เทศมองไทย : เรื่องเล่าว่าด้วย รถถังราคา 7 พันล้าน!

ผมเจอข่าวการส่งมอบรถถังหลัก “โอพล็อต” ล็อตสุดท้ายให้กับกองทัพบกไทยในเคียฟโพสต์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม แล้วอดแปลกใจไม่ได้

เพราะถ้าความจำยังไม่หย่อนยานมากมายนัก กองทัพบกทำความตกลงจัดซื้อรถถังรุ่นนี้ไปตั้งแต่เมื่อปี 2011 แต่โชคดีที่ “อิลเลีย โพโนมาเรนโก” เจ้าของรายงานข่าวชิ้นนี้ ให้รายละเอียดไว้ดีมาก ทำการบ้านต่ออีกนิดหน่อยก็กระจ่างแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร

ถือเป็นการจัดซื้อที่ทรหดอดทนเป็นพิเศษ จนอดหยิบมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้

บริษัทผู้ผลิตโอพล็อต คือ ยูโครโบรอนพรอม ซึ่งเป็นสมาคมของบรรดากิจการรัฐวิสาหกิจด้านกลาโหมทั้งหลายของประเทศยูเครน ทำความตกลงกับกองทัพบกของไทยเมื่อเดือนกันยายนปี 2011 เพื่อจัดสร้างรถถังที่มีความรุดหน้าให้รวม 49 คัน ในราคา 241 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7,200 ล้านบาท

แต่กว่าจะมีการส่งมอบล็อตแรก 5 คันกันได้ก็ต้องรอจนถึงต้นปี 2014 เลยทีเดียว

หลังจากนั้นมีการทยอยส่งมอบกันทีละล็อตแบบผิดเวลา ล่าช้ากันมาตลอด

สาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเขต “ดอนบาส” ของยูเครน ซึ่งถูกแทรกแซงโดยรัสเซียหลังผนวกไครเมียเข้าเป็นดินแดนใต้อาณัติได้สำเร็จ

ราวกลางปี 2015 ยูเครนส่งมอบโอพล็อตให้ไทยได้เพียงแค่ 20 คันเท่านั้นเอง

อิลเลียบอกเอาไว้ว่า ถึงปลายปี 2016 แล้ว ยูเครนก็ยังผลิตโอพล็อตให้ไทยได้เพียงแค่ 25 คัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพบกต้องหันไปจัดซื้อ วีที-4 รถถังหลักอีกรุ่นจากจีน 29 คัน

ใช้งบประมาณที่ว่ากันว่า อยู่ในราว 5,000 ล้านดอลลาร์

 

สร้างความฮือฮาให้ถกแถลงกันไม่น้อยในแวดวงผู้สันทัดกรณีทั้งหลายว่า ไทยเปลี่ยนใจไปซื้อรถถังจีนแทนเพราะ “การเมือง” หรืออย่างไร มีการเทียบรุ่นเทียบสมรรถนะกันมากมายว่า ระหว่าง ที-84 โอพล็อต กับ วีที-4 อะไรเจ๋งกว่ากัน

ตามข้อมูลของอิลเลีย ระบุเอาไว้ว่า มีรายงานว่า กองทัพบกไทยเตรียมยกเลิกคำสั่งซื้อส่วนที่เหลือเพื่อหันไปซื้อรถถังจากจีนแล้วจริงๆ

แต่ “ยูเครนสเปทเอ็กซ์พอร์ต” ซึ่งเป็นกิจการในเครือยูโครโบรอนพรอม กล่อมไทยจนขยายระยะเวลาส่งมอบออกไปเป็นปีนี้ เมื่อ 26 มีนาคมที่ผ่านมา

พาฟโล บูกิน ผู้อำนวยการของบริษัทถึงกับออกถ้อยแถลงขอบคุณไทยเป็นกรณีพิเศษ

“เราขอบคุณหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทั้งหลายในไทยอย่างมากที่เข้าใจปัญหาที่ยูเครนเผชิญอยู่เป็นอย่างดี และยังคงเชื่อมั่นในขีดความสามารถของยูเครนต่อการเอาชนะอุปสรรคแปลกปลอมทั้งหลายได้”

 

รถถังหลัก “โอพล็อต” นั้น อิลเลียบอกว่า เป็นเสมือน “ความภาคภูมิใจ” ของอุตสาหกรรมกลาโหมของยูเครน ออกแบบเมื่อปี 2008 โดยอาศัยพื้นฐานมาจากรถถัง ที-84 ยู แบบยกเครื่องใหม่เกือบทั้งหมด

เสริมคุณสมบัติพิเศษในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ประจำรถ และระบบควบคุมการยิงแบบก้าวหน้า

ติดตั้งปืนใหญ่ลำกล้องเรียบ เคบีเอ-3 พิสัยยิง 5,000 เมตร บรรจุกระสุน 46 นัด

ปืนกลต่อสู้อากาศยานเป็นแบบปืนกลร่วมแกน 7.62 ม.ม. ใช้ระบบควบคุมการยิงภายในป้อมปืนแบบรีโมตคอนโทรล พร้อมอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถัง “คอมแบต” ผลิตในยูเครนอีกด้วย

เครื่องยนต์เป็นเครื่องดีเซล 1200 แรงม้า 6 ทีดี-2 อี ทำงานได้ในอุณหภูมิสูงถึง 55 องศาเซลเซียส สามารถใช้ประโยชน์จากสัญญาณจีพีเอสในการประจัญบาน และระบบยิงที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์

พร้อมระบบเชื่อมต่อสัญญาณการสื่อสาร ที่มีระบบป้องกันเป็นอย่างดี

 

ที่มาภาพ ukroboronprom.com

คาร์คิฟ แพลนต์ ผู้ผลิตโอพล็อต อ้างว่า นี่คือ “หนึ่งในรถถังที่มีศักยภาพประจัญบานและความทนทานสูงที่สุดซึ่งออกแบบมาเพื่อการรบสมัยใหม่ในทุกรูปแบบ”

เพียงแต่ “ยังไม่เคยทดสอบในสมรภูมิรบจริง” เท่านั้น

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว โอพล็อตถูกส่งเข้าประจำการในกองทัพยูเครนมาตั้งแต่ปี 2009 และจนถึงตอนนี้ก็มีอยู่ในกองทัพราว 10 คันจนกลายเป็น “ดราม่า” ในสังคมยูเครนไป

เพราะที่ผ่านมา ในศึก “ดอนบาส” กองทัพมีแต่ใช้รถถัง ที-72 กับ ที-64 ที่เป็นรถถังยุคโซเวียตซึ่งผ่านการปรับปรุงใหม่ในการรบที่นั่นเท่านั้น

แต่อิลเลียอ้างความเห็นของ ยูริ บิริวคอฟ ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครนให้เหตุผลไว้ว่า คุณสมบัติหลายๆ อย่างของโอพล็อต ก้าวหน้าเกินความจำเป็นที่ต้องใช้ในแนวรบที่ดอนบาส ในขณะเดียวกัน ทุกๆ คันที่ขายได้ราว 4.9 ล้านดอลลาร์ นั้นสามารถนำมาใช้เพื่อยกเครื่องและพัฒนารถถังเก่าแบบ ที-64 ให้กองทัพยูเครนใช้ได้ถึง 5 คัน

แต่หลังจากผลิตและทดสอบ โอพล็อตล็อตสุดท้าย 6 คันพร้อมส่งมอบให้ไทยแล้ว ปลายปีนี้กองทัพยูเครนก็จะมีมันประดับบารมีเสียที

 

ที่น่าสนใจก็คือ โอพล็อตที่ส่งมอบให้ไทยนั้น ถูกอ้างอิงถึงเอาไว้ว่า เป็นรถถังหลัก โอพล็อต-เอ็ม แต่อิลเลียระบุว่า ยูโครโบรอนพรอม ย้ำเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นรุ่นพิเศษ “โอพล็อต-ที” ที่ปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้งานในสภาวะอากาศของไทยโดยเฉพาะ คือ “ติดแอร์คอนดิชั่น” มาพร้อมกับอุปกรณ์สื่อสารที่ปรับปรุงใหม่ล่าสุดอีกด้วย

โอพล็อต 49 คัน จะรวมกันเป็นกองพันรถถัง 1 กองพัน เมื่อเดินทางมาถึงไทยแล้วก็จะเข้าประจำการที่กองพันทหารม้าที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

สุดท้ายแล้ว ไทยก็มีรถถังหลักใหม่จากทั้งยูเครนและของจีนให้เลือกใช้…งงดีไหมครับ?