จิตต์สุภา ฉิน : ใจถึงพอไหมที่จะไม่ใช้เฟซบุ๊ก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สักหนึ่งปี หากขอให้คุณผู้อ่านลองนึกภาพอาณาจักรเฟซบุ๊กที่มีคนอยู่มากกว่าหนึ่งพันล้านคนต้องมาถึงวันล่มสลาย ก็คงจะนึกกันไม่ออกแน่ๆ เลยใช่ไหมคะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตคนไทยเราที่ผูกพันกับโซเชียลมีเดียแห่งนี้มากเป็นพิเศษ จะยังไงก็คงนึกไม่ออกหรอกว่าวันหนึ่งหากทุกคนไม่อยู่บนเฟซบุ๊กแล้ว เราจะไปอยู่ที่ไหนกันเหรอ

หมุนเวลากลับมาถึงปัจจุบัน เรากำลังเห็นความเสื่อมถอยของเฟซบุ๊กในอัตราความเร็วที่สูงกว่าที่คาดเอาไว้มาก

และยังไม่มีใครรู้เลยว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

ดราม่าระหว่างเฟซบุ๊ก กับ แคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica) ที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตขึ้นมาครั้งนี้มีความเป็นมายังไงกันแน่

ซู่ชิงสรุปจากโพสต์ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ให้ฟังกันคร่าวๆ นะคะ

 

คุณพี่มาร์กเขียนชี้แจงเอาไว้ว่า ในปี 2007 เขาและทีมงานได้เปิดตัวแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กขึ้นมา และการที่จะทำให้เราเห็นรายละเอียดข้อมูลสำคัญๆ ของเพื่อน อย่างเช่น วันเกิด ภาพถ่าย ที่อยู่ ปฏิทิน ทั้งหลายได้นั้น เฟซบุ๊กก็เลยเปิดให้ผู้ใช้งานล็อกอินเข้าไปในแอพพ์ต่างๆ เพื่อแชร์ข้อมูลของตัวเองให้เพื่อนได้ดู

เรื่องมันเกิดวุ่นวายขึ้นในปี 2013 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ผู้หนึ่ง นามว่า อเล็กซานเดอร์ โคแกน ได้สร้างแอพพลิเคชั่นแบบทดสอบบุคลิกภาพขึ้นมาและได้รับความนิยมมาก มีคนกว่า 300,000 คนร่วมทำแบบทดสอบนี้

และด้วยรูปแบบของเฟซบุ๊กในสมัยนั้นที่ยังไม่รัดกุมเท่าตอนนี้ จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้โคแกนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของทั้ง 300,000 คนที่ว่า บวกกับเพื่อนของทั้งสามแสนคนนั้น

รวมๆ แล้วก็เลยกลายเป็นหลายสิบล้านคนไปเลย

เฟซบุ๊กเริ่มรู้ตัวว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แล้วล่ะ

ในปี 2014 ก็เลยเปลี่ยนนโยบายใหม่ จำกัดข้อมูลที่นักพัฒนาแอพพ์จะเข้าถึงได้

แต่แล้วในปีถัดมาก็ได้รู้ว่าโคแกนแหกกฎเฟซบุ๊กนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่ได้มาไปแชร์กับแคมบริดจ์ แอนาลิติกา บริษัทให้คำปรึกษาทางด้านการเมืองซึ่งทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

เฟซบุ๊กจึงยื่นคำขาดให้ทั้งโคแกนและแคมบริดจ์ แอนาลิติกา ลบข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดทิ้งไป

ซึ่งอีกฝ่ายก็ยอมทำตามโดยดีแถมมีใบรับรองให้ด้วยว่าลบแล้วเป็นที่เรียบร้อย

แต่เฟซบุ๊กก็พลาดตรงที่ไม่ตรวจสอบให้ดีว่าลบจริงหรือลบหลอก

กว่าเฟซบุ๊กจะรู้ตัวว่าแคมบริดจ์ แอนาลิติกา ตุกติกไม่ลบจริงตามที่ได้สัญญาไว้ จึงรีบแบนออกจากเฟซบุ๊กทันที

แต่ก็ไม่ทันแล้วเพราะข้อมูลที่ได้ไปนั้นถูกนำไปใช้ในการทำแคมเปญโฆษณาดิจิตอล ยิงข้อมูลที่เกี่ยวกับการสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐให้กับกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้หลักการทางจิตวิทยามาจูงใจให้คนโน้มเอียงไปในทางลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์

 

นี่แหละค่ะ เรื่องราวคร่าวๆ ของเหตุการณ์อลหม่านทั้งหมด

ตอนนี้เรามาถึงจุดที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกเกิดลุกฮือขึ้นแสดงความไม่พอใจที่เฟซบุ๊กเลินเล่อ ปล่อยให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้หลุดรั่วไปจนถึงจุดที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีเจ้าของข้อมูลเสียเอง ทำลายความไว้วางใจที่ผู้ใช้มีต่อเฟซบุ๊ก

จนเกิดความเคลื่อนไหว #deletefacebook เชิญชวนให้ลบบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองทิ้งไป

โดยที่กระแสนี้ก็ถูกโหมกระหน่ำซ้ำเติมจากบรรดาสื่อต่างๆ ที่น่าจะมีความแค้นเฟซบุ๊กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เนื่องจากช่วงหลังๆ มานี้เฟซบุ๊กเริ่มเปลี่ยนทีท่า จากเดิมที่เคยออดอ้อนสื่อต่างๆ ให้ทุ่มเงินและเวลาไปกับการสร้างความเติบโตเพจเฟซบุ๊ก ไปเป็นลดยอดรีชของเพจและหันไปเอาใจผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้นแทน

ไม่เพียงแต่ผู้ใช้ทั่วไปเท่านั้นที่ไม่พอใจ บรรดาบิ๊กเนมทั้งหลายก็ออกมาหนุนกระแสนี้เช่นเดียวกัน

ไบรอัน แอ็กตัน ผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่นส่งข้อความ WhatsApp ที่เฟซบุ๊กซื้อไปตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ก็ออกมาบอกว่า ได้เวลาลบเฟซบุ๊กกันแล้วนะพวกเรา

ในขณะที่ไอรอนแมนสุดเท่ อย่าง อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ SpaceX และ Tesla ก็ทวีตกวนๆ ว่า “อะไรคือเฟซบุ๊กหราาา” พอมีคนแหย่ว่า แหม บริษัทคุณพี่ก็มีเพจเฟซบุ๊กนี่เจ้าคะ อีลอนก็เลยลบเพจเฟซบุ๊กของทั้งสองแบรนด์ทิ้งไปเสียเลย ทั้งที่ก่อนจะลบมียอดคนตามอยู่มากกว่า 2.6 ล้านไปแล้ว

อีลอนผู้ไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ก็เน้นย้ำว่านี่ไม่ใช่การออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองนะ เขาแค่ไม่ชอบเฟซบุ๊กเป็นทุนเดิมอยู่แล้วแค่นั้นเอง

 

คราวนี้ก็มาถึงผู้ใช้อย่างเราๆ ว่าเอายังไงต่อ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลบบัญชีเฟซบุ๊กของเราไปด้วย?

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการเดินสายก้มกราบขออภัยตามที่ต่างๆ ได้เขียนโพสต์อธิบายเอาไว้ว่าเขาจะทำอะไรบ้างเพื่อเป็นการกอบกู้ความเชื่อใจของผู้ใช้กลับคืนมา

ข้อแรกคือ จะสอบสวนอย่างละเอียดว่านับตั้งแต่ก่อนมีการเปลี่ยนนโยบายในปี 2014 ยังมีนักพัฒนาแอพพ์รายไหนอีกบ้างที่ได้ข้อมูลไปในแบบเดียวกับที่โคแกนได้ จากนั้นก็จะจัดให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียด ใครไม่ให้ความร่วมมือก็จะแบนออกจากเฟซบุ๊กทันที

ข้อสอง จากนี้ไปจะจำกัดข้อมูลที่แอพพ์เข้าถึงได้ให้เข้มงวดกว่าเดิม เวลาที่เราเข้าไปใช้งานแอพพ์ต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊ก ข้อมูลที่จะเผยให้นักพัฒนาแอพพ์เห็นได้จะมีแค่ชื่อ ภาพโปรไฟล์ และอีเมล แอดเดรส เท่านั้น

และสาม จะหยิบเอาการตั้งค่าเกี่ยวกับแอพพ์ต่างๆ บนเฟซบุ๊ก มาใส่เอาไว้ในฟีดหน้าแรก ให้ผู้ใช้งานเห็นได้ชัดๆ จะได้ทำการปรับค่าได้ตามสะดวกใจ

เฟซบุ๊กเคยผ่านดราม่ามาแล้วหลายครั้งแต่ดูเหมือนครั้งนี้จะส่งผลกระทบทุนแรงที่สุด

เพราะทำเอาหุ้นของเฟซบุ๊กร่วงจนน่าใจหาย

แต่ถ้าถามว่าการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ลบเฟซบุ๊กจะได้ผลสักแค่ไหน

ซู่ชิงก็เชื่อว่าไม่เท่าไหร่หรอกค่ะ

เพราะข่าวมาจนถึงขนาดนี้แล้ว คนจำนวนมากก็ยังอยู่บนเฟซบุ๊กเหมือนเดิม เชื่อว่าน่าจะพอชั่งน้ำหนักแล้วว่าระหว่างความสะดวกสบายของการได้ติดต่อเพื่อนฝูงและอ่านข่าวสารต่างๆ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงในการไหลรั่วของข้อมูลส่วนตัวแล้ว อย่างแรกยังดูมีน้ำหนักมากกว่า

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์คราวนี้ทำให้ผู้ใช้เสียความรู้สึกไปไม่น้อย และหากมีคู่แข่งที่ทำได้ดีกว่านี้ขี่ม้ามืดมาในอนาคต คนก็คงไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังเยอะและพร้อมย้ายได้ทันทีที่มีโอกาส

หากยังไม่ลบ ไม่ย้าย ก็ไม่เป็นไรค่ะ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้กลับมาคิดสำรวจตัวเองกันว่า เรามีส่วนร่วมในการป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเราเองมากน้อยแค่ไหน เราแชร์ข้อมูลของเราบนเฟซบุ๊กมากเกินความจำเป็นหรือเปล่า เรารู้จักการตั้งค่าต่างๆ บนเฟซบุ๊กดีพอแล้วหรือยัง ในขณะเดียวกันในฐานะผู้ใช้งาน ก็ต้องส่งเสียงออกไปดังๆ เพื่อให้บริษัทรู้ว่านับจากนี้ไป เราจะฉลาดกว่าเดิมแล้วนะ เราจะเรียกร้องสิ่งที่เราควรได้รับ เราจะจับตาดูเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด และเราจะไม่ยอมนั่งเฉยๆ ให้เฟซบุ๊กพลาดซ้ำรอยแบบนี้อีกแล้ว

คิดว่าคราวนี้เฟซบุ๊กคงได้รับบทเรียนจนเข็ดไปอีกนานเลยล่ะค่ะ