เปิดใจ “สมศรี วัฒนไพศาล” อธิบดีอัยการหญิงแกร่ง คุมคดีดัง “ฆ่าเสือดำ”

น่าสนใจว่าคดีอาญาของ สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ระหว่าง นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก กล่าวหา นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานฯ และอื่นๆ รวม 10 ข้อหา ที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง 9 ข้อหา และสั่งไม่ฟ้อง 1 ข้อหา ฐานร่วมกันทารุณกรรมสัตว์นั้น จะมีความคืบหน้าต่อไปอย่างไร

โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค 7 ร่วมกับทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้า ว่า คณะทำงานอัยการที่ตั้งขึ้นได้พิจารณาสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมา 857 หน้าแล้วมีความเห็นสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอีก 3-4 ประเด็น เพื่อให้การสอบสวนสมบูรณ์

และกำชับพนักงานสอบสวนส่งผลการสอบเพิ่มเติมกลับมาอัยการภายในวันที่ 26 มีนาคม ที่จะเป็นช่วงครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4

“โล่เงิน” สัมภาษณ์เปิดใจ อธิบดีอัยการหญิง นางสมศรี วัฒนไพศาล ถึงความรู้สึกในการคุมสำนวนคดีนายเปรมชัย บุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ โดยเจ้าตัวบอกว่า ตั้งแต่รับสำนวนคดีนี้มาไม่มีความหนักใจ หรือกลัวว่าใครเข้ามากดดันสำนวนแต่อย่างใด

แต่ที่ตระหนักและกดดันเนื่องจากคดีเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก เราจึงยิ่งรู้สึกว่าคดีนี้เมื่อเป็นคดีที่ได้รับความสนใจ ควรจะต้องทำคดีนี้ให้ดีที่สุด สมกับที่เราเป็นข้าราชการอัยการที่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ตรงนี้เราเกรงใจประชาชน

“ในชีวิตเคยเจอสำนวนที่หนักกว่านี้มาแล้ว มีอิทธิพลระดับผู้บริหารประเทศในขณะนั้นตอนที่เรายังเป็นอัยการรุ่นเล็ก แต่ก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้”

“เพราะสิ่งที่สามารถตอบได้ว่าทำไมเราจึงไม่ทำสำนวนตามผู้ที่มีอำนาจต้องการให้เราทำแบบนั้น เพราะเรามีหลักการของเรา หลักการที่เราจะพิจารณาคดีตามข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนนั้น อัยการเราจะไปสั่งคดีตามอำเภอใจไม่ได้”

อธิบดีอัยการภาค 7 เผย

ทั้งนี้ นางสมศรีเล่าถึงหลักการพิจารณาคดีนี้ว่า ทั้ง 9-10 ข้อหาที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมานั้น คณะทำงานได้อ่านสำนวนหมดทุกหน้า เรามีคำสั่งในใจ เพียงแต่ว่าจิ๊กซอว์บางจุดที่เราได้สั่งให้สอบเพิ่มไป เรายังรอให้ครบถ้วนก่อน ถึงจะมาดูในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้เราจะไม่ไปอิงกับพนักงานสอบสวนทั้งหมด เพราะตรงนี้หากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีไปแล้ว แต่หากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ เรื่องจะต้องขึ้นสู่คดีในศาล พนักงานอัยการยังต้องมีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าเบิกความต่อ

“ฉะนั้น สิ่งที่เราสงสัย เราทำให้สิ้นสงสัย พยานที่เรานำไปเบิกความจะไม่มีข้อสงสัย เราจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง หน้าที่ของเราคือทำความจริงให้ปรากฏในชั้นศาลเพื่อนำไปสู่ผลคดี แต่ถ้าพยานหลักฐานไม่พอฟ้องเราก็กล้าที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้อง แม้คดีนี้สังคมจะมีการตัดสินไปแล้วก็ตาม”

“แต่จากประสบการณ์ที่ตนทำคดีมาหลายสิบปี คดีนายเปรมชัยกับพวกล่าสัตว์ ในสำนวนนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน คดีแบบนี้มีเกิดขึ้นทั่วไปเป็นปกติ เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าว ที่ผ่านมาคดีล่าสัตว์ที่จับได้คาหนังคาเขา ผู้ต้องหาจะรับสารภาพ อัยการก็ยื่นฟ้องได้เลย ส่วนใหญ่ศาลมีการรอการลงโทษไว้” นางสมศรีเผย

อธิบดีอัยการภาค 7 บอกว่า การพิจารณาและมีความเห็นทางคดีนี้นั้น ทางอัยการเจ้าของสำนวนกับตนอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่เมื่อเจ้าของสำนวนมีความเห็นทางคดีมา เรื่องก็จะถูกส่งมาให้ตนเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีความเห็นสั่งคดีอย่างไร แต่โดยหลักเรื่องนี้เราหารือกันตลอด ว่าผลคดีควรจะออกเช่นไร

อธิบดีอัยการภาค 7 บอกด้วยว่า คดีนี้สังคมให้ความสนใจ จึงได้รายงานความคืบหน้าในคดีทุกระยะที่มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดทราบ ขั้นตอนต่อจากนี้เมื่อเราสั่งสอบสวนเพิ่มเติมและพยานหลักฐานครบถ้วน ก็พร้อมที่จะมีคำสั่งคดี คำสั่งที่ออกมาจะมีอยู่ 2 อย่าง คือสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้อง

หรือบางข้อหาเราอาจจะต้องสั่งฟ้อง

หรือบางข้อหาอาจจะสั่งไม่ฟ้อง

อย่างเช่น ข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งข้อหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

“แต่ตรงนี้เมื่อเรามีความเห็นสั่งฟ้องเเละไม่ฟ้องบางข้อหาเกิดขึ้น สำนวนจะยังไม่สามารถยื่นฟ้องได้ เนื่องจากตามกฎหมาย ระบุไว้ว่า จะต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นของอัยการกลับไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พิจารณาว่าเห็นชอบกับคำสั่งพนักงานอัยการหรือไม่ ตรงนี้ถ้าเขาเห็นชอบด้วยสำนวนก็จะส่งมาที่เรา สามารถยื่นฟ้องได้เลย แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งบางข้อ เรื่องนี้จะส่งไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดคนสุดท้ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145/1 ขั้นตอนที่เราส่งไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พิจารณา เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะใช้เวลาแค่ไหน”

“เรื่องจะฟ้องใน 84 วันได้หรือไม่ พี่ไม่ขอพูดเพราะมันไม่ได้จบแค่เรา ถ้าเราพูดไปก็จะกลายเป็นกดดันเขา เราจะไม่ก้าวล่วง ก็จะต้องดูว่าหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญแค่ไหน แต่ถ้าเฉพาะของเรา เราทำได้ทัน เรามั่นใจ แต่ถ้าไปติดขั้นตอนกฎหมายเราก็ไปบังคับเขามาให้เป็นเหมือนใจเราไม่ได้”

“ทั้งนี้ ไม่เคยกลัวว่าจะถูกข้อครหามวยล้มต้มคนดู พี่ไม่เคยเป็นมวยล้มเพราะพี่ชก ในสำนวนนี้เราไม่รู้จักใครทั้งนั้น เราดูตามสำนวน ถ้าพยานหลักฐานที่เราสั่งสอบเพิ่มมันดี มันตรงใจเรา สำนวนก็จะไปตามนั้น แต่ถ้ามันแค่ครึ่งเดียวเราจะฟ้องไปทำไม ฟ้องคดีไปคนก็ต้องตกเป็นจำเลย ได้รับความเดือดร้อน แต่ถ้าพยานหลักฐานเกินครึ่งเราก็จะต้องฟ้อง”

“ถามว่าเรามีพวกไหม เราตอบเลยว่ามี แต่เราทำตามสำนวน นี่คือหัวใจการทำงานของอัยการ”

อธิบดีอัยการภาค 7 กล่าวทิ้งท้าย