หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/’เห็น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - ช้างเล็กจะได้รับการปกป้องดูแลอย่างดี ช้างซึ่งรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง มักจะเข้าโจมตีสัตว์ผู้ล่าที่เข้ามาใกล้เกินระยะอนุญาต

หลังเลนส์ในดงลึก
ปริญญากร วรวรรณ

‘เห็น’

สัตว์มีปีก โดยเฉพาะพวกนกเหยี่ยว มีความสามารถในการมองเห็นมากกว่าคนถึง 8 เท่า
นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หรือเหนือความคาดหมายอะไรเลย
มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เหล่าสัตว์ป่าสัมผัส หรือรู้ โดยคนไม่รู้
ในสายตาของคน เราอาจมองโลกใบนี้อย่างหนึ่ง
แต่สัตว์ป่า พวกมัน “เห็น” อย่างที่โลกเป็น

หลายปีในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ผมมีความทรงจำมากมาย
การได้ร่วมงานกับนักวิจัย รวมทั้งผู้ช่วยนักวิจัยที่นี่ เป็นประสบการณ์ที่มาพร้อมกับความรู้เพิ่มขึ้น
ที่นี่ตอกย้ำให้ผมรู้ว่า
แท้จริงแล้ว กับเรื่องราวของสัตว์ป่า
ผมไม่ได้รู้อะไรมากนักเลย
บ้านพักที่ผมอยู่ ไกลจากบ้านพักหลังอื่นๆ พอสมควร ติดกับชายป่า
ลักษณะเป็นบ้านไม้ชั้นครึ่ง ทาสีขาวมอๆ มีสองห้องนอน หน้าห้องเป็นเฉลียงแคบๆ
ลงจากบันได 3 ขั้น เป็นลานเทด้วยปูนซีเมนต์ กว้างราว 4 x 3 ตารางเมตร หันหน้าตรงไปจะลงห้องน้ำ ทางขวามือเป็นห้องครัว
บ้านหลังนี้ สถานีให้นักวิจัยและนักศึกษาที่ศึกษาเรื่องของนกเงือก ใช้เป็นที่พักและเก็บสัมภาระ
บ้านหลังนี้อยู่ค่อนข้างไกลจากบ้านหลังอื่นๆ
แต่มักเป็นที่ชุมนุมของคนในสถานี
ผมจำคนที่มาพบปะกันตอนเย็นเหล่านั้นได้ หลายคนผมพบเจอบ้าง หลายคนไม่ได้พบกันเลย
บางคนก็จากไปแล้วตลอดกาล

แสงเทียนไหววูบวาบ โต๊ะไม้เก่าๆ ที่สร้างอย่างหยาบๆ มีกับข้าววางสองสามอย่าง ขวดเหล้าขาว 35 ดีกรีพร่องไปเกือบครึ่ง สีเหล้าแดงเข้ม ก้นขวดมีไม้ท่อนเล็กๆ หลายท่อน นี่คือสมุนไพรพญาเท้าเอว
“แก้ปวดหลัง ปวดเอวดีครับ จิบซะหน่อย หายเมื่อย”
น้าหมุด อวดสรรพคุณ เสียงดังฟังชัด
ผมเพิ่งกลับออกมาจากป่า หลังร่วมไปกับทีมติดตามเสือโคร่ง เราใช้เวลาในป่ากว่าครึ่งเดือน
กลับถึงบ้านพักในสถานี ล้อมวงกินข้าว มีเหล้าขาวประกอบ เล่าเหตุการณ์ต่างๆ สู่กันฟัง
นี่ไม่เพียงเป็นการผ่อนคลาย
แต่มันคือความสุขประการหนึ่ง

มีแสงไฟฉายวับแวมมาตามทางเดิน คืนเดือนมืด ดาวส่องประกายระยิบ อากาศช่วงเดือนกุมภาพันธ์ยังเย็นยะเยือก ป่าเริ่มโล่ง ใบไม้ทยอยร่วงหล่น ต้นไม้เหลือเพียงกิ่งแห้ง
ผู้ชาย 3 คนเดินเข้ามาสมทบ นำโดย แหล่ หัวหน้าชุดสำรวจประชากรเสือโคร่ง ด้วยวิธีวางกล้องดักถ่ายภาพ
แหล่ ชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ จบด้านสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัย เขาใส่กางเกงขาก๊วย เสื้อยืดสีขาว ห้อยซอมาด้วย
เดินมาถึง เขายกซอขึ้นสี เป็นทำนองเพลง เขาเป็นลูกอีสานที่ภาคภูมิใจ ตัวเองพูดภาษาถิ่นและสอนคนอื่นๆ ให้รู้ความหมาย
นอกจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เขาเล่นได้เกือบทุกชนิด แหล่ยังเป็นกวี เขาเอาสมุดบันทึกที่เขียนกวีไว้เต็มมาให้ผมอ่านบ่อยๆ
ลูกทีมอีกสองคนเดินตามมา ไก่และปูมาจากภาคใต้
ทั้งคู่จบมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ
“แกงไตปลาครับ” ไก่ วางชามแกงบนโต๊ะ
ที่นี่ผู้ชายส่วนใหญ่ทำกับข้าวเก่งๆ รสชาติแกงใต้ของไก่อร่อยถึงใจ
ไก่หยุดพักไปสองเดือนเพราะบาดเจ็บ
เขาโดนกระทิงกระโจนเข้าหา
“กำลังเช็กสัญญาณวิทยุอยู่ครับ” ไก่ทำหน้าที่ตามสัญญาณที่ส่งมาจากวิทยุซึ่งติดอยู่กับปลอกคอที่ใส่อยู่กับเสือโคร่ง เขาไปกับอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้มีประสบการณ์ทำงานมายาวนาน
“พี่อ่อนสาเดินข้างหน้า ผมตามมาข้างหลัง” ไก่เล่านาทีระทึกใจ
“กำลังก้มหน้าเดินขึ้นทางชันๆ กระทิงคงแอบอยู่ มันวิ่งลงมา ผ่านพี่อ่อนสา ตรงมาทางผม” ไก่หยุดสักครู่ ก่อนเล่าต่อ
“ผมเงยหน้า พยายามหลบ แต่ไม่พ้น กระทิงชนผมอัดติดกับต้นไม้ ยันอยู่อย่างนั้น พี่อ่อนสาเอาไม้ขว้างตั้งนานกว่ามันจะผละไป”
น้ำเสียงไก่ยังตื่นเต้น ราวกับเรื่องเพิ่งเกิดเมื่อวาน
ปูนั่งฟังเพื่อนนิ่งๆ น้าหมุดเดินถือจานแกงไตปลาเข้าไปอุ่นในครัว
แหล่สีซอเบาๆ
“ผมล้มลง มันยังพยายามจะเหยียบอีก ไม่รู้โกรธแค้นอะไรนัก” ไก่พูดขำๆ
อ่อนสาวิทยุแจ้งให้คนที่สถานีขึ้นมารับ
จากสถานี มีทางลำลองรถยนต์ไปได้สัก 5 กิโลเมตร และเดินขึ้นเขาชันๆ อีกสองชั่วโมง จึงถึงจุดที่ไก่อยู่
พวกเขาช่วยพยุงไก่ลงมา และพาไปถึงโรงพยาบาลร่วม 3 ทุ่ม
ไก่ซี่โครงด้านขวาหัก 3 ซี่ ร่างกายฟกซ้ำ พักฟื้นร่างกายไปสองเดือน วันนี้เขากลับมาทำงานติดตามสัตว์ป่าอีก
“คงเป็นกระทิงที่เคยโดนคนทำร้ายมาน่ะครับเลยแค้น และเห็นผมถือเสารับสัญญาณยาวๆ ด้วย เหมือนปืน” ไก่พูดโดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าเขาถูก “สัตว์ร้าย” จู่โจม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนในป่าพบกับอุบัติเหตุ
เป็นอุบัติเหตุอันทำให้เชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่า
เรากำลังอยู่ร่วมกับ “ชีวิต” ที่สภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปรได้เสมอ
ยาดองหมดขวด น้าหมุดขอตัวกลับ พร้อมกับแหล่ ปู และไก่
เสียงขลุ่ยหวานอ้อยสร้อยจางหาย

กลางฤดูฝน ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ผมได้ข่าวการจากไปของน้าหมุด
ก่อนหน้านั้น แหล่ส่งข้อความมาแจ้งเรื่องเขาจะบวชโดยไม่คิดสึก
ไก่และปูกลับไปทำงานในสถานีวิจัยสัตว์ป่า ทางภาคใต้

ดึกๆ ที่บ้านพักในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หลังจาก “แขก” ขอตัวกลับบ้านพัก
ผมมักนั่งลำพังบนขั้นบันได
หากเทียนที่ไหววูบวาบดับเพราะแรงลม
เงยหน้ามองความระยิบระยับใต้ท้องฟ้าดำมืด
วันเวลาในป่าทำให้รู้ว่าโลกแห่งความไม่รู้นั้นกว้างใหญ่ และมีรายละเอียดมากมาย จนกระทั่งความสามารถในการมองทำได้ไม่ครบถ้วน
บางที การมองโดยผ่านสายตาของสัตว์
อาจช่วยให้ “รู้” มากขึ้น
และ “เห็น” ในสิ่งที่โลกเป็น