รายงานพิเศษ/สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เตรียมชมนิทรรศการ AR มิติใหม่การอ่านด้วยเทคโนโลยี

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

เตรียมชมนิทรรศการ AR

มิติใหม่การอ่านด้วยเทคโนโลยี

“งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานแสดงหนังสือที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด

ในปีนี้ยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากจะมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 407 แห่ง ยังมีสำนักพิมพ์จากต่างประเทศอีก 16 แห่ง รวมทั้งสิ้นกว่า 945 บู๊ธ

นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า นิทรรศการหลักอย่าง “อ่าน…อีกครั้ง” ที่นำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือเล่มต่างๆ ในประวัติศาสตร์การอ่านของโลกและประเทศไทย ที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงคนและเปลี่ยนแปลงโลก

โดยเน้นให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย ในการสร้างวัฒนธรรมแสวงหาความรู้ โดยมีการอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญ เพื่อให้เราได้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้

“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อาจทำให้คนทำหนังสือบางคนมีความวิตกกังวล แต่ที่สุดแล้วนี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย สิ่งต่างๆ คือการเปลี่ยนผ่าน แต่ในการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถ้าเรามองย้อนกลับไป การอ่านคือปัจจัยทางด้านความรู้ต่างๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเริ่มจากการอ่าน นำไปสู่การทดลอง และริเริ่มลงมือทำ สิ่งที่คนอ่านก็คือเนื้อหา แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ”

“นี่คือประเด็นที่เราอยากบอกว่า ถ้ายังอยากจะสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันในโลกใบนี้ได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เราจึงควรจะกลับมาอ่านกันอีกครั้ง เพื่อสร้างคุณภาพคนไทยให้มีความรู้และจินตนาการที่ทันยุคสมัยพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก”

“เราสามารถหาความรู้ได้จากรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่หนังสือเล่มถึงออนไลน์ ซึ่งทุกเนื้อหาล้วนมีอิทธิพลกับความคิดของคน และคนก็จะไปเปลี่ยนแปลงโลกจากความคิดที่เขาได้รับจากเนื้อหาต่างๆ สามารถพิสูจน์อิทธิพลเหล่านี้ได้จากนิทรรศการ อ่าน…อีกครั้ง”

นางสุชาดาระบุว่า เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและอิทธิพลของการอ่านที่สร้างโลก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดในยุคสมัยใดก็ตาม โดยทุกรูปแบบทุกเครื่องมือเป็นเพียงสื่อที่บรรจุสารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ใช้การ “อ่าน” เป็นเครื่องมือในการถอดรหัส

เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาไทยกับประเทศอื่นๆ พบว่าได้ลดลงในแทบทุกด้านพร้อมๆ กับความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ

การสร้างวัฒนธรรมการอ่านจึงเป็นกลไกหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของคนไทยให้มีความรู้ความสามารถและการคิดอย่างสร้างสรรค์จนพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ในทุกด้าน

ดังนั้น การ “อ่าน…อีกครั้ง” จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มจำนวนคนอ่านออกเขียนได้ เพิ่มเวลาในการอ่าน หรือผลิตหนังสือออกมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมแสวงหาความรู้ เพื่อให้เราก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้

โดยในนิทรรศการบางส่วนจะนำเสนอเส้นทางการอ่าน ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของการอ่านในรูปแบบต่างๆ อ่านเปลี่ยนโลก ซึ่งนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ในทุกๆ ด้าน และอ่านเปลี่ยนไทย

ซึ่งจะนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เป็นหลักหมายของสังคมไทยที่ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบันด้วย การอ่านสร้างองค์ความรู้ นำสู่การคิดต่อยอด นำไปสู่การพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

“เราจึงเชื่อมั่นเสมอว่าหนังสือสามารถสร้างคุณภาพคน เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีของชาติได้”

นอกจากนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ในงานร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์แห่งไทเปแล้วก็กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ในฐานะ Guest of Honor ประจำปีได้เปิดนิทัศการการสุดล้ำที่มีชื่อว่า CCC หรือว่า CCC : Creative Comic Creation มาเปิดมิติใหม่ของการอ่านด้วยเทคโนโลยี AR ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46

ซึ่งนิทรรศการ CCC ที่ผสมผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนจากหนังสือการ์ตูน 4 เล่มจากไต้หวัน โดยจะมีการจำลองของฉากในการ์ตูนมาสร้างเป็นฉากจริงแล้วใช้เทคโนโลยี AR ในการสร้างภาพเสมือนของตัวการ์ตูนออกมา ในรูปแบบของภาพเสมือน 3 มิติ

ซึ่งเปิดชมผ่านแอพพลิเคชั่นก็จะได้เห็นตัวการ์ตูนซึ่งเป็นตัวละครจากหนังสือโผล่ขึ้นมาทักทายผู้ชม เป็นการผสานการอ่านเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจ

เมื่อผู้ชมเอาอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี AR ไป ส่องตามฉากต่างๆ พวกเขาก็จะพบกับตัวการ์ตูนออกมาทักทายให้ได้ถ่ายรูปร่วมกันอีกด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมีเกมที่สามารถเล่นได้แบบอินเตอร์แอ็กทีฟให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ รวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ไต้หวันกำลังพัฒนาและเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์อีกมากมาย และนิทรรศการ

ด้านนายอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศและหัวหน้าคณะผู้ประสานงาน Guest of Honor กล่าวว่า นิทรรศการ CCC นั้นเป็นความพยายามของสมาคมผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์แห่งไทเปและกระทรวงวัฒธรรมไต้หวัน ที่ต้องการส่งเสริมนักวาดการ์ตูนด้วยการนำเอาหนังสือการ์ตูน ที่มีคุณค่าด้านวัฒธรรมแล้วก็ประวัติศาสตร์มาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยี ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อขยายตลาดแล้วก็สร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้อ่าน

ซึ่งอนาคตก็จะมีการต่อยอดนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับธุรกิจสิ่งพิมพ์ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 16 จะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 8 เมษายน นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อจะพบกับหนังสือมากมายแล้วภายในงานยังมีนิทรรศการ “อ่าน…อีกครั้ง”

และอย่าลืมแวะบู๊ธของสำนักพิมพ์มติชนนะครับ

https://www.matichon.co.th/news/895541