ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
มิ่งมิตร… เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม
อุชเชนี
อารัมภบท
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าการล้อมปราบครั้งใหญ่และตามมาด้วยการสังหารหมู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทยในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะเดินทางผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 40 ปี…
ด.ช.หกตุลา หรือ ด.ญ.หกตุลา ในวันนั้นก็ก้าวสู่ช่วงวัยกลางคนในวันนี้ และมีชีวิตที่ผ่านพบความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของสังคมไทยในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
และก็แน่นอนว่าสำหรับในทางการเมืองแล้ว เขาได้เห็นถึงการ “ล้มลุกคลุกคลาน” ของการเมืองไทย
ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความ “ผันผวน” ของกระแสประชาธิปไตยไทยที่เป็นดัง “รถไฟเหาะในสวนสนุก” ที่วิ่งขึ้นลงอย่างน่าตื่นเต้น และน่าหวาดเสียวพร้อมกันไป
ประชาธิปไตยในสังคมไทยดูจะเป็นดังเช่นรถชนิดนี้ที่วิ่งขึ้นและวิ่งดิ่งลงกลับไปมาไม่รู้จบ
ฉะนั้น 40 ปีของการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 จึงไม่ได้บ่งบอกอะไรมากไปกว่าการ “ขึ้นๆ ลงๆ” ของกระแสประชาธิปไตยไทย
ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในอาการเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
การเมืองไทยในแบบรถไฟเหาะนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีขบวนนิสิตนักศึกษาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ
ซึ่งในทางส่วนตัวแล้ว ผมและเพื่อนๆ หลายคนเองก็มีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในขบวนนี้
และรถไฟเหาะไต่ระดับขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างไม่เคยพบมาก่อนเลยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516…
การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แทบไม่น่าเชื่อว่าขบวนนิสิตนักศึกษาที่ถูกมองว่าเป็น “เด็กๆ” จะสามารถโค่น “ระบอบทหาร” ที่ฝังรากลึกในการเมืองไทยมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ
แต่แล้วในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทหารก็โค่นระบอบการเมืองที่นักศึกษามีส่วนในการจัดตั้งขึ้นในปี 2516 ลงได้
แต่เป็นการเปลี่ยนระบอบการเมืองที่มีราคาแพงมาก และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนหลายๆ คน
ดังนั้น วันนี้จึงจะขออนุญาตท่านผู้อ่านพาย้อนอดีตกับการเดินทาง 40 ปีของ “คนหกตุลา” อย่างพวกผมสักนิดครับ
ภูมิทัศน์การเมืองใหม่
ผมเริ่มชีวิตการเป็นนิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2516
แต่สำหรับชีวิตนักเรียนมัธยมของผมมาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร และในช่วงมัธยมปลาย ผมตัดสินใจเรียนสายวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจเบนเข็มชีวิตของการเป็นนักเรียนสายวิทย์เมื่อเริ่มเรียน ม.ศ.4 สักพัก
การตัดสินใจเช่นนี้เป็นผลโดยตรงจากการเริ่มอ่านหนังสือ และสำหรับคนยุคนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สื่อที่มีบทบาทในการปลุกกระแสความคิดทางการเมืองอย่างมากก็คือ “สยามรัฐ”
ข้อเขียนบทวิจารณ์ของนักคิดนักเขียนในค่ายสยามรัฐ ที่พุ่งเป้าต่อการดำรงอยู่ของระบอบทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร มีพลังอย่างมากสำหรับเยาวชนอย่างผม
และต้องยอมรับอีกด้วยว่าบทความที่มีคนตามอ่านอย่างมากในขณะนั้นก็คือ บทความของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าระบอบการปกครองของทหารล้าหลังมาก จนแม้กระทั่งกลุ่มนักคิดอนุรักษนิยมในปีกสยามรัฐขณะนั้นก็ไม่อาจทนรับได้
และยิ่งเมื่อ พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม เข้ามามีบทบาททั้งในการเมืองและในกองทัพมากขึ้นแล้ว ระบอบการปกครองของ “สองจอมพล หนึ่งพันเอก” ก็กลายเป็นหัวข้อของการสนทนาและการวิจารณ์ทางการเมืองในทุกเวที
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ แม้จะมีเสียงของ “ความไม่พอใจ” เริ่มค่อยๆ เกิดมากขึ้นกับบรรดาปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมือง
แต่ความไม่พอใจเช่นนี้ก็ไม่ได้ไปถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การ “เปลี่ยนระบอบ” การปกครองของทหารได้แต่อย่างใด
ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 แล้ว
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกโค่นล้มโดยคณะรัฐประหารที่มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้า ภายใต้เงื่อนไขของการ “รัฐประหารตัวเอง”
การเมืองเช่นนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยของระบอบทหาร
และขณะเดียวกันก็เริ่มส่งสัญญาณถึงความชอบธรรมของทหารในการเมืองไทยที่ถดถอยลง
เสียงของความไม่พอใจทางการเมืองเริ่มมีมากขึ้น พร้อมๆ กับเสียงวิจารณ์ในที่สาธารณะก็เริ่มมีมากขึ้นด้วย
เสียงของความไม่พอใจเช่นนี้ไม่ใช่สิ่ง “แปลกแยก” ทางการเมืองอีกต่อไป แม้ว่าหลังจากรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะมีการกวาดล้างทางการเมืองขนาดใหญ่
และหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจับกุมก็คือบรรดานักคิดและปัญญาชนหลายๆ คน ยุคของการใช้อำนาจปืนปิดปากผู้เห็นต่างอาจจะพอเป็นความจริงหลังจากรัฐประหาร 2501
แต่หลังจากการเข้ามาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของจอมพลถนอมในปี 2511 โดยมีพรรคสหประชาไทยเป็นตัวจักรของการขับเคลื่อนในสภานั้น ประตูของการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองก็ถูกเปิดออกอีกครั้งหนึ่ง
และแม้หลังจากการยึดอำนาจในปี 2514 แล้วก็ใช่ว่า รัฐบาลทหารจะปิดประตูบานนี้ได้อีก แต่สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม
รัฐบาลทหารถูกวิจารณ์อย่างมากและอย่างหนัก และหลายครั้งที่ “สองจอมพล” ถูกทำให้เป็น “ตัวตลก” ทางการเมือง
อย่างน้อยก็เห็นได้จากขบวนล้อเลียนการเมืองของงานฟุตบอลประเพณี
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กำลังก่อตัวกลายเป็น “ภูมิทัศน์ใหม่” ทางการเมือง รัฐบาลทหารไม่ได้มีอำนาจมากเช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ และคนก็เริ่มไม่กลัวรัฐบาลทหาร
ดังจะเห็นได้ว่า มี ส.ส. 3 คน นำโดย นายอุทัย พิมพ์ใจชน ยื่นฟ้องจอมพลถนอมกับพวกในการทำรัฐประหาร และพวกเขากลับถูกตัดสินลงโทษโดยคณะรัฐประหารคนละ 10 ปี
เสียงต่อต้านรัฐทหาร
ดังได้กล่าวแล้วว่าระบอบทหารคือตัวแทนของความล้าหลังทางการเมือง แม้กระทั่งปีกอนุรักษนิยมในสายสยามรัฐเองก็ยังรับไม่ได้ การขับเคลื่อนการวิจารณ์รัฐบาลทหารของสยามรัฐจึงกลายเป็นการ “ก่อกระแส” ต่อต้านระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารได้อย่างมาก
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางการเมืองขณะนั้นจึงหนีไม่พ้นการอ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ผมเองก็อยู่ในกระแสเช่นนี้ด้วย และนอกจากนี้ ก็เริ่มหาหนังสืออ่านเพิ่ม จนกระทั่งมีบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐแนะนำหนังสือชื่อ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ผมจึงไปลองหาซื้อมาอ่าน
อ่านแล้วก็ยังเข้าใจไม่มากนัก ซึ่งก็คงเป็นผลจากวุฒิภาวะทางการเมืองของตนเอง
จำได้ว่าวันหนึ่ง ครูประจำชั้น ม.ศ.4 เห็นผมอ่านหนังสือ จึงถามว่า ผมอ่านหนังสืออะไร?
ผมเอาหนังสือให้ครูดู… ครูดูแล้ว ก็ไม่ได้พูดว่าอะไร อาจจะเป็นเพราะผมไม่ได้อ่านหนังสือนิยายบันเทิง แตกต่างจากช่วงมัธยมต้นที่พวกผมชอบแอบอ่านนิยายขณะเรียนหนังสือ และหนังสือที่เพื่อนในห้องหามาอ่านกันในขณะนั้นก็คือ “เพชรพระอุมา”
ผมเริ่มเจียดสตางค์ค่าขนมเก็บไปซื้อสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และเมื่อแก่กล้ามากขึ้นก็เริ่มออกแสวงหาหนังสือแถววังบูรพา ซึ่งเป็นย่านของร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น (คนรุ่นปัจจุบันอาจจะไม่คุ้นเคยแล้ว)
และซื้อหนังสือตำรารัฐศาสตร์เล่มแรกชื่อ “การเมืองระหว่างประเทศ” ของ ดร.ณรงค์ สินสวัสดิ์ (จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มาอ่าน เป็นการเริ่มอ่านเรื่องทางการเมืองและตำรารัฐศาสตร์ครั้งแรกในชีวิต
เป็นการทดลองอ่านหนังสือที่เป็น “ตำราเรียน” ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งแรก
อ่านแล้วก็นึกไม่ออกว่าจะไปทำอะไรต่อ เป็นแค่รู้สึกอยากเรียนรู้ และก็ไม่เคยคิดเลยว่าสักวันหนึ่งอาจจะต้องมาทำงานเป็นอาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในช่วงกลางปีของ ม.ศ.4 ผมเริ่มกลายเป็นความแปลกแยกในหมู่เพื่อนๆ เพราะเพื่อนๆ เตรียมเอ็นทรานซ์เข้าคณะต่างๆ ของสายวิทย์ คณะหลักๆ ก็คงหนีไม่พ้นวิศวะ แพทย์ เป็นต้น
ผมเริ่มตัดสินใจที่จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็น “เด็กศิลป์” เพราะอยากเรียนเรื่องทางรัฐศาสตร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักคณะรัฐศาสตร์มากมายนัก
ยุคนั้นไม่มีครูแนะแนว หรือจะหาความรู้เรื่องเรียนต่อจากแหล่งใด และเพื่อนทั้งห้องก็เป็นสายวิทย์หมด ไม่มีใครคิดจะแตกทัพมาเป็นสายศิลป์
อีกทั้งโรงเรียนอำนวยศิลป์ก็มุ่งมั่นที่จะปั้นเราให้เป็นเด็กสายวิทย์ที่เก่งกาจให้ได้ ในระดับชั้น ม.ศ.4 และ 5 โรงเรียนสอนเข้มในวิชาทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
เราถูกจับเรียนมากกว่าโรงเรียนอื่น พวกเราเรียน 5 วันครึ่งคือจากจันทร์ถึงเสาร์ครึ่งวัน และทางโรงเรียน โดย อาจารย์พา ไชยเดช ก็ไปหาครูจากภายนอกมาสอนเพิ่มเติม
ครูที่สอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในส่วนของฟิสิกส์นั้นเป็นอาจารย์จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
และบางวันเราจึงเริ่มเรียนในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 07.30 น.
สำหรับพวกเราในฐานะนักเรียนมัธยมปลายแล้ว จุดหมายปลายทางมีอย่างเดียวก็คือ การเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยและสอบให้ได้
ในยุคนั้นการสอบนี้เป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต และผลการสอบจะส่งผลอย่างมากต่อการกำหนดวิถีชีวิตที่จะเป็นไปในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…
สนามสอบกลายเป็น “สนามแข่งขันชีวิต” ที่สำคัญของคนยุคนั้น
จุดเปลี่ยนแห่งชีวิต
แม้ในชั้นเรียน ผมจะเป็นเด็กวิทย์ แต่นอกห้องเรียนแล้ว ผมกลายเป็นเด็กศิลป์ และเริ่มอ่านงานสายสังคมมากขึ้น
ช่วงอยู่ ม.ศ.5 ผมอ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์มากขึ้น ได้เริ่มอ่านบทความของนักคิดนักเขียนอย่าง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และบทบรรณาธิการของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
ผมเริ่มสนใจเรื่องราวทางรัฐศาสตร์ แม้ว่าโดยวุฒิภาวะแล้วก็ยังเป็นเพียง “เด็กขาสั้น” ในชั้นมัธยมปลายเท่านั้นเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนังสือเหล่านี้ได้สร้างแนวคิดเสรีนิยมให้กับผมในเวลาต่อมาอย่างมาก
สภาพของการเปลี่ยนเข็มทิศการเรียนทำให้ผมมีความชัดเจนมากขึ้นกับชีวิตของตนเองในอนาคต สภาพเช่นนี้สะท้อนชัดเจนในวันทำข้อสอบปลายภาคของ ม.ศ.5 การสอบไล่ ม.ศ.5 ยุคนั้นใช้ข้อสอบกลางของกระทรวงศึกษาธิการ การวัดผลเช่นนี้จึงทำให้มีการจัดลำดับของนักเรียนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ทั่วประเทศได้ หรือที่เรียกว่าพวก “ติดบอร์ด” คือนักเรียนที่สอบได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ
การสอบไล่ ม.ศ.5 ซึ่งอยู่ในปีการศึกษา 2515 นั้น ผมสร้างความประหลาดใจกับเพื่อนสายวิทย์ในห้องเป็นอย่างมาก
เพราะในส่วนของการสอบวิชาสังคมศึกษา ผมเป็นนักเรียนคนเดียวในห้องที่ขอกระดาษคำตอบเพิ่ม
จำได้ว่าเพื่อนๆ เงยหน้าขึ้นมาดูตอนที่ผมยกมือขอกระดาษเพิ่ม แต่พอถึงวันที่ต้องสอบข้อสอบหลักของสายวิทย์ ผมทำได้แค่ประคองตัวเองให้ผ่านการสอบให้ได้
ทั้งนี้ ผมจบ ม.ศ.5 ด้วยคะแนน 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และก็ชัดเจนกับตัวเองที่จะไม่เดินต่อในฐานะเด็กวิทย์ มุ่งสู่คณะสายศิลป์
ดังนั้น เมื่อต้องซื้อใบสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมตอบตัวเองได้ทันทีว่า ผมจะเลือกรัฐศาสตร์อันดับ 1 และตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับคณะหรือข้อมูลใดๆ หรอกครับ ดังที่กล่าวแล้วว่าในยุคนั้นไม่มี “ครูแนะแนว” คอยช่วยเหลือในเชิงข้อมูลคณะ เป็นแต่เพียงเคยมาเที่ยวงาน “จุฬาฯ วิชาการ” ในปี 2514 และเห็นกิจกรรมของพี่ๆ ในการเปิดเวทีต่อต้านรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม
อีกทั้งได้มีโอกาสมาเดินดูนิทรรศการที่คณะรัฐศาสตร์ จึงสนใจคณะนี้
และเมื่อครั้งที่มาเที่ยวงานก็ไม่ได้มีโอกาสคุยกับรุ่นพี่คนใดเป็นพิเศษ และก็อาจจะแปลกที่มีนักเรียนอำนวยศิลป์มาเดินดูนิทรรศการในคณะสายสังคม
คงต้องยอมรับว่าผม “อิน” กับเรื่องการเมืองจริงๆ แล้ว และอยากเรียนต่อทางรัฐศาสตร์ ซึ่งก็โชคดีว่าพ่อและแม่ยอมตามให้ผมตัดสินใจเองในเรื่องนี้
ตอนสอบเอ็นทรานซ์เสร็จ แล้วกลับไปบ้านในช่วงฤดูร้อนที่พิษณุโลก พ่อและแม่ถามเรื่องคณะที่ผมเลือก แต่ทั้งพ่อและแม่ก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ ผมมาทราบภายหลังในอีกหลายปีต่อมาว่าพ่อกับแม่อยากให้เลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ เพราะพี่ชายแม่เป็นผู้พิพากษา
ประกอบกับพ่อคิดว่าถ้าผมมีโอกาสเป็น “ผู้พิพากษา” ก็น่าจะดีกว่าเป็น “ปลัดอำเภอ”
แต่ว่าที่จริงสอบเสร็จแล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะสอบติดที่จุฬาฯ เพราะผมไม่ได้จบมัธยมปลายด้วยคะแนนสูงในแบบพวกติดบอร์ดแต่อย่างใด
แต่ที่ติดได้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะข้อสอบมี 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคม และภาษาไทย ซึ่งผมคิดว่าคงได้คะแนนคณิตศาสตร์มาช่วยมากเพราะเป็นนักเรียนสายวิทย์มาก่อน
ส่วนสังคมและภาษาไทยก็พอทำได้ จึงเป็นโอกาสให้สอบติด
ผมสอบติดมาเป็นลำดับที่ 40 ของคณะ… ชีวิตผมกำลังก้าวสู่ภูมิทัศน์ใหม่
การสอบได้ครั้งนี้ทำให้ผมเปลี่ยนจาก “อนศ.” รุ่น 46 เป็น “สิงห์ดำ” รุ่น 26 และเข้าเรียนในปีการศึกษา 2516
ผมย้ายที่เรียนจาก “ทุ่งพญาไท” มาสู่ “ทุ่งสามย่าน” หรือเปลี่ยนสีจาก “ชมพูม่วง” มาเป็น “ชมพู”
และหากย้อนกลับไปตอนแรกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น คงไม่มีใครคิดเลยว่าจะมีเหตุการณ์ใหญ่อะไรที่รอเราอยู่ข้างหน้า
แต่สำหรับพวกเราที่สอบติดนั้น กล่าวได้อย่างเดียวว่า มีแต่ความตื่นเต้นเร้าใจของการเป็นนิสิตใหม่รออยู่เบื้องหน้า…
ใครเลยจะคิดว่า 2516 จะเป็น “ปีใหญ่” ของการเมืองไทย!