นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หุ่นยนต์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เขาเป็นคนที่สามในคิว และเป็นคนสุดท้ายด้วย เพียงไม่ถึงอึดใจเขาก็ไปยืนหน้าเครื่อง กดเรียกกาแฟชนิดที่เขาต้องการ แล้วเอาบัตรรูดข้างจอเพื่อจ่ายเงิน คนขายที่เป็นหุ่นยนต์ทวนชื่อของประเภทกาแฟที่เขาสั่ง เหมือนถามเพื่อความมั่นใจ เขาตอบรับ อีกไม่นานเขาก็รับกาแฟในแก้วไปหาที่นั่งบนโต๊ะได้

แล้วก็ไม่มีใครเข้ามาในร้านอีก หุ่นยนต์จัดการกับเครื่องทำกาแฟไปเงียบๆ รวดเร็วแต่ราบรื่นไม่ต่างจากคน หนึ่งในลูกค้าก่อนหน้าเขาเดินออกจากร้าน หุ่นยนต์ตะโกนขอบคุณและกล่าวอำลา ลูกค้าอีกคนเดินเข้ามากดกาแฟอีกแก้วหนึ่ง หุ่นยนต์ทักว่าวันนี้คุณกาโตะไม่รีบหรือ คุณกาโตะหรือลูกค้าคนนั้นตอบว่าเขาตั้งใจเข้างานช้า เพื่อทำงานชดเชยให้ในตอนเย็น เพราะวันนี้ภรรยาไม่อยู่บ้าน หุ่นยนต์ตอบอะไรสักอย่างที่เขาได้ยินไม่ถนัด

หุ่นยนต์ตัวนี้ไม่ใช่หุ่นยนต์ในร้านกาแฟญี่ปุ่นซึ่งเป็นข่าวในทีวี มันเหนือกว่านั้นมาก เพราะมันไม่ใช่อะไรที่งอกออกมาจากเครื่องชงกาแฟ มันเป็นอะไรสักอย่างที่เข้าไปใช้เครื่องชงกาแฟต่างหาก มันจึงจำหน้าลูกค้าได้ และหากมีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับลูกค้าคนนั้น มันก็จะจำไว้เพื่อใช้ในการสนทนาครั้งหน้า ยิ่งไปกว่านั้น มันจำรสกาแฟที่ลูกค้าแต่ละคนชอบได้ด้วย หากไม่สั่งเป็นอื่น มันก็จะทำให้เหมือนแก้วที่เขาเคยแสดงอาการชื่นชมครั้งก่อน ทั้งรสชาติความเข้มข้นเจือจางและอุณหภูมิ

The robot barista called “Sawyer” makes a coffee during its demonstration at “Henn-na Cafe,” meaning “Strange Cafe” in Japanese, in Tokyo, Japan January 30, 2018. REUTERS/Kim Kyung-Hoon

อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านกาแฟร้านนั้นกำลังก่ายหน้าผากอยู่ เพราะร้านกาแฟของเขาทำเงินจ่ายหนี้ธนาคารไม่ทัน

หุ่นยนต์เอไอที่เขาสั่งทำนั้นเป็นต้นทุนที่สูงมากของร้านกาแฟ เพราะมันทำทุกอย่างได้เหมือนคน ซ้ำอาจดีกว่าคนเสียอีก จำนวนของลูกค้าที่เข้าร้านไม่ได้มากอย่างที่เขาคาดการณ์ การแข่งขันทำให้เขาไม่สามารถขายกาแฟในราคาที่สูงไปกว่านี้ได้ หากเป็นคน เขาก็คงปลดพนักงานออกเสียบ้าง แต่เมื่อมันเป็นหุ่นยนต์ราคาแพงเช่นนี้ ก็ต้องใช้งานกันต่อไป

ผมคิดเรื่องนี้ เพราะได้ยินบ่อยๆ ว่า ในเมืองไทยในอนาคต หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้หลายด้าน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำๆ ตายตัว ซึ่งมันเป็นงานของคนงานไร้ฝีมือ ดังนั้น นับวันคนงานไร้ฝีมือก็คงจะหางานยากขึ้นทุกที

แน่นอนแรงงานหุ่นยนต์ย่อมราคาถูกกว่าแรงงานมนุษย์ เพราะไม่ต้องเสียค่าจ้าง, ค่าสวัสดิการ, ค่าล่วงเวลา, หรือไม่ต้องแต๊ะเอียโบนัส ทั้งยังไม่เบี้ยวงาน และไม่มีวันเดินไปฟ้องอะไรกับกระทรวงแรงงานแน่

แต่หุ่นยนต์ราคาแพง แม้แต่หุ่นยนต์ที่ไม่ฉลาดเท่าตัวซึ่งชงกาแฟขายข้างต้น มีแต่แขนข้างเดียว ก็ยังราคาแพง ยิ่งถ้าต้องเปลี่ยนแรงงานทั้งโรงงานเป็นหุ่นยนต์ยิ่งแพง ถึงเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์ไม่หมด ก็ยังแพง และมีปัญหาการร่วมงานระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ซึ่งมีปัญหามากน้อยในวัฒนธรรมที่ต่างกัน

ทั้งหมดนี้หันกลับมาดูราคาของค่าแรงไร้ฝีมือที่เราจ้างกันในเมืองไทยปัจจุบัน ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อไรหุ่นยนต์จะมีราคาถูกกว่าแรงงานคน หุ่นยนต์นั้นต่างจากจานข้าวหรือตู้เย็น ปั๊มออกมากี่ล็อตกี่ล็อตก็เหมือนกัน แต่หุ่นยนต์ถูกใช้งานเฉพาะที่ โรงงานหนึ่งกับอีกโรงงานหนึ่งก็ต่างกัน “อวัยวะ” ก็ต่าง โปรแกรมที่บรรจุไว้ใน “สมอง” ก็ต่าง หุ่นยนต์จึงไม่อาจเป็นสินค้าที่ทำการผลิตแบบมวลได้เหมือนสินค้าอื่นๆ ถึงแม้วันหนึ่งหุ่นยนต์จะถูกลงกว่าปัจจุบัน เมื่อมีผู้ใช้กันมากขึ้น แต่จะถูกเหมือนเฮนรี ฟอร์ด สร้างรถยนต์นั้น ไม่พึงหวัง

แม้แต่พยายามแยกหุ่นยนต์ออกตาม “ประเภท” ที่ใช้งาน เพื่อทำให้ “อวัยวะ” ใช้ร่วมกันได้ หุ่นยนต์ก็ไม่ถูกลงสักเท่าไรอยู่นั่นเอง เพราะนั่นแปลว่า “สมอง” ของหุ่นยนต์ต้องเป็นประเภท “สอนได้” (หรือเรียนได้) แต่ละโรงงานซื้อไปก็ต้อง “สอน” หุ่นยนต์ให้ทำงาน เฉพาะ “สมอง” ประเภท “สอนได้” นี้อย่างเดียว ก็ทำให้หุ่นยนต์นั้นราคาแพงขึ้นมาก

ดังนั้น ผมจึงอยากเดาว่าอุตสาหกรรมไทยยังต้องการแรงงานไร้ฝีมือต่อไปอีกนานพอดูทีเดียว เพราะค่าแรงของมนุษย์น่าจะยังต่ำกว่าการลงทุนด้านหุ่นยนต์จะให้ผลคุ้มทุนได้เร็วพอ ไม่ใช่ค่าแรงมนุษย์ในเมืองไทยนะครับ แต่ค่าแรงมนุษย์ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในภายหน้าก็อาจรวมอีกหลายประเทศในแอฟริกาด้วย

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ความจริงมันไม่เป็นไปอย่างที่นักเทคโนโลยีไทยชอบคิด ใครถนัดทางไหนก็มักคิดว่าเมืองไทยขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้ หากเร่งสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นให้เหมือนกับสถิติของประเทศพัฒนาแล้ว เราก็จะทะยานขึ้นเป็นประเทศชั้นนำเหมือนกัน เช่น สถิติของผู้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ของไทยมีน้อย หากเร่งเร้าด้วยวิธีต่างๆ ให้เกิดนักประดิษฐ์ขึ้นมากๆ ในที่สุดไทยก็จะขยับไปสู่การผลิตอุตสาหกรรมบนฐานความรู้

สภาพทางสังคม-เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นั้น เป็นผลรวมของหลายต่อหลายอย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว คิดเพียงปัจจัยเดียวแล้วนึกว่าจะเปลี่ยนสังคมทั้งสังคมจากหน้ามือเป็นหลังมือ ใช้ได้กับการเติมน้ำส้ม, น้ำปลา, หรือน้ำตาลในชามก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น แต่เป็นไปไม่ได้ในสังคม-เศรษฐกิจของทุกสังคม จู่ๆ ทำรัฐประหารอย่างเดียว จะแก้ไขระบบการเมืองทั้งระบบให้ดีขึ้นได้ ก็เป็นความคิดแบบกินก๋วยเตี๋ยวเหมือนกัน

ความคิดถึงผลกระทบของหุ่นยนต์ต่อสังคมไทยที่ผมได้ยินมาก็เป็นทำนองเดียวกัน คือแค่มีหุ่นยนต์อย่างเดียว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด ผมก็ยอมรับครับว่าการใช้หุ่นยนต์ย่อมกระทบต่อโครงสร้างการแบ่งงานกันทำในทุกสังคมอย่างแน่นอน แต่จะกระทบอย่างไร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ มากกว่าตัวหุ่นยนต์ เช่น อย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นก็คือ “ราคา” ของหุ่นยนต์ยังแพงกว่า “ราคา” ของมนุษย์อย่างมากในสังคม-เศรษฐกิจไทย ดังนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าสังคมหุ่นยนต์จะยึดครองการผลิตในประเทศไทย

ตรงกันข้ามกับจินตนาการที่เราต้องสยบยอมต่อหุ่นยนต์อย่างราบคาบ ดังที่ผู้บริหารไทยมักแสดงต่อสาธารณชน (นับตั้งแต่ใน ครม. ลงมาจนถึงอธิบดี, อธิการบดี และผู้ว่าฯ) ผมไม่เห็นคนเหล่านี้ห่วงใยอนาคตของคน ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์เลย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์จะเป็นอย่างไร ไม่เคยมีพื้นที่ในจินตนาการของคนเหล่านั้น

คงเห็นอยู่แล้วนะครับว่า ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์นั้น เป็นเรื่องใหญ่ในหนังฮอลลีวู้ดมานานหลายสิบปีมาแล้ว ท้องเรื่องที่คล้ายกันทุกเรื่องก็คือ หุ่นยนต์พัฒนาตนเองขึ้นจนพยายามจะครอบครองมนุษย์ แล้วก็ต่อสู้กันไปจนในที่สุดมนุษย์ก็ชนะหุ่นยนต์ได้สำเร็จ เรื่องส่วนใหญ่มักแสดงให้เห็นด้วยว่าที่มนุษย์เอาชนะได้ก็เพราะมนุษย์มีคุณสมบัติ (หรือโทษสมบัติ) ของความเป็นมนุษย์ซึ่งหุ่นยนต์ไม่มี เช่น มนุษย์มีอารมณ์

มันซ้ำจนน่าเบื่อครับ แต่คงขายได้ในอเมริกา เพราะช่วยตอกย้ำคุณค่าความเป็นมนุษย์ อันเป็นท้องเรื่องที่คนอเมริกันดูไม่เบื่อ

อันที่จริงประเด็นหลักของเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ก็อยู่ตรงนี้ คือเมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ไปแทบหมดทุกเรื่องแล้ว คุณค่าของมนุษย์จะอยู่ตรงไหน ถ้าถือคติคริสเตียนแบบเดิม การทำงานนั่นแหละคือคุณค่าของมนุษย์ที่ถูกขับออกจากสวนอีเดนแล้ว หากมนุษย์ได้แต่กินๆ นอนๆ โดยไม่ต้องทำอะไร มนุษย์กับสัตว์เลี้ยงจะต่างกันอย่างไร (หุ่นยนต์อาจทำอาหารเลี้ยงพุดเดิ้ลหนึ่งชุด และมนุษย์อีกหนึ่งชุด ถึงเวลาก็เคาะจานข้าวให้ทั้งสองฝ่ายมากินในจานของตน)

ผมไม่เห็นความจำเป็นที่คนไทยต้องเห็นคุณค่าของมนุษย์อย่างเดียวกับฝรั่ง แต่ในฐานะมนุษย์ เราก็น่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เหมือนกัน แต่ผมไม่เคยได้ยินนักบริหารในประเทศไทยพูดถึงเรื่องนี้เลย

นักธุรกิจของสมาคมพ่อค้าใหญ่ๆ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหุ่นยนต์ (ที่เขาคิดว่าคือลักษณะเด่นของเศรษฐกิจ 4.0) ว่า ผู้คนโดยเฉพาะพวกแรงงานไร้ฝีมือ หรือแม้พอมีฝีมือบางอย่างที่หุ่นยนต์ทดแทนได้ จะพากันตกงาน ฉะนั้น จึงควรเร่งเตรียมตัวฝึกฝนตนเอง (หรือเข้าเรียน) เพื่อครอบครองทักษะใหม่ๆ ที่หุ่นยนต์ยังไม่อาจทดแทนได้ แต่จะทำได้อย่างไร เขาไม่ได้บอกไว้ จึงเหมือนเขากำลังพูดกับลูกหลานของเขามากกว่าพูดกับคนงานไร้ฝีมือทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็นเท่ากับว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ตามจินตนาการของเขา หุ่นยนต์เป็นนายและมนุษย์เป็นทาส คือคอยหลบหลีกอย่าเดินทับเส้นทางของนายไปเรื่อยๆ แล้วชีวิตก็จะไปรอด

เรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่อยู่ในจินตนาการของคนเหล่านี้เลย

คนไทยมีความคิดเกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์หรือไม่ ผมไม่ทราบแน่ แต่ในพุทธศาสนา เทวดาหรือสัตว์นรกไม่สามารถบรรลุความหลุดพ้นได้ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่อาจเข้าถึงพระธรรมจนบรรลุความหลุดพ้นได้ คำว่ามนุษย์ก็อาจแยกศัพท์ได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีจิตใจสูง ก่อนที่คนในแถบบ้านเราจะรับนับถือพุทธศาสนา มีความคิดเกี่ยวกับมนุษย์อย่างไร ผมก็ไม่ทราบแน่เหมือนกัน แต่หากดูภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ความเป็นมนุษย์แตกต่างจากสิ่งอื่นในโลกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะแสดงออกในรูปของฝ่ามือที่แปะบนผนังถ้ำ หรือภาพมนุษย์ล่าหรือใช้สัตว์เป็นแรงงาน หรือภาพที่เกี่ยวกับพิธีกรรม และความรื่นเริงบางอย่าง ซึ่งสัตว์ไม่เคยมี

ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าคนแถบบ้านเรามีความคิดเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์แน่ แต่ความคิดนั้นจะสอดคล้องตรงกับฝรั่งหรือไม่เป็นคนละเรื่อง หากความคิดนี้หายไปหรือเลือนไปในปัจจุบัน ก็คงเพราะเหตุอื่น และอาจไม่ได้เกิดแก่คนไทยทุกชนชั้นก็ได้

นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ศึกษาหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้ซึ่งมั่งคั่งขึ้นอย่างมากในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นนักบริโภคนิยมอย่างหนักมาก จนไม่ต่างจากผู้นับถือ “ลัทธิสินค้า”

“ลัทธิสินค้า” เป็นลัทธิพิธีของชาวเกาะแห่งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก พวกเขาอยู่บนเกาะอย่างโดดเดี่ยวมาหลายศตวรรษ จนวันหนึ่งเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีเครื่องบินขนาดเล็กลำหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกลงบนเกาะแห่งนี้ ชาวเกาะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่ามันตกลงมาจากฟ้า จึงคิดว่ามันต้องเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าส่งมาให้แก่พวกตน พากันไปกราบไหว้บูชาซากเครื่องบินลำนั้นจนกลายเป็นลัทธิพิธีที่แพร่หลายไปทั่ว

ในแง่นามธรรม “ลัทธิสินค้า” คือการให้คุณค่าอย่างสูงแก่วัตถุสิ่งของ เคารพบูชาสิ่งของ โดยเฉพาะของใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน นับถือเสียจนพยายามกลืนตัวเองเข้าไปในสิ่งของนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสำนึกอัตลักษณ์ของ “สาวก” คือเป็นแค่ประกายของสิ่งของนั้น ไม่แยกตนเองออกจากวัตถุดังกล่าว

ในโลกปัจจุบัน ใครๆ ก็เป็นนักบริโภค คือต้องซื้อหาสินค้ามาใช้มากกว่าประดิษฐ์ขึ้นเอง แต่นักบริโภคคนชั้นกลางของอุษาคเนย์ไม่ได้ซื้อสินค้ามาใช้ แต่ซื้อมาครอบอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น โทรศัพท์มือถือยี่ห้อผลไม้แหว่ง ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร แต่มันกลืนเจ้าของเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย (หรือกลับกันเจ้าของอยากกลืนตัวเองเข้าไปในโทรศัพท์) เหตุดังนั้นเขาจึงกล่าวว่าเหมือนสาวกของ “ลัทธิสินค้า”

หุ่นยนต์ก็เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ซึ่งคนชั้นกลางระดับสูงของไทยที่ออกมาให้สัมภาษณ์ทางทีวี (ในฐานะผู้บริหารรัฐบ้าง, หน่วยงานรัฐบ้าง และธุรกิจเอกชนบ้าง) กำลังมองมันเหมือนสินค้าที่พระเจ้าส่งลงมา มีสถานะเหนือตัวตนความเป็นมนุษย์ของผู้คน ไม่ต่างจากสินค้าอีกมากที่ล้วนอยู่บนหิ้งบูชาของคนชั้นกลางไทย