เจ. เค. โรว์ลิ่ง กับ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” เล่มสุดท้าย ใช้เงิน690ล้าน รักษาความปลอดภัยหนังสือ

“แฮร์รี่ พอตเตอร์ แอนด์ เดอะ เดธลี่ ฮาลโลว์ส” หรือหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 7 หรือเล่มสุดท้ายย้อนไปก่อนถึงวันวางแผลงเล่มดังกล่าว สื่อต่างประเทศได้มีการตีพิมพ์ข่าวใหญ่ทั่วโลก สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานข่าวดังกล่าวต่อเนื่อง การรายงานข่าวต่อเนื่องของบีบีซีถือเป็นการโปรโมต แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทางอ้อม

มิใช่เฉพาะ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 7 ที่โด่งดังไปทั่วโลก แฮร์รี่ พอตเตอร์ 6 เล่มที่ผ่านมานับเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลก ยอดจำหน่ายทั่วโลกอยู่ที่ 325 ล้านเล่ม ซึ่งประกอบด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์ เดอะ ฟิลโลโซเฟอร์ส สโตน เขียนเมื่อปี 2538 แต่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2540 แฮร์รี่ พอตเตอร์ เดอะ แชมเบอร์ ออฟ ซีเครต (2541) แฮร์รี่ พอตเตอร์ เดอะ พริสซันเนอร์ ออฟ อัซคาบาน (2542) แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็อบเบล็ต ออฟ ไฟล์ (2543) แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดิ ออร์เดอร์ ออฟ เดอะ ฟินิกซ์ (2546) และ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เดอะ ฮาล์ฟ-บลัด พรินซ์ (2548)

6 เล่มที่ว่านี้นอกจากยอดจำหน่ายมีสูงถึง 325 ล้านเล่มแล้วยังนำไปแปลถึง 35 ภาษา และสร้างหนังไปแล้วถึงเล่มที่ 4 รายได้จากทั้งหนังสือและภาพยนตร์ทำให้โรว์ลิ่งกลายเป็นนักเขียนรายแรกในโลกที่ทำรายได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นรายได้จากเฉพาะหนังสือซีรี่ส์ชุดพ่อมดน้อยชุดนี้

ตอนนั้น แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 7 เป็นเล่มที่แฟนๆ ทั่วโลกรอคอยมานาน ยิ่งเป็นเล่มสุดท้ายและ ในตอนนั้น โรว์ลิ่งเองเคยเปิดเผยว่ามีตัวละครจะเสียชีวิต 2 คน หลายคนอยากรู้ว่าใครกันแน่ที่ต้องจบชีวิตลง

เพื่อไม่ให้ความลับของเนื้อหาในหนังสือรั่วไหล ทางสำนักพิมพ์บลูมส์เบอรี่ ลงทุนวางมาตรการป้องกันไว้โดยใช้เงินสูงถึง 10 ล้านปอนด์ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 690 ล้านบาท เพื่อความปลอดภัยของหนังสือ ทางสำนักพิมพ์ได้มีการเช่าพื้นที่เก็บหนังสือในกรุงลอนดอน มีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีการติดตั้งระบบติดตามแกะรอยผ่านดาวเทียม และมีการทำสัญญาผูกมัดในแง่กฎหมายต่างๆ

โรว์ลิ่งและสำนักพิมพ์บลูมสเบอรี่คงกวาดรายได้มหาศาลจากเล่มที่ 7

ก่อนจะมาถึงจุดนี้เธอผ่านชีวิตแสนลำบากมานาน ลำบากถึงขนาดต้องประทังชีวิตจากเงินก้อนเล็กๆ ที่รัฐบาลจ่ายให้สำหรับคนที่กำลังตกลง เธอได้ส่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรกไปเสนอสำนักพิมพ์หลายแห่งแต่ถูกปฏิเสธนับปีก่อนที่สำนักพิมพ์บลูมสเบอรี่ยอมพิมพ์ให้เมื่อปี 2540 แต่วันนี้ผ่านมาได้เพียง 10 ปี โรว์ลิ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีจากหนังสือพ่อมดน้อยที่ไม่มีใครยอมพิมพ์ในช่วงแรกๆ

ปัจจุบันเธออายุ 51 ปี เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2508 ที่เมืองกลอเซสเตอร์เชียร์ในอังกฤษ มีน้องสาวอายุห่างกัน 2 ปี 1 คน และเธอเป็นคนที่ชอบเล่านิทานให้น้องสาวฟังตั้งแต่เป็นเด็ก และเริ่มเขียนมาตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เป็นเด็ก เรื่องแรกที่หัดเขียนคือ Rabbit หรือกระต่ายน้อย ในเรื่องนี้มีตัวละครน่าสนใจหลายตัว เช่น นางผึ้ง ครอบครัวของเธอย้ายบ้านบ่อยและครั้งหนึ่งที่ย้ายไปอยู่ที่วินเตอร์บอร์น มีเพื่อนบ้านคนหนึ่ง เป็นเด็กน่ารักมาก เป็นเด็กที่เธอนึกถึงตลอด มีชื่อว่า “พอตเตอร์” ชื่อของเด็กคนนี้แหละที่กลายมาเป็นตัวละครสำคัญในหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ส่วนเรื่องราวของพ่อมดคนนี้ นางเขียนจากจินตนาการช่วงที่ติดอยู่ในรถไฟนานถึง 4 ชั่วโมงระหว่างเดินทางจากแมนเชสเตอร์ไปยังกรุงลอนดอน

โรว์ลิ่งจบไฮสคูลจากโรงเรียนไวเดียน คอมพริเฮนซิฟ และจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์ พ่อแม่อยากให้เรียนภาษาฝรั่งเศสโดยหวังที่จะให้ทำงานเป็นเลขาฯ ที่สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ เธอทำงานเป็นเลขาฯ ได้ไม่นาน เธอยอมรับว่าเป็นเลขาฯ ที่แย่ที่สุด อายุ 26 ปีไปสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศโปรตุเกส และได้แต่งงานกับนักข่าวหนุ่มชาวโปรตุเกส แต่ชีวิตแต่งงานของเธอล้มเหลวโดยหลังจากมีบุตรสาว 1 คนเธอถูกสามีไล่ออกจากบ้าน ทำให้เธอไม่มีที่ไป แม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงตัดสินใจไปอยู่กับน้องสาวที่เอดินเบิร์ก ในสกอตแลนด์ ที่บ้านน้องสาวนี้แหละที่เธอตั้งใจเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้จบ แต่ไม่มีใครพิมพ์ให้ จึงขายลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์บลูมส์เบอรี่ในราคา 4,000 ดอลลาร์ อีกหลายเดือนต่อมาสำนักพิมพ์ในอเมริกาซื้อลิขสิทธิ์ไป การขายลิขสิทธิ์ครั้งนี้เธอได้เงินก้อนใหญ่ซึ่งเพียงพอที่จะเลิกสอนหนังสือและหันมาตั้งใจเขียนหนังสืออย่างเดียว