ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ต้นโพธิ์ กับการเมืองเรื่องต้นไม้ในศาสนาโบราณของอินเดีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ใครหลายคนทั้งที่เป็นชาวพุทธ และที่ไม่ใช่ ก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงตรัสรู้ที่ใต้ควงไม้โพธิพฤกษ์ ซึ่งก็คือ “ต้นโพธิ์” ในภาษาปากของคนไทยเรานั่นแหละ

และก็ดูจะเป็นเรื่องบังเอิญทีเดียว ที่คำว่า “โพธิ” ในภาษาสันสกฤต ที่แพร่หลายอยู่ในยุคของพระพุทธองค์นั้น มีความหมายตรงตัวว่า “ความรู้” หรือ “พุทธิ” ซึ่งก็คือ “ปัญญา” นั่นเอง

การที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ใต้ควงไม้โพธิ์ จึงเป็นสิ่งที่ดูสมเหตุสมผลดีอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะเมื่อได้ชื่อว่าเป็น “ต้นไม้แห่งปัญญา” แล้ว ก็ยิ่งเหมาะสมกับการจะเป็นสถานที่สำหรับ “ตรัสรู้” ของพระพุทธองค์

เรื่องมันก็คงจะง่ายๆ แค่นั้น ถ้าในสมัยพุทธกาลเขาเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นโพธิ์” เหมือนอย่างที่เรียกกันอยู่ในทุกวันนี้ ปัญหาก็คือในอินเดียสมัยโพ้น คนทั่วไปเขาเรียกไม้ชนิดนี้กันว่า “ต้นปีปัล” ต่างหาก

 

พจนานุกรมคำศัพท์สันสกฤต-ไทย ฉบับแรกของประเทศไทยคือ “สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน” แต่งโดยร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2467 ได้ให้ความหมายคำว่า “โพธิ” เอาไว้ว่า “ค. (หมายถึง คำคุณศัพท์-ผู้เขียน) มีความรู้, คงแก่เรียน; wise, learned” และ “น. (หมายถึง คำนาม) มติ, พุทธิหรือความรู้; intellect, understanding or knowledge”

จากศัพท์บัญญัติในพจนานุกรมฉบับนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในขณะที่ถูกใช้เป็นคำนาม คำว่า “โพธิ” ในภาษาสันสกฤต ยังไม่ได้หมายความถึง “ต้นโพธิ์” อย่างที่เรามักจะเข้าใจกันเลยนะครับ ต่างจากในพจนานุกรมภาษาบาลี-ไทย หลากหลายฉบับ ที่มักจะให้ความหมายว่า หมายถึง ต้นโพธิ์ ควบคู่ไปกับความหมายเดิมในภาษาสันสกฤตคือ อะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญญา หรือความรู้ อยู่เป็นปกติ

ต้องไม่ลืมด้วยว่า ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎก ของพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาษาสันสกฤตท้องถิ่น ในแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ ในชมพูทวีปยุคพุทธกาลเท่านั้น นอกเหนือจากความซับซ้อนเชิงภาษา ที่ไม่ได้ยุ่งยากเท่ากับภาษาสันสกฤต เพราะถูกทำให้ง่ายมาก่อนแล้ว คำศัพท์ต่างๆ ถ้าจะมีความหมายต่างไปจากภาษาสันสกฤตมาตรฐานในชมพูทวีปบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

พจนานุกรมคำศัพท์สันสกฤต-ไทย ร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ นั้นยังให้ความหมายของคำว่า “ปิปฺปัล” (ซึ่งก็คือ ปีปัล) เอาไว้ว่า “น. ต้นมะเดื่อศักดิ์สิทธิ์; ปักษิน; แขนเสื้อ; น้ำ; ดีปลี; the holy fig tree; a bird; the sleeve of the jacket or coat; water; long pepper”

แน่นอนว่า ร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ คงจะแต่งพจนานุกรมฉบับนี้ขึ้นโดยมีพจนานุกรมภาษาสันสกฤต-อังกฤษ เป็นเครื่องทุ่นแรงสำคัญ สังเกตเอาง่ายๆ ก็จากการที่ท่านจัดทำเป็นพจนานุกรมสามภาษา คือมีคำแปลภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่ท่านจะแปลคำ “the holy fig tree” เป็น “ต้นมะเดื่อศักดิ์สิทธิ์” เพราะโดยปกติคนไทยมักจะแปลคำว่า “fig” ว่า “มะเดื่อ” มากกว่าอย่างอื่น และต้นโพธิ์นั้น ก็เป็นไม้ในวงศ์ (Family) เดียวกันกับมะเดื่ออยู่แล้ว

ปรมาจารย์ทางพฤกษศาสตร์ของไทยอย่าง หลวงบุเรศบำรุงการ (เจริญ วงศ์ตลาดขวัญ) ผู้ล่วงลับ (เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2518) เคยอธิบายเอาไว้ในงานเขียนของท่านที่ชื่อว่า “ต้นไม้สำคัญในพระพุทธประวัติ” ว่าชื่อทางพฤกษศาสตร์ของต้นโพธิ์ คือ Ficus religious, Linn. โดยชื่อชนิด (species) religious นั้นหมายถึง ความเกี่ยวข้องกับศาสนา (ส่วนจะเกี่ยวกับศาสนาอื่นนอกจากศาสนาพุทธด้วยหรือเปล่านั้น? ท่านไม่ได้บอกไว้) ส่วนวงศ์ของต้นโพธิ์นั้นชื่อ Moraceae ซึ่งก็คือวงศ์ขนุน

หลวงบุเรศฯ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ไม้วงศ์ขนุนนี้ มีอยู่ในประเทศไทยมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไทร ไกร กร่าง มะเดื่อ ฯลฯ ยกเว้นก็แต่ “ต้นโพธิ์” ซึ่งเดิมมีแต่ในประเทศอินเดียเพียงแห่งเดียว โดยท่านยังได้บอกด้วยว่า อินเดียเรียกไม้ชนิดนี้ว่า ปีปัล แต่ทางลังกาเรียก ต้นโพ (Bo Tree) ดังนั้น ไทยเราคงจะเรียกไม้ชนิดนี้ว่า โพธิ์ ผ่านความสัมพันธ์ทางศาสนาจากลังกานั่นเอง

 

เมื่อพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า คำว่า “โพธิ” ถูกนำมาเรียก “ต้นปีปัล” ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ร่มไม้ชนิดนี้ จนกลายเป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกกันผ่านการแพร่กระจายของพระศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท

แต่นอกเหนือจากการตรัสรู้ใต้ต้นปีปัลแล้ว พระพุทธเจ้ายังประสูติใต้ต้นสาละ และปรินิพพานใต้ต้นรังคู่ แถมหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ยังได้เสด็จไปประทับยังควงไม้ไทร (อัชปานิโครธ) ไม้จิก (มุจลินท์) และไม้เกด (ราชยตนะ) ก่อนที่จะเสด็จออกสั่งสอนพระธรรมคำสั่งสอนอีกต่างหาก โดยทั้งหมดนั้นก็คือ ภาษาสัญลักษณ์ที่หลอมรวมเอาลัทธิการบูชาต้นไม้ใหญ่แต่ละประเภท เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพักตร์ของพระพุทธศาสนาได้อย่างแยบยล

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมต้นไม้ คำถามก็คืออื่นๆ เหล่านี้ จึงไม่ได้รับเกียรติในการเรียกว่าเป็น “ต้นโพธิ์” หรือ “ต้นไม้แห่งปัญญา” เช่นเดียวกับต้นปีปัล?

 

ประเพณีการบูชาต้นไม้ใหญ่อย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการบูชาเจ้าพ่อต้นไทร เจ้าแม่ตะเคียน และอีกสารพัดรุกขเทวดาที่เห็นได้ทั่วไปในอุษาคเนย์ หรือดินแดนในส่วนต่างๆ ของโลก) มีมาก่อนกำเนิดของพระพุทธศาสนาในอินเดีย โดยอาจจะสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อในแบบที่เรียกกันว่า ลัทธิโทเทม (Totemism) คือ ความเชื่อในทำนองที่ว่า มนุษย์มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์ หรือพืช (รวมไปถึงสัญลักษณ์ชนิดอื่นๆ) ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในหลากหลายวัฒนธรรม ทั่วทั้งโลก

(คำว่า โทเทม มีรากมาจากศัพท์ว่า “dodaem” ในภาษาโอชิปเว ของพวกอเมริกันอินเดียน ที่นักมานุษยวิทยาได้เริ่มศึกษาแนวคิดแบบนี้ และใช้ศัพท์คำที่ว่าเรียกลัทธิการบูชาบรรพบุรุษแบบนี้ทั่วทั้งโลกว่า ลัทธิโทเทม เหมือนกันไปหมด)

ไม่มีหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าทรงเกี่ยวข้องอย่างไรกับลัทธิการบูชาต้นปีปัลหรือเปล่า? แต่ร่องรอยต่างๆ ก็ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนานั้นเลือกที่จะยกย่อง ต้นปีปัล ในชื่อเรียกใหม่ว่า ต้นโพธิ์ มากกว่าต้นไม้ชนิดอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” อันหมายถึงควงไม้โพธิ์ต้นที่เชื่อกันว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้

อินเดีย ในยุคตั้งแต่ก่อนพุทธกาลนั้น มีลัทธิบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ไจตยะ” อยู่ สถานที่เหล่านี้มักจะเป็นหมู่ไม้ หรือต้นไม้ที่คนเคารพนับถือกันเป็นต้นโดดๆ ซึ่งมักจะอยู่ตามชายหมู่บ้าน หรือบางทีก็เป็นสถานที่ฝังศพของบุคคลชั้นผู้นำ

ดังนั้น ถ้าต้นปีปัลที่เชื่อกันว่า คือต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จะกลายเป็น “ไจตยะ” แห่งสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้คนที่เริ่มหันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรนัก

และผมคงจะไม่ต้องบอกนะครับว่า “ไจตยะ” คำนี้ ก็คือคำเดียวกันกับ “เจดีย์” ที่ภาษาไทยเรายืมมาจากภาษาบาลีอีกทอดหนึ่ง

 

ชาวอินเดียในยุคก่อนพุทธกาลเชื่อกันว่า ไจตยะ เป็นสถานที่อยู่ของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรืออมนุษย์ที่ให้คุณให้โทษได้ ที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านโดยทั่วไปที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงนั้น ก็สามารถเข้าถึงไจตยะเหล่านี้ ได้ง่ายกว่าเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในคัมภีร์พระเวท ของพวกอารยัน ที่มักจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าในการบูชา หรือทำยัญพิธีต่างๆ

คัมภีร์ในศาสนาเชน ซึ่งเป็นศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในช่วงร่วมสมัยกับศาสนาพุทธนั้น มีร่องรอยที่ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงแรกเริ่มของศาสนาใหม่ต่างๆ ในระยะเวลานั้น นักบวชในศาสนาต่างๆ ที่ไม่ใช่พราหมณ์ในศาสนาพระเวท (ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) มักจะพักอาศัยอยู่ตามไจตยะเหล่านี้ เพื่อรับภิกษาจากผู้ที่มาบูชาไจตยะ ซึ่งก็รวมถึง นักบวชในศาสนาเชน และพุทธด้วย

และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจากศาสนาเชนแล้ว ก็คงจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ทำไมในพุทธประวัตินั้น พระพุทธเจ้าจึงต้องมีพระพุทธกิจผูกพันอยู่กับต้นไม้ใหญ่อยู่เป็นประจำ เพราะต้นไม้เหล่านั้นก็คือ ไจตยะ หรือสถานที่บูชาต้นใหม่ของชาวบ้าน ซึ่งก็เป็นสถานที่รับภิกษาของนักบวชในศาสนาต่างๆ ด้วยนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าต้นปีปัล ที่อ้างกันว่าเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จะเป็นไจตยะ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ก็เป็นไปได้ เพราะอันที่จริงแล้ว ในระยะแรกนั้น ทั้งความศักดิ์สิทธิ์ของต้นปีปัลดังกล่าวในฐานะของไจตยะ กับปกรณัมที่ว่าถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ก็ทั้งส่งเสริมและพึ่งพิงกันอยู่ไม่น้อย ก่อนที่พุทธศาสนาจะค่อยๆ ผนวกรวมเอาความศักดิ์สิทธิ์ของต้นปีปัล ไปอยู่ในมณฑลอำนาจของตนเองในที่สุด

และก็แน่นอนด้วยว่า ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนั้น ภิกษุในพุทธศาสนาก็ย่อมต้องมีอยู่มากที่ต้นปีปัล ที่เรียกกันว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ต้นเดียวกันนั้นด้วย เพราะถือว่าเป็นไจตยะสำคัญในศาสนาของตนเอง ก่อนที่จะมีประเพณีการอัญเชิญหน่อของพระศรีมหาโพธิ์ หรือต้นปีปัลต้นนี้ ไปปลูกยังดินแดนต่างๆ พร้อมการแพร่กระจายของพระพุทธศาสนา อันเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ปริมณฑลความศักดิ์สิทธิ์ของต้นปีปัล ขยายกว้างกว่าแค่ร่มเงาของตนเอง ที่ไม่เคยยืดขยายไปได้ไกลกว่าละแวกพุทธคยาเท่าไหร่นัก

คนไทยเราจึงรู้จักต้นปีปัล ในชื่อของต้นโพธิ์ เพราะได้ถูกนำเข้ามาพร้อมความศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อในพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท จากเกาะศรีลังกานั่นเอง