วงค์ ตาวัน : หมีลายกับราชประสงค์

วงค์ ตาวัน

มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ “บ้านหมีลาย” หรือ “มี้ลาย” ในเวียดนาม อันเป็นปฏิบัติการอำมหิตของทหารอเมริกันที่ทำให้โลกตกตะลึง และจัดว่าเป็นหนึ่งใน “อาชญากรรมสงคราม” ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม

เหตุการณ์ฆ่าโหดดังกล่าว เกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 1968 หรือ พ.ศ.2511

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานครบรอบ 50 ปี ที่บริเวณอนุสรณ์รำลึกเหตุสังหารหมู่หมีลาย โดยมีชาวเวียดนามผู้รอดชีวิตจากเหตุสังหารหมู่และครอบครัว รวมถึงทหารอเมริกันผ่านศึกสงครามเวียดนามและนักต่อต้านสงครามจากสหรัฐด้วย

“นั่งอ่านข่าวที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเรื่องนี้ แล้วทำให้ต้องนึกถึงเหตุการณ์ใจกลางเมืองกรุง ที่ราชประสงค์ เมื่อปี 2553 ขึ้นมาทันที”

มีอะไรหลายประการที่คล้ายคลึงกัน

“โดยเฉพาะการอนุญาตให้ใช้อาวุธได้ ประกาศเขตยิงโดยเสรี ไม่ต่างจากการประกาศพื้นที่ใช้กระสุนจริง!”

ข้อเท็จจริงในกรณีบ้านหมีลายนั้น มีการสอบสวน และฟ้องร้องขึ้นศาล มีทหารอเมริกันบางส่วนที่อยู่ในเหตุการณ์และไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้ ทำหน้าที่เป็นพยาน

การสะสางข้อเท็จจริงจึงค่อนข้างกระจ่าง และนายทหารยศร้อยโทหัวหน้าหน่วย ถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ในฐานะอาชญากรสงคราม และตัดสินว่าผิดจริง

ดังนั้น ข้อมูลปฏิบัติการสังหารหมู่ครั้งนี้ จึงหาอ่านได้ไม่ยาก

ในวันเกิดเหตุ 16 มีนาคม 2511 นั้น ทหารอเมริกันชุดดังกล่าว เข้าปฏิบัติการค้นหาและทำลาย ที่บ้านหมีลาย ซึ่งจัดเป็นพื้นที่สีแดง เป็นเขตความเคลื่อนไหวของทหารเวียดกง

ที่สำคัญก่อนหน้านั้น 2 วัน หน่วยลาดตระเวนของอเมริกัน โดนกับระเบิดในพื้นที่นี้จนตายไป 1 บาดเจ็บสาหัสหลายราย

“ปฏิบัติการค้นหาและทำลาย จึงดำเนินไปด้วยอารมณ์เคียดแค้น หวาดระแวง พร้อมจะยิงทุกอย่างที่ขวางหน้า”

เมื่อทหารอเมริกันบุกเข้าไปถึงก็ลงมือฆ่าอย่างเดียว เพียงแค่ครึ่งวัน ตายไปถึง 504 ราย

“จนกลายเป็นสถิติการฆ่าพลเรือนมือเปล่ามากที่สุด ภายในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด!”

แต่เหยื่อกระสุนปืน ระเบิดมือ ดาบปลายปืน ล้วนเป็นเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ทั้งมีการข่มขืนหญิงสาวด้วย

มีศพเกลื่อนในคูน้ำ ลักษณะกวาดต้อนชาวเวียดนามให้ลงไปแล้วกระหน่ำยิงไม่เลือก

หญิงสาวอุ้มลูกที่ห่อด้วยผ้า ก็ถูกยิง เพราะทหารอเมริกันระแวงว่ากำลังอุ้มระเบิดมาพลีชีพ

ในภายหลังมีภาพข่าว ศพเด็กและผู้หญิงนอนรวมกันเป็นกลุ่มอยู่ในจุดต่างๆ ภาพประจานปฏิบัติการฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรมเปิดเผยทางสื่อไปทั่วโลก

เป็นส่วนหนึ่งของแรงกกดันทำให้กองทัพสหรัฐต้องทบทวนปฏิบัติการในเวียดนาม!

ผลการสอบสวนและการนำคดีขึ้นสู่ศาลทหาร ทำให้ประจักษ์ชัดว่า เหตุการณ์ที่บ้านหมีลายนั้น เข้าข่ายเจตนาฆ่า โดยภารกิจค้นหาและทำลายนั้น มุ่งไปที่ทหารเวียดกง แต่เอาเข้าจริงๆ คือ การฆ่าทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำให้เด็ก ผู้หญิง และคนชรา ตายเป็นเบือ

ในรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศกล่าวว่า ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการนี้เท่านั้น แต่โดยรวมแล้วทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม เดินทางมารบในประเทศที่ตนเองไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่เคยรู้ว่าศัตรูจริงๆ นั้นเป็นเช่นไร

“เลยพร้อมจะฆ่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง สงสัยหรือหวาดระแวงอะไรก็ยิงไปก่อน”

ขณะเดียวกัน ในสภาพสงครามที่มีการรบกันอย่างดุเดือด ทำให้กองทัพสหรัฐเองประกาศเขตยิงสังหารโดยเสรีขึ้นมา

พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสีแดง หมายความว่าเต็มไปด้วยทหารเวียดกง ก็อนุญาตให้ฆ่าทุกอย่างที่สงสัยได้

ถึงขั้นพื้นที่ใด หมู่บ้านไหน ที่อเมริกันสั่งให้อพยพออกไป ถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ให้ถือว่าเป็นทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทันที

“เหล่านี้จึงส่งผลให้การฆ่าของทหารอเมริกันเกิดความผิดพลาดมากมาย ผู้หญิง เด็ก และคนชรา กลายเป็นเหยื่อกระสุนปืนเกลื่อนกลาด!”

ในทางกลับกัน ยิ่งปราบโหด ปราบมั่ว ยิ่งทำให้คนเวียดนามที่ต้องสูญเสียพ่อแม่น้องสาว ตัดสินใจเข้าร่วมกับเวียดกงมากขึ้น

จนทำให้กองทัพสหรัฐต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในสงครามเวียดนาม

ความร้ายแรงของเหตุการณ์บ้านหมีลาย เป็นหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ความเลวร้ายของสงครามที่สหรัฐกระทำต่อชาวเวียดนาม

จนต้องมีการจัดพิธีรำลึกที่อนุสรณ์สถานอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยชาวเวียดนามถือว่าเป็นการรำลึกเพื่อต้องการย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพ มิใช่เพื่อจุดไฟความแค้น

“ขณะที่ทหารอเมริกันในปฏิบัติการนี้ จำนวนไม่น้อยต้องจมอยู่กับสำนึกความผิดบาป”

แต่ก็มีหลายราย ที่พยายามจะขัดขวางการกระทำของทหารร่วมชาติในเหตุการณ์นี้ เช่น กรณีนักบินเฮลิคอปเตอร์ ฮิวจ์ ทอมป์สัน จูเนียร์ ที่มองเห็นเหตุการณ์และตัดสินใจช่วยชาวเวียดนามหนีออกมาจากพื้นที่สังหาร ได้รับการยกย่องในภายหลังว่าเป็นวีรบุรุษสันติภาพ และยังคงเดินทางมาร่วมงานรำลึกที่เวียดนามเสมอๆ

โดยรวมๆ แล้ว นั่งอ่านเรื่องราวของเหตุการณ์นี้ ได้เห็นปฏิบัติการของทหารสหรัฐ ที่มารบในพื้นที่ที่ตัวเองไม่รู้เรื่อง ใครเป็นศัตรูก็แยกไม่ออก

“รบอย่างหวาดระแวง และเอาตัวรอด จนกลายเป็นการยิงทุกสิ่งที่ขวางหน้า”

รวมไปถึงนโยบายของกองทัพสหรัฐเอง ที่ประกาศพื้นที่อนุญาตให้ฆ่าทุกอย่างที่สงสัยได้ กระทำการโดยเจตนาเล็งเห็นผลการฆ่าได้

ทำให้รู้สึกว่า บางส่วนคล้ายๆ กับเหตุการณ์ในบ้านเรา

ทำให้นึกถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้คำสั่ง ศอฉ. เมื่อ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 ขึ้นมาทันที!!

ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของรัฐบาลในเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงเมื่อปี 2553 นั้นก็คือ การประเมินสถานการณ์ว่ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ในที่ชุมนุม จึงไม่ใช่ตำรวจปราบจลาจลเข้าควบคุมการชุมนุม แต่ใช้ทหารหน่วยรบเข้าปฏิบัติการ ทั้งมีคำสั่งอย่างชัดเจนอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ เพื่อป้องกันตัวเองจากผู้ก่อการร้าย

จึงกล่าวขวัญกันว่า เป็นคำสั่งที่เข้าข่ายเจตนาเล็งเห็นผล

อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้กระสุนจริงได้ เดินเข้าไปในพื้นที่ ด้วยอารมณ์หวาดระแวง เพราะประกาศไปแล้วว่ามีผู้ก่อการร้ายในม็อบ

“เหตุการณ์หมีลาย ในเวียดนาม จึงมีบางอย่างใกล้เคียงกับราชประสงค์ ในกรุงเทพมหานคร”

คำถามว่าการประเมินสถานการณ์ว่ามีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ใช้อาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ ปะปนอยู่ในที่ชุมนุม

จึงไม่ใช้ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา ตามหลักสากล และตามมติรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2535 ที่ให้เลิกใช้ทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ประท้วงใน กทม. อย่างเด็ดขาดนั้น

ประเมินถูกหรือไม่

คำตอบก็คือ มีคนตายไปในเหตุการณ์นี้ 99 ราย ยกเว้นเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งแล้ว อีก 80 กว่าราย ล้วนเป็นชาวบ้านที่มาชุมนุม เป็นคนเสื้อแดง เป็นผู้ที่มาดูเหตุการณ์

“ไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่เป็นผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่ตายด้วยถูกกระสุนปืน ถูกสไนเปอร์ส่องจากระยะไกล ที่ตรวจพบว่ามีอาวุธปืนในมือ มีเขม่าดินปืนในมือ!”

ศอฉ. สรุปว่าเป็นสถานการณ์มีการก่อการร้าย แล้วให้ทหารหน่วยรบเข้ามาคุมสถานการณ์ม็อบ และให้ใช้กระสุนจริงได้ จนตายไป 99 ศพ แต่ไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่เป็นผู้ก่อการร้าย

อย่างนี้ประเมินสถานการณ์ถูกหรือไม่

คนอย่าง “เด็กชายอีซา” ที่ถูกยิงตายบนถนนราชปรารภ คนอย่าง “น้องเฌอ” ที่ถูกสไนเปอร์ส่องนอนเลือดไหลนองบนฟุตปาธซอยรางน้ำ ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแน่ๆ

“ต่างจากเด็กๆ ที่บ้านหมีลายหรือไม่!?”

ปฏิบัติการหมีลาย อนุญาตให้เป็นเขตยิงอย่างเสรีได้ แล้วจะต่างอะไรกับการประกาศพื้นที่ใช้กระสุนจริงในปฏิบัติการสลายเสื้อแดง

ทหารอเมริกันที่ถือปืนพร้อมยิงทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อเอาตัวรอดและด้วยอารมณ์หวาดระแวง เลยฆ่าพลเรือนปราศจากอาวุธมากมาย

มีอะไรคล้ายๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. ไม่น้อยเลย!