คนมองหนัง : “ฉากและชีวิต” – อีกหนึ่งเฉดสีของหนังชนบทไทยร่วมสมัย

คนมองหนัง

ชื่อของ “บุญส่ง นาคภู่” ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ดูจะแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับหนังตระกูล “สัจนิยมใหม่” แบบไทยๆ

บุญส่งยังคงเล่าเรื่องราวว่าด้วยคนยากจน ผู้ประสบปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ จนหม่นหมองตรอมตรมสิ้นหวัง แถมบางรายต้องเผชิญหน้ากับทางแพร่งแห่งจริยธรรมบางประการได้อย่างทรงพลังและแม่นยำ-อยู่มือเสมอมา

โดยเฉพาะเมื่อเขาเดินทางกลับบ้านเกิด ที่บ้านวังพิกุล อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เพื่อไปรับฟังเรื่องราวชีวิตและทำงานร่วมกับบรรดาชาวบ้านญาติพี่น้อง (ที่กลายสถานะมาเป็นนักแสดงสมัครเล่น) ในบรรยากาศสถานที่จริงๆ ปราศจากการปรุงแต่ง

“ฉากและชีวิต” หนังยาวเรื่องล่าสุดของบุญส่ง (ยืมชื่อมาจากบทประพันธ์ของ “วัฒน์ วรรลยางกูร”) คือหนึ่งในผลงานที่เข้าข่ายดังกล่าว

หนังใหม่ของบุญส่งมีความคล้ายคลึงกับ “Die Tomorrow” ของ “นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” (ที่เติบโตมาจากการเป็นคนทำหนังสั้นเช่นกัน) อยู่ไม่น้อย

ทั้งสองเรื่องนำเสนอ “ห้วงขณะสั้นๆ” ในชีวิตของตัวละครหลายคนหลากกลุ่มเหมือนๆ กัน ผิดแต่เพียงว่าขณะที่ “Die Tomorrow” พูดถึงประเด็น “ความตาย” อันเกี่ยวพันกับตัวละครที่ส่วนใหญ่เป็น “คนเมือง” “ฉากและชีวิต” กลับเล่าถึงภาวะล่มสลายแตกกระจายของชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ชนบท

“ฉากและชีวิต” บรรจุไว้ด้วยเสี้ยวส่วนฉากชีวิตอันหลากหลายใน “ชั่วขณะเวลาสั้นๆ” ของตัวละครนับสิบคนจากบ้านวังพิกุล

“ห้วงขณะ” ที่ถูกละที่มาและที่ไปเอาไว้เป็นปริศนาคลุมเครือ เพื่อท้าทายการขบคิดตีความของคนดู มีจำนวนรวมกัน 10 ฉากพอดี

เริ่มต้นจากบทสนทนาระหว่างชายหนุ่มที่ยืนตกปลาอยู่ริมบึงกับอดีตสาวคนรักที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ของชายอื่นมาแวะทายทัก

ทั้งสองคนคุยกันถึงต้มยำชามโปรดที่ชายหนุ่มทำกินเองเป็นประจำ แต่หญิงสาวรู้สึกว่ามันจำเจน่าเบื่อ หญิงสาวเอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่เธอจะเข้าไปหางานทำในเมืองกรุง แล้วชายหนุ่มก็เล่านิทานของกระต่ายที่แวะกินผักบุ้งตรงข้างทางอันไม่คุ้นเคยจนถูกงูเหลือมยักษ์ซุ่มเขมือบร่างให้หญิงสาวรับฟัง

ตัดไปเป็นภาพชีวิตของชายวัยใกล้ชราซึ่งกำลังเดินฉีดยาฆ่าแมลงใส่พืชพันธุ์ที่เพาะปลูกไว้อยู่คนเดียว แล้วเขาก็เกิดอาการป่วยไข้ฉับพลันจนร่างกายล้มทรุดกลางท้องนา ชายผู้นี้ลุกขึ้นยืนและเดินต่อไม่ได้ เขาทำได้เพียงค่อยๆ คืบคลานจากทุ่งนาไปสู่ถนนลูกรัง เพื่อหาทางกลับบ้าน

ถัดมา บุญส่งหันไปเล่าเรื่องของนักเรียนมัธยมหญิงสองชายหนึ่ง ซึ่งถูกมอบหมายจากครูให้ค้นคว้าเขียนรายงานเรื่อง “พันธุ์ข้าว” ทั้งสามคนแวะเข้าไปพูดคุยกับคุณป้าเกษตรกร เพื่อไต่ถามถึงพันธุ์ข้าวเก่าที่กำลังสูญหายเพราะตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเกษตรยุคปัจจุบันไม่ได้

ท่ามกลางสิ่งเก่าที่จวนจะเลือนหาย ยังมีสิ่งใหม่ดำรงอยู่เคียงคู่กัน เห็นได้จากนักเรียนหนุ่มที่ไม่สนใจเรื่องข้าว แต่นั่งครอบหูฟังเพื่อเล่นเกมทางสมาร์ตโฟนตลอดเวลา เช่นเดียวกับคุณป้า ที่โทรศัพท์มือถือส่วนตัวมีสายโทร.เข้าอยู่ไม่ขาด

ฉากต่อไป ชายวัยกลางคนนัดลูกค้าบุคลิกภูมิฐานมาเจรจาซื้อขายบ้านไม้หลังเก่า ที่ปัจจุบันเป็นแหล่งพำนักพักพิงของบิดาวัยชรา

ฉากที่หก สามีคนหนึ่งขับรถตามหาภรรยาที่หอบลูกหนีหายจากครอบครัว แต่ปิกอัพของเขาดันน้ำมันหมดตรงหน้าวัด เขาโทรศัพท์ไปหาแม่และอา ทว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือมากนัก

กลับเป็นพระและชาวบ้านละแวกนั้นที่ช่วยเลี้ยงดูปูเสื่อและหาน้ำมันรถมาเติมให้ เพื่อส่งเขาออกเดินทางต่อ

ฉากเจ็ด เด็กหนุ่มในบ้านค่อนข้างมีฐานะ กำลังนอนเล่นเกมแล้วต่อสายเข้าลำโพงจนเสียงดังอึกทึก โดยไม่สนแม่, พ่อ, น้อง (หรือหลาน) ที่กำลังนั่งดูโทรทัศน์อยู่ใกล้ๆ พอถูกแม่ดุ เขาก็ไม่พอใจ ขี่มอเตอร์ไซค์หนีออกจากบ้าน

ที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน ครูรายหนึ่งกำลังอินสุดๆ กับบทเรียนเรื่อง “มอเตอร์ไซค์สี่จังหวะ” แกไม่สนใจเลยว่าเด็กๆ ในห้องนั้นใคร่รู้เนื้อหาดังกล่าวหรือไม่ ยิ่งสำหรับ “เด็กนักเรียนโข่ง” ประจำห้องด้วยแล้ว เขายิ่งกลายเป็นบุคคลล่องหนไร้ตัวตนในสายตาของครูและเพื่อนๆ เข้าไปใหญ่

แล้วก็มาถึงฉากที่บุญส่ง ลูกชายและแม่วัยใกล้เก้าสิบของเขา ร่วมแสดงด้วยตัวเอง ฉากนี้เล่าเรื่องราวของพ่อลูกที่เข้าไปอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ซึ่งกลับมาเยี่ยมย่าผู้นอนแกร่วอยู่ในบ้านหลังเก่าที่ชนบท

พ่อพยายามสาธิตวิธีการปรุงอาหารจานเด็ดที่ตนเองรับสืบทอดกลเม็ดมาจากย่าให้ลูกชายตัวน้อยค่อยๆ ซึมซับ แต่ลูกกลับแสดงสีหน้าผะอืดผะอม เมื่อได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารจานนั้น

ฉากรองสุดท้าย สตรีวัยกลางคนเจ้าของร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ ดำเนินธุรกิจอย่างคึกคัก เพราะชาวบ้านในชุมชนต่างทำกับข้าวกินเองน้อยลงเรื่อยๆ ผิดกับคุณป้าขายผักพื้นบ้านที่ดำเนินกิจการอย่างซบเซา จากเหตุผลชุดเดียวกัน

หนังเรื่องนี้ปิดฉากที่ท่ารถประจำหมู่บ้าน เมื่อพ่อคนหนึ่งมาส่งลูกสาวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากเธอต้องไปเป็นสาวโรงงานเพื่อหาเงินใช้หนี้

“ฉากและชีวิต” เป็นหนังไทยที่เล่าเรื่องของสังคมชนบท แต่บุญส่งมิได้นำเสนอภาพของชุมชนหมู่บ้านที่สมาชิกจำนวนมากมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นลึกซึ้ง (ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือลบ)

นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ยังมิได้นำเสนอภาพแทนของหมู่บ้านชนบท ซึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์หรือสังคมไทยยุค 4.0 ได้อย่างกลมกลืน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจพอจับความได้ว่า “ฉากและชีวิต” มีความแตกต่างอย่างสำคัญจาก “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” หนังชนบทอีสานเรื่องเด่นแห่งทศวรรษ 2560

“บ้านวังพิกุล” ของบุญส่ง แทบจะกลายเป็น “ชุมชนจินตกรรม” ที่กอปรขึ้นจากปัจเจกบุคคลผู้โดดเดี่ยว แปลกแยก สับสน และถูกรายล้อมด้วยปัญหานานาชนิด

ชาวบ้านแต่ละรายอาจมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชุมชนคนอื่นๆ บ้าง แต่ถึงที่สุดพวกเขาก็มีระยะห่าง มีความเข้าใจผิด คอยคั่นกลางระหว่างกัน โดยสายสัมพันธ์ที่คล้ายจะราบรื่นลงตัวมักเกิดขึ้นในวงจรเชิงพาณิชย์ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อเพียงเท่านั้น

ไปๆ มาๆ ความหวังน้อยนิดในหมู่บ้านแห่งนี้ดูจะอยู่ที่การประกอบธุรกิจอาหารตามสั่งเพื่อรองรับวิถีชีวิตอันแปรเปลี่ยนของผู้คน และการอุปถัมภ์ค้ำจุนชั่วครั้งคราวที่เกิดขึ้นกับชายผู้ขับรถกระบะตามหาเมีย

แม้แต่การหวนกลับมาโหยหาอารมณ์โรแมนติกของพ่อลูกจากเมืองหลวง ก็พลิกผันกลายเป็นอะไรที่โรแมนติกไม่ออก เมื่อลูกกินอาหารรสมือพ่อ (ตามสูตรของย่า) ไม่ลง และพ่อต้องออกคำสั่งให้ลูกกล้ำกลืนมันลงไปด้วยท่าทีเผด็จการ

เหล่านี้คือความเศร้าสลด รันทด หดหู่ ที่ความล่มสลายของปัจเจก ค่อยๆ แพร่ขยายไปสู่ความล่มสลายของครัวเรือนและชุมชน

ภาวะดังกล่าวผลักดันให้บรรดาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ต้องอพยพเข้า กทม. ไล่ตั้งแต่หญิงสาวตอนต้นเรื่องและหญิงสาวอีกรายช่วงท้ายเรื่อง ไม่นับรวมบรรดาเด็กหนุ่มติดเกมทั้งหลาย (หรือกระทั่งเด็กโข่งประจำโรงเรียน) ที่มีวี่แววว่าจะอดทนใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ไปได้อีกไม่นานนัก

แม้การเดินทางเข้าเมืองหลวงจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงใหม่ๆ แต่นั่นก็อาจเป็นหนทางหลักที่จำเป็นต้องเลือกเดิน ไม่ต่างอะไรจากเรื่องเล่าในนิทานของชายหนุ่มในฉากแรกสุด ว่าด้วยกระต่ายน้อยที่ลืมปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตน อันได้แก่ การกินผักบุ้งในบ้าน

เมื่อออกเดินทางไกลแล้วท้องหิว มันจึงต้องลงไปหาผักบุ้งกินข้างทางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือหนทางอยู่รอดเดียว ซึ่งชักนำเจ้ากระต่ายให้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของงูเหลือม

หากเทียบเคียงกับหนังของคนหนุ่มในจักรวาล “ไทบ้านฯ” ผู้ชมอาจรู้สึกว่าบุญส่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มองโลกในแง่ร้ายเหลือเกิน

กระทั่งหนังของเขาต้องตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่เจ้าตัวเองก็รับทราบ คือ ชาวบ้านชนบทไม่ได้รู้สึกสนุกด้วย และมีฐานคนดูเพียงกลุ่มเล็กๆ ซุกซ่อนอยู่ในเมือง (แถมยังมิได้ตั้งเป้าสร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งเข้าร่วมเทศกาลระดับนานาชาติเป็นหลักเสียอีก)

แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือการมองโลกจากสายตาของชายวัยกลางคน ที่ผ่านการบวชเรียนจนเป็นมหา ก่อนจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ และใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์, สังคมชนบท และประเทศชาติ ซึ่งไม่ได้มีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่เส้นทางอันดีงามขึ้นเลยตลอดสิบปีให้หลัง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าบุญส่งจะผลิตงานโดยปราศจากความคิดมุมบวกและพลังสร้างสรรค์ เพราะอย่างน้อย เขาก็เชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีดิจิตอล ว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้คนธรรมดาสามารถเล่าเรื่องราวความจริงอันปกติสามัญผ่านสื่อภาพยนตร์ได้ง่ายดายและมากมายยิ่งขึ้น

หากใครอยากลองชมอีกหนึ่งเฉดสีของหนังชนบทไทยร่วมสมัย ที่มีทุนสร้างไม่สูงนัก ใช้เทคนิควิธีการไม่สลับซับซ้อน แต่นำเสนอประเด็นชวนขบคิด ผ่านงานด้านภาพที่ดี และการแสดงอันสดดิบ

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้หมดรอบฉายที่ลิโด้ในวันที่ 28 มีนาคม ทางผู้สร้างแจ้งว่าหนังน่าจะย้ายไปฉายที่เฮาส์ อาร์ซีเอ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2561