มองไทยใหม่ : ว่าด้วยคำว่า ‘กิ๊ก’

กิ๊ก กิ๊ก กิ๊ก กิ๊ก (๑)

คําว่า กิ๊ก เป็นคำที่รู้จักกันในภาษาไทยมานานแล้ว แต่ในความหมายที่ต่างกันตามกาลเวลา

กิ๊ก คำแรก ปรากฏใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ดังนี้

กิก, กิ๊ก ว. เสียงของแข็งกระทบกัน.

กิ๊กก๊อก ก. ไม่มีค่า, ไม่สลักสำคัญ, เช่น เรื่องกิ๊กก๊อก คนกิ๊กก๊อก.

คำว่า กิก ปรากฏใน ปทานุกรมสำหรับนักเรียน พ.ศ.๒๔๗๒ ว่า

กิก อ. เสียงของแข็งๆ กะทบกัน. (ตัวสะกดตามรูปเดิม)

พจนานุกรมฉบับนี้ถือว่า กิก เป็นคำอุทาน (อ.)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ เพิ่มข้อความเป็น

กิก, กิ๊ก (เสียง) ว. เสียงของแข็งกระทบกัน.

พจนานุกรมฉบับนี้เพิ่มรูปการเขียนตามเสียงที่ได้ยินอีกคำหนึ่งเป็น กิ๊ก และเปลี่ยนชนิดของคำจากคำอุทาน (อ.) ไปเป็นคำวิเศษณ์ (ว) ส่วนคำว่า กิ๊กก๊อก เป็นคำที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในฉบับ พ.ศ.๒๕๕๔

กิ๊ก คำที่ ๒ เป็นคำเกิดใหม่ในภาษาไทย ยังไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ให้ความหมายไว้พอสรุปได้ว่า

“กิ๊ก หมายถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในระยะสั้น โดยจะแตกต่างกับผู้ที่มีความสัมพันธ์กันระยะยาวที่เรียกว่า แฟน คำว่า กิ๊ก มักจะเกี่ยวข้องถึงพฤติกรรมการหาเพื่อนของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งต้องการหาเพื่อนคุยหรือเพื่อนเที่ยว โดยใช้คำว่า กิ๊ก แทนคำว่า เพื่อน

ความหมายของคำว่ากิ๊กจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ และสังคม บางครั้งหมายถึงเพื่อนต่างเพศที่มีความสำคัญมากกว่าเพื่อนทั่วไป บางครั้งหมายถึง คู่นอน บางครั้งหมายถึง ชู้

ที่มาของคำว่า กิ๊ก อาจจะมาจาก ๓ ทาง คือ

อาจจะมาจากคำว่า กุ๊กกิ๊ก ที่วัยรุ่นหมายถึงการออกไปเที่ยว หรือไปใช้เวลาร่วมกัน

อาจจะมาจากคำว่า click ที่เป็นแสลงในภาษาอังกฤษ หมายถึง การเข้ากันได้ของคนสองคน (โดยเปรียบเทียบจากเสียง คลิก ของวัตถุสองสิ่งที่ใส่เข้ากันได้พอดี)

อาจจะมาจากคำว่า gig ที่เป็นแสลงในภาษาอังกฤษ หมายถึง กิจกรรมระยะสั้น”

คําที่น่าสนใจในข้อความข้างต้นก็คือคำว่า แฟน กับ กุ๊กกิ๊ก คำ ๒ คำนี้มีระบุไว้ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ดังนี้

กุ๊กกิ๊ก, กุ๊กๆ กิ๊กๆ ก. พูดหรือเล่นกันเงียบๆ; ประจบ เช่น ไปกุ๊กกิ๊กกับแม่ไม่นานก็ได้เงินมา.

แฟน (ปาก) น. ผู้นิยมชมชอบ เช่น แฟนเพลง แฟนภาพยนตร์ แฟนมวย, ผู้เป็นที่ชอบพอรักใคร่, คู่รัก, สามีหรือภรรยา.

ว่ากันว่า คำว่า แฟน นี้ก็คือ คำใหม่ที่เกิดขึ้นมาแทนคำว่า ชิ้น หรือ ชิ้นเช้ ซึ่งเป็นภาษาปากโบราณที่หมายถึง คู่รัก ดูเหมือนว่าสังคมไทยพยายามหาคำใหม่มาแทนคำว่า คู่รัก มาเป็นเวลานานแล้ว ในปัจจุบันนอกจากคำว่า กิ๊ก แล้ว ก็ยังมีการเลี่ยงไปใช้คำเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว เช่น เพื่อน กับ พี่น้อง

ความหมายของคำว่า กุ๊กกิ๊ก ในพจนานุกรม กับความหมายปัจจุบันของวัยรุ่นค่อนข้างจะแตกต่างกัน ส่วนความหมายของคำว่า แฟน ค่อนข้างจะตรงกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เก็บไว้แต่เพียงคำว่า กุ๊กกิ๊ก ในความหมายที่ต่างออกไป คือ

กุ๊กกิ๊ก, กุ๊กๆ กิ๊กๆ ว. เสียงดังเช่นนั้น.

ส่วนคำว่า กุ๊กกิ๊ก ในความหมายใหม่ และคำว่า แฟน ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒

เมื่อมีการปรับปรุงต่อไป ความหมายของคำว่า กุ๊กกิ๊ก อาจจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้