คำ ผกา : “เด็ก(ดื้อ)ชายขอบ

คำ ผกา

หนูได้ฟังข่าวการจากไปของ ด.ช.คนหนึ่งที่ฆ่าตัวตาย จากทั้งทางโทรทัศน์ และได้อ่านในอินเตอร์เน็ต มันเป็นข่าวที่น่าเศร้ามากสำหรับหนู และทำให้หนูรู้สึกว่าการเรียนของเด็กไทยอย่างเรา ในปัจจุบันมีความกดดันอย่างมาก ทั้งจากที่โรงเรียน และจากทางบ้าน…

ในบางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อ ไม่เข้าใจในความรู้สึกของเด็ก เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในจุดที่พวกหนูอยู่ จะมีผู้ใหญ่สักคนไหมที่พร้อมจะฟังความคิดเห็นของพวกเรา จะมีที่สักที่ไหมที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ พูดได้ในทุกเรื่องที่อยากพูด พูดในสิ่งที่เก็บไว้ในใจมานาน ไม่ต้องเก็บไว้คนเดียวให้อึดอัด

https://www.prachatai.com/journal/2018/03/76071

ที่ยกมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทความชื่อ “เสียงเล็กๆ ของนักเรียนคนหนึ่ง ผู้เขียนใช้นามปากกา “เด็กชายขอบ” เราไม่รู้ว่า เด็กชายขอบอายุเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่า อย่างน้อย เรามีพื้นที่ในสื่อให้ “เด็ก” ได้ออกมาพูดถึงปัญหาของตัวเองบ้าง

เรามักคุ้นชินกับการให้เด็กเขียนเรียงความ

โตขึ้นฉันอยากเป็นอะไร โตขึ้นฉันจะทำอะไรให้ประเทศชาติ เขียนเรื่องครอบครัวของฉัน เขียนเรื่องโรงเรียนของฉัน

หรือเขียนเรื่องราวต่างๆ เพื่อแสดงภูมิความรู้ แสดงความรัก แสดงความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ สุจริต หรือคุณงามความดีสารพัดอย่าง

และคงมีน้อยครูน้อยโรงเรียนมาก ที่จะบอกให้นักเรียนเขียนถึงความอึดอัด คับข้องใจ ปัญหา ความทุกข์ ความเศร้า อย่างที่พวกเธอเผชิญกับมันจริงๆ

แล้วอีกนั่นแหละ ต่อให้เราอนุญาตให้เขียน จะมีเด็กสักกี่คนที่สามารถเรียบเรียงความรู้สึกของเขาออกมาเป็นถ้อยคำ ภาษา ที่อ่านรู้เรื่อง อ่านแล้วยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปด้วยความเอ็นดู

หรืออ่านแล้วเราต้องน้ำตาไหลไปตาม แบบที่เราอ่านงานเขียนที่แสนงดงามของ “เรไร” – ที่ฉันอ่านทีไรก็ทึ่งว่า ทำไมเด็กน้อยคนนี้เขียนหนังสือดีเหลือเกิน

และถึงที่สุดแล้ว ในเมืองไทยจะมีเด็กสักกี่คนที่โชคดีได้เกิดในครอบครัวหรือเกิดกับพ่อแม่ที่ “เลี้ยงลูกเป็น”

จะมีเด็กสักกี่คนที่ได้เกิดในพ่อแม่ที่รู้ว่า เราควรอ่านนิทานให้ลูกฟังวันละเรื่องทุกวัน

มีพ่อแม่พาไปชมงานศิลปะ พาเข้าห้องสมุด พาเข้ามิวเซียม เพราะเรื่องแบบนี้ พ่อแม่มีเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ แต่ต้องมีความรู้ มีความเป็นพ่อแม่อินเตอร์ พ่อแม่สมัยใหม่ พอสมควร

จะมีเด็กสักกี่คนที่โชคดีเกิดมากับพ่อแม่ที่เข้าใจว่าเด็กใน 3 ขวบปีแรก พ่อแม่ต้องให้เวลา ความรัก และปล่อยให้เขาเล่น เป็นตัวของตัวเอง

จะมีเด็กสักกี่คนที่โชคดี เกิดมาในพ่อแม่ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเลี้ยงเด็ก สั่งสอนเด็กต้องใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ต้องไม่ดุ ไม่ตี แต่มีหลักการในการให้รางวัลและการลงโทษ

จะมีเด็กสักกี่คนที่โชคดี เกิดมาในพ่อแม่ที่รู้ว่าวินัยเชิงบวกคืออะไร

และจะมีเด็กกี่คนที่โชคดีเกิดมาในพ่อแม่ที่เข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเอาลูกไปกวดวิชาตั้งแต่อนุบาลเพื่อเข้า ป.1

และจะมีเด็กกี่คนที่โชคดีเกิดมาในพ่อแม่ที่มีเงินมีทองพอจะให้ลูกไปเข้าโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนที่ดูแลเด็กใกล้ชิด โรงเรียนที่ไม่เน้นการแข่งขัน โรงเรียนที่มีความก้าวหน้า สามารถส่งเสริมศักยภาพของเด็กที่อาจจะเรียนไม่เก่งแต่มีพรสวรรค์ในเรื่องอื่นๆ

ซึ่งโรงเรียนแบบนี้ในเมืองไทยนอกจากจะมีน้อยแล้วยังแพงมากๆ

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลที่น่าตกใจจากกรมสุขภาพจิตอีกว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี จำนวน 3 ล้านคน ใน 8 ล้านคน มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

ในจำนวน 3 ล้านคนนี้ป่วยไปแล้ว 1 ล้านคน!

ปัญหาหนักกว่านั้นคือ ในท่ามกลางความป่วยไข้ทั้งมวลนี้ มีคนที่เข้าถึงการบริการรักษาน้อยมาก

ผลที่ตามมา วัยรุ่นที่ป่วยจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ทำร้ายตนเองหรือคนอื่น ก้าวร้าว แปรปรวนง่าย เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด แยกตัว ไม่เข้าสังคม ทำให้ผู้ปกครอง ครู เข้าใจว่า นิสัยเกเร หนักเข้าอีก วัยรุ่นจำนวนหนึ่ง ก็ไม่อยากถูกมองว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตที่ต้องได้รักการเยียวยา บำบัด ก็จะไม่ยอมไปหาหมอ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีก

อ้างอิงจากตัวเลขนี้ ฉันคิดว่าอนาคตของประเทศไทยอยู่กับความเสี่ยงหนักมาก เพราะร้อยละ 44 ของวัยรุ่นของเราในปัจจุบัน มีแนวโน้มจะกลายเป็นมนุษย์ที่มีปัญหาชีวิตในทางใดทางหนึ่ง

และสำหรับพ่อแม่ที่มีลูก “ปกติ” ก็คงต้องขอแสดงความยินดีด้วย ที่มีลูกเลี้ยงง่าย ไม่จำเป็นต้องงัดตำราพิเศษออกมาเลี้ยง

สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็น autism ในแบบต่างๆ แต่มีความรู้ และมีกำลังทรัพย์ เข้าถึงการรักษา การบำบัด และโรงเรียนที่เหมาะสม ส่งเสริมสติปัญญาลูกๆ อย่างถูกทาง ก็ถือว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า

แต่ฉันเชื่อว่า วัยรุ่นร้อยละ 44 ของประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะซึมเศร้านี่ เป็นเด็กวัยรุ่นในครอบครัวอันหลากหลายทาง socio economics หรือมีหลายสถานะทางชนชั้น ทั้งชนชั้นทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

เช่น เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ถ้าไปเกิดในครอบครัวชาวไร่ ชาวสวน หรืออื่นๆ ที่ไม่ได้อยากให้ลูกเรียนหนังสืออะไรเยอะแยะ แต่อยากให้ออกมาทำงานได้เร็วๆ

เด็กเหล่านี้ก็อาจจะไม่มีปัญหาก็เป็นได้ เพราะไม่ต้องไปเรียน เขียน อ่านอะไร ไม่มีปมด้อย สามารถทำงานทำการได้ตามปกติ ทำมาหากินได้ประมาณหนึ่ง

แต่ถ้าหากเป็นเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กสมาธิสั้น แล้วเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่วัดผลสำเร็จของลูกด้วยการเรียนในระบบการศึกษาปกติ แล้วพ่อแม่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่ได้รู้ว่าสิ่งนี้คือความป่วยไข้ เด็กต้องการได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ต้องกินยา ต้องมีกิจกรรมบำบัด ต้องรีบรักษา ดูแลตั้งแต่ยังอายุน้อย เพราะถ้าไปรักษาตอนเข้าสู่วัยรุ่นก็จะยากมาก

หรือหากเป็นเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กสมาธิสั้นในครอบครัวยากจน ทั้งทรัพย์ ทั้งเวลา ทั้งความรู้ แล้วเด็กเหล่านี้เมื่อไปโรงเรียนก็จะไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนคนอื่น

อ่านหนังสือไปก็ได้หน้าลืมหลัง

มีบุคลิกและการตื่นตัวที่แปลกกว่าเด็กคนอื่นจนดูเหมือนเพี้ยนเหมือนดื้อ

บ้างเหมือนคนปัญญาทึบทั้งๆ ที่ไอคิวสูง

บ้างก็ดื้อมาก บ้างก็กลายเป็นเด็กขี้โกหก เพราะต้องการหลบเลี่ยงการลงโทษ เนื่องจากตัวเองไม่มีความสามารถในแบบที่ระบบเรียกร้องให้มี

เจอลูกแบบนี้ แล้วพ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกต้องได้รับการ “รักษา” ทั้งคนเป็นพ่อ เป็นแม่ ตัวลูกเอง ครูที่โรงเรียน ก็คงต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากันหมด

พ่อแม่หลายคนก็คร่ำครวญว่า ทำไมลูกเราดื้อ

ทำไมลูกเราไม่ทำการบ้าน

ทำไมลูกชอบโกหก ทำไมลูกสอบตก ทำไมลูกไม่ตั้งใจเรียน

เด็กไปโรงเรียนก็จะโดนดุโดนตี หรือไม่อาจจะถูกเพิกเฉยไปเลย เพราะครูก็งานล้นมือเหอะ

ประเด็นนี้ เท่าที่รู้ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ทำงานค่อนข้างหนักและจริง

แต่ดูตัวเลขสัดส่วนเด็ก วัยรุ่น กับบุคลากร ก็ช่างไม่ได้สัดส่วนกันเลย

ไม่นับว่ามีเด็กที่มาพบแพทย์ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหา เข้าสู่กระบวนการรักษา บำบัด ก็มีจำนวนหนึ่ง

และจำนวนนี้ก็แสนจะล้นไม้ล้นมือเมื่อเทียบจำนวนแพทย์และบุคลากร กับทรัพยากรที่ต้องใช้ทั้งหมด

แล้วนี่ยังไม่นับว่ามีเด็กไม่ได้รับการวินิจฉัยตกค้างอีกเท่าไหร่ ที่จะถูกตราหน้าว่า สมองทึบ โง่ ดื้อด้าน สอนไม่จำ ไม่รักดี ฯลฯ

ปัญหาเด็กและวัยรุ่น ที่ทุกสังคมในโลกต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงสังคมไทย การทำงานจากภาครัฐผ่านกรมสุขภาพจิตก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนใหญ่ที่จะส่งผลต่อปัญหานี้อย่างมากคือส่วนของครู โรงเรียน และพ่อแม่ ครอบครัว

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า แค่ระบบการเรียนปกติ การศึกษาก็มีปัญหาในตัวของมันเองมหาศาลอยู่แล้ว

ไม่ต้องพูดถึงว่า เราจะมีโรงเรียนที่โอบรับความหลากหลายของเด็กที่ไม่ปกติเหล่านี้ทั้งหลาย ตั้งแต่เด็กภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กสมาธิสั้น เด็กที่เป็น dyslexia ในแบบต่างๆ ที่ต้องการโปรแกรมการเรียนรู้ การสอน กิจกรรม ฯลฯ เพื่อดึงศักยภาพของเขาออกมา หรือแม้แต่เด็ก “ปกติ” ที่ไม่สามารถกลมกลืนกับระบบการศึกษาแบบที่มีอยู่

นอกจากโรงเรียนแล้ว ปัญหาที่ใหญ่มากอีกอย่างหนึ่งคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง – เด็กที่มีปัญหาภาวะการเรียนรู้บบกพร่อง และเด็กสมาธิสั้น ต้องการผู้ปกครองที่มีพลังในการเข้าใจเด็กอย่างมหาศาล ต้องทั้งใจเย็น ต้องมีเทคนิคการคุย การสอน ต้องมี “แบบฝึกหัด” เฉพาะ สำหรับ “ฝึก” เด็กเหล่านั้น ตั้งแต่ฝึกการใช้เวลา ฝึกกล้ามเนื้อ ฝึกสารพัดฝึก ยิ่งเจอเด็กในหมวดหมู่ก้าวร้าว พ่อแม่ยิ่งต้องอดทนมากขึ้นอีกเป็นร้อยเท่า

แล้วลองคิดตามฉันว่า เรามีครอบครัวที่พร้อมจะดูแลเด็กเหล่านี้สักกี่ครอบครัว

ในเด็กที่มีปัญหาร้อยคน จะมีพ่อแม่ถึง 10 คู่ไหม ที่สามารถดูแลเด็กเหล่านี้อย่างถูกวิธีเป๊ะๆ ตามที่คุณหมอ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัดแนะนำได้

เด็กที่มี “ปัญหา” เหล่านี้ จำนวนไม่น้อยก็อยู่ในครอบครัวที่กะพร่องกะแพร่ง ไม่นับที่พ่อแม่เลิกกัน พ่อติดคุก แม่ติดคุก ยายติดเหล้า พ่อแม่ทะเลาะ ตบตีกันบ้าง

หรือในบางบ้านแค่วุ่นวายกับปัญหาปากท้องก็จะตายอยู่แล้ว

เจอลูกแบบนี้เข้าอีก ต่อให้อยากใช้เหตุผลแค่ไหน ก็ไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะตั้งหลักมีเหตุ มีผล

เจอลูกดื้อมากๆ คว้าอะไรตีได้ก็ตี ด่าได้ก็ด่า

เขียนมาทั้งหมดนี้อาจจะเหมือนบ่นๆ แต่กำลังจะชี้ให้เห็นภาพว่า

1. เราต้องตกใจได้แล้วถ้าหากร้อยละ 44 ของวัยรุ่นไทย มีแนวโน้มจะมีปัญหาโรคซึมเศร้า

และ 2. อยากจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหานี้ลำพังกรมสุขภาพจิตเป็นเจ้าภาพอย่างเดียวจะไม่ไหว ลำพังพ่อแม่ ผู้ปกครองในระดับปัจเจกฯ ก็คงรับมือไม่ไหว (มี rare item ที่รอดตาย ได้ไม่กี่เคส)

คำถามคือ แล้วใครต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตเยาวชนร้อยละ 44 ของชาตินี้ หรือเราปล่อยเขากเฬวราก เป็นเศษเดนสังคมในฐานะเด็กดื้อด้าน สอนไม่จำ ไม่รักดี ติดยา ล้มเหลวในชีวิต หาอนาคต หาความภูมิใจในตัวเองไม่เจอ ฯลฯ

หรือเด็กคนไหนไม่ไหว ก็ฆ่าตัวตายเป็นรายๆ ไปแบบที่เป็นข่าว