เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สถานะพระไตรปิฎกกับอรรถกถา

คำบรรยายพระไตรปิฎก (จบ)

11.สถานะพระไตรปิฎกกับอรรถกถา

– มี 2 แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสถานะของพระไตรปิฎกกับอรรถกถานี้คือ

1. พระไตรปิฎกเก่าแก่กว่า อรรถกถาเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน

2. ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาเกิดขึ้นพร้อมกัน

นัยแรก เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว คือเชื่อว่าพระไตรปิฎกเกิดขึ้นก่อน ต่อมาก็อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับ ดังได้จัดลำดับความสำคัญดังนี้

(1) พระไตรปิฎก

(2) อรรถกถา

(3) ฎีกา

(4) เกจิอาจารย์

ลำดับดังกล่าวมิใช่เพียง ลำดับแห่งความสำคัญเท่านั้น หากรวมถึงลำดับแห่งกาลเวลาด้วย คัมภีร์หลังๆ ถือว่าเกิดภายหลังคัมภีร์ต้นๆ ลดหลั่นกันมาตามลำดับ

นัยที่สอง ที่ว่าพระไตรปิฎกกับอรรถกถาเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นทรรศนะน่าพิจารณา ด้วยเหตุผลดังนี้

1. เมื่อรวบรวมพระไตรปิฎก ก็น่าจะมี “คำอธิบาย” ประกอบไว้ด้วย เมื่อเราซื้อรถ ย่อมได้หนังสือคู่มือการใช้รถพร้อมกัน

2. ร่องรอยของอรรถกถา ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว ดังปทภาชนีย์ ในพระวินัยปิฎก จุลนิเทศ มหานิเทศ ของพระสารีบุตร ในพระสุตตันตปิฎก และ นิกเขปภัณฑ์ ในพระอภิธรรมปิฎก นี้คือที่มาแห่งอรรถกถา หรืออรรถกถานั้นเอง

3. จะสังเกตได้ว่า ในคัมภีร์อรรถกถา พระอรรถกถาจารย์ได้ยกข้อความในปทภาชนีย์ เป็นต้นนั้น มาไว้ โดยมิได้ให้คำอธิบายใหม่เลยก็มีมิใช่น้อย (คำนิยามที่มีในอรรถกถาจึงมิใช่เป็นคำนิยามของพระอรรถกถาจารย์เสมอไป เพราะหลายส่วนได้ยกมาจากพระไตรปิฎก)

4. มีผู้ให้ความเห็นว่า อรรถกถาชาดก ความจริงมีมาพร้อมพระไตรปิฎก เพียงแต่ไม่รวบรวมไว้เคียงคู่พระไตรปิฎกเท่านั้น เพิ่งจะมารวบรวมในภายหลัง คนจึงเข้าใจว่า อรรถกถาชาดกแต่งในภายหลังชาดก

น่าสังเกตว่า

– ชาดกในพระไตรปิฎก นั้นมีแต่คาถา หรือประโยคในคำพูด มารู้ว่าใครพูดกับใคร ถ้ามีเพียงแค่นี้คนอ่านย่อมไม่รู้เรื่อง

– แสดงว่าในแต่ละชาดก มีตัวละครประกอบอยู่แล้ว ใครพูดกับใครรู้กันดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้

– ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป คนรุ่นหลังอ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงต้องรวบรวมอรรถกถาหรือคำอธิบายไว้เคียงคู่กัน เมื่อเป็นเช่นนี้คนเข้าใจผิดว่า อรรถกถา แต่งภายหลัง ซึ่งไม่ถูกต้อง

– พระอรรถกถาจารย์ต้องการให้เข้าใจอรรถกถาในแง่ใด

1. อรรถกถาส่วนหนึ่งเป็นคำอธิบายของพระพุทธเจ้าหรือของพระเถระผู้ใหญ่สมัยพุทธกาล ที่คัดมาจากพระไตรปิฎก

2. ส่วนหนึ่ง ท่านแต่งขึ้นมาใหม่ แน่นอนย่อมเป็นอัตโนมัติ แต่เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้รู้ พุทธาธิบาย (พุทธประสงค์)

3. เจตนาของพระอรรถกถาจารย์นั้นบริสุทธิ์ แม้ท่านอาจจะแต่งเติมอะไรเข้ามาบ้าง เติมเข้ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ไม่มีความคิดที่จะสร้าง “สัทธรรมปฏิรูป” (ดังกรณีเพิ่มเวลาเสวยวิมุติสุขหลังตรัสรู้จาก 4 สัปดาห์เป็น 7 สัปดาห์ เป็นต้น)

– อรรถกถาเพิ่มให้เข้าใจพุทธวจนะดีขึ้น หรือให้คลุมเครือขึ้น

1. ในแง่บวก อรรถกถาช่วยให้เข้าใจพุทธวจนะดีขึ้น

– ส่วนไหนที่ตรัสไว้ย่อๆ อรรถกถาก็ขยายให้พิสดารขึ้น ทำให้เข้าใจมากขึ้น

– บางแห่งตรัสไว้ย่อๆ อ่านไม่เข้าใจ อรรถกถาก็ชี้ให้ชัดขึ้น ดัง มโนปุพฺพงฺ คมา ธมฺมา = ธรรมทั้งหลายที่มีใจเป็นสภาพถึงก่อน ธรรม คืออะไร ถึงก่อนอย่างไร อรรถกถาช่วยให้เข้าใจชัดเจนขึ้น

– บางแห่งหาทางอธิบายให้กระจ่างได้ยาก แต่อรรถกถาช่วยให้หายสงสัยและอธิบายสมเหตุสมผล เช่น การที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้วพูดได้ เดินได้ทันที เป็นต้น

2. ในแง่ลบ อรรถกถาทำให้ข้อความที่ชัดเจนอยู่แล้ว คลุมเครือขึ้นโดยไม่จำเป็น

– เช่นพระไตรปิฎกชัดเจนอยู่แล้ว แต่อรรถกถาขยายพิสดารเกินกว่าเหตุ ดังคาถาธรรมบทข้างต้นพูดถึงกรรมดีกรรมชั่ว เป็นพุทธธรรมที่ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน แต่อรรถกถาอธิบายไปถึงสังสารวัฏ ยกตัวอย่าง โยงไปการเวียนว่ายตายเกิด

มองในแง่หนึ่งก็ละเอียดดีแต่มองในแง่หนึ่งไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น

12.ข้อสรุปพระไตรปิฎก

1. สรุปเนื้อหา

– พระไตรปิฎกคือคำสอนของพระพุทธเจ้า (และพระสาวกสำคัญ) แบ่งเป็น 3 คือ พระวินัยปิฎก (ประมวลสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี ตลอดถึงพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา) พระสุตตันตปิฎก (เทศนาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่บุคคลต่างๆ) พระธรรมปิฎก (ประมวลธรรมะชั้นสูงที่เรียบเรียงเป็นหลักวิชา ไม่เกี่ยวกับบุคคลและสถานที่)

– พระไตรปิฎกเดิมอยู่ในรูปธรรมวินัย หรือ พรหมจริย ต่อมาได้ขยายออกเป็นพระไตรปิฎกในราวพุทธศตวรรษที่ 2-3

– ถ่ายทอดสือต่อกันมาโดยการท่องจำได้รับการจารเป็นอักษรเมื่อ พ.ศ.450 คราวสังคายนาครั้งที่ 5 ที่ประเทศศรีลังกา

2. สรุปแก่นพระไตรปิฎก

ค้นเอา “แก่น” จากพระไตรปิฎก เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับภิกษุสามเณร คือ รู้ดี – ปฏิบัติดี – มีวิธีถ่ายทอดเยี่ยม

(1) พระอภิธรรมปิฎก เน้นความลึกซึ้ง กว้างขวาง ผู้มีความรู้ลึกซึ้ง กว้างขวางในเรื่องนั้นๆ ถือว่ามี “ลักษณะแห่งพระอภิธรรมปิฎก”

(2) พระวินัยปิฎก เน้นระเบียบปฏิบัติ การฝึกหัดควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา ให้เรียบร้อย บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติได้ตามที่ตนเรียกว่ามี “ลักษณะแห่งพระวินัยปิฎก”

(3) พระสุตตันตปิฎก เน้นเทคนิควิธีหลากหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนให้เหมาะแก่อัธยาศัย ความถนัดและความพร้อมของผู้ฟัง ผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารหรือ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้ดี จึงถือว่า “ลักษณะแห่งพระสุตตันตปิฎก”

3. แนวสรุปของพระอรรกถาจารย์

4. ประโยชน์ของการศึกษาพระไตรปิฎก

1. ในแง่ภาษา

– ภาษาบาลี สละสลวยกะทัดรัด โครงสร้างไม่ซับซ้อน เหมาะจะถ่ายทอดพุทธวจนให้บุคคลทั่วไป

– สำหรับคนไทย ภาษาไทยมีรากมาจากภาษาบาลี (สันสฤกต) เป็นส่วนมาก ผู้รู้บาลีดี จึงเป็นผู้แตกฉานในภาษาไทย

2. ในแง่ประวัติศาสตร์ศาสนา

– ทราบพัฒนาการทางความคิด จนกระทั่งแตกเป็นนิกายศาสนา เป็นประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา

– ทราบความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับศาสนาอื่น

3. ในแง่พุทธประวัติ

– ทราบสถานภาพของเผ่าศากยะ รูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของเผ่าศากยะ

– ทราบสถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ ความล้มเหลวและความสำเร็จ ของพระพุทธเจ้า

– ทราบเทคนิควิธีสอนบุคคลต่างๆ ของพระพุทธเจ้า

4. ในแง่หลักธรรม

– ธรรม 2 ระดับ คือ ธรรมะที่เป็นเป้าหมาย และธรรมะที่เป็นแนวทาง

– พุทธศาสนามีอุดมการณ์เพื่อประโยชน์แก่พหูชนมิได้สอนให้เอาตัวรอดคนเดียว

– หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มิได้ขัดกับการพัฒนาตนเองและสังคม ดังที่นักวิชาการบางคนเข้าใจ

– พระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งสอนให้คนบรรลุนิพพานเพียงอย่างเดียว หากสอนหลักเป้าหมายสามระดับ ตามความสามารถของผู้ปฏิบัติ