ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์ |
เผยแพร่ |
มีโอกาสสนทนากับอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ท.พงศกร รอดชมภู เกี่ยวกับแนวโน้มจะมีพรรคสืบทอดอำนาจให้ผู้นำทหารในปัจจุบันกลับมามีอำนาจต่อ ซึ่งในฐานะอดีตทหาร พล.ท.พงศกร เลยชวนทำความเข้าใจกับคำว่า “ทหาร” ก่อน
“มีคำ 2 คำ คือคำว่า “ทหาร” และคำว่า “การเมือง” ในฐานะที่เป็นอดีตทหาร ผมจะวาดภาพซะก่อน ทหารต่างชาติ เมื่อไปรบกลับมาจะได้รับการเชิดชูเกียรติยศอย่างสูงสุด ไปที่ไหนหรือเข้าร้านอาหาร จะได้รับเกียรติต้อนรับเชิดชูยกย่อง ได้รับบริการอย่างเต็มที่ นั่นแปลว่าเขาทำหน้าที่ของทหาร ซึ่งในยุคปัจจุบัน ทหารควรจะทำหน้าที่เรื่องของรักษาสันติภาพของมวลมนุษยชาติ “ไม่ใช่ทหารของใคร” ต้องชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน นี่คือทหารอาชีพ”
“ส่วนทหารการเมือง ถามว่าคืออะไร เมื่อคุณต้องเข้ามาอยู่ในวงจรความขัดแย้งเสียเอง มีฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา มีฝ่ายต้าน-ฝ่ายสนับสนุน และคุณโดนตั้งคำถามว่าจะไปเกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคหรือไม่? เมื่อคุณมีฝ่ายตรงข้ามแล้ว และมีคำถามเช่นนี้เกิดขึ้นนั่นแหละ คุณไม่ใช่ทหารของประชาชนอีกแล้ว”
“หรือถ้าพูดให้ไกลกว่านั้นคุณไม่ใช่ทหารของมนุษยชาติ คุณไม่เป็นอะไรเลย คุณภาพและคุณสมบัติของการเป็นทหารของคุณมันหายไป กลายเป็นแค่นักการเมือง คุณก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
“ผมมองว่าการรัฐประหารไม่ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์ มีการใช้กองกำลังไปยึดอำนาจจากอีกฝ่ายหนึ่ง และก็สถาปนาตัวเองเป็นรัฐบาล มันเท่ากัน ดังนั้น ถ้าคุณจะเป็นทหารอาชีพคุณต้องทำตัวเป็นทหารอาชีพแบบต่างชาติ เขาจะมองยุทธศาสตร์การรบ เขาจะไม่คุยเรื่องการเมือง”
“เมื่อใดก็ตามที่ทหารคุยเรื่องการเมือง นั่นแปลว่าคุณจะสนับสนุนรัฐบาลไหน แล้วคุณจะเอาเวลาที่ไหนไปคิดเรื่องของทหาร? ถ้าทหารคิดจะทำการเมืองแล้วไปดึงทหารอาชีพ รุ่นน้องๆ ที่อยู่ในกองทัพปัจจุบันเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางการเมือง ก็ถือว่าเป็นทหารการเมือง แล้วก็จะใช้วิธีการในการสนับสนุนทางการเมืองและใช้อำนาจพิเศษคือการมีอาวุธไปเที่ยวข่มขู่-กดดันคนอื่นเขา มันจะทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสียหายหมด นี่คือความเสียหายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น”
“ผมมองว่าสิ่งที่เหมาะสมคือถ้าทหารคนไหนอยากหนุน อยากเล่นการเมืองก็ลาออกมาเลย หรือพวกรุ่นพี่ที่ไปบอกรุ่นน้องว่าพี่เกษียณแล้วนะ น้องๆ อย่าลืมพี่นะ ให้ช่วยสนับสนุนหน่อย อย่างนี้ไม่ถูก!”
“ฉะนั้น ต้องลาออกมาแล้วทำให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ไม่มีตัวช่วย ไม่มีอะไรพิเศษ มันจะเกิดประสิทธิภาพทางการเมือง และทำให้ประเทศชาติเจริญ”
ส่วนที่มีพรรคการเมืองเข้ามาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ-หัวหน้า คสช. นั้น พล.ท.พงศกรกล่าวว่า “ผมอยากให้มองว่าคนที่สนับสนุนทหารเพราะมองว่ามีความคิดแบบเดียวกัน สังเกตดูกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความคิดที่เหยียดคนอื่น จะเห็นคนไม่เท่ากัน จะรู้สึกว่าคนอื่นไม่เท่าตัว เชื่อว่าแต่ละคนมีสิทธิ์ไม่เท่ากัน เราก็จะเห็นชื่อพรรคเหล่านี้มีแต่ชื่อภาพแปลกๆ เช่น มีคำว่า คนดี-รักชาติทำนองนี้ มันจะไม่ได้แปลถึง “เพื่อคนส่วนใหญ่” จะตั้งมากี่พรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้สืบทอดอำนาจต่อ ก็ต้องมองให้ออกว่าคนเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มขวา”
“ปกติธรรมชาติของคนยึดอำนาจ ต้องพยายามสืบทอดอำนาจ 1 รอบ เพื่อที่จะค่อยๆ หายไป หรือตามประสาชาวบ้านถอยลงจากหลังเสือ แต่วิธีการทำแบบนี้มันหมายความว่าจะต้องมีทหารประจำการคอยดูแล พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเหล่านี้จะมีหน้าที่เสนอชื่อ และจะบีบให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาสนับสนุนต้องใช้กำลังของทหารประจำการเข้ามาเกี่ยวข้อง”
“แต่คำถามคือตอนนี้สามารถสั่งได้หรือไม่?”
“ผมมองว่าทหารประจำการ หลายปีที่ผ่านมาบอบช้ำมาก เพราะถูกดึงมาเป็นทหารการเมือง ทีนี้ต้องมองให้ดีว่าเขาพยายามที่จะถอนตัวออกหรือยัง อันนี้เป็นเรื่องที่อยากให้ดูต่อไป มันจะเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่ทหารประจำการจะเข้ามาช่วยหรือไม่ ถ้าทหารประจำการไม่เอาด้วย จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ”
“แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ชัด แต่ผมเชื่อว่าทหารประจำการรู้และมีบทเรียนว่าควรเป็นทหารอาชีพดีกว่า”
ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค พล.ท.พงศกรให้ความเห็นว่า “ผมมองว่า เขาพยายามจะทำทุกช่องทางยังไงก็ได้ไม่ให้ผิดกฎหมาย การใส่ชื่อว่าเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่ามีความใกล้ชิดกว่าคนอื่นพรรคอื่นนะ ว่าเป็นตัวจริงนะ”
“ที่สำคัญโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการลงไปเคาะประตูทุกหมู่บ้าน เป็นธรรมดาที่ต้องการซื้อใจประชาชน โดยใช้อำนาจของรัฐจ่ายเงินออกไปโดยวิธีการต่างๆ ผ่านโครงการ เพื่อกันคนลืมก็อาจจะตั้งพรรคการเมืองในชื่อเดียวกับโครงการ แล้วก็ส่งทหารลงไปตามพื้นที่ต่างๆ ผมอยากถามทหารที่ลงไปว่าทหารมีความชำนาญและเก่งกาจทางด้านการเมืองหรือยัง หรือเพียงแค่ทำตามที่นายสั่ง”
“ถ้าจำไม่ผิดยุค รสช. เขาส่งทหารลงทุกหมู่บ้านเหมือนกันทุกอย่าง แต่ในที่สุดก็แพ้ มันไม่ได้ช่วยอะไร”
“ผมคิดว่าประชาชนเปลี่ยนไปเยอะ ต่างจากหลายสิบปีก่อนเยอะมาก ประชาชนโฟกัสการเมืองเป็นเรื่องของนโยบาย เขาจะคิดว่าเขาจะได้อะไรจากนโยบายเขาจะเลือกตรงนั้น เมื่อกฎหมายเลือกตั้งครั้งหน้าให้ใช้บัตรใบเดียว มันจะเป็นการชี้ขาดเลยว่านโยบายจะเป็นตัวชี้ ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 จะเลือกโดยนโยบาย”
“แล้วคุณต้องกลับมาดูที่ “นโยบายประชารัฐ” ว่าได้ช่วยประชาชนจริงหรือไม่? ได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาอย่าลืมว่ามันก็มีข่าวของปัญหาการทุจริตเงินคนจน ที่มีเงินหายไปไม่ถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คุณคิดว่าชาวบ้านเขาไม่รู้หรือ? ต่อให้ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ชาวบ้านก็รู้”
“ฉะนั้น วิธีการที่คุณปล่อยเงินลงไป แทนที่จะเป็นคุณต่อตัวคุณ กลับกลายเป็นโทษ เพราะการดำเนินนโยบายผ่านข้าราชการ ก็เสร็จสิ เป็นความคิดปกติของคนที่อยู่ฝ่ายขวาที่ต้องการใช้ราชการเป็นมือเป็นไม้ คงไม่ได้คำนึงถึง และคงไม่มีอะไรซับซ้อนพิสดาร”
“และผมมองว่าในที่สุดมันก็จะไปไม่รอด!” พล.ท.พงศกรกล่าวหนักแน่น
ส่วนการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์บางส่วนที่มองว่าทางทหาร จะจับมือกับขั้วประชาธิปัตย์หรือไม่ อดีตรองเลขาฯ สมช. ระบุว่า “มองว่าปกติมันก็น่าจะเป็นไปในทางนั้นอยู่แล้ว อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์มีส่วนร่วมกับ กปปส. และก็เป็นฝ่ายเดียวกับตรงนี้ ความคิดทางการเมืองใกล้เคียงกัน มีกลุ่มทุนผูกขาดเดียวกัน ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสนับสนุนกัน”
“แต่ปัญหาก็คือว่าเสียงของประชาธิปัตย์จะได้มากขนาดไหน? ผมมองว่าให้มากที่สุดก็ 170 เสียง ยังไกลจาก 250 มาก ทีนี้ต้องไปดูว่า ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทยจะได้มากขนาดไหน ซึ่งเราไม่รู้ สำหรับการประเมินก็มองว่า 200 ขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะสำนักไหน เมื่อบวกกับใครอีกนิดหน่อยก็ 250 แล้ว แต่การที่เพื่อไทยจะได้เสียงแบบถล่มทลาย ผมมองว่ายังยากอยู่ เพราะติดอยู่ที่การเลือกใช้บัตรใบเดียว บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยจะได้น้อย”
“ส่วนการจะยืดเลือกตั้งออกไปหรือไม่ ผมว่าอยู่ที่การดูโพล ว่าคุณจะแพ้หรือคุณชนะ เมื่อดูแล้วคุณยังเป็นรองอยู่มาก คุณก็ต้องหวังว่าด้วยโครงการต่างๆ ที่ลงไป คิดว่าประชาชนจะเปลี่ยนใจมาอยู่กับคุณและสนับสนุนคุณ ซึ่งพอมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ก็จะมีเรื่องของการจับอาวุธ แต่ก็จุดไม่ติดแล้วไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ เพราะคนไม่เชื่อแล้ว”
“ส่วนกระแสเรื่องของรัฐประหารซ้อน ผมฟันธงเลย ผมไม่เชื่อเรื่องนี้ ผมมองว่าจะไม่มีการใช้วิธีนี้ ถ้าคุณใช้วิธีการที่จะซื้อเวลาแบบนี้ ไม่ได้แล้ว แต่การกดดันให้ลาออก กดดันให้คนนั้นคนนี้เลิกในทางการเมืองอันนี้มีความเป็นไปได้ แต่เรื่องการรัฐประหารซ้อนครั้งนี้ไม่น่าจะมีแล้ว ดูจากอำนาจทางการเมือง แหล่งอำนาจที่สนับสนุนคุณ มันเริ่มหมดเริ่มหายตัวแล้ว”
“ในที่สุดทหารที่เข้ามาเล่นตรงนี้ก็จะกลายเป็นเพียงนักการเมืองธรรมดาที่อยู่ในช่วงขาลง แต่ยังพยายามดิ้นรนที่จะเป็นรัฐบาลต่อ” พล.ท.พงศกรกล่าวอย่างมั่นใจ