญรักษ์ น้ำฟ้า อดีตรองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน

ทีมงานประกอบด้วย นายสนิท แย้มเกษร รองประธาน นางสาวเจือจันทร์ จงสถิตอยู่ นายสมเกียรติ ชอบผล นายวินัย รอดจ่าย นายประวิต เอราวรรณ์ นางอรทัย มูลคำ นางพวงเพชร กันยาบาล นางสาววีณา อัครธรรม นางบุญชู ชลัษเฐียร นางลัดดา ภู่เกียรติ นางนารี คูหาเรืองรอง นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง นายอโณทัย ไทยวรรณศรี นางสาวเกศรา อมรวุฒิวร รองศาสตราจารย์เอกชัย กี่สุขพันธ์ นางศรินธร วิทยะสิรินันท์ นางสาวสุรภี โสรัจจกุล

มี ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา นายพิทักษ์ โสตถยาคม นางสาววงเดือน สุวรรณศิริ เป็นฝ่ายเลขานุการ

นำเสนอแนวทางแก้ ไล่เรียงตามลำดับประเด็นปัญหา ทั้งเฉพาะหน้าและการพัฒนาเชิงระบบ

 

เริ่มจาก ปัญหาเด็กเดินทางไกลมาโรงเรียนยากลำบาก แนวทางแก้โดยจัดเรือนพักนอน ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้เรียนศึกษาสงเคราะห์เพราะมีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนทั่วไปและมีงบฯ สนับสนุนเพียงพอ

ปัญหาไม่มีผู้บริหารโรงเรียน แนวทางแก้เลือกคนในพื้นที่เป็น ผอ. โดยไม่ต้องสอบ ควรมีรูปแบบการคัดเลือกและแต่งตั้งตามความต้องการเฉพาะของพื้นที่ เพราะพบว่าผู้บริหารที่ปฏิบัติงานต่อเนื่องระยะยาวส่งผลให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม

ปัญหาครูย้ายบ่อย แนวทางแก้ให้ทุนเด็กในพื้นที่เรียนครูและบรรจุในพื้นที่ ให้มีมติ ครม. สนับสนุนการพัฒนาครูพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับครูภาษาจีน ห้ามย้ายใน 4 ปีแรก กำหนดให้ครูบรรจุใหม่ต้องอยู่ครบ 4 ปีจึงจะย้ายได้

ปัญหาครูไม่เพียงพอ ไม่ครบชั้น ให้จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนับสนุนให้ใช้สื่อ ICT และมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม กับสอนแบบคละชั้น ส่งเสริมให้ครูเอาใจใส่ศิษย์ จากข้อมูลในพื้นที่ พบครูดีมีความเอาใจใส่ศิษย์มาก แม้จะมีสื่อการสอนน้อยก็ทำให้นักเรียนสุขภาพดี มีสุข แจ่มใส เชื่อมั่นในตนเอง

ครูบ้านพักนอน ควรจัดระบบสวัสดิการให้ครูที่ต้องดูแลนักเรียนในเรือนพักนอน เช่น ให้ได้รับเบี้ยกันดาร

การใช้ทรัพยากร ควรส่งเสริมให้ใช้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษาสังกัด สพป. และโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัด สพม. ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เช่น บ้านพักครู

แยกโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ออกจากสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ เพราะเป็นเด็กที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจและเด็กด้อยโอกาส (ไม่ใช่กลุ่มเด็กพิการ) ซึ่งมีวิธีส่งเสริมการเรียนรู้แตกต่างจากนักเรียนในโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษเป็นการเฉพาะ

การเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน ส่งเสริมการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รูปแบบโฮมสคูล และการจัดการศึกษารูปแบบศูนย์การเรียน เป็นต้น

 

ติดตามด้วยข้อเสนอแนวคิด แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ

ปัญหาคุณภาพผู้เรียน หลักสูตร การจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผล แนวทางพัฒนาคุณภาพ โดยทำหลักสูตรใหม่ ควรสังเคราะห์ข้อมูลการพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ เช่น หลักสูตรที่จัดทำโดย ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ และคณะ แล้ววิจัยเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมในอนาคต สพฐ. ในฐานะหน่วยงานกลางระดมภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมดำเนินการ

หลักสูตรเน้นทักษะการปฏิบัติงานได้จริง ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพหรือเพื่อการสร้างงาน ต้องมีช่วงเวลาเตรียมการก่อนประกาศใช้หลักสูตร วางแผนการประกาศใช้อย่างชัดเจนเพื่อให้มีการเตรียมการด้านสื่อ หนังสือเรียนให้พร้อม ควรมีการวิจัยติดตามการใช้หลักสูตรระยะยาว

ด้านคุณภาพครู ทำ Big Data ข้อมูลครูอาจารย์ ซึ่งคณะอนุกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาด้านครูอาจารย์พบว่า ไม่มีหน่วยงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงในการผลิตครูสาขาต่างๆ

ด้านคุณภาพผู้บริหาร สังเคราะห์งานวิจัยเพื่อพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน

คุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งคณะทำงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กพฐ. และรายงานถึงรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการทราบแล้ว

ผลการดำเนินงานจะเป็นเช่นไรต่อไป

สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่เสถียร ไฟฟ้าที่ยังขาดแคลน ถนนหนทางขรุขระลำบากลำบน ครู ผู้บริหารต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนช่วยเหลือตัวเองไปอีกนานแค่ไหน

สถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่พิเศษห่างไกล บนยอดดอยและตามเกาะแก่งจะดีขึ้น ดีวันดีคืน เฉกเช่นเดียวกับโรงเรียนตามนโยบายใหม่พิเศษ รายปี รายรัฐบาล รายรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนประชารัฐที่กระจายตัวอยู่เต็มตามพื้นราบ และโรงเรียนนิติบุคคลที่กำลังทดลองนำร่อง 77 โรงทั่วประเทศ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

ยังเป็นคำถามที่ท้าทาย โดยเฉพาะประเด็น คุณภาพและมาตรฐานโรงเรียนที่ควรจะทัดเทียม หรือไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม

คำตอบ คือความหวัง คือการรอคอย เหมือนเดิม