จินดามณี 0.4

กระแสอนุรักษ์ในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น

ล่าสุด

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้นำหนังสือจินดามณีซึ่งปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้มาแจก ครม.

โดยแจ้งว่า หนังสือจินดามณีเป็นคู่มือของข้าราชการสมัยก่อนที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหลักการใช้ภาษาไทย

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขานรับในทันที

พร้อมระบุว่า อยากให้ทุกคนได้ร่วมกันศึกษา และสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมไปพิจารณาจัดการแข่งขันประกวดอ่านหนังสือจินดามณี

และกล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า “ให้ท่องให้ได้คนละหนึ่งบท และจะทดสอบปากเปล่าด้วย”

แม้จะเป็นคำสั่งแบบทีเล่นทีจริง

กระนั้น นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่อาจนิ่งเฉย บอกผู้สื่อข่าวว่าได้เตรียมตัวไว้แล้วในบทที่ว่า

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฤๅพี่

สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ ถามเผือ ฯ

เพราะหากไม่เตรียมตัว เกิดนายกฯ ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอาจงานเข้าได้

แม้ว่าโคลงบทดังกล่าวน่าจะมาจากวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ไม่แน่ชัดว่าจะอยู่ในหนังสือจินดามณีหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ นายวีระได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นำศิลปวัฒนธรรมไทยมาต่อยอดเป็นละคร

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ดูละครเรื่อง “จองอี” ตำนานศิลป์แห่งโชซอน ซึ่งเป็นเรื่องการผลิตงานเรื่องศิลปะเครื่องปั้น

จึงได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ว่า “ไทยมีศิลปะช่างมากมาย อาทิ ช่างลงรักปิดทอง จึงขอให้พิจารณาเพื่อจัดทำเป็นละครและสอดแทรกความรู้ให้เหมือนกับละครบุพเพสันนิวาส นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ไปพูดคุยกับผู้จัดละครในเรื่องดังกล่าวด้วย”

ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ขานรับทันที

และต่อมา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงกรณีให้มีการทดสอบรัฐมนตรีภายหลังให้ท่องหนังสือจินดามณีคนละ 1 บทหรือไม่ ว่า มีคนท่องให้ฟัง มีร้อยกว่าบท พร้อมย้อนถามสื่อมวลชนว่า ท่องได้กันหรือไม่

“ผมท่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว อยากให้นำสิ่งเหล่านี้ไปขับเคลื่อนกับประชาชนและประชาสังคม ให้หันมาสนใจบทกวีและบทกลอนที่ได้รังสรรค์ความคิดออกมา มีการสัมผัสเอก โท ตรี จึงอยากให้คนไทยภูมิใจว่ามีภาษาของเราเองและมีจินดามณีเป็นหนังสือเรียนเล่มแรกในเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน อยากให้อ่านหนังสือจินดามณีด้วย ไม่ใช่อ่านเพียงเรื่องบุพเพสันนิวาส”

พร้อมกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้นำกลอนของสุนทรภู่ในนิราศภูเขาทองมาท่องว่า “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”

ซึ่งก็ไม่ใช่บทประพันธ์ในจินดามณีอยู่นั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า “จินดามณี” เป็นตำราภาษาศาสตร์โบราณ ที่ยาก

ยากทั้งอ่าน และการทำความเข้าใจ

โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า จินดามณีเป็นวรรณกรรมที่สําคัญเรื่องหนึ่งของไทยที่มีมาแต่สมัยอยุธยา

เนื้อหาเป็นแบบการเรียนการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา และการประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ พื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ ว่าด้วยคําศัพท์ที่มักเขียนผิด ความหมายของศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และเขมร ตัวอย่างคําที่ใช้ ส, ศ, ษ ตัวอย่างคําที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย เป็นต้น

ด้านบทประพันธ์ร้อยกรอง ได้อธิบายโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนประเภทต่างๆ รวมทั้งยกตัวอย่างฉันทลักษณ์นั้น

ขณะที่เว็บไซต์ของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่าหนังสือจินดามณีเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย

เชื่อว่าใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ต้นฉบับตัวเขียนสมุดไทยหนังสือจินดามณีมีอยู่หลายฉบับ แต่ละฉบับมีเนื้อหาลักลั่นแตกต่าง แต่ที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นฉบับของแท้คือ “จินดามณี” ของพระโหราธิบดี

และได้สอดแทรกเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ในละครดังอย่างบุพเพสันนิวาสด้วย

นี่จึงทำให้ “จินดามณี” โด่งดัง

กระนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาท่องจำ

อาทิ

(คำนมัสการ)

๏ นโมนะมัสการปรนม อภิวาทวันทา

เมแห่งตูปรพฤดิปรา รพภโดยจำนงใจ

๏ อัสถุจงมีแก่มนสา ทรเจตนาใน

ตรัสสพุทธัสสวรไตร ภพโลกยนาโถ

หน้า ๒

๏ ทรงนามพระภควโต พุทธภาคยเดโช

พระองคคืออรหโต อันหักกรรมสงสาร

๏ สำมาสำพุทธัสสพระสรร เพชฺญโพธิโอฬาร

ตรัสไญยธรรมวรญาณ ประเสริฐเลอศไกร

ฯลฯ

จึงไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจหนังสือ “จินดามณี” เพียงใด และไม่รู้ว่านั่น “ยาก” ไปไหมสำหรับการท่อง เพราะประกอบด้วยกลบท การผัน และเนื้อหาอื่นๆ สุดเข้มข้น

แต่กระนั้น ไม่ว่าจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม

สิ่งที่แน่วแน่ของ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล และ คสช. คือยึดแนวทางอนุรักษนิยมอย่างเข้มข้น

จากค่านิยม 12 ประการ มาถึงประชาธิปไตยแบบไทยไทย และไทยนิยมยั่งยืน

เมื่อละครทีวีบุพเพสันนิวาสโด่งดัง รัฐบาลและ คสช. ก็ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมกระแส

เพื่อตอกย้ำว่า “ความเป็นไทยแบบเดิม-เดิม” เท่านั้น ที่จะเหมาะสมกับประเทศ

และหวังอย่างสูงว่า กระแสชาตินิยมที่ “ปลุก” ให้สูงเด่นนี้ จะนำไปสู่เสียงสนับสนุนฝั่งฟากรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ

รวมไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ทั้งใกล้และไกลจากนี้

หรืออาจจะ “ไม่มี”

แน่นอน หาก “ไม่มี” ก็ต้องมีเหตุผลแบบไทย-ไทย, ไทยนิยม, ชาตินิยม มาสนับสนุน และรองรับอย่างแข็งขัน

แนวทางที่รัฐบาลและ คสช. เลือกเดินข้างต้น

กำลังถูกจับตามองว่า เป็นแนวที่ “สวนทาง” กับพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะกับพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ประกาศตนเป็นพรรคแนวทางใหม่ โน้มเอียงไปในทางเสรีนิยม

ซึ่งแน่นอนมีโอกาสเบียดแทรกกันอย่างหลีกเลี่ยงยาก

ด้วยเพราะมีอุดมการณ์กันคนละชุดและมีโอกาสที่จะปะทะกันอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งพรรคอนาคตใหม่ได้รับความสนใจมากเท่าใด

กลุ่มอำนาจที่ยึดแนวทางอนุรักษ์ ยิ่งไม่สบายใจ และพร้อมที่จะ “จำกัด-ควบคุม” ประเด็นในเชิง “ก้าวหน้า” อย่างไม่ลังเล

จนถึงขนาดตอนนี้ เริ่มมีการกล่าวถึงขนาดว่าอาจจะมีการตัดไฟเสียแต่ต้นลม ด้วยการปิดทางไม่ให้พรรคอนาคตใหม่ได้มีโอกาสลงสนามเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์ที่จู่ๆ นายสนธิญา สวัสดี โผล่ไปยื่นเรื่องให้ประธาน กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาว่าการขอเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่นั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เพราะพรรคนี้มีแนวคิดที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในยุทธิวิธีนั้น

ทำให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ต้องโพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียว่า

กรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. ในการขอเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ผู้สื่อข่าวได้ถามเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และได้ตอบว่า ได้ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการและประชาชนในชื่อคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 ผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อต้นปี 2555 โดยเห็นว่า การแก้ไขในกรณีนี้จะทำให้บุคคลไม่อาจนำมาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน ป้องกันมิให้บุคคลใดแอบอ้างนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทำลายล้างกัน แก้ไขอัตราโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคง อย่างทรงพระเกียรติยศ ทันสมัย และสอดคล้องกับประชาธิปไตย

2. การร่วมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกระทำและความเห็นส่วนตนซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด ความเห็นส่วนตัวจึงไม่ใช่นโยบายของพรรค และไม่ใช่คำประกาศอุดมการณ์ของพรรคในอนาคต

“การที่นายสนธิญากล่าวอ้างว่า พรรคอนาคตใหม่มีข้อบังคับที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ ต้องห้ามตามมาตรา 14 นั้น จึงเป็นกรณีที่นายสนธิญาจินตนาการไปเอง ขอยืนยันว่าจะไม่นำเรื่องการดังกล่าวมาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค”

3. ผู้ร่วมยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการก่อตั้งพรรคการเมืองแบบใหม่ เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเสียใหม่ให้การเมืองไทยดีขึ้น ขอความกรุณาจากบุคคลที่มีความคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง ได้ใช้สติปัญญาตรึกตรองอย่างมีเหตุมีผล เปิดใจรับฟังในสิ่งที่พวกเราทำ หากยังมีข้อขัดข้องหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องใด พร้อมที่จะอภิปรายถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ในทุกเรื่อง ในทุกเวที

ข้อเรียกร้องของนายปิยบุตรจะดังเพียงพอให้ “บุคคลที่มีความคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง”

ได้ยินหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย

เพราะการที่เลือกถอยห่างไปไกล ไปถึงขนาดท่องจำ “จินดามณี”

ถือเป็นการย้อนสู่อดีต ที่ “ทวี” ความห่างไกลจากอนาคตไปยิ่งขึ้นทุกที!