ทราย เจริญปุระ : ออริจิน และ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน

(ซ้าย) "Origin" (ออริจิน) เขียนโดย Dan Brown แปลโดย อนุรักษ์ นครินทร์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยแพรวสำนักพิมพ์ มีนาคม, 2561 (ขวา) "The Romance of The Harem" (นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน) เขียนโดย แอนนา เลียวโนเวนส์ แปลโดย อบ ไชยวสุ และเขียนคำนำเสนอโดย วาด รวี ฉบับนี้จัดพิมพ์โดย Shine Publishing House, ธันวาคม 2560

เธอ,

คิดเสียว่ามาชวนคุยกันฉันเพื่อนก็แล้วกันนะคราวนี้ ใกล้หน้างานหนังสือเข้ามาทุกที ปกติช่วงนี้จะเป็นภาวะขาดแคลนหนังสือใหม่ๆ ให้อ่าน จนมาเมื่อสัก 2-3 ปีให้หลังนี่ล่ะ ที่สถานการณ์ดูดีขึ้น ไม่ต้องกระเบียดกระเสียร กระเหม็ดกระแหม่เขียมอ่าน หรือรอหนังสือปกใหม่ๆ จนแห้งผากแล้วผากอีก ครั้นบทจะออก ก็ออกมาพร้อมกันเสียจนเรียงไม่ถูก ว่าจะหยิบเล่มไหนก่อน เล่มไหนหลังดี

งานหนังสือทุกทีก็จะต้องมีไฮไลต์ให้เฝ้ารอ

จริงๆ ก็ต้องว่าลางเนื้อชอบลางยา หรือต่างคนต่างรอ เพราะบ้างก็รอไปคุ้ยกองหนังสือเก่า

บ้างก็จับจ้องปกใหม่ๆ ของนิยายไทย

บ้างก็รองานสายวิชาการ

แต่น้อยนักที่หลงเข้าไปในงานแล้วจะกุมกระเป๋าสตางค์กับจิตได้มั่น ไม่ตื่นเตลิดไปกับนานาสารพัดปกละลานใจ ชวนให้มือลั่น ควักเงินมาจ่ายแบบไม่คิดถึงชีวิตในสัปดาห์สิ้นเดือน

แต่ปีนี้ที่ดูท่าจะร้อนแรงเกินใคร ก็คงจะเป็นหนังสือแนวประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากละครเรื่องดังเป็นกระแส ใครต่อใครก็เรียกกันว่าออเจ้า หรือพี่หมื่นกันให้ไขว่ และทำให้หลายคนสนใจพื้นเพประวัติศาสตร์ไทยในยุคพระนารายณ์ขึ้นมา อันนำความปีติเกิดแก่ฉันอย่างสุดซึ้ง ที่จะได้ไม่เป็นอีบ้า สนุกสนานกับเรื่องเก่าๆ อยู่คนเดียวท่ามกลางฝูงชนที่เขามุ่งไปอนาคตภายหน้า

แถมยังมีข้อเขียนหรือบทความวิเคราะห์ข้อมูลในฉากในตอนต่างๆ ของละคร ตั้งแต่ประวัติตัวบุคคล เชื้อชาติของตัวละครผู้เคยมีชีวิตอยู่จริง การนุ่งผ้าผ่อนท่อนสไบ ไปยังวิเคราะห์ประโยชน์ของตะปิ้ง ที่นางเอกทำตาโตใส่ ว่าจะปิดยังไงได้มิด ก็มีผู้วิเคราะห์แยกธาตุมาให้เป็นที่สนุกสนาน

บางคนก็บ่นรำคาญว่าจะตีความอะไรกันนักหนา ละครเขาก็ทำเอาดูสนุก จะล้นจะขาดไปบ้างก็ช่างปะไร ซึ่งการให้อภัยนี้ก็คงเกิดแต่กับละครอันเป็นที่นิยมแก่ตนเท่านั้น ลงว่าฉายลับแลมิติมืด หรือผู้ชมเขาไม่ได้เกิดยินดีในซิกซ์แพ็กหรือรอยยิ้มของพระนาง ความล้นความขาดนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตชนิดอภัยให้ไม่ได้ มีพูดถึงเมื่อไหร่ต้องไปขุดไปทึ้งมาฟาดๆ เสียให้หนำใจ

เอาเถอะ ยิ่งบ่นก็ยิ่งออกทะเลไปกันใหญ่ ไหนกันเรื่องหนังสือที่จะเอามาชวนคุย

ก็เข้าเรื่องกันดื้อๆ ตรงนี้เสียเลย

 

เล่มแรกนี่ จะว่าเกี่ยวกับเรื่องเก่าก็เก่า แต่จะว่าเกี่ยวกับอนาคตยุคใหม่ที่ไม่ไกลเกินทอดตามองก็ใช่อยู่

ฉันกำลังพูดถึง Origin หนังสือในชุดศาสตราจารย์โรเบิร์ต แลงดอน ที่เขียนโดย แดน บราวน์

หลายคนคงโดนพิษแลงดอนไปเมื่อครั้งเล่ม Lost Symbol ที่ทำเอาเสียรังวัด เข็ดขยาดขลาดกลัวเรื่องในชุดนี้ไปเลย ด้วยว่ามันน่าเบื่อเหลือจะกล่าว จนถัดมาที่ Inferno ก็ยังกู้อารมณ์ที่เสียหายไปกลับมาได้ไม่เต็มที่ เพราะถึงแม้จะกลับสู่รอยต่อความเป็นยุโรปเหมือนเล่มแรกๆ แต่ประเด็นสาเหตุ รวมถึงผลงานของดันเต้ที่อ้างอิงในเรื่องก็ทำให้ยากที่จะหลุดไหลเข้าไปในหนังสือตามตัวละคร

มาถึง Origin เล่มนี้ จะบอกว่าแลงดอนทำอะไรใหม่ๆ มั้ยก็ไม่เชิง จังหวะการเขียนของแดน บราวน์ นั้นเป็นเหมือนทั้งพรสวรรค์และคำสาปในเวลาเดียวกัน ตรงที่เขาเขียนด้วยจังหวะตัดต่อเหมือนเดิมทุกเล่ม (แม้จะไม่ใช่เล่มในชุดโรเบิร์ต แลงดอน) คือเปิดเรื่องที่อะไรสักอย่าง ตัดหาแลงดอนในยุคปัจจุบัน มีการย้อนข้อมูลด้วยการอ้างถึงคลาสเล็กเชอร์ของแลงดอน ตัดไปที่อีเวนต์สำคัญๆ ตัดไปที่ตัวร้าย ตัดไปที่ข้อมูลและความเห็นจากแลงดอน

แล้วศพแรกก็เริ่มขึ้น

แต่ที่ฉันว่าสนุก (ยอมรับตรงนี้ก็ได้ ว่าอะไรก็น่าจะสนุกกว่าเล่ม Lost Symbol ทั้งนั้น) ก็คือมันเรียกอารมณ์เก่าๆ เหมือนสมัยอ่าน Angel & Demon ที่ทำให้เราคิดถึงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของที่เกิดเหตุหรือจุดที่แลงดอนไปเยือน

โดยเล่มนี้สถานที่หลักอยู่ที่สเปน หรือจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ และหลายผลงานของเกาดี ที่เป็นศิลปินเอกผู้สร้างผลงานอันหลากหลาย

เล่ม Origin นี้ทำให้ฉันอยากไปสเปนได้มากพอๆ กับตอนที่อยากไปโรมและวาติกันเมื่อครั้งอ่าน Angel & Demon

ที่น่าสนใจอีกอย่างสำหรับเล่มนี้ก็คือ, แดน บราวน์ ทำให้เราหันกลับไปดูสิ่งที่เราเห็นมาแล้วเป็นร้อยครั้ง คิดถึงที่มาของมันมากขึ้น และเริ่มคิดว่ามันมีผลอย่างไรกับเรา

ส่วนปมของเล่มนี้ก็ดูได้สติกว่าตอนอินเฟอร์โนมากขึ้นในความเห็นอันอ่อนด้อยของฉัน

หรือที่สุดแล้ว, มันก็อาจเป็นจรรยาบรรณเพี้ยนๆ ที่ฉันตั้งขึ้นมาเอง ว่าได้เริ่มอ่านแล้วก็จะตามอ่านกันไปตลอดกาล จนกว่าแดนบราวน์จะตาย หรือเขาจะฆ่าแลงดอนทิ้ง หรือไม่ฉันก็ตายจากไปเสียเอง

อย่าคิดว่านี่เป็นการดูถูกดูถุย ว่ามีให้อ่านก็แค่อ่านเท่านั้นหรือ หนังสือความยาวกว่าห้าร้อยหน้าในราคากว่าห้าร้อยบาท (เรียกได้ว่าตกหน้าละหนึ่งบาทเลยเชียว) ถ้าไม่มีดีพอ คงไม่ดึงความสนใจฉันให้อ่านได้รวดเดียวจนจบภายในหนึ่งวันหรอก

ผ่านไปหนึ่งเล่ม ที่น่าจะหาอ่านกันได้ไม่ยาก ร้านหนังสือและบู๊ธในงานหนังสือแทบทุกบู๊ธคงสั่งไปขายติดปลายนวมกันแทบทั้งนั้น มาสู่อีกเล่มที่ความหนานั้นไม่ทิ้งห่างจาก Originมาก เกินไปประมาณหนึ่งร้อยหน้า แต่อาจจะไม่ป๊อปถล่มทลายได้เท่ากัน

 

นั่นก็คือ The Romance of The Harem หรือ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน ที่เขียนโดยแหม่ม ที่ถ้าเรียกตามภาษาย้อนยุคแสนฮิตนี่ก็คือพวกฟารังคี ต่างด้าวต่างแดน ที่ชื่อแอนนา เลียวโนเวนส์

ชื่อนี้สามารถสร้างความรู้สึกได้หลากหลายต่อคนที่ได้ยิน บ้างก็ว่านางเป็นสตรีเสียสติที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์แถมเพ้อเจ้อจนเขียนเรื่องบ้าๆ บอๆ ชนิดนั่งเทียนเขียนหมดไปเป็นเล่มๆ โดยไม่ได้มีความจริงอะไรอยู่ในนั้นแบบที่กล่าวอ้าง

แต่บางสำนักก็ว่า, งานเขียนของเธอนั้นมีความจริงอยู่ตามสมควร และที่เหนือไปกว่าความจริง คือความลับแลมลังเมลือง เอ็กซอทีก เอเชีย ที่ฝรั่งไม่ค่อยจะรู้ พอได้รู้ก็อู๊วอ๊า เอามาทำหนังทำละครกันกระหึ่มไป โดยฝ่ายไทยได้แต่กัดกรามกรอด ว่าไปนิยมอะไรกับเรื่องพรรค์นี้

จริงๆ นี่ก็ไม่ใช่หนังสือใหม่ แต่พิมพ์ๆ หายๆ ไปบ้างบางช่วง บางทีก็มาแบบด้วนๆ กุดๆ หัวหายท้ายโผล่ บางช่วงก็ถูกสั่งเก็บ บางช่วงก็ขายกันปกติอยู่บนชั้นหนังสือแผนกประโลมโลกย์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์

แต่ที่ทำให้พิมพ์นี้ หรือเอดิชั่นนี้พิเศษก็อยู่ตรงที่ นอกจากจะรวมเรื่องเอาไว้ครบสำรับที่เป็นสำนวนแปลของครูอบ ไชยวสุแล้ว ความเด็ดอีกอย่างก็อยู่ที่คำนำเสนอและเอกสารประกอบโดยวาด รวี ที่นั่งแคะทีละเรื่อง ทีละจุด เทียบกับเอกสารต่างๆ รวมถึงบรรณานุกรมภาพถ่ายของผู้คนและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงที่มาที่ไปของแหม่มแอนนา ที่ดูแตกออกไปเป็นหลายเสียง เพราะความน่าเชื่อถือของผู้เขียน ก็คงมีส่วนกับความน่าเชื่อถือของเนื้อเรื่องด้วยกระมัง

แต่ก่อนฉันคิดว่าวิชาประวัตศาสตร์นั้นง่ายจะตาย ของที่ตายไปแล้วก็ตายไปอย่างนั้น คนตายไปเมื่อพันปีไม่มีวันลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไรได้ แต่หลังๆ มาก็เข้าใจว่าประวัติศาสตร์นี่ล่ะ เกิดความเปลี่ยนแปลงมากพอๆ กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เราเข้าใกล้ความจริงของอดีตมากที่สุด

สิ่งที่เราเคยเชื่อถือว่าจริงในยุคหนึ่งนั้น ประกอบกันด้วยหลากหลายชิ้นส่วนนำเสนอ ที่ไม่มีเพียงข้อเท็จจริง แต่บวกอารมณ์ของผู้เล่า ทัศนคติที่เขามองโลก จารีตของยุคสมัย หรือรวมไปถึงโฆษณาชวนเชื่อตามแต่กระแสสังคมในเวลานั้นจะพาไป

ถึงหนังสือเล่มนี้อาจจะหายากไปสักนิด หนาแบบไม่เป็นมิตรต่อกระดูกและข้อไปสักหน่อย แต่ครีมทาบรรเทาก็คงพอจะชดเชยได้กับข้อมูลและมุมมองใหม่ๆ ที่เราจะได้รับจากการอ่านเอดิชั่นนี้

ซึ่งฉันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ ในอีกห้าปีสิบปีที่แดน บราวน์ อาจจะส่งแลงดอนไปดาวอังคารกับอีลอน มัสก์ เทคโนโลยีที่ส่งคนไปข้างหน้าขนาดนั้น ก็อาจถูกหยิบนำมาหาตัวแหม่มแอนนา พร้อมกับผู้หญิงหลายคนในเรื่องเล่าของเธอไปด้วยได้พร้อมๆ กัน

ฉันขอทิ้งท้ายการแนะนำฉันเพื่อนในครั้งนี้ ด้วยข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนิยายรักในราชสำนักฝ่ายในก็แล้วกัน

“บางครั้งความจริงที่ถูกฝังเอาไว้ เมื่อขุดลึกลงไปก็จะพบกับเรื่องราวซึ่งมีอายุแตกต่างกัน ทับถมกันเป็นชั้น และที่ใดที่หนึ่ง โครงเรื่องซึ่งประดุจราวซากกระดูก นอนนิ่งอยู่ระหว่างชั้นจองเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมา ณ ที่ซึ่งอยู่ระหว่างความหมายที่เขียนทับลงไปบนความหมาย มีเค้าโครงของบางสิ่งซึ่งเคยดำรงอยู่มาแต่โบราณ ฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์นี้คือความจริงเกี่ยวกับนางห้ามของไทยในศตวรรษก่อน…”*

หวังว่าเธอจะรอดจากงานหนังสือครั้งนี้ได้โดยไม่บาดเจ็บมากนัก เพราะยังมีครั้งต่อไปและต่อไปรอเธออยู่

ด้วยรักอย่างยิ่ง

ฉันเอง


—————————————————————————————————
*ข้อความจากในหนังสือ The Romance of The Harem