เศรษฐกิจ/เด้งผู้ว่าการ กยท. ยิงปืนนัดเดียว รัฐมีแต่ได้กับได้

เศรษฐกิจ

เด้งผู้ว่าการ กยท.

ยิงปืนนัดเดียว

รัฐมีแต่ได้กับได้

เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2561 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2561 ให้ ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษงานปลัดสำนักนายกฯ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากการยางแห่งประเทศไทยและยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นประการอื่น
ด้วยวังวนราคายางพาราที่ตกต่ำ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
แต่อีกส่วนที่ต้องยอมรับคือ การบริหารจัดการสวนยางและผลผลิต การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์
และที่สำคัญที่สุดคือการวางนโยบายที่ผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อราคายางพาราให้เลวร้ายลงไม่แพ้กัน

หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ควบรวม 3 หน่วยงานเดิมคือ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และสถาบันวิจัยยาง มารวมอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจ “การยางแห่งประเทศไทย” (กยท.) เมื่อปี 2559 เพื่อให้การวางแผนพัฒนายางพาราทั้งระบบเป็นไปอย่างมีเอกภาพครบวงจร และเพื่อแก้ปัญหายางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วนตามนโยบายรัฐ
โดยมีบอร์ด กยท. ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข คอยตัดสินใจเรื่องสำคัญ และมีธีธัช ที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กยท.คนแรก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559
ในช่วง 2 ปีที่ธีธัชโลดโผนอยู่บนเก้าอี้ผู้ว่าการ กยท. ต่างกรีดใจชาวสวนยางจนเหวอะ ถึงแม้จะเปิดฉากในวันรับตำแหน่งอย่างสวยหรูว่า
“โดยหลักการแล้ว กยท. เหมือนแม่น้ำ 3 สายที่แข็งแรงอยู่แล้ว วันนี้ต้องอยู่รวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่แข็งแรงขึ้น เน้นย้ำการทำงานบนหลักธรรมาภิบาล และเป็นทีมเวิร์ก โดยเป้าหมายนั้นนอกจากพนักงานใน กยท. จะต้องอยู่ร่วมกันทำหน้าที่อย่างแข็งแกร่งแล้ว ต้องมองถึงเกษตรกรชาวสวนยางโดยรวมให้มีความสุขด้วย ณ วันนี้อยากให้คิดและทำงานแบบการยางแห่งประเทศไทยจริงๆ ตนพร้อมจะนำนาวา กยท. ลำใหญ่ลำนี้ไปให้ถึงเป้าหมาย”
วาจาที่ลั่นออกไปวันนั้นกลับเหือดแห้งเหมือนขี้ยางคาต้นด้วยเวลาเพียงไม่นาน ตามติดมาด้วยเสียงก่นด่า และหลายข้อครหาที่หลุดออกมา ทั้งความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่อง
แม้ธีธัชจะเป็นผู้ที่ตั้งใจทำงานแต่ก็ไม่มีผลงานอะไรคืบหน้าออกมาให้ชื่นอกชื่นใจ
ซึ่งในแวดวงยางพาราต่างเชื่อว่ามีกลุ่มผลประโยชน์โดยเฉพาะผู้ส่งออกอยู่เบื้องหลัง
ยิ่งเรื่องราคายางที่แม้ว่าผลผลิตในตลาดโลกบางช่วงจะออกมาน้อยแต่ราคาก็ไม่กระเตื้อง
จนเมื่อปลายปี 2560 เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ต่างลุกฮือขึ้นขับไล่ แต่ธีธัชก็ไม่ไหวเอน ยังคนยืนเด่นโดยท้าทาย เข้าเกียร์เดินหน้า พับหูช้างไม่มองหลัง บนนาวา กยท. ลำใหญ่

จนกระทั่ง อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแกนนำภาคเกษตรกรระดับ “อ๋อง” ได้ออกโรงขับไล่ หวังให้ธีธัชพ้นจากตำแหน่งไปเสียที
อย่างไรก็ตาม ความพยายามไร้ผล
เหตุการณ์หลังจากนั้น ธีธัชก็ถูกขนาบข้างไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด อีกทั้งราคายางก็ยังไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลรับปากไว้กับชาวสวนยางหลังปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2560 ว่าหลังจากนี้ 3 เดือน ราคายางจะต้องไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามที่รับคำไว้ โดยราคายางแกว่งอยู่ที่ 44-46 บาทเพียงเท่านั้น จนนำมาสู่การเด้งฟ้าผ่าในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม วงในมองเรื่องการหลุดจากเก้าอี้ของธีธัชในครั้งนี้ ว่าน่าจะมาจากการที่ กยท. จัดตั้งเอกชนให้มาบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา (เซส) ซึ่งเกษตรกรไม่เห็นด้วยอย่างมาก
โดยนายอุทัยชี้ว่า เรื่องเงินเซสนั้น ผู้ว่าการ กยท. โกหกว่าจะจ่ายเงินให้เอกชน 5% เมื่อเก็บเงินเซสได้มากกว่า 7,000 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ ตาม TOR ไม่มีการกำหนดในข้อตกลงนี้
อย่างไรก็ดี ไม่เชื่อในศักยภาพของเอกชนว่าจะดีไปกว่าระบบการเก็บเงินของ กยท. ที่วางระบบไว้ดีแล้วอย่างไร เรื่องนี้มีความซับซ้อน รวมถึงมีผลประโยชน์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เยอะ
“นอกจากเรื่องเงินเซสแล้ว คาดว่าเรื่องปุ๋ยก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญอีกเรื่อง เนื่องจากการประมูลปุ๋ยของ กยท. ส่อพิรุธ มีปัญหาร้องเรียนจากการประกาศประมูลใช้ระยะเวลาเพียง 5 วัน โดยคร่อมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เหลือวันทำการเพียง 3 วัน จึงมีผู้ประมูลน้อย ซึ่งผ่านคุณสมบัติปุ๋ยเคมี 5 ราย ปุ๋ยอินทรีย์ 6 ราย โดยผู้เข้าประมูลทั้งหมด ชนะการประมูลทุกราย จึงเกิดความสงสัยว่าอาจจะเข้าข่ายการฮั้วประมูล”
“นอกจากนั้น ปุ๋ยเคมีที่ประมูลได้ก็มีราคาสูงกว่าในท้องตลาด โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีราคาแพงผิดปกติกว่าการซื้อขายทั่วไป เหตุเพราะ กยท. ได้ตั้งราคากลางไว้สูงมาก ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประมูล”
“เมื่อสอบถามไปยังนายธีธัช ว่าทำไมปุ๋ยที่ กยท. ประมูล จึงมีราคาแพงกว่าปุ๋ยที่ขายในท้องตลาดถึงกิโลกรัมละ 3 บาท แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด”

นอกจาก 2 เรื่องหลักแล้วเกษตรกรชาวสวนยางยังมองว่า การบริหารที่ผ่านมาของนายธีธัชนั้น ไม่เคยรับฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกรชาวสวนยาง อาทิ เกษตรกรไม่อยากให้ร่วมลงทุนกับบริษัท 5 เสือ เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรด้วยเม็ดเงินจำนวน 1,200 ล้านบาทจากงบประมาณของประเทศ ซึ่งนายธีธัชก็ไม่รับฟัง ทั้งที่บริษัท 5 เสือเป็นผู้ขายยางที่จะต้องหากำไรจากยาง และ กยท. เองก็มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพราคายางไว้ แต่กลับนำข้อมูลยางทั้งหมดไปเปิดเผยแก่ 5 บริษัทดังกล่าวได้อย่างไร จากนโยบายการทำงานที่ผิดพลาดหลายครั้ง จึงต้องถูกโยกย้ายจากตำแหน่ง
“รัฐบาลต้องตัดนิ้วร้ายทิ้งเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กดดันรัฐบาลมากเกินไป และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงนำไปสู่ความผ่อนคลายของพี่น้องสวนยางเท่านั้น แม้แต่พนักงานสหภาพของ กยท. ก็ให้ความเห็นชอบด้วย เพราะกรณีเงินเซส 5% ที่จะจ่ายให้เอกชน ก็เป็นเงินในมาตรา 49 ที่ว่าเป็นงบฯ บริหาร จ่ายเงินเดือนของ กยท. 10% ด้วย ทั้งที่เงินเดือนจะไม่พอจ่ายพนักงานอยู่แล้ว จากปัญหาที่ลุกลามจากน้ำผึ้งหยดเดียวอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ นายกฯ จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งปัญหาปาล์ม ปัญหาประมง”
“ถ้าเกิดมีปัญหายางเข้ามาเพิ่มเติมอีกจะทำให้เกิดปัญหาอย่างมากในแง่การเมือง”

จากปัญหายางพาราที่ยังวนเวียนอยู่จุดเดิมมาช้านาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว
หากแต่ปัญหาภายในที่เกิดจากขบวนการของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ยังคงแทรกซึมอยู่ในน้ำยางทุกหยด รวมทั้งยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งปัญหาการทุจริตทางภาครัฐ หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงเชิงนโยบาย ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่จำเป็นต้องอธิบายให้เกษตรกรรับทราบ จากการดำเนินงานที่ต้องตรวจสอบได้ชัดเจน รวมถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแวดวงยางพาราจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกร หวังว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะลดระดับความเดือดร้อนของชาวสวนยางไปได้บ้าง
และการปลดในครั้งนี้นอกจากสร้างความโล่งใจให้เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ยังสร้างความโล่งใจให้รัฐบาลได้เป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถหยุดการมาของม็อบชาวสวนยางที่ฮึ่มๆ ได้ทันที!
เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะหากรัฐบาลยังไม่เทกแอ๊กชั่นแล้ว รัฐไม่เพียงจะต้องเผชิญหน้ากับม็อบเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคะแนนเสียงก็จะเหือดแห้งหดหายดิ่งลงตามราคายางด้วยแน่นอน
เพราะนับถอยหลังไปอีกไม่นานนักคนไทยก็จะได้เลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว!